ThaiPublica > เกาะกระแส > สรรพสามิตเตรียมเก็บ “เงินบำรุงกองทุนคนชรา” 2% สุรา-ยาสูบจ่าย“Earmarked Tax”รวม 17.5%

สรรพสามิตเตรียมเก็บ “เงินบำรุงกองทุนคนชรา” 2% สุรา-ยาสูบจ่าย“Earmarked Tax”รวม 17.5%

18 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) (ขวา) แถลงข่าวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการคลัง

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเพิ่มเติมแหล่งที่มาของเงินกองทุนผู้สูงอายุ และนำเงินกองทุนผู้สูงอายุไปจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสรุปมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เหตุผลและความจำเป็น

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น จึงได้มีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุนำเงินกองทุนมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าว และกำหนดให้มีการเพิ่มแหล่งที่มาของเงินกองทุนสำหรับนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์นี้ ประกอบด้วยเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุราและยาสูบ และโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ

2. แหล่งเงินของกองทุนผู้สูงอายุ ประกอบด้วย

2.1 เงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ว่าด้วยภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายดังกล่าวสูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการเมื่อร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้

2.2 โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งกำหนดวันเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน (หรือเอกสารมอบอำนาจ) แจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพได้ที่หน่วยงานที่ได้แจ้งลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ ได้แก่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเมืองพัทยา และสำหรับผู้ที่มีทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัดแต่อาศัยในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งบริจาคได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานรับแจ้งการบริจาคจะจัดเตรียมแบบฟอร์มการขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับผู้สูงอายุที่มีความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพเอาไว้

ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ และสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริจาคเบี้ยยังชีพสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

3. ผู้รับเงินช่วยเหลือ จะเป็นผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2560 มีจำนวน 3.6 ล้านคน

4. การจัดสรรเงินช่วยเหลือ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ กผส. พิจารณา และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป

นายพรชัย กล่าวต่อว่า แหล่งเงินของกองทุนผู้สูงอายุที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมี 2 แหล่งคือ 1. มาจากการจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุ 2% ของภาษีสุราและยาสูบ คาดว่าว่ากองทุนจะมีรายได้จากเงินบำรุงปีละ 4,000 ล้านบาท และ 2. มาจากผู้สูงอายุที่บริจาคเบี้ยยังชีพคนชราให้กับกองทุน ปัจจุบันรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปีละ 64,000 ล้านบาท จ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีชื่ออยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 หรือ ผู้สูงอายุที่ยากจนจริงๆ จำนวน 3.6 ล้านคน กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้สูงอายุที่มีฐานะดีประมาณ 1 ล้านราย ยอมสละสิทธิ นำเบี้ยยังชีพมาบริจาคให้กับกองทุนผู้สูงอายุคิดเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท เมื่อนำมารวมกับเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุแล้ว จะทำให้กองทุนฯ มีรายได้ 12,000 ล้านบาทต่อปี และเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรเป็น “เบี้ยยังชีพ” เพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุที่ยากจนจริงๆ จำนวน 3.6 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ไม่ประสงค์จะบริจาคเงินให้กองทุนฯ ก็ยังคงได้รับเบี้ยคนชราจากรัฐบาลต่อไป

เมื่อถามว่า กระทรวงการคลังจะเริ่มเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบเมื่อใด นายพรชัย กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะเริ่มเก็บเงินบำรุงให้กับกองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2560 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ถามว่า การจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุ 2% จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกสุราและยาสูบหรือไม่? นายพรชัย กล่าวว่า “ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อราคามากนัก เพราะเก็บเพิ่มอีก 2% ของค่าภาษีสุราและยาสูบ ไม่ได้เก็บเพิ่ม 2% จากราคาขายปลีก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ หรือผลักให้ผู้บริโภครับภาระแทน”

ปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้บริโภค ต้องจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม หรือ “Earmarked Tax” ประมาณ 15.5% ของภาษีสุราและยาสูบ ประกอบด้วยภาษีเพื่อมหาดไทย 10%,เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2%,เงินบำรุงกองทุนพัฒนาการกีฬา 2% และเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) 2% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หลังจาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุมีผลบังคับใช้ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรต้องจัดเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำมาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ที่บริโภคสุรายาสูบต้องจ่าย เงินบำรุงกองทุน หรือ “Earmarked Tax” รวมทั้งสิ้นประมาณ 17.5% ของภาษีสุราและยาสูบ