ThaiPublica > เกาะกระแส > ปมแก้สัญญา “ดิวตี้ฟรี” คู่กรณี “ธีระชัย-นิตินัย” โต้กันไม่จบ

ปมแก้สัญญา “ดิวตี้ฟรี” คู่กรณี “ธีระชัย-นิตินัย” โต้กันไม่จบ

6 กุมภาพันธ์ 2022


“ธีระชัย” โต้ AOT ชี้แจงสื่อ ปมแก้สัญญา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์” ในสนามบิน ยืนยันปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท- พ.ร.บ.วินัยการคลังฯแล้ว-ไม่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติตามความเห็น “สคร.-สศค.”

ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอความเห็นของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” แก้ไขสัญญาการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานของ ทอท. เพื่อเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้อยู่ในข่ายที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ก่อนหรือไม่? เป็นประเด็นที่สาธารณชนและสื่อมวลชนกำลังให้ความสนใจ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)

ภายหลังจากนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการแก้สัญญาให้กับเอกชน พร้อมยืนยันการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามระเบียบของ ทอท.ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระเบียบดังกล่าวคณะกรรมการ ทอท.ได้กำหนดขึ้น รวมทั้งได้วิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณี “ทอท.ชี้แจงเรื่องแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี” โดยนายธีระชัย ยังคงยืนยันว่ากรณี ทอท.แก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรีที่ลดผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้เป็นจำนวนมากนั้น ทอท.ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเสียก่อนตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ แต่ ทอท.เห็นว่าไม่เข้าหลักกฎหมายดังกล่าว ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำชี้แจง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ ทอท. , รัฐวิสาหกิจอื่น และสาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นแรก ทอท.เห็นว่ามีสิทธิแก้ไขสัญญาได้เองโดยไม่ต้องเสนอ ครม. เพราะมีระเบียบภายในของ ทอท. – ถามว่าถูกต้องหรือไม่?

ประเด็นนี้นายธีระชัยมีความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาที่ลดผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้เป็นจำนวนเงินมากนั้น ทอท.ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเสียก่อน ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพราะ

    1.1 มาตรา 27 กำหนดว่า รัฐวิสาหกิจใดที่จะดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการใด ถ้าหากก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต จะต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
    1.2 เหตุผลที่กฎหมายกำหนดเช่นนั้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่จัดหารายได้เพื่อนำส่งให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะเอาเงินนำส่งดังกล่าวไปใช้จัดทำเป็นงบประมาณ ซึ่งเงินนำส่งเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ ตัวอย่างในปีงบประมาณ 2563 ทอท.นำส่งเงินแก่กระทรวงการคลัง 7,000 ล้านบาท
    “ดังนั้น ถ้าปล่อยให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้พิจารณาทำเรื่องลดรายได้ที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณได้เอง โดย ครม.ไม่รับรู้หรือทักท้วงได้ก่อน ก็จะทำให้การจัดทำงบประมาณเกิดความโกลาหล เพราะรัฐบาลจะประสบปัญหารายได้ไม่พอรองรับรายจ่ายตามที่วางแผนเอาไว้”
    1.3 ฝ่ายเอกชนย่อมจะต้องการลดผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมากที่สุด จึงจำเป็นต้องกำหนดกติกาให้รัฐวิสาหกิจเสนอเรื่องต่อ ครม.เสียก่อน พร้อมอธิบายเหตุผลความจำเป็น จำนวนเงิน ผลกระทบต่องบประมาณและภาระการคลัง อันจะช่วยป้องปรามการสมยอมกัน
    1.4 ทุกบริษัทจำกัดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับภายในของบริษัท แต่ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ตามข้อบัญญัติของกฎหมายด้วยอีกชั้นหนึ่งเสมอ
    1.5 ขอเสนอแนะให้ ทอท.ตั้งคำถามว่า “กรณีถ้าหากบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ แต่ไม่ปฏิบัติ โดยไปออกระเบียบภายในของตนเองแทน อันทำให้บริษัทนั้นสามารถอ้างอภิสิทธิ์ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อ้างว่าปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งตนเองจะกำหนดอย่างไรก็ได้นั้น เช่นนี้สังคมจะมีความเป็นธรรมได้อย่างไร?
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประเด็นที่ 2 ทอท.เห็นว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้งบประมาณของตนเอง มิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จึงไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ – ถามว่าถูกต้องหรือไม่?

ประเด็นนี้นายธีระชัยมีความเห็นว่า ทอท.อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพราะ

    2.1 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ โดยไม่มีข้อยกเว้น
    2.2 รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้น เพื่อมีหน้าที่จัดเก็บรายได้ในการให้บริการประชาชน ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงมิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่รัฐวิสาหกิจถึงแม้มิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ก็ยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
    2.3 ขอเสนอแนะให้ ทอท.ตั้งคำถามว่า “มาตรา 4 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ซึ่งรวมถึง ทอท. จะต้องเข้าบังคับตามกฎหมายฉบับนี้นั้น โปรดค้นหาว่ามีข้อยกเว้นสำหรับรัฐวิสาหกิจรายที่มิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเขียนไว้ในมาตราใด?

ประเด็นที่ 3 ทอท.ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้ว – ถามว่าถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วหรือไม่?

ประเด็นนี้นายธีระชัยมีความเห็นว่ายังไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพราะ

    3.1 ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวคือ “ครม.” โดยรัฐวิสาหกิจต้องวิเคราะห์ ข้อดี – ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ เพื่อเสนอต่อ ครม.
    3.2 การที่กฎหมายบัญญัติให้พิจารณาตามมาตรา 7 ก็คือให้ทำโดยรอบคอบ และเพื่อให้มีการพิจารณาผลกระทบจากทุกแง่ทุกมุมโดยทุกกระทรวง จึงจะเป็นข้อยุติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
    3.3 ขอเสนอแนะให้ ทอท.ทบทวนว่า “การพิจารณาเฉพาะเพียงตามขั้นตอนวิธีการภายในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจกำหนดขึ้นเองตามใจ โดยบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้น ทอท.จะสามารถเข้าใจแง่มุมทางเศรษฐกิจและสังคมทุกด้านแทนกระทรวงต่างๆ ได้อย่างไร ทอท.ได้รับมอบอำนาจให้พิจารณาจากหน่วยงานอื่นหรือไม่ เมื่อใด?”

  • สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.
  • ประเด็นที่ 4 ทอท.ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ – ถามว่าถูกต้องหรือไม่?

    อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า การอ้างคำยืนยันที่พิจารณาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 อาจมีปัญหา เพราะ

      4.1 ทอท.อาจจะทำการแก้ไขสัญญาไปโดยมิได้หารือความเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก่อนหน้า แต่เพิ่งจะมาหารือภายหลัง
      4.2 กฎหมายกำหนดให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีอำนาจหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ แต่ไม่ได้บัญญัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีอำนาจหน้าที่จะตีความ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ หรือ ตีความประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
      4.3 ขอเสนอแนะให้ ทอท.สอบทานเพื่อให้แน่ใจว่า “ความเห็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นั้น เป็นการปฏิบัติงานภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่?”

  • “ธีระชัย” ร้อง “อาคม” สอบคนคลัง ตีความ “AOT เป็น บมจ.” ไม่ต้องปฏิบัติตาม กม.วินัยการคลังฯ
  • “ธีระชัย” ชง คตง.ตรวจ AOT ปมเยียวยาดิวตี้ฟรี-เลี่ยง กม.วินัยการคลัง?
  • สำนักรัฐฯ จี้ AOT เสนอ ครม. เยียวยา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์”
  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯ ปรับลดรายได้ขั้นต่ำ – เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • AOT เลื่อนนับสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” เริ่ม เม.ย. 65