ThaiPublica > เกาะกระแส > “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ลุยตัดตอนกม./คู่มือใบอนุญาต 700,000 ฉบับ เหลือ 1,000 ฉบับ อำนวยสะดวกประชาชน – ลดต้นทุนประเทศ

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ลุยตัดตอนกม./คู่มือใบอนุญาต 700,000 ฉบับ เหลือ 1,000 ฉบับ อำนวยสะดวกประชาชน – ลดต้นทุนประเทศ

21 เมษายน 2018


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับการ “แก้ไขปรับปรุงกฎหมายของประเทศไทย” นับแสนฉบับที่ปัจจุบันกลายเป็นทั้งต้นทุนและภาระของประชาชนและประเทศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศและโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกูรูด้านกฎหมายและเป็นกำลังสำคัญของภารกิจนี้ เคยบรรยายถึงความสำคัญและแนวนโยบายหลักเอาไว้โดยสรุปว่า “มีแนวทางต้องทำได้ 3 ประการ 1) กฎหมายที่เคยมีแต่ไม่ทันสมัย แก้ไขเสีย 2) กฎหมายที่ล้าสมัยไปแล้ว ยกเลิกเสีย 3) กฎหมายที่บ้านเมืองอื่นมี แต่บ้านเรายังไม่มีเพราะไม่จำเป็นแล้วถ้าเกิดวันหนึ่งจำเป็นต้องมี ต้องทำให้มี” ขณะที่ในทางปฏิบัติรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย โดยมี ศ. ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ซึ่งล่าสุดจัดทำและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561

อีกด้านหนึ่ง นอกจากงานวางแผนปฏิรูปกฎหมายแล้ว การปฏิรูปปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ยังดำเนินการโดยตรงจากรัฐบาล โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยร่วมในทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด และรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่ถูกดึงตัวมาจากทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยเริ่มต้นเรื่องดังกล่าวผ่านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายธุรกิจตามดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลก ซึ่งมีความสำคัญในแง่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านเศรษฐกิจ ให้ขึ้นมารับตำแหน่งและผลักดันเรื่องดังกล่าวในมิติอื่นๆ นอกจากด้านธุรกิจอย่างจริงจัง

เดินหน้าแก้ไขกฎหมายธุรกิจต่อ

ดร.กอบศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่า โครงการนี้เป็นเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งรับผิดชอบเรื่องของการปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาช่วงแรกจะเน้นเรืองธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีของธนาคารโลกเรื่องความยากง่ายของการทำธุรกิจ ส่วนนี้ได้ทำมา 4 เดือนตั้งแต่ปีที่แล้วและมีข้อเสนอต่างๆ เรียบร้อย กำลังเข้าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายเดือนนี้

“อันนั้นเราทำไป ส่วนหนึ่งเพื่อทดลองทำเรื่องของการปรับปรุงกฎระเบียบของประเทศ ทำงานร่วมกับเอกชนรัฐต่างๆ แล้วแทนที่เราจะไปศึกษาเอง เราก็เอากรอบคำถามของธนาคารโลกเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็ชวนเอกชนรัฐมานั่งคุยกันประมาณ 6 ครั้งในแต่ละเรื่องแล้วดูว่าอะไรเป็นข้อเสนอที่ปฏิรูปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ในวิสัยที่หน่วยงานรับได้ และเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันก็ยังมีข้อเสนอที่ต้องทำต่อไป แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการแก้ไขกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ เช่น ระเบียบว่าการสร้างโกดังเก็บของต้องใช้กระบวนการ 100 กว่าวัน เพราะว่าต้องขออนุญาตก่อสร้าง ขออนุญาตแบบขอน้ำประปา ไฟฟ้า ตอนหลังเราทบทวนตัดเหลือ 36 วัน กลุ่มที่ 2 คือที่ต้องแก้กฎหมาย กลุ่มที่ 3 คือส่วนต้องขออำนาจศาลทำ เช่น เรื่องตั้งศาลใหม่ ปัจจุบันศาลทุจริตมีแล้ว เป้าหมายต่อไปเป็นศาลพาณิชย์ ซึ่งทางศาลบอกว่าอาจจะไม่ตั้งเป็นศาลออกไป แต่เป็นแผนกก่อน เหมือนเดิมมีแผนกทรัพย์สินทางปัญญา ด้านหนึ่งจะเอามาเป็นด้านพาณิชย์ ทำให้ธุรกิจมีกระบวนการชัดเจนในการคลี่คลายปัญหา และกลุ่มสุดท้ายเป็นข้อเสนอการแก้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น

