ThaiPublica > สู่อาเซียน > ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมา

11 กุมภาพันธ์ 2021


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน:https://edition.cnn.com/2021/02/10/politics/biden-myanmar-coup-sanctions/index.html

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศเมื่อวันพุธ( 10 กุมภาพันธ์ 2021) ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯจะคว่ำบาตรผู้นำทางทหารของเมียนมาหลังการรัฐประหารในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

  • กองทัพเมียนมาคุมอำนาจ ประกาศฉุกเฉิน คุม “อองซานซูจี” พร้อมผู้นำอีกหลายคน
  • กองทัพเมียนมา ตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” รักษาการประธานาธิบดี ปกครองใต้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี
  • “อองซานซูจี” ปลุกประชาชนลุกขึ้นต้านรัฐประหาร
  • ประธานอาเซียน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเมียนมาให้เจรจาปรองดอง
  • “ใคร” ในกองทัพเมียนมาคุมบริหารประเทศ
  • ประชาชนเมียนมาลุกฮือ เดินขบวนต้านรัฐประหาร
  • “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” แถลงครั้งแรกปกป้องรัฐประหาร หลังประท้วงขยายวงลุกลาม

    ในการบรรยายสรุปสั้นๆ ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า ได้อนุมัติคำสั่งบริหารฉบับใหม่ที่อนุญาตให้สหรัฐฯ“ลงโทษผู้นำทหารที่นำการรัฐประหาร ผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา ตลอดจนสมาชิกที่ใกล้ชิดในครอบครัวในทันที” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯจะระบุเป้าหมายของการคว่ำบาตรกลุ่มเหล่านั้นในสัปดาห์นี้

    “รัฐบาลสหรัฐฯกำลังดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้บรรดานายพลเข้าถึงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลพม่าที่อยู่ในสหรัฐฯอย่างไม่เหมาะสม” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าว

    “เราจะกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดด้วย” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวเพิ่มเติม “เราอายัดทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลพม่าในสหรัฐฯ ขณะที่ยังคงให้การสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพ กลุ่มประชาสังคมและด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนพม่าโดยตรง” ประธานาธิบดีกล่าวถึงเมียนมาโดยใช้คำอื่นแทนเมียนมา

    ประธานาธิบดีไบเดนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้ประท้วง และผู้นำพลเรือนที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งออง ซาน ซู จีกับ วิน มินต์และยุติการปราบปรามผู้ประท้วง

    “ทหารต้องสละอำนาจที่พวกเขายึดมา และให้ความเคารพต่อเจตจำนงของประชาชนพม่า ที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวพร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่สองพรรคและนานาชาติกังวล

    “เราพร้อมที่จะกำหนดมาตรการเพิ่มเติม และเราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเราต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมกับเราในการดำเนินการเหล่านี้” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าว

    ก่อนการแถลงของประธานาธิบดีไบเดน ในเดียวกัน โฆษกทำเนียบขาวนางเจน ซากี กล่าวว่า การดำเนินการนี้จะมากกว่าดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะรวมถึง “การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตร ในภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการกดดันและมีส่วนร่วม”

    นางซากีกล่าวว่ามี “มีการหารือและพูดคุยกับหุ้นส่วนและพันธมิตรของเราในเอเชียและยุโรปอย่างต่อเนื่อง และมีการยอมรับอย่างชัดเจนว่าสิ่งนี้จะต้องเป็นการดำเนินการที่ต้องประสานกัน”

    นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเมื่อวันอังคารว่า “ประชาคมระหว่างประเทศกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าประชาธิปไตยและความเป็นผู้นำพลเรือนจะกลับคืนมาในพม่า”

    “เราบอกตรงๆถึงจุดยืนของเราว่า กองทัพจำเป็นต้องสละอำนาจ” นายไพรซ์กล่าว “เรากำลังดำเนินการทบทวนอย่างรอบคอบเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่เราให้กับพม่า และเตรียมที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างมาก”

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ลงความเห็นอย่างเป็นทางการว่า การยึดอำนาจทางทหารเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สหรัฐฯลดความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้กับรัฐบาลของประเทศ

    เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของเมียนมารวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิน อ่อง หล่าย ได้ถูกคว่ำบาตรแล้วจากกรณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา

    ทหารถูกกล่าวหาว่าได้ทำการสังหารโหด รวมถึงการสังหารหมู่ การข่มขืนกระทำชำเราต่อประชากรกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ซึ่งบีบให้ผู้คนเกือบล้านคนต้องหลบหนี สหประชาชาติได้เสนอให้มีการดำเนินการด้านกฎหมายในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ซูจีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำพลเรือนที่ถูกปลดระบุว่ารายงานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็น “ข้อมูลที่ผิด

    กองทัพได้เข้าควบคุมประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากควบคุมตัวบุคคลระดับสูงของรัฐบาล รวมถึงซูจีที่เป็นผู้นำ หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพหรือที่เรียกว่า ตะมะดอว์(Tatmadaw)กินเวลานานหลายเดือนและทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการกล่าวหาว่ามีความผิดปกติของการเลือกตั้ง

    กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อติดต่อกับซูจี แต่ถูกปฏิเสธ นายไพร้ซ์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อติดต่อกับซูจี แต่ถูกปฏิเสธ ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนและคณะบริหารเน้นย้ำว่า มาตรการคว่ำบาตรจะมีเป้าหมายเฉพาะผู้นำทางทหารของเมียนมา แต่ยังมีความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์

    มาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างที่สหรัฐฯบังคับใช้กับรัฐบาลทหารที่ปกครองเมียนมาในทศวรรษ 1990 และ 2000 แสดงให้เห็นแล้วว่า ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และนักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วไปมากกว่ากองทัพ

    การคว่ำบาตรอาจทำให้การดำเนินการของหุ้นส่วนและพันธมิตรของสหรัฐฯที่ลงทุนในเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายุ่งยากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ที่นิสสันมีโรงงานผลิตในเมียนมา ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุนของญี่ปุ่นไดวา ซีเคียวริตี้และตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้รับการร้องขอให้พัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของประเทศ

    คิริน ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเบียร์ของญี่ปุ่นร่วมทุนกับ บริษัท โฮลดิ้งของพม่ามา 6 ปี แต่ออกมาประกาศว่า จะยุติโครงการดังกล่าวเนื่องจากพันธมิตรของ บริษัทเชื่อมโยงกับกองทัพ

    นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯและนายโทชิมิตซึ โมเทกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้หารือทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาและ “หารือเกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อดำเนินการกับการรัฐประหารของกองทัพในพม่า” กระทรวงการต่างประเทศระบุ

    หมายเหตุกองบรรณาธิการ: คำว่า เมียนมา, พม่าในข่าวนี้ใช้ตามรายงานข่าว Biden announces US will sanction Myanmar’s military leaders following coup โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น