ThaiPublica > สู่อาเซียน > ประชาชนเมียนมาลุกฮือ เดินขบวนต้านรัฐประหาร

ประชาชนเมียนมาลุกฮือ เดินขบวนต้านรัฐประหาร

6 กุมภาพันธ์ 2021


ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2021/02/06/asia/protests-myanmar-military-coup-intl-hnk/index.html

ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาตามท้องถนนในย่างกุ้งในการเดินขบวนใหญ่ครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อต้นสัปดาห์นี้

ฝูงชนซึ่งมีหลายคนได้โบกธงและถือป้ายเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวในการเข้ารวบตัวช่วงเช้ามืดในวันจันทร์ พร้อมกับมีเสียงตะโกนเป็นระยะว่า “เราเรียกร้องประชาธิปไตย” จากฝูงชนขณะที่พวกเขาเดินขบวนใกล้ตัวเมืองย่างกุ้ง ส่งผลให้รัฐบาลตัดสัญญานอินเทอร์เน็ต

เช้าวันเสาร์ ผู้ประท้วง ซึ่งมีทั้งแรงงานในโรงงานและนักศึกษารุ่นใหม่ เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งนางออง ซาน ซูจีผู้นำพรรค NLD ทีรับการเลือกตั้ง

ประชาชนเดินไปตามท้องถนนในย่างกุ้ง ขณะที่รถเมลประจำทางได้บีบแตรสนับสนุน ส่วนผู้คนที่ยืนมองข้างถนนได้ชูสามนิ้ว สัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการซึ่งมีที่มาจากภาพยนตร์เรื่องฮังเกอร์เกมส์ ให้กำลังใจ ขณะที่บางคนปรบมือและแจกน้ำให้ทั้งผู้ประท้วงและตำรวจ ผู้ประท้วงบางรายมอบดอกกุหลาบและน้ำให้กับตำรวจ และขอให้สนับสนุนประชาชนแทนการยึดอำนาจของกองทัพ

ผู้ประท้วงตะโกนพร้อมกันว่า “เผด็จการทหาร แพ้ แพ้ ประชาธิปไตย ชนะ ชนะ”

“เรามาที่นี่เพื่อต่อสู้ให้กับลูกหลานของเรา ให้เป็นอิสระจากเผด็จการกองทัพ” ผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี “เราต้องยุติเสียตอนนี้”

เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบคน ซึ่งบางคนอยู่ในชุดปราบจลาจล พยายามปิดกั้นเส้นทางการประท้วงบังคับให้ฝูงชนเปลี่ยนทิศทาง

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ฝูงชนมารวมตัวในจำนวนมากขึ้น ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหลังจากผ่านไปหลายชั่วโมง แต่ยังคงมีการประท้วงย่อย และกระจัดกระจายต่อไป รวมถึงการประท้วงที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวหลายร้อยคนรวมตัวกัน และยังส่งเสียงตะโกนต่อไป

ที่มาภาพ:
https://edition.cnn.com/2021/02/06/asia/protests-myanmar-military-coup-intl-hnk/index.html

การต่อต้านการรัฐประหารในช่วงแรกทำได้ไม่มากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารมีปัญหาในวงกว้าง รวมทั้งความกลัวว่าจะมีการปราบปรามอีก

ผู้ให้บริการตรวจสอบอินเทอร์เน็ต NetBlocks กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ประเทศประสบปัญหาสัญญานอินเตอร์เน็ตดับ “ทั้งประเทศ” เป็นครั้งที่สองเนื่องจากกองทัพพยายามยึดอำนาจ จากข้อมูลของ NetBlocks ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์พบว่าการเชื่อมต่อลดลงเหลือ 54% ของระดับปกติและผู้ใช้รายงานว่าเข้าระบบออนไลน์ได้ยาก

กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเมียนมา (MoTC) สั่งปิดเครือข่ายข้อมูลทั่วประเทศในวันเสาร์ตามรายงานของเทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทโทรคม นาคมของนอร์เวย์ ซึ่งบริหารงานเทเลนอร์ เมียนมา

เทเลนอร์กรุ๊ป ทวีตข้อความว่า “กระทรวงยกกฎหมายโทรคมนาคมของเมียนมาและอ้างถึงการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งความมั่นคงของประทศและผลประโยชน์ของสาธารณชนเป็นหลักในการออกคำสั่งดังกล่าว”

ในขณะที่การโทรและการใช้ SMS ยังคงใช้งานได้ เทเลนอร์ กรุ๊ป ระบุว่า มีความกังวลอย่างมากกับการปิดอินเตอร์เน็ต แต่เทเลเนอร์ เมียนมาเป็นบริษัทในเมียนมาดังนั้นจึง “ผูกพันตามกฎหมายท้องถิ่นและจำเป็นต้องจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติและยากลำบากนี้

“เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อผลกระทบของการปิดระบบที่มีต่อประชาชนในเมียนมา” เทเลนอร์ระบุ

ผู้ประสบเหตุอีกรายให้ข้อมูลซีเอ็นเอ็นว่า การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตขาดๆหายๆในวันเสาร์ แม้บางคนยังสามารถไลฟ์สดจากการเดินขบวนในย่างกุ้งบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้