ตัดตอนใบอนุญาตนับแสนฉบับ สอดคล้องยุคสมัย

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า งานต่อไปที่จะทำคือการปฏิรูปเรื่องใบอนุญาตและคู่มือต่างๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่เกือบ 700,000 คู่มือ แต่รัฐบาลมีเป้าหมายให้เหลือ 1,000 โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป หลังจากที่จัดตั้งทีมงานแล้วจะเอาเข้ามาทบทวน โดยแบ่งเป็นกลุ่มประมาณ 3 กลุ่ม ตามลำดับความสำคัญ โดยการทีมที่จะเข้ามาทำจะเป็นข้าราชการรุ่นใหม่จากกระทรวงต่างๆ เข้ามาช่วยงาน หลังจากนั้นจะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีและทีมปฏิรูปกฎหมายของ ศ. ดร.บวรศักดิ์ต่อไป

“จำนวน 700,000 ฉบับ จะมีของท้องถิ่นเป็นคู่มือที่ทุกหน่วยทำเหมือนๆ กัน จริงๆ ถ้าไม่มีท้องถิ่นแล้วจะเหลือประมาณ 10,000 ฉบับ ที่ยังรวมคู่มือส่วนกลางด้วย แต่คัดเหลือที่เป็นใบอนุญาตอีก 6,000 ฉบับ เริ่มจากตรงนี้เป็นเป้าหมายของเรา แล้วกฎหมายของประเทศไทยมันไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก กฎหมายเขียนดี แต่กฎหมายรอง กฎกระทรวง คำสั่งอธิบดี มันเพิ่มเติมมา ยกตัวอย่าง เรื่องกฎหมายของกรมศุลกากรฉบับใหม่ ทุกคนบอกว่าดีมากเลย แล้วกลายเป็นมีประกาศให้สำแดงโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา คำถามคืออะไร คือมันก็คำสั่งเดิม เขาแค่ยืนยันคำสั่งเดิม ไหนๆ มันก็เคยเขียนไว้แล้วก็เขียนไว้เหมือนเดิมอีกที เป็นตัวอย่างเลยว่ากฎหมายใหญ่ไม่ได้มีอะไร แต่คำสั่งที่ออกมาตามกฎหมายดังกล่าวมันทำให้มีอะไรขึ้นมา เราพยายามจะไปแก้พวกนี้ การแก้กฎหมายใหญ่บางทีมันยาก แต่กฎกระทรวง คำสั่งอธิบดี มันแก้ไขได้ ตอนนี้ก็ยกเลิกแล้วคือมันก็ไม่ควรจะมีตั้งแต่แรกแล้ว ยิ่งเราเปลี่ยนมากก็ลดต้นทุนได้มาก ยิ่งลดต้นทุนได้มาก เอกชนก็แข่งขันได้ดี” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้หลักการให้ทำงานข้ามกระทรวง เพื่อป้องกันการนั่งทับเรื่องหรือมีการปกป้องกฎหมายของตนเอง ขณะเดียวกันก็ให้มีช่องทางประสานงานแต่ละกระทรวงที่เป็นเจ้าของกฎหมายได้  เช่น จะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปทำของกระทรวงพาณิชย์ แล้วกระทรวงพาณิชย์ไปทำของกระทรวงการคลัง แต่ถ้าคนที่ทำกระทรวงการคลังอยากรู้เรื่องเกษตรก็ไปถามคนที่มาจากกระทรวงเกษตรได้เบื้องต้นและแนะนำได้ว่าต้องไปหาใคร นอกจากนี้ ทีมงานจะดึงเอาเอกชน รวมถึงอาจารย์ต่างๆ มาร่วมด้วย เพื่อรับฟังมุมมองจากหลายด้าน

