ThaiPublica > สู่อาเซียน > VinFast จากเวียดนาม อีกสีสันหนึ่งในตลาดรถยนต์ลาว

VinFast จากเวียดนาม อีกสีสันหนึ่งในตลาดรถยนต์ลาว

2 กรกฎาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

VinFast รถสัญชาติเวียดนาม ที่กำลังจะเข้าไปทำตลาดเพื่อเพิ่มสีสันให้กับตลาดรถยนต์ในลาว

บนท้องถนนในลาว นอกจากรถหรูไม่ว่าจากค่ายยุโรปหรือญี่ปุ่น ที่มีวิ่งกันให้เห็นได้อย่างดาษดื่นแล้ว ยังมีรถค่ายของประเทศในเอเซียอีกหลากหลายแบรนด์ โฉบฉายกันเต็มไปหมด

รถเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ทะเบียนเลขตอง เลขเรียงทั้งจากน้อยไปมากหรือมากมาน้อย และหลายคันที่เป็นเลขเดียวกันทั้ง 4 ตัว

เร็วๆ นี้ตลาดรถยนต์ลาวจะมีสีสันเพิ่มขึ้นอีก เมื่อ VinFast รถยนต์สัญชาติเวียดนาม กำลังจะไปอวดโฉมให้คนลาวได้เห็น

ตลาดรถยนต์ลาวเป็นตลาดที่มีสีสัน ถ้าไม่มีการล็อกดาวน์ บนถนนทุกสายตามเมืองน้อยเมืองใหญ่ สามารถพบเห็นรถยนต์หลากหลายประเภท หลากหลายแบรนด์ วิ่งกันให้ขวักไขว่เต็มไปหมด

ในลาวมีทั้งรถหรูจากค่ายยุโรป อเมริกา แบรนด์ญี่ปุ่นตั้งแต่โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน มาสด้า ซูซูกิ ฯลฯ และยังมีแบรนด์เอเชีย เช่น KOLAO จากเกาหลี ชื่อแบรนด์นี้ตั้งจากชื่อประเทศ 2 ประเทศ คือ Korea และ Lao แล้วก็แบรนด์ Chery หรือ BYD ที่ย่อมาจาก Build Your Dream จากจีน

ล่าสุด VinFast แบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนาม ก็กำลังจะได้เข้าไปทำตลาดในลาวเพิ่มขึ้นอีกแบรนด์หนึ่ง

การเซ็นสัญญาเปิดตลาดรถยนต์ VinFast ในลาวเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2564

สำหรับลาวซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับ 5 ประเทศ ลาวจัดให้จีนและเวียดนามเป็นประเทศ “เพื่อนมิตร” ขณะที่เมียนมา ไทย และกัมพูชา คือประเทศ “เพื่อนบ้าน”

ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม (ซ้าย) และทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว (ขวา) ในพิธีต้อนรับการเดินทางมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ตอนเช้าวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

เช้าวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 ทองลุน สีสุลิด และภริยา นำคณะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการประเทศแรก ในฐานะเลขาธิการใหญ่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และประธานประเทศ แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การไปเวียดนามครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉัน “เพื่อนมิตร” ระหว่าง 2 พรรค คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และ 2 รัฐ คือ ลาวและเวียดนาม ตามคำเชิญของเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม

นอกจากนี้คณะของประธานประเทศลาวยังมีโอกาสพบปะพูดคุยกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พรรค 2 รัฐ กับเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม และฝ่าม มิญ จิ่ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนามอีกด้วย

โดยในการพบกับประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประธานประเทศลาวได้แสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือของรัฐบาลเวียดนามที่มอบให้แก่ลาว เช่น การก่อสร้างอาคารที่ทำการสภาแห่งชาติลาว การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจากลาว ฯลฯ

ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว กับเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ประธานประเทศลาว ทองลุน สีสุลิด และเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ยังได้เป็นสักขีพยานในพิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ ประกอบด้วย

  • ข้อตกลงว่าด้วยยุทธศาสตร์ร่วมมือลาว-เวียดนาม ระหว่งปี 2021-2030
  • ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างห้องว่าการ ศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และห้องว่าการ ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระหว่างปี 2021-2025
  • ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ และคณะขวนขวายประชาชนศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระหว่างปี 2021-2025
  • ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงแผนการและการลงทุนลาว และกระทรวงแผนการและการลงทุนเวียดนาม ระหว่างปี 2021-2023
  • บทบันทึกความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงแถลงข่าวลาวและเวียดนาม ระหว่างปี 2021-2025
  • แผนการร่วมมือวัฒนธรรม ศิลปะ และท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ลาว และกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และท่องเที่ยว เวียดนาม ระหว่างปี 2021-2025
คณะของลาว นำโดยทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ เจรจากระชับความสัมพันธ์กับคณะของเวียดนาม ที่นำโดยเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว และ สำนักข่าวเสียงเวียดนาม

รวมถึงอีกบางสัญญาด้านเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนลาวและเวียดนาม…

หนึ่งในสัญญาเหล่านี้ และดูเหมือนเป็นเพียงสัญญาเดียวที่ขณะนี้มีการเปิดเผยรายละเอียดออกสู่สาธารณะแล้ว คือ สัญญาความร่วมมือเพื่อเปิดตลาดรถยนต์ยี่ห้อ VinFast ของเวียดนามในลาว

VinFast เป็นรถยนต์สัญชาติเวียดนามแบรนด์แรกของประเทศ อยู่ในกลุ่มบริษัท Vingroup ที่ก่อตั้งโดย ฝ่าม เญิต เวือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของเวียดนาม มีกิจการครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รีสอร์ต โรงเรียน โรงพยาบาล และธุรกิจสมาร์ทโฟน

ฝ่าม เญิต เวือง เมื่อครั้งถูกจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ฉบับเดือนมีนาคม 2556 ให้มีชื่ออยู่ในบัญชี 1,400 มหาเศรษฐีของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1,500 ล้านดอลลาร์

นิตยสาร Forbes ฉบับเดือนมีนาคม 2556 ได้จัดให้ ฝ่าม เญิต เวือง อยู่ลำดับที่ 974 ในบัญชี 1,400 มหาเศรษฐีของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1,500 ล้านดอลลาร์

ฝ่าม เญิต เวือง เป็นคนที่ชอบทำตัวโลว์โปรไฟล์ สื่อในเวียดนามเคยเขียนเรื่องราวของเขาไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยให้ข้อมูลว่าเขาเกิดที่ฮาติงห์ จังหวัดชายทะเลในภาคกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2511 จบวิศวะ สาขาธรณีศาสตร์ จากประเทศยูเครน

ปี 2536 ฝ่าม เญิต เวือง เปิดร้านขายเฝอขึ้นในเมือง Kharkov ของยูเครน ก่อนขยายมาเปิดบริษัทผลิตบะหมี่สำเร็จรูปในชื่อ Technocom และได้ขายบริษัทนี้ให้แก่ Nestle ไปในราคา 150 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2553

ปี 2541 ฝ่าม เญิต เวือง กลับมาเวียดนามและตั้งบริษัท Technocom Corporation ขึ้นในกรุงฮานอย โดยใช้ชื่อเดียวกับบริษัทที่เคยเปิดไว้ในยูเครน แต่ตอนหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Vietnam Investment Group หรือ Vingroup และขยายกิจการออกไปในหลากหลายธุรกิจ

Vingroup ก้าวเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์เมื่อปี 2560 โดยเริ่มสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ VinFast ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Dinh Vu-Cat Hai ในเมืองไฮฟอง จังหวัดไฮฟอง ในภาคเหนือของเวียดนาม โดยเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถ VinFast เป็นความร่วมมือที่ได้รับจาก BMW

โรงงานประกอบที่ไฮฟองสร้างเสร็จและเริ่มผลิตรถยนต์ VinFast เข้าสู่ตลาดเวียดนามได้ในปี 2562 ถัดมาในปี 2563 VinFast สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าในเวียดนามได้ 31,500 คัน และคาดหมายยอดขายในเวียดนามปีนี้ (2564) ไว้ที่ 45,000 คัน

โชว์รูม VinFast ในเวียดนาม

นอกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว VinFast ยังผลิตรถจักรยานยนต์ และมีแผนจะผลิตรถยนต์กับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

โดยวางแผนว่าผู้บริโภคในเวียดนามจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ VinFast วิ่งบนท้องถนนได้ประมาณเดือนธันวาคมปีนี้

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 VinFast ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ProLogium Technology จากไต้หวัน เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในเวียดนาม ต่อมากลางเดือนเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข่าวว่าบริษัท Foxconn ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไต้หวัน กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ากับ VinFast ด้วย

นอกจากโรงงานที่เมืองไฮฟองแล้ว VinFast ยังมีแผนจะส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยสื่อในเวียดนามมีรายงานที่อ้างข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเช่นกันว่า ในปีนี้ VinFast มีแผนสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการขึ้น 35 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และอนาคตหากยอดขายในสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยดี ก็อาจจะสร้างโรงงานประกอบขึ้นที่นั่น ขณะที่รอยเตอร์สมีรายงานเมื่อกลางเดือนเมษายนว่า VinFast มีแผนจะทำ IPO กระจายหุ้นขายให้กับประชาชนในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ต้นเดือนเมษายน VinFast ได้ยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 2 ขึ้นที่จังหวัดฮาติงห์ บนที่ดินของบริษัท Vinhomes บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเครือ Vingroup ซึ่งกำลังมีแผนพัฒนาที่ดินขนาด 9,000 ไร่ในจังหวัดนี้

