ThaiPublica > สู่อาเซียน > รัฐบาลลาวตอบข้อวิพากษ์ – เปิดเงื่อนไขสัมปทาน
“รถไฟลาว – จีน”

รัฐบาลลาวตอบข้อวิพากษ์ – เปิดเงื่อนไขสัมปทาน
“รถไฟลาว – จีน”

26 ธันวาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

รถไฟโดยสารขบวนล้านช้าง

หลังเกิดประเด็นวิพากษ์-วิจารณ์กันอย่างหลากหลาย เมื่อรถไฟลาว-จีน เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา

ช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2564 อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุนของลาว ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ เปิดเผยถึงรายละเอียดของบางเงื่อนไข ซึ่งถูกกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานของโครงการนี้ ที่ตัวแทนของรัฐบาล 2 ประเทศ ได้ร่วมลงนามกันตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว เพิ่งรายงานคำให้สัมภาษณ์นี้ออกมาในตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2564 มีรายละเอียดบางเงื่อนไขสำคัญที่เพิ่งถูกเปิดเผย ดังนี้…

อุตตะแก้ว แก้วดวงสิน หัวหน้า(เทียบเท่าอธิบดี) กรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ระบุว่าสัญญาสัมปทานรถไฟลาว-จีน มีชื่อเต็มว่า “สัญญาสัมปทาน การออกแบบ-ก่อสร้าง-ระดมทุน-ดำเนินกิจการ และบำรุงรักษา ทางรถไฟ บ่อเต็น-นครหลวงเวียงจันทน์”

กระทรวงแผนการและการลงทุน เป็นตัวแทนของรัฐบาลลาว ลงนามในสัญญาสัมปทานฉบับนี้ กับบริษัททางรถไฟลาว-จีน เมื่อปี 2559

“บริษัททางรถไฟลาว-จีน” เป็นนิติบุคคลที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฏหมายของ สปป.ลาว มีรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลลาว ถือหุ้นในสัดส่วน 30% หุ้นที่เหลืออีก 70% ถือโดยรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โครงการทางรถไฟลาว-จีน มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 5,986 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนี้ 40% เป็นเงินลงทุนของบริษัททางรถไฟลาว-จีน ส่วนอีก 60% เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(EXIM Bank) ของจีน

ในวงเงินลงทุนทั้งหมด แยกเป็นเงินส่วนที่ฝ่ายลาวต้องรับผิดชอบ 730 ล้านดอลลาร์ ในนี้เป็นเงินลงทุนของรัฐบาลลาว 250 ล้านดอลลาร์ อีก 480 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้จาก EXIM Bank ของจีน

เมื่อพิจารณาจากเม็ดเงินลงทุนแล้ว โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก การจะคืนทุน จำเป็นต้องใช้เวลานาน จึงได้มีการระบุไว้ในบทวิพากษ์เศรษฐกิจ(ขั้นตอนสำคัญก่อนได้รับสัมปาน) ว่า เมื่อถึงปีที่ 23 นับแต่วันแรกที่เปิดดำเนินการ หรือวันแรกที่เปิดให้บริการ โครงการนี้จึงจะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุน

อุตตะแก้ว แก้วดวงสิน อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

หรือในอีกทางหนึ่งก็คือโครงการนี้จะเริ่มมีกำไรหลังผ่านพ้นปีที่ 23 ไปแล้ว

(เมื่อคำนวณจากคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุนแล้ว โครงการรถไฟลาว-จีน จะเริ่มมีกำไรหลังจากวันที่ 4 ธันวาคม 2587 – ผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม บริษัททางรถไฟลาว-จีน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบำรุงรักษา รวมถึงแบกรับความเสี่ยงทุกประเภทที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกิจการ

อายุสัมปทานของโครงการทางรถไฟลาว-จีน กำหนดไว้ 50 ปี โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการ(4 ธันวาคม 2564) ไม่นับรวมระยะเวลา 5 ปี ที่เป็นช่วงก่อสร้าง ซึ่งเมื่อถึงวันครบอายุสัมปทานแล้ว บริษัททางรถไฟลาว-จีน ต้องได้ส่งมอบโครงการคืนแก่รัฐบาล ซึ่งหมายถึงว่าทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการนี้ ต้องตกเป็นของรัฐบาลลาว ซึ่งเงื่อนไขนี้คือผลประโยชน์ทั้งหมดที่ลาวจะได้รับ

(คำนวณแล้วทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการรถไฟลาว-จีน จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลลาว หลังวันที่ 4 ธันวาคม 2614 – ผู้เขียน)

ส่วนการจะได้ต่ออายุสัมปทานหรือไม่ บริษัททางรถไฟลาว-จีน จะต้องทำเป็นโครงการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ในอนาคต

สำหรับการลงทุนของธุรกิจที่อยู่โดยรอบเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งมีเสียงวิจารณ์กันว่า รัฐบาลลาวต้องจัดหาที่ดินเพิ่มให้กับทางจีนด้วยนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

มีการกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาสัมปทานแล้วว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟ ถูกกำหนดเอาไว้ 4 จุด แบ่งเป็น

  • ที่สถานีเมืองไซ แขวงอุดมไซ และที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ รัฐต้องจัดหาที่ดินบริเวณใกลักับสถานีให้กับบริษัททางรถไฟลาว-จีน ไม่เกินจุดละ 1,000 เฮคตา หรือประมาณ 6,250 ไร่(1 เฮคตา = 6.25 ไร่)
  • ที่สถานีวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ และสถานีหลวงพระบาง รัฐต้องจัดหาที่ดินให้ไม่เกินจุดละ 500 เฮคตา หรือ 3,125 ไร่
สถานีรถไฟหลวงพระบาง
สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์

ที่ดินเหล่านี้ แม้รัฐบาลเป็นฝ่ายจัดหา แต่บริษัททางรถไฟลาว-จีน ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบในการจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือจ่ายค่าเช่าแก่เจ้าของที่ดินตามระเบียบ กฏหมาย และต้นทุนส่วนนี้ จะไม่ถูกนำไปรวมไว้ในมูลค่าการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟด้วย

นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนที่ถูกกำหนดไว้เพิ่มเติมอีกว่า เมื่อรัฐจัดหาที่ดินได้แล้ว บริษัทางรถไฟลาว-จีน ต้องเป็นผู้ลงพื้นที่สำรวจ และรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ค่าโยกย้ายจัดสรรให้กับเจ้าของที่ดิน ตามกฏหมาย จากนั้น กำหนดให้บริษัทฯต้องทำเป็นโครงการเสนอมายังรัฐบาลลาว เพื่อขออนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และดำรัสว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ

ปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับบริษัททางรถไฟลาว-จีน เพื่อให้บริษัทลงพื้นที่สำรวจที่ดินในแต่ละจุดแล้ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน บอกว่า จากเงื่อนไขต่างๆที่ถูกกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน ทำให้โครงการรถไฟลาว-จีน เป็นโครงการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับลาว…