รายชื่อกลุ่มนายพลเมียนมาที่ถูกคว่ำบาตรตามคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐ
หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021ว่า สหรัฐฯจะคว่ำบาตรผู้นำทางทหารของเมียนมาหลังการรัฐประหารในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 11 กุมภาพันธ์ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายละเอียดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจง (Targeted Sanction) พร้อมรายชื่อผู้นำทางทหารเมียนมาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้คำสั่งบริหารฉบับใหม่ บนเว็บไซต์
เว็บไซต์ระบุว่า ตามที่คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศใช้มาตรการการคว่ำบาตรใหม่ เพื่อตอบโต้การรัฐประหารของทหารพม่าต่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของพม่า เพื่อให้สอดคล้องกับการออกคำสั่งบริหารใหม่ (Executive Order:E.O ) กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีรายชื่อตัวบุคคล 10 คนและหน่วยงาน 3 แห่งที่เชื่อมโยงกับกลไกทางทหารที่ก่อการรัฐประหาร
สหรัฐฯจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในพม่า เพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองโดยทันที ซึ่งรวมถึงที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจีและประธานาธิบดีวิน มินต์ และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนในการพยายามขวางความก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าต้องรับผิดชอบ มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้มีเป้าหมายเฉพาะผู้ที่มีบทบาทในการนำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของพม่า มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ชาวพม่า
“ตามที่ประธานาธิบดีได้กล่าวไว้ว่าการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นการโจมตีโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของพม่า” นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังกล่าว “กระทรวงการคลังยืนหยัดอยู่กับประชาชนในพม่า และเรากำลังทำในสิ่งที่ต้องช่วยพวกเขาในความพยายามที่จะรักษาเสรีภาพและประชาธิปไตย”
“เราพร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มเติมหากทหารของพม่าไม่เปลี่ยนแนวทาง หากมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ประท้วงอย่างสันติมากขึ้น ทหารพม่าจะพบว่าการคว่ำบาตรในวันนี้เป็นเพียงอย่างแรก”
สถานการณ์ในพม่า
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์กองทัพพม่าได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศด้วยการรัฐประหาร คุมตัวผู้นำพลเรือน สั่งปิดอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ และปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย และเข้าควบคุมการทำหน้าที่รัฐบาล การปฏิวัติครั้งนี้ได้ปลดออง ซาน ซูจีออกจากที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีวิน มินต์ ออกจากอำนาจ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ซึ่งจะเป็นการเข้าทำหน้าที่ของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ของพม่า รวมทั้งรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 อย่างเป็นทางการ ที่มาจากความไว้วางใจและเป็นตัวแทนของเจตจำนงของประชาชนพม่าส่วนใหญ่ ผู้นำการรัฐประหารได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีส่งผลให้พม่ากลับสู่การปกครองของทหารอย่างเต็มตัว
ทหารของพม่าควรคืนอำนาจให้กับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยทันที ยุติภาวะฉุกเฉิน ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่เป็นธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม รวมถึงการดูแลให้ผู้ที่ประท้วงอย่างสันติไม่ประสบกับความรุนแรง ต้องเคารพผลการเลือกตั้งของพม่า และควรมีจัดประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุด
ผู้ร่วมก่อการปฏิวัติ
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในวันนี้ กระทรวงการคลังได้ขึ้นบัญชีเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในปัจจุบันและในอดีต 10 คนที่มีส่วนในการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 หรือเกี่ยวข้องกับระบอบทหารพม่า โดยที่ 6 คนเป็นส่วนหนึ่งของสภาป้องกันประเทศและความมั่นคงแห่งชาติและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ตามคำสั่งบริหารฉบับใหม่มีสถานะเป็นบุคคลต่างชาติที่เป็นหรือเป็นผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ของทหาร หรือกองกำลังความมั่นคงของพม่า ดังต่อไปนี้
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2019 ตามคำสั่งบริหารที่ 13818 กระทรวงการคลังได้คว่ำบาตร มิน อ่อง หล่ายมาแล้ว ในฐานที่เป็นผู้นำ หรือเจ้าหน้าที่ของกองกำลังทหารพม่า หน่วยงานที่มีส่วนร่วมหรือเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงภายใต้คำสั่งของเขา
พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2019 ตามคำสั่งบริหารที่ 13818 กระทรวงการคลังได้คว่ำบาตรโซ วินมาแล้ว ในฐานที่เป็นผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ของกองกำลังทหารพม่า หน่วยงานที่มีส่วนร่วมหรือเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในระหว่างดำรงตำแหน่ง
พล.อ.มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดีคนแรก และนายพลเกษียณอายุ
พลโท เซ่ง วิน
พลโท โซ ทุต และ
พลโท เย ออง
หลังการรัฐประหาร ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่าประกาศว่าเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คนต่อไปนี้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ ถือเป็นบุคคลต่างชาติที่เป็นหรือเป็นผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ของทหารหรือกองกำลังความมั่นคงของพม่าตามคำสั่งบริหารใหม่ ได้แก่
พล.อ.เมี๊ยะ ทุน อู ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
พล.อ.อ ติน อ่อง ซาน ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและสื่อสาร
พลโท เย วิน อู ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการร่วม ของสภาบริหารแห่งรัฐ
พลโท อ่อง ลิน ดวย เลขานุการ ของสภาบริหารแห่งรัฐ
นอกเหนือจากบุคคลที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว บริษัทในพม่า 3 แห่งต่อไปนี้ซึ่งเป็น บริษัทย่อยที่ถือหุ้นเต็มของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในพม่า จะถูกคว่ำบาตรตามคำสั่งบริหารใหม่ ในฐานที่เป็นบุคคลต่างชาติที่เป็นเจ้าของหรือควบคุมโดย หรือที่กระทำหรือมีเจตนาที่จะกระทำเพื่อหรือในนามของทหารหรือกองกำลังความมั่นคงของพม่าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
Myanmar Ruby Enterprise
Myanmar Imperial Jade Co., LTD.
Cancri (Gems and Jewellery) Co., LTD.
นัยะของการคว่ำบาตร
ผลของการประกาศในวันนี้ ทรัพย์สินและผลประโยชน์ทั้งหมดในทรัพย์สินของบุคคลและหน่วยงานที่มีชื่อข้างต้น และของหน่วยงานใด ๆ ที่เป็นเจ้าของไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม 50% หรือมากกว่านั้น ไม่ว่ารายบุคคลหรือกับบุคคลอื่นที่ถูกคว่ำบาตร ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา หรืออยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของบุคคลในสหรัฐอเมริกา จะถูกอายัดและต้องรายงานไปยังสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ (Office of Foreign Assets Control:OFAC) เว้นแต่จะได้รับอนุญาตด้วยใบอนุญาตทั่วไปหรือใบอนุญาตเฉพาะที่ออกโดย OFAC หรือได้รับการยกเว้นโดยทั่วไปทั้งนี้ข้อบังคับของ OFAC โดยทั่วไปห้ามการทำธุรกรรมทั้งหมดโดยบุคคลในสหรัฐอเมริกาหรือภายใน (หรือการโอน) ในสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ในทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรหรือถูกสั่งห้าม
สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติได้ข้อมูล เว็บไซต์ ว่าได้เพิ่มชื่อบุคคลและบริษัทที่ถูกคว่ำบาตรไว้ในรายชื่อ Specially Designated Nationals And Blocked Persons List (SDN) หรือบุคคลต้องห้าม