การเชื่อมต่อที่ลดลงเกิดจากการดำเนินการเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ รวมถึงช่องข่าวท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2021/02/06/asia/protests-myanmar-military-coup-intl-hnk/index.html

พลเมืองออสเตรเลียถูกควบคุมตัว

ฌอน เทิร์นเนล ที่ปรึกษาชาวออสเตรเลียของนางซูจีกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาถูกควบคุมตัวเมื่อวันเสาร์ “ผมเดาว่าอีกไม่นานคุณจะได้ยินเรื่องนี้ แต่ผมถูกควบคุมตัวแล้ว” เทิร์นเนลเปิดเผยกับผ่านการส่งข้อความ

“ผมโดนข้อหาอะไรบางอย่าง แต่ไม่แน่ใจว่าอะไร ผมสบายดีและเข้มแข็งและไม่มีความผิดอะไรเลย” เทิร์นเนลระบุพร้อมส่งอีโมจิยิ้ม

เทิร์นแนลเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมคควอรีย์ แต่ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุว่า ขณะนี้เขาอยู่ระหว่างการลาเพื่อทำงานเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่า
ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์กระทรวงการต่างประเทศและการค้า [Department for Foreign Affairs and Trade:DFAT] ของออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวพลเมืองออสเตรเลีย

“รัฐบาลออสเตรเลียมีความกังวลอย่างมากต่อรายงานเกี่ยวกับ ชาวออสเตรเลียและชาวต่างชาติอื่น ๆ ถูกควบคุมตัวโดยพลการในเมียนมา” แถลงการณ์ระบุ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับชาวออสเตรเลียที่ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ” แถลงการณ์ระบุ

กระทรวงการต่างประเทศและการค้าระบุว่าได้ “เรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาและแสดงให้เห็นถึงความกังวลอย่างมากของรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้

ที่มาภาพ :https://www.bbc.com/news/world-asia-55960284

การยึดอำนาจอย่างกะทันหัน

เป็นเวลาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่เมียนมาหรือที่เรียกว่าพม่า มีการปกครองโดยระบอบทหารอย่างโดดเดี่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในความยากจนและมีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างโหดร้าย นักวิจารณ์ นักเคลื่อนไหว นักข่าว นักวิชาการและศิลปินหลายพันคนถูกจำคุกและทรมานเป็นประจำในช่วงเวลานั้น

นางซูจีผู้นำพลเรือนที่ถูกปลด ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในระดับนานาชาติในระหว่างการต่อสู้กับการปกครองของกองทัพที่ยาวนานหลายสิบปี เมื่อพรรค NLD ของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2015 และจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดแรก ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยหลายคนหวังว่าจะเป็นการตัดขาดจากการปกครองของกองทัพในอดีต และมีความหวังว่าเมียนมาจะปฏิรูปต่อเนื่อง

มีรายงานอย่างกว้างขวางว่า พรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ซึ่งจะทำให้มีอำนาจต่อไปอีก 5 ปี ทำลายความหวังของคนในกองทัพบางคนที่คาดหวังว่าพรรคฝ่ายค้านที่กองทัพสนับสนุนจะมีอำนาจตามระบอบประชาธิป ไตย

การยึดอำนาจอย่างกะทันหันเกิดขึ้นเมื่อรัฐสภามีกำหนดเปิดสมัยประชุมและหลังจากความขัดแย้งต่อเนื่องหลายเดือนที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพที่มีอำนาจหรือที่เรียกว่า ตะมะดอว์(Tatmadaw) ที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศปฏิเสธหลายครั้งว่าไม่มีการทุจริตเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สมาชิกสภาสังกัดพรรค NLD หลายร้อยคนถูกควบคุมตัวในเมืองหลวงเนปิดอว์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากการเดินทางไปร่วมประชุม นับแต่นั้นทหารได้สั่งปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย 24 คนและแต่งตั้งพันธมิตร 11 คนเข้ามาแทน และรับหน้าที่ในคณะบริหารใหม่

นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับกองทัพที่พยายามคุมอำนาจของตนและความทะเยอทะยานส่วนตัวของผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิน อ่อง หล่าย ซึ่งมีกำหนดที่จะลงจากตำแหน่งในปีนี้ แทนที่จะเรียกร้องอย่างจริงจังเกี่ยวกับการทุจริตจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

“การที่ต้องเผชิญกับการเกษียณอายุในอีกไม่กี่เดือนโดยไม่มีเส้นทางไปสู่บทบาทผู้นำพลเรือน และท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกให้เขาเผชิญกับข้อหาทางอาญาในกรุงเฮก เขาจนมุม” จาเร็ด เกนเซอร์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ของซูจีเขียนถึงซีเอ็นเอ็นในสัปดาห์นี้

การรัฐประหารในวันจันทร์ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยสหรัฐฯเรียกร้องให้ผู้นำทางทหารของเมียนมา “สละอำนาจที่ยึดได้ทันที ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ที่ถูควบคุมตัว ยกเลิกข้อจำกัดด้านโทรคมนาคมทั้งหมด และละเว้นจากการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน”

เรียบเรียงจาก
Myanmar coup: Internet shutdown as crowds protest against military
Protests break out in Myanmar in defiance of military coup