ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ในข้อตกลงฉบับที่ 50/นย. ที่ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ลงนามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรีจำนวน 7 คน และเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ชื่อของ “พงสะหวัด เสนาพวน” อยู่ในลำดับที่ 5
ข้อตกลงฉบับนี้ อิงกฏหมายว่าด้วยรัฐบาลฉบับที่ 04/สพซ. ข้อตกลงของนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 31/นย. ว่าด้วยหน้าที่ สิทธิ และความรับผิดชอบของคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี ทิศชี้นำของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และหนังสือเสนอของสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ฉบับเลขที่ 0531/สคอซ. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564
ทั้ง 7 คน ถูกแต่งตั้งให้มาช่วยงาน มีบทบาทเหมือนเป็นคลังสมอง คอยให้คำปรึกษาแก่พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี ลาว โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ…
พงสะหวัด เสนาพวน อยู่ในคณะที่ปรึกษาสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว แต่การที่เขาได้เป็น 1 ในคลังสมองของนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน เชื่อว่าไม่ได้มาจากบทบาทนี้เพียงบทบาทเดียว
บริษัทพงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง เคหะสถาน และชลประทาน ที่พงสะหวัดเป็นประธาน เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมากใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลัง ที่เป็นวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทองลุน สีสุลิด บริษัทพงซับทะวีฯ ได้ปรับบทบาทมาเป็นผู้เล่นหลักในแขนงพลังงาน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของลาวตามวิสัยทัศน์ “หม้อไฟอาเซียน” และเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นไม่น้อย
บริษัทพงซับทะวีฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เริ่มจากเป็นผู้รับเหมางานจากหน่วยงานรัฐ บุกเบิกสร้างถนน สร้างขัว (สะพาน) ในท้องถิ่นทุรกันดาร จากนั้นเริ่มขยายไปรับงานก่อสร้างภาคเอกชน
ข้อมูลประวัติองค์กรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ทางการของบริษัทระบุว่า ในปี 2553… “กลุ่มบริษัทพงซับทะวี ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับเหมาก่อสร้างแบบดั้งเดิมให้ทันสมัยขึ้น โดยในสัญญารับเหมา บริษัทจะสร้างโครงการให้เสร็จทั้งหมดก่อน เมื่อส่งมอบงานแล้ว จึงค่อยเก็บเงินจากเจ้าของโครงการ หรือรัฐบาล รูปแบบสัญญานี้ได้ปฏิบัติกับโครงการต่างๆ เช่น การก่อสร้างทาง อาคาร และอื่นๆ กับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน”
จากข้อมูลนี้ อาจตีความได้ว่าหลังดำเนินการมา 9 ปี ถึงปี 2553 บริษัทพงซับทะวีฯ สะสมเงินสดหมุนเวียนไว้ในมือในปริมาณที่มากเพียงพอ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอรับเงินค่างวด จากนั้นค่อยรับเงินก้อนเป็นค่างานภายหลัง เมื่อส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว!!!
ปี 2554 เป็นปีแรกที่บริษัทพงซับทะวีฯ เริ่มหันมาจับงานรับเหมาก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยเป็นผู้สร้างเขื่อนน้ำเงียบ 3A ที่แขวงเชียงขวาง กำลังการผลิตติดตั้ง 44 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 2.5 เมกะวัตต์ 2 เครื่อง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 13 เมกะวัตต์อีก 3 เครื่อง เริ่มต้นก่อสร้างวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 สร้างเสร็จวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ใช้เวลาก่อสร้าง 38 เดือน
จากนั้น ได้สร้างเขื่อนเซน้ำน้อย 1 ที่บ้านแบ่งพูคำ เมืองสามัคคีไซ แขวงอัตตะปือ กำลังการผลิตติดตั้ง 14.8 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 7.8 เมกะวัตต์ 2 เครื่อง เริ่มสร้างวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เสร็จวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ระยะเวลาก่อสร้าง 26 เดือน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 บริษัทพงซับทะวีฯ เริ่มสร้างเขื่อนเซน้ำน้อย 6 ในแขวงจำปาสัก กำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 2.5 เมกะวัตต์ 2 เครื่อง ก่อสร้างเสร็จวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ใช้เวลาสร้าง 23 เดือน
