ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่

AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่

7 ธันวาคม 2020


คำถามที่ยังไม่มีคำตอบจาก รมว.คลัง ต่อกรณีที่บอร์ด ทอท. มีมติเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบิน จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก การดำเนินการดังกล่าว ต้องขออนุมัติ ครม.ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่?

ต่อจากตอนที่แล้ว นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึงนายปรีดี ดาวฉาย ก่อนลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย กรณีคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT พิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนนำไปสู่การแก้ไขส่วนที่เป็นสาระของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยาน จนทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก รวมถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งอาจมีผลต่องบประมาณในอนาคต ภายหลัง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2561 เกิดคำถามตามมาว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ อย่างไร

เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 4 ได้ให้นิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมไปถึงรัฐวิสาหกิจด้วย จากนั้นในมาตรา 27 วรรคแรก ระบุว่า “การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้นจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย…

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯปรับลดรายได้ขั้นต่ำ – เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • AOT เลื่อนนับสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” เริ่ม เม.ย.65
  • กางมติบอร์ด AOT ต่อสัญญาสร้าง “SAT-1” ย้อนแย้งข้ออ้างเลื่อนสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • หากย้อนกลับไปดูที่มา มาตรการดังกล่าวมีจุดริ่มต้นจากการประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันที่ฝ่ายบริหารของ ทอท. ได้ทำเรื่องขออนุมัติแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามมติคณะกรรมการพิจารณารายได้ เสนอต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท. โดยอ้างถึงนโยบายของภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิดฯ เป็นเหตุให้ต้องนำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลายส่วนด้วยกัน

    เริ่มจากการอ้างถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 มีการอ้างถึง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้หน่วยงานทุกกระทรวงและทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการในบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อลดผลกระทบที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบนั้น

    แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องนี้ให้ความเห็นว่า ประเด็นนี้ นายธีระชัยในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความเห็นว่า ที่มาคณะกรรมการฯ ชุดนี้เกิดขึ้นจาก คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 23/2563 ไม่มีศักดิ์และศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จึงไม่น่าจะนำมาใช้เป็นข้ออ้าง หรือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 27

    นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
    อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 ได้มีการอ้างถึงมติ ครม. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า มาตรการที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นมาตรการการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น เห็นชอบโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือ SMEs รวมทั้งขยายเวลาในการชำระหนี้ และค่าธรรมเนียม ส่วนมาตรการภาษีก็จะมีของกรมสรรพากร เช่น ขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือให้บริษัทห้างร้านนำค่าใช้จ่ายจากการอบรมสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง ค่าจ้างมัคคุเทศก์ มาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า, ลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น เหลือลิตรละ 0.20 บาท เป็นต้น ไม่มีประเด็นใดเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสาระสำคัญของสัญญาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในท่าอากาศยานแต่อย่างใด

    ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 อ้างถึง คือ แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบจากโควิดฯ นั้น เป็นแนวทางที่อ้างอิงมาจาก “มาตรการช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของทอท.เมื่อปี 2553” ซึ่ง ทอท. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 21 เมษายน 2552 ที่อนุมัติในหลักการมาตรการเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และมติ ครม. วันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552

    ประเด็นนี้นายธีระชัยมีความเห็นว่า หากย้อนกลับไปดูมติ ครม. ทั้ง 2 ครั้ง พบว่ามติ ครม. ดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจ ทอท. หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่มีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. ที่ต้องจ่ายเป็นเงินปันผลนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และมีผลต่องบประมาณในอนาคต ดังนั้น คณะกรรมการ ทอท. ไม่น่าจะนำมติ ครม. ทั้ง 2 ครั้งมาใช้เป็นข้ออ้างยกเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ

    อนึ่ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมวลชนมาชุมนุมประท้วงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ในระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – วันที่ 5 ธันวาคม 2551 ทำให้ ทอท. ต้องระงับการให้บริการเป็นเวลา 10 วัน เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างรุนแรง

    วันที่ 21 เมษายน 2552 ที่ประชุม ครม. มีมติ อนุมัติหลักการมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับประเด็นหนังสือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ด่วนที่สุด ที่ กก 0202/1042 ลงวันที่ 20 เมษายน 2552 ไปพิจารณาดำเนินการแล้วให้นำเสนอ ครม. พิจารณาโดยด่วนต่อไป ดังนี้