นอกจากเป็นบ้านเกิดของ ฝ่าม เญิต เวือง ผู้ก่อตั้งบริษัท Vingroup แล้ว จังหวัดฮาติงห์ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง โครงการร่วมทุนของรัฐบาลลาวกับเวียดนาม ซึ่งกำลังถูกพัฒนาให้เป็นทางออกสู่ทะเล เพื่อพลิกสถานะของลาวจากประเทศที่เป็น Land Lock ให้มีท่าเรือเพื่อใช้ส่งออกและนำเข้าสินค้าของตนเองได้

ท่าเรือหวุงอ๋าง ยังเป็นปลายทางของความร่วมมือระหว่างลาวและเวียดนามอีกหลายโครงการ เช่น โครงการทางรถไฟลาว-เวียดนาม โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย และท่อส่งน้ำมันเวียดนาม-ลาว โดยบริษัทเอกชนที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาโครงการความร่วมมือเหล่านี้มากที่สุด คือบริษัทในกลุ่ม “พงสะหวัน”

พงสะหวัด เสนาพวน ประธานกลุ่มบริษัทพงซับทะวี (ซ้าย) ลงนามในสัญญาเป็นผู้นำรถยนต์ VinFast เข้ามาเปิดตลาดในลาว โดยมีประธานประเทศลาว ทองลุน สีสุลิด และเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นสักขีพยาน

ส่วนบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในดีลเปิดตลาดให้กับรถยนต์ VinFast ในลาว คือกลุ่มบริษัท “พงซับทะวี” โดยได้ลงนามกับบริษัท VinFast Business, Trading and Service ผู้ทำตลาดให้กับรถยนต์ VinFast ในเวียดนาม

“พงซับทะวี” เป็นกลุ่มบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วง 10 ที่ผ่านมา จากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ขยายสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเกษตร และล่าสุด เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสัญชาติลาวรายใหญ่ ที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าในมือหลายแห่ง ลูกค้าหลักที่ซื้อไฟฟ้าจากบริษัทพงซับทะวี คือรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนาม

  • ทางออกสู่ทะเลของลาว(1)
  • ทางออกสู่ทะเลของลาว(2)
  • เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า
  • พงซับทะวี…1 ใน 7 ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกฯลาว กับบทบาทที่ต้องติดตาม
  • ผู้บริหารประเทศลาวที่ร่วมคณะกับประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด เดินทางไปเวียดนาม เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน ประกอบด้วย

    • สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน และประธานคณะกรรมการร่วมมือลาว-เวียดนาม
    • พลเอก จันสะหมอน จันยาลาด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ
    • สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
    • สวนสะหวัน วิยาเกด รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว
    • พลตรี กงทอง พงวิจิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ
    • เข็มมะนี พนเสนา หัวหน้าสำนักงานประธานประเทศ
    • คำใบ ดำลัด รองประธานสภาแห่งชาติ และประธานสมาคมมิตรภาพลาว-เวียดนาม
    • ทองสะหวัน พมวิหาน หัวหน้าคณะทำงานด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ ศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว
    • สีใส ลือเดดมูนสอน กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค หัวหน้าคณะจัดตั้งศูนย์กลางพรรค
    • ทองสะลิด มังหน่อเมก เลขาธิการศูนย์กลางพรรค หัวหน้าห้องว่าการศูนย์กลางพรรค
    • แสงเพ็ด รุ่งบุนยวง เอกอัครัฐทูตลาว ประจำเวียดนาม
    ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว และเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

    ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว และประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม มีเส้นทางเดินทางการเมืองใกล้เคียงกัน

    ทองลุน สีสุลิด รับตำแหน่งประธานประเทศลาว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เหวียน ซวน ฟุก ได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564

    ก่อนหน้านั้น 5 ปี ในวันที่ 23 มกราคม 2559 ทองลุนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลาว ส่วนเหวียน ซวน ฟุก เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในวันที่ 7 เมษายน 2559

    ประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด เป็นชาวหัวพัน แขวงชายแดนติดกับเวียดนาม หลังเรียนจบในลาวเมื่อปี 2512 ทองลุนได้ไปเรียนต่อทั้งในสหภาพโซเวียต และในเวียดนาม ทำให้เขาสามารถพูดได้ทั้งภาษาเวียดนามและรัสเซียอย่างคล่องแคล่ว

    คณะของทองลุน สีสุดลิด เดินทางกลับถึงลาวช่วงเย็นวันอังคารที่ 29 มิถุนายน เพียง 2 วัน ก่อนถึงวันครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นอีก 1 ประเทศ “เพื่อนมิตร” ของลาว