ณ วันที่ 29 เมษายน 2557 สุลิวง ดาลาวง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ (ขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุเสียงจากอเมริกาภาคภาษาลาว ว่า ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว 23 เขื่อน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,211 เมกะวัตต์ 80% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะเสร็จในปี 2559 อีก 20 โครงการ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในลาวเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 เมกะวัตต์ ในนี้รวมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหงสา ที่แขวงไซยะบูลี กำลังการผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน แต่ไม่รวมเขื่อนไซยะบูลี ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2562 ลูกค้าหลักที่ซื้อไฟฟ้าจากลาวเมื่อถึงเวลานั้น ยังคงเป็นประเทศไทย…
ข้อมูลล่าสุดบนเว็บไซต์ของบริษัทพงซับทะวีฯ ระบุรายชื่อเขื่อนที่บริษัทเป็นผู้ก่อสร้างรวม 8 เขื่อน นอกจากเขื่อนเซน้ำน้อย 1 เขื่อนเซน้ำน้อย 6 และเขื่อนน้ำเงียบ 3A ที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีเขื่อนน้ำซัน 3A เขื่อนน้ำซัน 2B เขื่อนน้ำใส เขื่อนน้ำเปิน 1 และเขื่อนน้ำแก แต่ 5 เขื่อนหลัง ไม่มีรายละเอียดของเขื่อนบันทึกไว้
จากจุดเริ่มต้นเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน บริษัทพงซับทะวีฯ ได้ก้าวมาเป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลระบุว่าจุดเปลี่ยนในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทพงซับทะวีฯ เริ่มขึ้นเมื่อใด จากข้อมูลในเว็บไซต์หัวข้อ “เกี่ยวกับเรา” ส่วนที่เกี่ยวกับเขื่อนผลิตไฟฟ้า เขียนไว้ค่อนข้างคลุมเครือ ถอดความจากเนื้อหาภาษาลาวพอสังเขปได้ดังนี้…
“มาถึงปัจจุบัน กลุ่มบริษัทพงซับทะวีได้สร้างสำเร็จประมาณ 110 MW ในจำนวน 4 เขื่อน, อีก 102 MW ในจำนวน 3 เขื่อน และอีก 293 MW กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง กลุ่มบริษัทพงซับทะวีได้วางแผนพัฒนาด้านพลังงานให้สำเร็จไม่ต่ำกว่า 1,000 MW ในปี 2563 ในนั้นจะรวมพลังงานจากน้ำ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม และพลังงานจากถ่านหิน”
ข้อมูลจากแผนภูมิกราฟิกที่อยู่ในหมวด “ธุรกิจของเรา” มีความชัดเจนกว่า โดยให้รายละเอียดโครงการต่างๆ ของบริษัทพงซับทะวีฯ แยกเป็นรายแขวงไว้ดังนี้
- แขวงเชียงขวาง เป็นพื้นที่ซึ่งบริษัทพงซับทะวีฯ มีโครงการอยู่มากที่สุดถึง 12 โครงการ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 11 โครงการ กำลังการผลิตรวม 156.89 เมกะวัตต์ อีก 1 โครงการเป็นโรงงานผลิตซิลิคอน
- แขวงเซกอง มี 8 โครงการ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้งหมด กำลังการผลิตรวม 43.5 เมกะวัตต์
- แขวงหัวพัน มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 286 เมกะวัตต์
- แขวงอัตตะปือ มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 47.5 เมกะวัตต์
- แขวงไซสมบูน มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 129 เมกะวัตต์
- แขวงหลวงพระบางและจำปาสัก มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าแขวงละ 1 โครงการ กำลังการผลิตรวม 86 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์อีกอย่างละ 2 โครงการ อยู่ในแขวงบอลิคำไซและแขวงคำม่วน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดของแต่ละโครงการเอาไว้
ข้อมูลจากกราฟิกชิ้นนี้สรุปได้ว่า ปัจจุบันบริษัทพงซับทะวีฯ มีโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือทั้งสิ้น 33 โครงการ กำลังการผลิตรวม 748.89 เมกะวัตต์ ทั้ง 33 โครงการ ยังสร้างไม่เสร็จทั้งหมด และไม่ได้แยกว่าโครงการใดที่บริษัทพงซับทะวีฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการเอง และโครงการใดที่เป็นเพียงผู้รับเหมาก่อสร้าง (รายละเอียดดูได้จากภาพประกอบ)
โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของบริษัทพงซับทะวีฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเวียดนาม
…
ระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2562 ในช่วงที่จิ่งดิ่งหยุง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม (ในขณะนั้น) เดินทางมาเยือนลาว พงสะหวัด เสนาพวน ในฐานะผู้อำนวยการ บริษัทน้ำซำ ในเครือพงซับทะวี ได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนน้ำซำ 3 ให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนาม โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม และสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีลาว เป็นสักขีพยาน
