ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปีรัฐบาลประยุทธ์ “สนช.” ผ่านกฎหมาย 335 ฉบับ เฉลี่ย 6 ฉบับ/เดือน “คลัง-สำนักนายกฯ” นำลิ่ว

4 ปีรัฐบาลประยุทธ์ “สนช.” ผ่านกฎหมาย 335 ฉบับ เฉลี่ย 6 ฉบับ/เดือน “คลัง-สำนักนายกฯ” นำลิ่ว

1 มกราคม 2019


ผ่านมา 4 ปี 3 เดือนภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ถูกตรวจสอบจากสื่อมวลชนและประชาชนภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ อย่างไรก็ตาม หนึ่งอำนาจอธิปไตยที่สำคัญในการปกครองประเทศอย่าง “อำนาจนิติบัญญัติ” หรือการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นการกำหนดกฎกติกาของสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมไปถึงกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร กลับถูกตรวจสอบอย่างเบาบางลง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภายหลังการรัฐประหารและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 คสช. ได้กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ สนช. ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน จากการเสนอชื่อของหัวหน้า คสช. แตกต่างจากยุคประชาธิปไตยที่รัฐสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง

หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจของ สนช. คือนโยบายการอำนวยความสะดวกและลดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นและสร้างต้นทุนแก่ประชาชนและประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โดยผ่านกระบวนการ “Regulatory Guillotine” และเครื่องมือสำคัญอย่าง “พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558” ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการต้องทบทวนกฎหมายของตนเองทุกๆ 5 ปี

  • “วิษณุ” จี้ส่วนราชการพร้อมรับ ม.77 รธน.ใหม่ “ทบทวนความจำเป็นของ กม.” ให้ทันสมัย-สอดคล้องบริบทสังคม-เป็นที่ยอมรับ
  • “บรรยง พงษ์พานิช” กับการปฏิรูปเชิงสถาบัน แก้กฎหมายกว่า 1 แสนฉบับ “เก่า – เกิน – ไม่คุ้มต้นทุน – 2 มาตรฐาน”
  • เรื่องเล่าจาก “วิษณุ เครืองาม” หลากเรื่องราวที่ต้องเจอถ้าต้องทำ “Regulatory Guillotine” แนะยึดหลัก “Purpose-Process-Public”
  • “วิษณุ เครืองาม” Meet the Press เล่า “ความในใจ-ความคืบหน้า” กฎหมายหลายรส อนาคตประเทศไทย
  • “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ลุยตัดตอนกม./คู่มือใบอนุญาต 700,000 ฉบับ เหลือ 1,000 ฉบับ อำนวยสะดวกประชาชน – ลดต้นทุนประเทศ
  • ธปท. ปลดล็อกเอกชนทำ “ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ” กับแบงก์ไม่ต้องใช้เอกสาร
  • ธปท. เล็งทำ “Regulatory Guillotine” รื้อเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน-ลดต้นทุน 1,100 ล้าน/ปี คาดแล้วเสร็จ มี.ค. 62
  • 4 ปียกเลิก 16 ฉบับ – ออกใหม่ 335 ฉบับ

    ปรากฏว่าในระยะเวลา 4 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา สนช. ได้ประชุมรวมกันทั้งสิ้น 358 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 7 ครั้ง ผลงานในการยกเลิกกฏหมาย ภายหลังมี “พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2558” และ “พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560” ซึ่งปัจจุบันยกเลิกกฎหมายไปเพียง 16 ฉบับเท่านั้น

    อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบการเห็นชอบกฎหมายของ สนช. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบว่า สนช. เห็นชอบบังคับใช้กฎหมายไป 335 ฉบับ หรือเฉลี่ยในการทำงาน 51 เดือนที่ผ่านมา เห็นชอบกฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 6.6 ฉบับ หรือสัปดาห์ละ 1.5 ฉบับ โดยในช่วงปี 2557-2558 สนช. ได้เห็นชอบกฎหมายไป 133 ฉบับในระยะเวลา 15 เดือน หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ฉบับ และในช่วงหลังปี 2559-2561 ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ฉบับ หรือรวมกัน 3 ปีหลังเห็นชอบกฎหมายไป 202 ฉบับ (รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 21 ฉบับ)

    สำหรับในรายละเอียดพบว่ามีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 335 ฉบับทั้งสิ้น 35 ส่วนราชการ ตั้งแต่กระทรวง สำนักงาน ศาล องค์กรอิสระต่างๆ ตามอำนาจรักษาการกฎหมายดังกล่าว โดยส่วนราชการ 5 อันดับแรกที่ออกกฎหมายมากที่สุด ซึ่งรวมกันคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการออกกฎหมายทั้งหมดคือ

    1. กระทรวงการคลัง 67 ฉบับ หรือคิดเป็น 18.4% ของจำนวนกฎหมายทั้งหมด (โดยส่วนหนึ่งเป็นกฎหมายงบประมาณที่ต้องออกเป็นประจำทุกปี)
    2. สำนักนายกรัฐมนตรี 51 ฉบับ หรือคิดเป็น 14%
    3. อื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญ 24 ฉบับ หรือคิดเป็น 6.6%
    4. ศาลฎีกา 22 ฉบับ หรือคิดเป็น 6%
    5. กระทรวงคมนาคม 20 ฉบับ หรือคิดเป็น 5.5%

    ขณะที่ 5 ส่วนราชการที่ออกกฎหมายน้อยที่สุดแห่งละ 1 ฉบับ ได้แก่ รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, สํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานการตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน