ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่งศึกษาคดีค่าโง่คลองด่าน กรณีศาลตัดสินต่างกัน-มติ ครม.เคาะเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า กทม.-พัทยา’ พ.ค.นี้

นายกฯสั่งศึกษาคดีค่าโง่คลองด่าน กรณีศาลตัดสินต่างกัน-มติ ครม.เคาะเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า กทม.-พัทยา’ พ.ค.นี้

8 มีนาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯสั่งฝ่าย กม.ศึกษาคดีค่าโง่คลองด่าน กรณีศาลตัดสินคดีแตกต่างกัน-ปัดตอบปมชิงยุบสภา-หนีอภิปราย-เปลี่ยนตัวนายกฯขึ้นอยู่กับสภา-ปชช.ทั้งประเทศ-มติ ครม.เคาะเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า กทม.-พัทยา’ พ.ค.นี้-ปรับ UCEP Plus ผู้ป่วยเหลือง-แดง รักษาฟรี เริ่ม 16 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี

วอน ปชช.ช่วยประหยัดพลังงาน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะแก้ปัญหาผลกระทบการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนได้อย่างไร ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมไว้หลายมาตรการ ซึ่งต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า รองรับราคาพลังงาน แก๊ส และน้ำมัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนด แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน

“เราจะทำอะไรต่อไป ก็เตรียมการอยู่แล้ว แต่ขอความร่วมมือพวกเราทุกคน เรื่องแรกที่จะช่วยได้คือการใช้พลังงานอย่างประหยัดได้ไหม เปิดปิดไฟ ขับรถยนต์ ผมไม่ได้ห้ามใช้ ใครใช้ได้ ก็ใช้ อะไรไม่จำเป็น ก็ลดลง ล้างแอร์ที่บ้านสักหน่อย เปิด-ปิดไฟเป็นเวลา การทำงานก็ทางวีดีโอบ้าง เวิร์คฟอร์มโฮมบ้าง เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของตัวเองลง ผมขอแค่นั้น ส่วนที่เหลือรัฐบาลก็ต้องมาดูแล” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “ทุกมาตรการต้องใช้เงินทั้งสิ้น เฉพาะค่าน้ำมันดีเซลอย่างเดียวต้องใช้เงินเข้าไปแทรกแซงวันละ 600 ล้านบาท คิดดูแล้วกัน ถ้ามันขึ้นทุกวันๆ เราจะใช้ไปเท่าไร ถ้ายังใช้วิธีการแบบนี้”

สั่งทุกหน่วยลดการใช้พลังงาน 20%

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรี เตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตพลังงานจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ราคาก๊าซธรรมชาติ ยานพาพนะ รถไฟฟ้า สินค้าที่ผลิตจากส่วนต่างๆ ขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานยังสูงขึ้นรายวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

“นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารพลังงานอย่างเหมาะสมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย ให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลกระทบโดยตรง และนายกรัฐมนตรี รณรงค์การประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายให้เป็นจุดสำคัญของรัฐบาลทุกส่วนราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 และลดการใช้น้ำมันร้อยละ 10 รวมทั้งหาวิธีประหยัดพลังงานเช่นการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (WFH) ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส” ดร.ธนกร กล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.ธนกร ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงว่าว่า “มาตรการของรัฐบาลกำลังพิจารณาโดยคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ การควบคุมราคาสินค้าเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามงบประมาณที่มีอยู่”

ติดตามสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ อย่างใกล้ชิด

ดร.ธนกร กล่าวถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยที่ช่วยพาคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัย และฝากถึงข้าราชการไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่และประเทศใกล้เคียงให้ระมัดระวังและดูแลตัวเอง ส่วนรัฐบาลจะติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา

กำชับมหาดไทยลงพื้นที่แก้ปัญหาความยากจน

ดร.ธนกร กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาความยากจนว่า นายกรัฐมนตรี กำชับกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ติดตามทุกจังหวัดในการแก้ปัญหาความยากจนโดยแต่ละกระทรวงร่วมกัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนภายในปี 2565 รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน

จัดสงกรานต์ปี’65 ตามปกติ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างระมัดระวังตามมาตรการ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยทุกคนต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ ดร.ธนกร ให้ข้อมูลว่า เลขานุการ ศบค.เสนอให้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เป็นการหยุดตามปฏิทินวันหยุด โดยกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกมาตรการดูแลช่วงวันหยุด และจะประสานกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงวัฒนธรรมในการจัดงานสงกรานต์อย่างปลอดภัย โดยจะนำเข้าที่ประชุมในการประชุมครั้งต่อไป

สั่งสอบสาเหตุเครื่องบิน F-16 ตกที่ชัยภูมิ

ส่วนเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ F-16A หมายเลข 10331 สังกัดฝูงบิน 103 กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา กองทัพอากาศ ประสบอุบัติเหตุตกขณะฝึกซ้อมบิน บริเวณเขตจังหวัดชัยภูมิ เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ดร.ธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว และห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และตรวจสอบหาสาเหตุโดยด่วน ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยนักบินสามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย และขณะนี้ทีมค้นหาและช่วยชีวิตของกองทัพอากาศ ได้เดินทางเข้าพื้นที่ที่ประสบอุบัติเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักบินแล้ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุกองทัพอากาศจะลงพื้นที่ เพื่อทำการตรวจสอบความเสียหายและสืบหาสาเหตุโดยเร่งด่วนต่อไป

“ด้วยความห่วงใย นายกรัฐมนตรี กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนักบิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องประชาชนในบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งให้ตรวจสอบหาสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกัน และเพิ่มความระมัดระวังในการฝึกซ้อมบินมากขึ้น ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ให้ระมัดระวังอันตรายและอย่าเข้าใกล้พื้นที่อากาศยานอุบัติเหตุ”

ปัดตอบปมชิงยุบสภา-หนีอภิปราย

ส่วนคำถามจากสื่อมวลชนที่ว่า “พรรคเพื่อไทยออกมาดักคอว่านายกรัฐมนตรี จะชิงยุบสภาก่อน 22 พฤษภภาคม 2565 เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยากให้นายกรัฐมนตรี ชี้แจงประเด็นนี้”

ดร.ธนกร ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า “ไม่มีคำตอบใดๆ จะพูดอะไรไม่มี จะพูดอะไร ผมไม่ฟัง เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ถ้านายกรัฐมนตรีพูดก็เป็นประเด็นอีก”

เปลี่ยนตัวนายกฯขึ้นอยู่กับสภา-ปชช.ทั้งประเทศ

นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงการใช้โอกาสยุบสภา เพื่อชิงเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ดร.ธนกร ตอบว่า “เป็นเรื่องของส.ส. และสภาจะพิจารณานายกรัฐมนตรี อยู่ที่ประชาชน ก็แล้วแต่สภา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ”

ดร.ธนกร ตอบคำถามที่ว่า “นายกรัฐมนตรี ยังมั่นใจ 260 เสียงที่นายอนุทินบอกว่า มีเพียงพอสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่” ว่า “ไม่มีคำตอบ เป็นเรื่องของ ส.ส.และประชาชนที่รับฟังคำอภิปรายอยู่”

ชี้ทานข้าวเย็นกับพรรคร่วมฯไม่เกี่ยวการเมือง

จากประเด็นการนัดทานข้าวเย็นกับแกนนำพรรคร่วมในเย็นวันนี้ (8 มีนาคม 2565) ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับกระแสข่าวพรรคร่วมลอยแพ พรรคพลังประชารัฐ ดร.ธนกร อธิบายว่า “นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเป็นการปรึกษางานตามปกติในบรรยากาศที่ไม่ใช่การประชุม ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่สนใจใครลอยแพ หรือ ไม่ อย่างไร”

สั่งฝ่าย กม.ศึกษาคำพิพากษาศาลตัดสินคดีค่าโง่คลองด่านต่างกัน

ดร.ธนกร กล่าวถึงประเด็นศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จ่ายค่าชดเชยให้โครงการด่านบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 9,600 ล้านบาท ว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับพิพากษาของศาล ซึ่งตัดสินแตกต่างกัน ขณะที่ศาลอาญาสั่งลงโทษไปแล้ว

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เคาะเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า-สภา กทม.-เมืองพัทยา’ พ.ค.นี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.พิจารณาข้อเสนอกระทรวงมหาดไทย เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมและสำนักงานคณะกรรมการเลือก (กกต.) ตั้งได้จัดทำแผนการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1 / 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกระทรวงมหาดไทยได้รายงานการดำเนินการด้านข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว วันที่ 18 มกราคม 2565 แล้วรวมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา กำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ในข้อบัญญัติ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม สำหรับกรณีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ไว้พร้อมแล้ว รวมทั้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนของสำนักงาน กกต. ได้ออกระเบียบและประกาศ กกต. และจัดทำแผนงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2565

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว แต่โดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพและเมืองพัทยา ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมในการเลือกตั้ง และสำนักงาน กกต. ได้จัดทำแผนงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพและเมืองพัทยาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้

ยกเว้น VAT ซื้อ-ขายคริปโท ฯ-ขาดทุนหักภาษีได้

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. และร่างกฎกระทรวง ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดย ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 61 เป็นต้นไป โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุนเหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินภาษีที่ต้องจ่ายลดลง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีปริมาณและความถี่มาก ซึ่งได้ มี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉ. 19) พ.ศ. 61 กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือ หรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีเงินได้และให้หักภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 นอกจากนี้ การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ทราบตัวตนกัน ผู้ลงทุนไม่สามารถนำผลขาดทุนมาคำนวณ ออกจากกำไรจากการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถแสดงรายได้ที่แท้จริง รวมท้ังผู้ขายบางรายอาจเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและบางรายอาจมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงยากต่อการแสดงราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับ ธปท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency หรือ Retail CBDC) เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ของ Retail CBDC ในการรับ แลกเปลี่ยน โอน หรือเป็นสื่อกลางในการชำระราคา กค. โดยกรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันภาระภาษีสำหรับ คริปโทเคอร์เรนซี ให้แก่การดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงินและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งช่วยเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ในส่วนการสูญเสียรายได้จากภาษี VAT รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่สามารถประมาณการ เนื่องจากมูลค่าเงินดิจิทัลมีความผันผวน และกำไรขาดทุนของผู้ขายแต่ละรายไม่มีความแน่นอน

ดร.ธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจน กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ดิจิทัลในระหว่างการแก้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จและกำหนดกระบวนการทบทวนมาตรการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ และร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยรัฐบาลมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศด้วย

ไฟเขียวยกเว้นภาษีเงินได้-กำไรจากการโอนหุ้น ‘Startup’ 10 ปี

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับปรุงมาตรการภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุกิจการเงินร่วมลงทุนเดิม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัฐฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 โดยยกเว้นภาษีเงินบุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการโอนหุ้นและหน่วยทรัสต์ของการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยตรงและฝ่านกิจการเงินร่วมลงทุน โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเษกษา – 30 มิถุนายน 2575 ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการระดมทุน ให้ Startup โดยเปิดให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุน ไม่ว่าเป็นการลงทุนโดยตรงหรือการลงทุนผ่านกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ซึ่งได้แก่ บริษัทที่ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) และผู้ถือหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมทุน Private Equity Trust (PE Trust) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID –19

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1. การลงทุนโดยตรงของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย และต่างประเทศ (มาตรการเดิม ไม่ได้กาหนดไว้)

  • บุคคลธรรมดาหรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยและต่างประเทศ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของ Startup ทั้งนี้ เฉพาะหุ้นที่ถือครองมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการโอนหุ้น และเป็น Startup ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐสนับสนุน ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ของ 2 รอบระยะเวลาบัญชี
  • 2. การลงทุนผ่าน VC (คือ CVC และ PE Trust)

  • CVC ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการ โอนหุ้นของ Startup ที่ถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการโอนหุ้น โดย Startup ต้องประกอบ อุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐ สนับสนุน ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ของ 2 รอบระยะเวลาบัญชี และผู้ลงทุนใน CVC ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของ CVC
  • PE Trust ไม่อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้ลงทุนใน PE Trust ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ รายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ ของ PE Trust
  • ทั้งนี้ คาดว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทำให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น VC ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ง่ายขึ้น และเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 69 ประเทศไทยมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาท GDP เพิ่มขึ้น 7.9 แสนล้านบาท จำนวน Startup เพิ่มขึ้น 5,000 – 10,000 แห่ง และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 – 400,000 ตำแหน่ง

    “รัฐบาลมุ่งสนับสนุน Startup ไทย ซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยการดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยการระดมทุนจากทั่วโลก เพื่อให้ Start up ไทยป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทยได้อย่างจริงจัง และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย” ดร.ธนกร กล่าว

    ออกฎกระทรวง ยกระดับ ‘ปางช้าง’

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับพ.ศ. …. โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับเพื่อกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อผลกำหนด 2 ปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรเลขที่ มกษ. 6413-2564 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรพ.ศ. 2551 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นมาตรฐานบังคับ เช่น สถานที่ตั้งของปางช้างจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงจากการปนเปื้อนของอันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ มีคู่มือการจัดการปางช้างที่แสดงให้เห็นรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในปางช้าง เช่น การแยกและฝึกลูกช้าง การจัดการด้านการผสมพันธุ์ เป็นต้น มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้าง กำกับดูแลด้านสุขภาพช้าง มีการตรวจสุขภาพช้างประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นความสำคัญของ “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ คู่บ้านคู่เมือง ด้วยการยกระดับการปฏิบัติในปางช้างให้มีมาตรฐานและส่งเสริมการดูแลช้างตามหลักวิชาการ ลดปัญหาช้างเร่ร่อนและส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีปางช้างจำนวนมากที่ทำธุรกิจบริการ เช่น การแสดงช้าง หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้าง ขณะที่ ปางช้างส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ดีในการจัดการควบคุมดูแลช้างที่ถูกต้อง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง การทารุณกรรมช้าง รวมทั้งเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมจากมูลช้างและขยะมูลฝอย ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและให้สอดรับกับสถานการณ์การประกอบกิจการปางช้าง เพื่อการแสดงหรือการท่องเที่ยวที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง รวมทั้งตอบสนองผู้มาใช้บริการที่ต้องการความปลอดภัยจากการท่องเที่ยวในปางช้าง โดยกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เพื่อปรับปรุงในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพของสัตว์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรพ.ศ. 2551 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นมาตรฐานบังคับ โดยใช้บังคับกับปางช้างทุกขนาดด้วย

    ลดภาษีดีเซล-น้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า 6 เดือน รับ LNG แพง

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ

    “การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1 – 1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง” ดร.รัชดา กล่าว

    อนุมัติวงเงินกู้เสริมสภาพคล่อง กฟผ. 2.5 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กฟผ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ ค่า Ft ตามมาตรการของรัฐบาลในการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการผลิตไฟฟ้าในช่วงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้านั้น มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ NGV ในประเทศ ทำให้ กฟผ.ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น กฟผ.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศและเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน

    รับทราบมาตรการพยุงราคาปาล์มน้ำมัน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายปาล์มน้ำมันทุกมิติ โดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้เสนอรายงานมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ให้ ครม.รับทราบ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

      1.มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้นตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2565 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ให้เป็นไปตามสัดส่วนของการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 3 ชนิด ได้แก่ 1) ดีเซล บี 7 สัดส่วนการผสมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร 2)ดีเซลธรรมดา สัดส่วนการผสมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร 3)ดีเซล บี 20 สัดส่วนการผสมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร
      2.โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 โดยกำหนดเป้าหมายการส่งออกน้ำมันปาล์ม 150,000 ตัน ภายในเดือนกันยายน 2565 กรอบวงเงินดำเนินการ 309 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ ทั้งนี้ จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก
      3.การขับเคลื่อนมาตรการและแนวทางการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ได้มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้ 6 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย 1)ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน 2)น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ 3)สารซักล้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4)น้ำมันหล่อลื่นจาระบีชีวภาพ 5)การผลิตพาราฟิน และ 6)สารกำจัดศัตรูพืชแมลง โดยเพิ่มเติมอีก 2 ผลิตภัณฑ์ รวมเป็น 8 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ โบโอเจ็ต ซึ่งทั้งสองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อรองรับการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ
      4.ทบทวนมาตรการนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ตามคำขอของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกหนังสือรับรองการประกอบการนำผ่านน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จากมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านศุลกากรหนองคาย จังหวัดหนองคาย ไปยัง สปป.ลาว เพื่อจำหน่ายภายในประเทศในปริมาณไม่เกิน 5,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ ผู้ขอนำผ่านต้องแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบก่อนดำเนินการอย่างน้อย 1 เดือน และมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
      5.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564-2565 จะดำเนินการจ่ายเงินชดเชยตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – สิงหาคม 2565 กรอบวงเงิน 7,660 ล้านบาท โดยยังคงหลักการเดิมเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562/2563 และปี 2564 (เดือนมกราคม-สิงหาคม 2564) ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565

    จัดงบฯ 107 ล้าน ช่วยเด็กด้อยโอกาสชายแดนใต้ เรียนอาชีวะ

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้ กรอบวงเงินงบประมาณ 107.6 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ.2564 – 2568 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้เรียนรู้วิชาชีพและสร้างทักษะประกอบอาชีพที่มั่นคง

    โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและครอบครัวผู้มีรายได้น้อย 2) สร้างโอกาสให้เยาวชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้เรียนรู้วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ 3) ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้มีโอกาสสร้างทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยดำเนินการในลักษณะการจัดตั้งโรงเรียนประจำในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา ในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย รวม 4 แห่ง ได้แก่ 1) วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี 2) วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา 3) วิทยาลัยการอาชีพสุไหง-โกลก และ 4) วิทยาลัยเทคนิคจะนะ สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเปิดรับนักเรียน/นักศึกษาในระดับ ปวช. จำนวน 135 คนต่อชั้นเรียน และระดับ ปวส. จำนวน 247 คนต่อชั้นเรียน ซึ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษาที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคุณสมบัติ อาทิ 1) ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยใช้ข้อมูลจากผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ 2)เป็นนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) มีภูมิลำเนาในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา ในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย

    ดร.รัชดา กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ศึกษาต่อด้านวิชาชีพอย่างทั่วถึงและมีทักษะประกอบอาชีพที่มั่นคง ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2563 ที่ผ่านมา มีนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 858 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช .จำนวน 318 คน และระดับ ปวส.จำนวน 540 คน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.เยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาญา

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา(ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และเปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ. เป็น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ….

    นอกจากนี้ เป็นการเพิ่มเติมการคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกควบคุมในชั้นสอบสวนด้วย จากเดิมที่คุ้มครองผู้เสียหายและจำเลยที่ถูกควบคุมขังในชั้นพิจารณาของศาลเท่านั้น ขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจาก 1 ปี เป็น 2 ปี รวมทั้งกำหนดให้สามารถยื่นคำขอดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

    ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาให้ครอบคลุมทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยที่ถูกควบคุมตั้งแต่ชั้นสอบสวน และจำเลยที่ถูกคุมขังในชั้นพิจารณาของศาล ให้ได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว เท่าเทียมและเป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

    ทั้งนี้ การขยายความคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกควบคุมในชั้นสอบสวนด้วยนี้ ตามร่างกฎหมายได้มีการแก้ไขได้เพิ่มบทนิยามของ “ผู้ต้องหา” ให้หมายความว่า บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลด้วย และแก้ไขบทนิยาม “ค่าทดแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยคอื่นใดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับเนื่องจากตกเป็นผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญาและถูกควบคุม หรือ ขังในระหว่างการสอบสวน หรือ การพิจารณาคดี

    ขยายเวลาสนับสนุน SMEs สู่อุตสาหกรรมสีเขียวอีก 18 เดือน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 หลังจากสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือ ขยายระยะเวลาออกไปอีก 18 เดือน

    โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันและมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ตลอดจนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระยะยาวต่อไป

    สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯที่ผ่านมา มาจากเงินทุนร่วมระหว่างรัฐบาลไทย และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) โดย GEF สนับสนุนเงินจำนวน 1.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝ่ายไทยร่วมสมทบงบดำเนินการที่อยู่ในรูปแบบเงินสด และไม่อยู่ในรูปแบบเงินสดจากกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินการสำหรับเงินกู้สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ หรือ ที่สนใจกู้เพี่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์จำนวน 7.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการฯยังมีกิจกรรมที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ของเอสเอ็มอี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้ใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจาก GEF ไปจำนวน 0.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คงเหลือ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของงบดำเนินการที่อยู่ในรูปแบบเงินสดและที่ไม่ใช่เงินสดจากกระทรวงอุตสาหกรรม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวงเงินสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีจากธพว.จำนวน 7.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย ดังนั้นจึงต้องขอขยายระยะเวลาโครงการฯออกไปอีก 18 เดือน สิ้นสุดโครงการวันที่ 30มิถุนายน 2566 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯได้สำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์

    ปรับ UCEP Plus ผู้ป่วยเหลือง-แดง รักษาฟรี เริ่ม 16 มี.ค.นี้

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ อาการไม่รุนแรง หรือที่เรียกว่ากลุ่มสีเขียว จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคน อาทิ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ และแนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation(HI) หรือ Community Isolation(CI) หรือ Hotel Isolation

    ส่วนผู้ป่วยติดโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่า เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉิน ตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินไว้แล้ว คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและ สีแดง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก โดยสิทธิที่การปรับปรุงนี้เรียกว่า UCEP Plus ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้ภายหลัง 72 ชั่วโมงแรกด้วย ซึ่งดีกว่าโรคอื่นๆ ที่เข้าตามนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต

    สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคโควิด 19 มีดังนี้คือ กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา และให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนหรือจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว

    นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งแนวทางการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และแบบแจ้งผลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้เป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. มีมติให้ กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุขดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว และดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ รวมถึงแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่อนุมัติในครั้งนี้ด้วย

    ต่อเวลาเว้นภาษีนำเข้าเวชภัณฑ์รักษาโควิดฯถึงสิ้น ก.ย.นี้

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลังรวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นเนื่องจากสถานการณ์การแร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด19 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2565 สำหรับร่างประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับ มีดังนี้

    ฉบับแรก ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือ ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่…) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือ ป้องกันโรคโควิด 19

    ฉบับที่ 2 ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตรากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลการ พ.ศ.2530 (ฉบับที่…) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้าหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่อุปกรณ์เพื่อป้องกันภัยและหน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด

    ฉบับที่ 3 ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก (ฉบับที่…) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นอาการศุลกากร สำหรับของที่นำเข้ามาใช้ผลิตเป็นหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดและหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย

    เห็นชอบไทยเข้าร่วม ‘ภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ’

    น.ส.ไตรศุล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ(International Vaccine Institute : IVI) อย่างสมบูรณ์ และอนุมัติให้ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณแก่ IVI ปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.25 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หมวดเงินอุดหนุนของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำสัตยาบันสาร เพื่อการเข้าร่วมเป็นภาคีIVI อย่างสมบูรณ์

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า IVI จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNPD) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย การวิจัย พัฒนา และปรับปรุงวัคซีนชนิดใหม่ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาในด้านการพัฒนา การผลิต และการนำเข้าวัคซีน โดยIVI มีหน้าที่ดำเนินการ 4 โครงการหลัก ได้แก่ ให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมและช่วยเหลือทางเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน, ดำเนินการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม, ประเมินวัคซีน โดยการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกและภาคสนาม และร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้ง IVI พร้อมธรรมนูญแนบท้ายข้อตกลง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีโดยสมบูรณ์จนกว่าจะมีการให้สัตยาบัน

    สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี IVI อย่างสมบูรณ์ จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการศึกษา พัฒนาความรู้และศักยภาพในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั้งภายในและภายนอกประเทศจากโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับการทดลองในมนุษย์ โครงการทดลองในห้องปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังโรครวมถึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีน การพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน และการยกระดับความสัมพันธ์กับ IVI และประเทศสมาชิกให้มากขึ้น

    ทั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายวัคซีนแห่งชาติของประเทศไทย ที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายในด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก

    ขยายเวลาใช้หนี้ค่าออกแบบ-ก่อสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน’ ถึงปี’72

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้ ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษา โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ออกไปจนถึงปี 2572 โดย ครม.เห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาต่อไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนถึงปีงบประมาณ 2572 ทั้งนี้ หากประมาณการรายได้แตกต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งกรณีสูง หรือ ต่ำกว่าประมาณการ กระทรวงคมนาคมจะพิจารณานำเสนอการรับภาระหนี้ของรัฐบาลให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม โดยครม.ยังมีมติให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นรายปี จนถึงปีงบประมาณ 2572

    ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 เห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้างและค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลในระยะเวลา 10 ปีแรก ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการขออนุมัติขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวออกไปแล้ว 4 ครั้ง โดยในครั้งนี้ รฟม.ขออนุมัติขยายระยะเวลาให้รัฐบาลรับภาระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยเงินกู้ต่อ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572

    จากการประมาณการรายได้ที่ รฟม.ได้รับจากสัญญาสัมปทานเดินรถจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรายได้ที่ รฟม.ดำเนินการเองในส่วนของการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ รฟม.และการชำระคืนภาระหนี้ที่ รฟม.ได้กู้มาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งมีการทยอยจ่ายคืนชำระหนี้เป็นรายปี และ รฟม.ยังต้องนำรายได้ของโครงการฯสายเฉลิมรัชมงคลไปใช้จ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่ รฟม.รับผิดชอบด้วย

    สำหรับภาระหนี้คงค้างของ รฟม. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า มีหนี้คงค้างรวม 177,801 ล้านบาท เป็นหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ 30,357 ล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศ 147,443 ล้านบาท โดยโครงการฯสายเฉลิมรัชมงคล มีภาระหนี้คงค้างเงินกู้ภายในประเทศจำนวน 1,550 ล้านบาท และเงินกู้ต่างประเทศ (JICA) จำนวน 29,627 ล้านบาท รวม 31,177 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตามประมาณการภาระหนี้ของโครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคลตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้พบว่าตั้งแต่ปี 2564-2572 จะต้องชำระเงินต้นจำนวน 15,802 ล้านบาท และดอกเบี้ย 8,074 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 23,876 ล้านบาท และช่วงปี 2573-2583 มีภาระหนี้ชำระเงินต้นจำนวน 15,967 ล้านบาท และดอกเบี้ยจำนวน 3,232 ล้านบาท รวม 19,200 ล้านบาท

    นอกจากนี้ยังได้ประมาณการรายได้ และรายจ่ายรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆในช่วงสัญญาสัมปทานโครงการฯสายเฉลิมรัชมงคลปี 2564-2572 พบว่า จะมีรายได้รวม 47,391 ล้านบาท และรายจ่าย 119,481 ล้านบาท มีรายจ่ายเกินรายได้จำนวน 72,089 ล้านบาท

    ตั้ง ‘พุ่งพงษ์ สุวรรณเลิศ’ ผอ.สถาบันข่าวกรอง

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐ ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอ แต่งตั้งนายพุ่งพงษ์ สุวรรณเลิศ ผู้อำนวยการสถาบัน (ผู้อำนวยการระดับสูง) สถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสมัย ลี้สกุล และ นายนิรุตติ สุทธินนท์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีจำนวนเกินสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ดังนี้

      1. นายทองเปลว กองจันทร์ รองประธานกรรมการ
      2. นายจำเริญ โพธิยอด กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
      3. นางภัทรพร วรทรัพย์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
      4. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
      5. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กรรมการ (ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์)
      6. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กรรมการ (ผู้แทนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
      7. นายอัมพร แสงมณี กรรมการ (ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย)
      8. นายสุนทร ตาละลักษณ์ กรรมการ (ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้น)
      9. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการ
      10. นายวิจารย์ สิมาฉายา กรรมการ
      11. นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการ
      12. นายจรูญเดช เจนจรัสสกุล กรรมการ
      13. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการ
      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (บุคคลในบัญชีรายชื่อ) เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวงแทนนายจำเริญ โพธิยอด ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก

    5. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายพิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว แทนประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2565 เพิ่มเติม