      1. มาตรการด้านการเงิน (ข้อ 3.1.1.2 เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ขาดสภาพคล่อง) ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่จะขอรับสินเชื่อดังกล่าว นอกจากจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองแล้ว ควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2551 ด้วย ทั้งนี้ให้นำประเด็นตามข้อ 3.2.3 เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนเมษายน 2552 ไปรวมพิจารณาด้วย

      2. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว (ข้อ 3.1.3.3 เกี่ยวกับการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางมายังประเทศไทย กรณีที่มีภัยจลาจล) ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

      3. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว (ข้อ 3.1.3.4 เกี่ยวกับการจัดลำดับธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงไม่สูง และข้อ 3.1.3.5 การพิจารณาให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ควรได้รับการส่งเสริมและเยียวยาเป็นพิเศษ) ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสมาคมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

      4. ประเด็นตามข้อ 3.2.4 เกี่ยวกับการฝีกอบรมและพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยวที่ตกงาน ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) รับไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการต้นกล้าอาชีพบ

    ต่อมา วันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่ประชุม ครม. มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 (เรื่อง ขอเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยว) ให้แล้วเสร็จและเป็นไปตามเวลาที่กำหนด และรายงานผลการดำเนินการให้ ครม. ทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการทางภาษีให้เร่งรัดดำเนินการ โดย

      1. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่ต้องแก้ไข หรือออกประกาศกระทรวงเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยว เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการดำเนินการตามกฎ ระเบียบ และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาที่ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552) ออกไป 1 รอบปี นับแต่วันที่กฎหมายหรือระเบียบของแต่ละหน่วยงานมีผลใช้บังคับ

      2. เห็นชอบในหลักการให้มีการชดเชยงบประมาณให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องสูญเสียรายได้อันเนื่องจากการยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามการดำเนินการในข้อ 1. เช่น การชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวแก่คนต่างด้าวให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ (กรมการกงสุล) เป็นต้น โดยให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังเร่งรัดการพิจารณารายละเอียดของกรอบวงเงินชดเชย และการผ่อนผันการนำเงินรายได้ส่งรัฐให้แก่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 (เรื่อง ผลการหารือการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานนานชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง) ซึ่งเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินชดเชยงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่ต้องสูญเสียรายได้ไว้แล้วเป็นเงินจำนวน 1,597 ล้านบาท รวมทั้งวงเงินที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับระยะเวลาการดำเนินมาตรการที่ขยายออกไปอีก 1 รอบปี ทั้งนี้ วงเงินชดเชยดังกล่าวให้มีการชดเชยได้ไม่เกินจำนวนเงินที่หน่วยงานต้องสูญเสียไปจริง

    วันที่ 30 มิถุนายน 2552 ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤติการท่องเที่ยวตามที่กระทรวงคมนาคม (การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยานและที่เก็บอากาศยาน) สรุปได้ดังนี้

      1. กรมการขนส่งทางอากาศ ได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางอากาศ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน ณ สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางอากาศ ร้อยละห้าสิบ (50%) ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553

      2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แก่

      2.1 เที่ยวบินแบบประจำ โดยการลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน คณะกรรมการ ทอท. ในการประชุมครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 มีมติอนุมัติให้ลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน จากเดิมในอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เวลา 24.00 น. สำหรับการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน คณะกรรมการ ทอท. ในการประชุม ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 มีมติอนุมัติให้ขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยานสำหรับอากาศยานที่จอดไม่เกิน 24 ชั่วโมง จากกำหนดสิ้นสุดเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลา 24.00 น.เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เวลา 24.00 น.

      2.2 เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยานให้แก่สายการบิน ซึ่งทำการบินขึ้น-ลง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ในอัตราร้อยละ 50 มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553

    และล่าสุด เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 มีรายละเอียดดังนี้

      1. รับทราบมาตรการด้านการเงิน ประกอบด้วย (1) มาตรการสินเชื่อ และ (2) มาตรการการขยายเวลาการชำระหนี้และค่าธรรมเนียม และการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 เพื่อช่วยเหลือผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย โดยขยายระยะเวลา 3 เดือน (ภายในเดือนมิถุนายน 2563) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

      2. เห็นชอบมาตรการด้านภาษี จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม และ (3) มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

      3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ เพื่อรองรับมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

      4. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการดำเนินมาตรการด้านภาษีดังกล่าว ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่เมืองรอง รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งควรสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าวให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก ตลอดจนติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

      5. ให้กระทรวงการคลังได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี) ในการเสนอเรื่องนี้