ThaiPublica > สู่อาเซียน > อังกฤษ-แคนาดา คว่ำบาตรนายพลเมียนมาหลังยึดอำนาจ

อังกฤษ-แคนาดา คว่ำบาตรนายพลเมียนมาหลังยึดอำนาจ

20 กุมภาพันธ์ 2021


นายโดมินิค ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2021-02-19/uk-sanctions-myanmar-generals-military-coup/13171828

สหราชอาณาจักรและแคนาดา คว่ำบาตรนายพลเมียนมาหลังรัฐประหาร

สหราชอาณาจักรประกาศว่า จะมีการอายัดทรัพย์สิน ห้ามการเดินทางของนายพล 3 คน ขณะที่แคนาดากล่าวว่าจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหาร 9 คน

ในแถลงการณ์รัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า ทหารและตำรวจได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง รวมทั้งละเมิดสิทธิในการมีชีวิต สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุม สิทธิที่จะไม่ถุกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อังกฤษระบุว่า จะยึดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางของนายพลกองทัพ 3 คนในทันที ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เมี๊ยะ ทุน อู รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน โซ ทุต และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกิจการภายใน ตาน หล่าย

สหราชอาณาจักรและแคนาดาได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับนายพลเมียนมาที่ปกครองประเทศในขณะนี้ ฐานโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยพลเรือน ขณะที่ญี่ปุ่นระบุว่า เห็นพ้องกับสหรัฐอเมริกา อินเดียและออสเตรเลียว่า จะต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยเร็ว

ประเทศตะวันตกประณามการโค่นล้มและควบคุมตัวผู้นำออง ซาน ซูจีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงประจำวันตามท้องถนนของประเทศ

สหราชอาณาจักร และแคนาดาได้ประกาศมาตรการในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หลังจากสหรัฐฯที่ประกาศมาตรการคว่ำบาตรจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“เราร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเรา เห็นว่ากองทัพเมียนมาต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องมีการดำเนินการเพื่อความยุติธรรมให้กับชาวเมียนมา” นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษกล่าว

อังกฤษยังระบุว่า ได้มีการวางมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการช่วยเหลือของอังกฤษสนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยทหารทางอ้อม และมาตรการเพิ่มเติมจะป้องกันไม่ให้ธุรกิจของอังกฤษทำงานร่วมกับทหารของเมียนมา

สหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตรผู้นำทหาร มิน อ่อง หล่ายมาแล้ว โดยกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ รวมทั้งก่อนหน้านี้ได้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมามาแล้ว 16 คน

“เราทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเราที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเราเห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องของพวกเขาให้ทหารเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมในการเข้ายึดอำนาจทางทหาร”นายมาร์ค การ์นิว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดากล่าวในแถลงการณ์

รัฐบาลเมียนมาไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ในทันที แต่วันอังคารโฆษกกองทัพกล่าวในการแถลงข่าวว่า คาดว่าจะมีการคว่ำบาตร

การรัฐประหารได้ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มต้นในปี 2011 หลังจากการปกครองของกองทัพเกือบครึ่งศตวรรษหยุดชะงัก และทำให้วิตกว่า จะกลับไปสู่ยุคแห่งการโดดเดี่ยวแบบเดิม แม้ผู้นำกองทัพสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งที่เป็นยุติธรรม

นอกจากนี้ในวันเดียวกันนายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวว่า เห็นด้วยกับกลุ่ม Quad ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ อินเดียและออสเตรเลียที่ว่า ต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว

รัฐมนตรีต่างประเทศ “มีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในเมียนมา และชี้แจงว่า ญี่ปุ่นเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติความรุนแรงต่อประชาชนและหยุดยิงโดยทันที รวมถึงปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและฟื้นฟูระบบการเมืองแบบประชาธิปไตของเมียนมาโดยเร็ว” แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุ

ด้านอินเดียออกแถลงการณ์ซึ่งนุ่มนวลว่า “ในการหารือเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา อินเดียย้ำว่า ต้องยึดหลักนิติธรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่า การหารือของกลุ่ม Quad มีคุณค่า รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจึงเห็นชอบที่จะดำเนินการหารือที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

นางมารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า กำลังทบทวนความร่วมมือทางทหารกับเมียนมา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพร้ซ์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า นายแอนโทนี บลินเคนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสามประเทศถึง “ความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยใน [เมียนมา] และให้ความสำคัญของการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของประชาธิปไตยในภูมิภาคในวงกว้าง”

อย่างไรก็ตามกองทัพเมียนมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นจีนและรัสเซีย ซึ่งใช้แนวทางที่นุ่มนวลกว่า

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/18/uk-and-canada-impose-sanctions-on-myanmar-generals-after-coup

ประท้วงและหยุดงาน

แต่กองทัพยังต้องเผชิญกับความท้าทายในประเทศที่มีพลเมืองจำนวน 54 ล้านคน จากการประท้วงที่ดึงดูดผู้คนนับแสนและการนัดหยุดงานที่ทำให้ธุรกิจของรัฐบาลเป็นอัมพาต

“ฉันไม่อยากตื่นขึ้นมาในระบอบเผด็จการ เราไม่ต้องการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างหวาดกลัว” โก โซ มิน ซึ่งอยู่ในตัวเมืองของย่างกุ้งที่ผู้คนนับหมื่นพากันออกไปตามท้องถนนในแต่ละวัน หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

การเดินขบวนเป็นไปอย่างสงบกว่า การประท้วงที่ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด ในช่วงครึ่งศตวรรษก่อนหน้าภายใต้การปกครองของกองทัพ แต่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางหลายครั้งเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง

คาดว่าผู้ประท้วงรายหนึ่งเสียชีวิตหลังถูกยิงเข้าที่ศีรษะในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพระบุว่า ตำรวจคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะได้รับบาดเจ็บจากการประท้วง

ในเมืองใหญ่อันดับสองอย่างมัณฑะเลย์ ผู้ประท้วงรวมตัวกันเมื่อวันพฤหัสบดีเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ 2 คนที่ถูกจับกุมในการรัฐประหาร ตำรวจฉีดน้ำในกรุงเนปิดอว์ เพื่อป้องกันฝูงชนไม่เข้าใกล้แนวเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ตำรวจและทหารใช้ปืนยิงเพื่อสลายการประท้วงในเมืองมิตจีนาทางตอนเหนือ ส่วนใน พุกามเมืองหลวงเก่า ผู้คนถือป้ายและธงเดินขบวนในขบวนที่มีสีสัน โดยมีฉากหลังเป็นวัดโบราณ ผู้ประท้วงบางคนหยุดที่วัดแห่งหนึ่งเพื่อสาปแช่งเผด็จการ ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งให้ข้อมูล

กองทัพเข้ายึดอำนาจหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของออง ซาน ซูจี คว้าชัย

ออง ซาน ซูจีเผชิญข้อหาละเมิดกฎหมายการจัดการภัยธรรมชาติ รวมถึงข้อหานำเข้าวิทยุสื่อสารแบบวอล์กกี้-ทอล์คกี้จำนวน 6 เครื่องอย่างผิดกฎหมาย การขึ้นศาลครั้งต่อไปกำหนดไว้ในวันที่ 1 มีนาคม

ซูจีวัย 75 ปีถูกกักบริเวณในบ้านเป็นเวลาเกือบ 15 ปี ในการพยายามนำประชาธิปไตยกลับคืนมาและได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 จากการต่อสู้

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมา(Myanmar’s Assistance Association for Political Prisoners) กล่าวว่า คนที่ถูกจับกุมตั้งแต่การรัฐประหารมีจำนวนถึง 495 คน และยังคงถูกควบคุมตัวทั้งหมด

เรียบเรียงจาก
UK sanctions Myanmar generals for ‘violating the right to life’ after military coup
UK and Canada impose sanctions on Myanmar generals after coup