ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่

AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่

27 พฤศจิกายน 2020


“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง ถาม “คลัง-ทอท.” ปรับแก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี–บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ต้องขออนุมัติ ครม. ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่?

หลังจากที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท.ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จนนำไปสู่การแก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งสัญญาสัมปทานเก่าที่กำลังจะสิ้นสุดลง และสัญญาใหม่ที่กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้

เริ่มจากที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท. โดยให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอนแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือ ร้อยละของรายได้จากการประกอบกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งตามสัญญาอนุญาตส่วนใหญ่ ทอท.จะมีวิธีจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ประกอบการ 2 รูปแบบ คือวิธีแรก เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่ผู้ประกอบการเคยยื่นข้อเสนอไว้ในช่วงที่ประมูลงาน และวิธีที่ 2 เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นร้อยละของรายได้จากการประกอบกิจการ วิธีไหน ทอท.ได้ผลประโยชน์สูงสุด ให้ใช้วิธีนั้น

ต่อมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ได้มีมติกำหนดอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่ ภายหลังมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดแรกตามที่กล่าวข้างต้นสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และอัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562 มาเป็นฐานในการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งกำหนดมาตรการช่วยเหลือสายการบินเพิ่มเติม เช่น ลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าเช่าพื้นที่ 50%

จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติ เลื่อนระยะเวลาในการเข้าปรับปรุงตบแต่งพื้นที่ให้กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งขยายเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2574 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2575 รวมทั้งอนุมัติเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญาอนุญาตประกอบกิจการดิวตี้ฟรี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ โดยใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (sharing per head) ตามที่กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ เคยยื่นข้อเสนอไว้ในช่วงที่ประมูลงาน มาคำนวณร่วมกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ โดยให้เริ่มให้จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯ ปรับลดรายได้ขั้นต่ำ–เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
    อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    ปรากฎว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ ทอท. ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 นายธีระชัย จึงทำหนังสือร้องเรียน พร้อมความคิดเห็นในประเด็นข้อกฎหมายส่งถึงนายปรีดี ดาวฉาย ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง โดยแหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายธีระชัย เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการ ทอท.มีมติแก้ไขสัญญาอนุญาตในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลทำให้รายได้ของ ทอท.ลดลงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปใช้การจัดทำงบประมาณในอนาคต ประเด็นนี้นายธีระชัย มองว่า การดำเนินการดังกล่าวนี้ อาจเป็นฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

    ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้ให้นิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ครอบคลุมไปถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมาตรา 27 วรรคแรก ระบุว่า “การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือ ภาระทางการคลังในอนาคตตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้นจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย

    ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความจําเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลังหรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

    ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ จัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง กับประมาณการที่ได้จัดทำตามวรรคหนึ่งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจำทุกสิ้นปีงบประมาณ จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ”

    ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 164 บัญญัติว่า “ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

      (1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม
      (2) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

    แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการ ทอท.มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการในท่าอากาศยานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาอนุญาตฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของทอท. และเงินปันผลที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินในอนาคต แม้กิจกรรมดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐกำหนด แต่ ทอท.ก็ควรทำเรื่องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามบัญญัติของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 27 ด้วย

    ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ทอท. ได้อ้างถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้หน่วยงานทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น

    นายธีระชัยมีความเห็นว่า “ข้อสั่งการดังกล่าวไม่มีศักดิ์และศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จึงไม่น่าจะมีอำนาจที่จะยกเว้นให้ ทอท.ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 27 หรือ มีกฎหมายอื่นใดที่เขียนยกเว้น ให้คณะกรรมการ ทอท.ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากคนกระทรวงการคลัง หรือ ทอท.รู้ช่วยตอบด้วย…”