เขื่อนน้ำซำ 3 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 156 เมกะวัตต์ อยู่ที่เมืองซำใต้ แขวงหัวพัน เดิมเป็นโครงการที่แขวงหัวพันเคยให้สัมปทานแก่บริษัทไซ่ง่อน จากเวียดนาม เป็นผู้พัฒนา ตั้งแต่เมื่อปี 2554 วัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการใช้ในแขวงหัวพัน ซึ่งขณะนั้น ยังต้องซื้อไฟฟ้าจากเวียดนามมาใช้ แต่โครงการกลับไม่คืบหน้า แม้เวลาล่วงเลยไปนานกว่า 3 ปี ในที่สุดสัมปทานเขื่อนแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนมือมาให้บริษัทพงซับทะวีฯ เป็นผู้พัฒนาแทน
ปลายสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2563 ที่กรุงฮานอย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนามได้เซ็นข้อตกลงซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนของลาว 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทพงซับทะวีฯ และบริษัทจะเลินเซกอง เนื่องจากคาดว่าตั้งแต่ปี 2564 เวียดนามต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เพราะความต้องการใช้มีมากกว่ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในเวียดนาม
เนื้อหาในสัญญา รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนามจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อน 5 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 363 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 บริษัทจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้ในปี 2564 และ 2566 อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ปรากฏออกมา ไม่มีรายละเอียดของเขื่อนทั้ง 5 ว่ามีกำลังการผลิตเท่าใด และเป็นเขื่อนของบริษัทใดบ้าง
วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2563 รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนามได้เซ็นข้อตกลงซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มอีก คราวนี้ซื้อจากบริษัทพงซับทะวีฯ เพียงเจ้าเดียว โดยในข้อตกลงจะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำยวง กำลังการผลิตตั้ง 84 เมกะวัตต์ เขื่อนน้ำเนิน 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 124 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินน้ำพัน กำลังการผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง บริษัทพงซับทะวีฯ เป็นผู้พัฒนา และพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้กับเวียดนามในปี 2567 และ 2568
วันที่ 18 ธันวาคม 2563 แผนกแผนการและการลงทุน แขวงเชียงขวาง เซ็นสัญญาให้สัมปทานแก่บริษัทพงซับทะวีฯ เป็นผู้สร้างและพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก 7 โครงการ ได้แก่ เขื่อนน้ำบวก เขื่อนน้ำปัง เขื่อนน้ำเกี้ยว เขื่อนน้ำซาย เขื่อนน้ำจ้าว 2 เขื่อนน้ำเยี่ยม และเขื่อนน้ำโม้ 2A ในเมืองหมอก แขวงเชียงขวาง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่ากำลังการผลิตของทั้ง 7 เขื่อนเป็นเช่นใด
โรงไฟฟ้า 3 แห่ง ที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนามเพิ่งเซ็นข้อตกลงซื้อจากบริษัทพงซับทะวีฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคม และเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก 7 แห่งที่เพิ่งได้รับสัมปทานจากแขวงเชียงขวางในตอนกลางเดือนเดียวกัน ไม่ได้ถูกบรรจุชื่อรวมไว้กับ 33 เขื่อน ตามแผนภูมิกราฟิกหมวด “ธุรกิจของเรา” ในเว็บไซต์ของบริษัทพงซับทะวีฯ
แต่ 2 เดือนก่อนหน้าที่จะมี 2 ดีลหลังนี้ บริษัทพงซับทะวีฯ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกิดขึ้น…
วันที่ 1 ตุลาคม 2563 บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL-Gen) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSX) ได้เผยแพร่หนังสือแจ้งถึงผู้ถือหุ้น ระบุว่าคณะกรรมการคุ้มครองตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) ได้อนุมัติคำขอซื้อหุ้น EDL-Gen ในสัดส่วน 24% ที่มีบริษัทเอกชนได้เสนอซื้อจากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos: EDL)
เนื้อหาในหนังสือ มีรายละเอียดดังนี้…
“บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน ขอถือเป็นเกียรติแจ้งมายังท่านได้ทราบว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์ ได้เห็นดีให้บริษัทพงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง เคหาสะถาน และชลประทาน ซื้อหุ้นบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน ที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวถือครองอยู่ในสัดส่วน 24% ตามการเสนอของบริษัท จึงเรียนมาเพื่อทราบ”
