ThaiPublica > สู่อาเซียน > กองทัพเมียนมา ตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” รักษาการประธานาธิบดี ปกครองใต้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี

กองทัพเมียนมา ตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” รักษาการประธานาธิบดี ปกครองใต้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี

1 กุมภาพันธ์ 2021


พลเอก มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี ที่มาภาพ: https://www.president-office.gov.mm/en/?q=briefing-room/news/2021/01/01/id-10168

  • กองทัพเมียนมาคุมอำนาจ ประกาศฉุกเฉิน คุม “อองซานซูจี” พร้อมผู้นำอีกหลายคน
  • กองทัพเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกับควบคุมตัวผู้นำระดับสูงของรัฐบาล หลังจากที่กล่าวหามีการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563

    บันทึกเทปวิดีโอที่ออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์ของกองทัพระบุว่า ขณะนี้อำนาจได้ถูกโอนให้กับ นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

    แถลงการณ์ที่อ่านออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์เมียวดี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพมีดังนี้

    รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ใช้ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปที่มีหลายพรรคซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน พบว่ามีความคลาดเคลื่อนอย่างมาก และคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหภาพแรงงานไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้

    แม้อำนาจอธิปไตยของชาติจะต้องมาจากประชาชน แต่ก็มีการทุจริตในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง การปฏิเสธที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและความล้มเหลวในการดำเนินการ และปฏิบัติตามคำร้องขอให้เลื่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูงไม่เป็นไปตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2018 ที่ระบุว่า การกระทำหรือความพยายามที่จะยึดครองอำนาจอธิปไตยของสหภาพโดยวิธีการบังคับโดยมิชอบ และอาจนำไปสู่การแตกสลายของความเป็นปึกแผ่นของชาติ

    จากการกระทำดังกล่าวจึงมีการประท้วงเกิดขึ้นมากมายในเขตเมืองและเมืองต่างๆ ในเมียนมาเพื่อแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มบุคคลและบุคคลอื่นๆ ทำการยั่วยุในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการโบกธงที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

    หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นการขัดขวางเส้นทางสู่ประชาธิปไตย จึงต้องมีการแก้ไขตามกฎหมาย ดังนั้นจึงมีการประกาศภาวะฉุกเฉินตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2008 เพื่อดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและดำเนินการ ทั้งนี้ อำนาจในการกำหนดกฎหมาย การปกครอง และอำนาจศาล จะถูกส่งมอบให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ 2008 มาตรา 418 วรรค (ก)

    “ภาวะฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศและกำหนดระยะเวลาของภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีนับจากวันที่มีคำสั่งฉบับนี้ ตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2008”

    ตั้งพลเอก มินต์ ส่วย รักษาการประธานาธิบดี

    นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” อดีตนายพลที่เคยคุมกองทัพที่ทรงอำนาจในย่างกุ้ง และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ให้รักษาการประธานาธิบดี 1 ปี

    แถลงการณ์ที่อ่านออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์เมียววดี ลงนามโดย พลเอก มินต์ ส่วย รักษาการประธานาธิบดี ยังได้ระบุว่า “การควบคุม กฎหมาย การบริหาร และตุลาการ ถูกส่งมอบให้พลเอก มิน อ่อง หล่าย ทำให้เมียนมากลับสู่การปกครองของทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

    พลเอก มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดีคนที่ 1 เคยทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีมาแล้วหลังจากประธานาธิบดีถิ่น จอว์ ลาออกในวันที่ 21 มีนาคม 2018

    ธนาคารปิดให้บริการทั่วประเทศ

    ธนาคารเมียนมาทุกแห่งทั่วประเทศหยุดให้บริการทางการเงินในวันจันทร์ เนื่องจากสัญญานอินเทอร์เน็ตไม่ดีท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ตึงเครียด สมาคมธนาคารเมียนมาระบุในแถลงการณ์

    “ธนาคารสมาชิกทุกรายเห็นพ้องที่ปิดทำการหยุดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์” แถลงการณ์ระบุ และจะขออนุญาตธนาคารกลางปิดชั่วคราว และจะแจ้งให้ทราบว่าจะกลับมาเปิดให้บริการเมื่อไร

    ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/KanbawzaBank/photos/a.395934967109195/3658121240890535/

    จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

    นางอองซานซูจียังได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา แม้ชื่อเสียงในระดับนานาชาติเสื่อมลงอย่างมาก จากการปราบปรามชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่ไร้สัญชาติในปี 2017

    พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีกวาดชัยชนะการเลือกตั้งในปีที่แล้วอย่างถล่มทลาย โดยได้ที่นั่งมากกว่าการลงคะแนนเลือกในปี 2015 ที่ส่งผลให้ซูจีซึ่งได้รับรางวัลโนเบลก้าวขึ้นสู่อำนาจ

    แต่กองทัพของประเทศซึ่งปกครองประเทศมาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมากล่าวหาว่า คะแนนที่ได้ผิดปกติ

    โดยอ้างว่าได้ตรวจพบกรณีการฉ้อโกงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 10 ล้านราย และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาล เปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบให้ตรงกัน

    ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นหลังจากนายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดของเมียนมา กล่าวสุนทรพจน์เตือนว่า รัฐธรรมนูญของประเทศอาจถูก “ยกเลิก” ได้หากไม่มีการปฏิบัติตาม

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรถถังของกองทัพก็ถูกนำไปวิ่งเป็นเวลาสั้นๆ ตามท้องถนนของศูนย์กลางการค้าย่างกุ้ง เมืองหลวงเนปีดอว์ และที่อื่นๆ พร้อมกับการประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งโดยผู้สนับสนุนทหาร

    ผู้สนับสนุนกองทัพเมียนมาและพรรค USDP ที่มีทหารหนุนหลังชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งใกล้เจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง วันที่ 30 ม.ค. 2564 ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/aung-san-suu-kyi-myanmar-dda3d013897e14d5d0bd44d19eac9cd1/gallery/6439901ef6a541e487614dca98161aab

    เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่

    เมียนมาถูกปกครองโดยระบอบทหารมาเกือบตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1948

    นายพลเนวินขับไล่รัฐบาลพลเรือนในปี 1962 โดยอ้างว่าไม่มีความสามารถมากพอที่จะบริหารประเทศ

    นายพลเนวินบริหารประเทศนานถึง 26 ปี แต่ก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1988 หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศต่อต้านเศรษฐกิจที่ซบเซาและการปกครองแบบเผด็จการ

    ผู้นำทหารรุ่นใหม่เข้ารับตำแหน่งในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา โดยอ้างถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูกฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในประเทศ

    นายพลตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2011 และส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลของนายพลที่เกษียณอายุราชการ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

    จะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

    รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 แสดงให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองอันทรงพลังที่ต่อเนื่องของกองทัพ ทำให้สามารถควบคุมกระทรวงที่สำคัญ คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงควบคุมชายแดนและกระทรวงกลาโหม

    การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาที่มาจากกองทัพ ซึ่งคุมที่นั่ง 1 ใน 4 ในรัฐสภาของประเทศ

    การค้ำจุนอำนาจของกองทัพทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ไม่เป็นที่นิยมอย่างมาก” ขิ่น ซอว์ วิน นักวิเคราะห์การเมืองประจำย่างกุ้งให้ความห็น

    ซูจีและรัฐบาลของเธอพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งปี 2015 แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

    ในวาระการทำหน้าที่หลังสุด ซูจีได้หลีกเลี่ยงบทบัญญัติที่ทำให้เธอไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ด้วยการรับหน้าที่ผู้นำโดยพฤตินัยในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ”

    ช่องโหว่นี้เป็นหนึ่งในหลายๆ ช่องทางที่กองทัพไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า โซ มินท์ อ่อง นักวิเคราะห์การเมืองอีกรายระบุ

    “จากมุมมองของพวกเขา เป็นการสูญเสียการควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการทางการเมือง” โซ มินท์ อ่อง กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

    เรียบเรียงจาก
    Statement from Myanmar military on state of emergency
    Myanmar coup: What we know so far
    Myanmar’s first vice president Myint Swe appointed as acting president after military coup: Report