EDL-Gen เป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และเป็น 1 ใน 2 องค์กรนำร่องคู่กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ที่ถูกเลือกจากรัฐบาลลาวให้แปรรูปโดยการกระจายหุ้น และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนมกราคม 2554
ก่อนนำหุ้นออกกระจายขายแก่ประชาชนทั่วไป รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวได้โอนทรัพย์สิน ประกอบด้วย เขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่งที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวมาเป็นของ EDL-Gen รวมถึงหุ้นที่ถืออยู่ในเขื่อนของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระบางแห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ของ EDL-Gen จากยอดขายไฟฟ้าและเงินปันผล
วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ก่อนจะมีการเผยแพร่หนังสือฉบับนี้ออกมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ EDL-Gen ประกอบด้วย
หลังบริษัทพงซับทะวีฯ ได้ซื้อหุ้น 24% จากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ณ วันที่ 10 มีนาคม 2464 ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ EDL-Gen ได้เปลี่ยนเป็น
ไม่มีการแจ้งรายละเอียดเหตุผลที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวยอมขายหุ้น 24% ที่ถืออยู่ใน EDL-Gen ให้บริษัทพงซับทะวี จนทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และเมื่อรวมกับผู้ถือหุ้นลำดับที่ 7 “เวียงสะหวัน เสนาพวน” ที่เป็นรองประธานบริษัทพงซับทะวีฯ แล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทพงซับทะวีฯ ใน EDL-Gen สูงถึง 25.01%
การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 ของ EDL-Gen เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ EDL-Gen ในนครหลวงเวียงจันทน์ ในวาระที่ 6 เรื่องการเพิ่มกรรมการบริหารแทนกรรมการเก่าที่ลาออก
ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งพงสะหวัด เสนาพวน ประธานบริษัทพงซับทะวีฯ เข้าเป็นกรรมการบริหาร แทนโกมินจัน เพดอาสา ที่ได้พ้นจากตำแหน่ง เพราะได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่…
ปัจจุบัน EDL-Gen เป็นเจ้าของเขื่อนผลิตไฟฟ้า 10 แห่ง ประกอบด้วย
นอกจากนี้ EDL-Gen ยังถือหุ้นอยู่ในเขื่อนของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ 13 เขื่อน ได้แก่
…
มีบางคนวิเคราะห์ว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารองค์กรที่ได้มอบเงินสนับสนุนการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2564 แต่นั่นอาจเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะสำหรับบริษัทพงซับทะวีฯ
หลังเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนั้น บุนโจม อุบนปะเสิด ในฐานะหัวหน้าอนุกรรมการงบประมาณ สำหรับการจัดประชุมฯ ได้สรุปว่ามีหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐ 34 แห่ง ที่ให้การสนับสนุนการจัดประชุม ทั้งในรูปเงินสดและวัตถุปัจจัย คิดเป็นเงินรวม 14.53 พันล้านกีบ ในนี้เป็นการสนับสนุนเงินสด 14.28 พันล้านกีบ และเป็นวัตถุปัจจัย 254 ล้านกีบ
บริษัทพงซับทะวีฯ ร่วมให้การสนับสนุนด้วย 1,000 ล้านกีบ คิดเป็นเงินบาทไทยตกประมาณ 3 ล้านบาท (330 กีบ/1 บาท) หรือ 1.05 แสนดอลลาร์ (9,450 กีบ/1 ดอลลาร์) โดยพงสะหวัด เสนาพวน เป็นผู้นำเงินไปมอบให้แก่สมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564
ตอนเช้าของวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ก่อนมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ออกสู่สาธารณะเพียง 1 วัน พงสะหวัด เสนาพวน ได้เดินทางไปยังสถานทูตเวียดนาม ประจำลาว เขาเป็นตัวแทนบริษัทและพนักงานของบริษัทพงซับทะวีฯ มอบเงินสดและอุปกรณ์การแพทย์สมทบเข้ากองทุนป้องกันและสกัดกั้นโควิด-19 ของเวียดนาม ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 อยู่ภายในประเทศ ในขณะนั้น
ความช่วยเหลือที่บริษัทพงซับทะวีฯ มอบให้แก่ เหวียน บ่าฮุ่ง เอกอัครัฐทูตเวียดนามประจำ สปป.ลาว ในวันนั้น มีมูลค่ารวม 1 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินสด 5 แสนดอลลาร์ และอุปกรณ์การแพทย์ ได้แก่ ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และเตียงผู้ป่วย อีก 5 แสนดอลลาร์
เป็นมูลค่าความช่วยเหลือที่ไม่น้อยเลยทีเดียว…