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะดู ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่ามี 3 ด้าน 1) ดูว่ายังถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ บางข้อกฎหมายมันเลิกไปแล้ว คำสั่งอธิบดียังอยู่ บางอันไม่มีอำนาจก็สั่งออกไปแล้ว คือผิดกฎหมาย เราก็จะเขี่ยออกไปให้หมด ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจนว่าทำไมมีระเบียบข้อนี้

2) บางอันมีกฎหมาย แต่มันไม่จำเป็นแล้ว เช่น การขอใบอนุญาตโรงงานผลิตชิ้นส่วนการบิน กฎหมายการบินใช้มาตั้งแต่ 2497 คือประมาณ 64 ปี ถ้าเป็นยาคงหมดอายุไปหลายปีแล้ว แต่กฎหมายยังใช้อยู่ทุกวันนี้เลย กฎหมายบอกว่าใครจะมาทำชิ้นส่วนการบินในประเทศไทยต้องเป็นคนไทยเท่านั้น เพราะชิ้นส่วนการบินเมื่อ 2497 เป็นความมั่นคงของชาติ น็อตที่ใช้ก็คือความมั่นคงของชาติ เพราะฉะนั้นคนที่ทำได้คือคนไทย เพราะเดี๋ยวเอาน็อตไปทำเครื่องบินแล้วมาข่มขู่ประเทศได้ แต่ตอนนี้แอร์เอเชีย เวียดแอร์ แอร์สารพัดอย่างเต็มไปหมดเลย แล้วน็อตตัวหนึ่งก็ไม่ใช่ความมั่นคงอีกต่อไป แล้วทำไมกฎหมายยังอยู่ ไม่ควรมี ต้องแก้ไขให้มันเป็นเรื่องที่สะท้อนยุคสมัยและดำเนินการได้ตอนนี้

3) เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจหรือไม่ บางอันที่ได้ยินมาคือ ถ้าจะขออนุญาตทำแบบอะไรสักอย่างต้องถ่ายพิมพ์เขียว 96 ชุด มันเป็นต้นทุนขนาดไหน ทำไมไม่ทำชุดเดียว แล้วขณะนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็สั่งแล้วว่าอะไรที่เป็นเงื่อนไขของราชการที่ต้องใช้เอกสารประกอบ ต่อไปไม่ต้องใช้แล้ว คือว่าคนเดินมาไม่ต้องสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน แค่แสดงว่าเราคือใคร เพราะรัฐมีอยู่แล้วก็จะดูดข้อมูลมาให้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการก็มีปัญหาทางปฏิบัติด้วย คือส่วนหนึ่งเขาควรจะบอกว่านี่เป็นสิ่งที่รัฐพิสูจน์ตัวตนแล้ว อนุมัติไปได้เลย เอกสารตามมาทีหลัง ทำแบบนั้นก็ได้ แต่เขาบอกว่าต้องแนบมาก่อน อีกด้านก็ระบบของเรามันยังไม่ดีพอ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่มี พวกข้อมูลกลางที่จะมีข้อมูลของเรา มีใบอนุญาตที่เราขอทั้งหมด รวมถึงข้อมูลส่วนตัว ใบประกาศนียบัตรต่างๆ มันต้องกดแล้วไหลมาหมดเลยเวลาจะขอใบอนุญาตอะไรใหม่ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น แล้วมันไม่จบแค่นี้ พอทำเสร็จเราก็จะเอาไปขึ้นเว็บไซต์ให้กรอกข้อมูลขอ เหมือนสิงคโปร์เรียกว่า License One แล้วจากที่เคยกรอก 400 ช่องก็เหลือ 150 ช่อง ไม่ให้ซ้ำไปซ้ำมา ประหยัดไปได้เยอะ เอกสารที่ต้องใส่ถ้าเป็นของทางการก็ไม่ต้องแล้วมันก็ดูดมาเอง แต่ตอนนี้เรายังให้อัปโหลดได้ไปก่อน

“สาเหตุที่ต้องทำกฎเกณฑ์เหล่านี้ พอได้ยินจะรู้สึกเลยว่าเป็นไปได้อย่างไร เช่น บอกว่าอยากจะทำร้านปิ้งย่าง เขาต้องใบอนุญาตหลายใบมาก อย่างน้อยต้องขออาหารทะเลไปกรมประมง ไปขอเรื่องหมูเรื่องเนื้อ ต้องไปหากรมปศุสัตว์ ผักต้องไปกระทรวงเกษตร ขอโทษนะ จะปิ้งย่างมันจะยุ่งยากอะไรขนาดนั้น มันก็ร้านปิ้งย่าง ก็ทำใบอนุญาตใบเดียว แล้วกลายเป็นต้องไปขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเต็มไปหมด มันน่าคิดหรือไม่ แล้วจะทำธุรกิจมันยากมากในประเทศไทย แล้วบางอันมันก็ไม่จำเป็น”

หรือหลายคนไม่ทราบว่าปัจจุบันมันมีกฎเรื่องการลงทะเบียนสัตว์ ต้องเอาสัตว์ที่เราเลี้ยงไปลงทะเบียน เป็นกฎหมายสาธารณสุขให้ทุกท้องถิ่นต้องประกาศเกณฑ์เรื่องนี้ขึ้นมา ก็ประกาศขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครใน กทม. รู้ว่ามีเกณฑ์ข้อนี้ ทุกคนขณะนี้ผิดกฎหมายไปครึ่งจังหวัดแล้ว เขาบอกให้ลงทะเบียนทุกตัวเลย ที่เรารู้เพราะว่าเราไปถามว่ามีมาลงทะเบียเท่าไหร่แล้ว เขาบอกมาต่ำกว่าสิบ คือถ้ามันต่ำกว่าสิบก็คือไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใช้ จะมีกฎเกณฑ์ให้คนผิดกฎหมายทำไม

หรือถ้าไปคุยกับต่างชาติ เขาอยากได้เรื่องใบอนุญาตทำงานและเรื่องของวีซ่า นี่เป็นอุปสรรคต่อชีวิตเขา เขาต้องใช้เอกสารประกอบการขอประมาณ 25 ฉบับ ทำไมต้องเยอะขนาดนั้น เขามีกฎเกณฑ์แบบนี้เลยนะ แล้วใบอนุญาตทำงานอีกประมาณ 20 ฉบับ รวมกันแล้วกว่าจะได้ทำงานในประเทศไทยใช้เอกสารเยอะมาก เราอยากทำให้มันง่ายขึ้นสะดวกขึ้น

“หรือเขาถามว่าทำไมต้องรายงานตัวทุก 90 วัน เขาทำผิดตรงไหนต้องไปรายงานตัว เขาคับแค้นใจมาก มาทำงานให้นะ คิดดูว่าต้องมารายงานตัว ทำไม เพื่ออะไร ผมว่าเรามีแบบนี้เยอะ คือบางทีมันผ่านเวลาที่จำเป็นมาแล้ว กฎพวกนี้ทำไปเพราะตอนนั้นมีปัญหาจริงๆ แล้วโลกมันก็เปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนให้ทันโลก” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดังนั้น กระบวนการเหล่านี้จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น เราตั้งใจจะแก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกอีกให้ดีขึ้น เช่น ต่อไปการจับใครว่าผิด กฎเกณฑ์ต้องขึ้นเว็บไซต์ประกาศทั่วไปก่อน เพราะว่าตอนนี้จะมีคนเดินไปหาเถ้าแก่ บอกว่าเถ้าแก่ผิดแล้วนะต้องจ่าย 20,000 บาท เถ้าแก่ก็ถามว่า ทำถูกทุกกฎเกณฑ์แล้วผิดตรงไหน เขาบอกนายเพิ่งลงนามคำสั่งใหม่อยู่ในลิ้นชักนาย เถ้าแก่ผิดแล้ว มันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร คุณไม่ประกาศด้วยว่าทำผิด แล้วเขาจะทำตัวถูกต้องได้อย่างไร อนาคตต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบอกว่าถ้าจะไปบังคับใครให้โทษใครต้องประกาศให้ทราบทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเท่านั้น แบบนี้ชีวิตจะดีขึ้น

“หรือมีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทันที ใบเสร็จที่ได้มาถือว่าต่ออายุแล้ว ไม่ต้องไปรอให้เขาอนุมัติแล้วได้ใบต่ออายุใหม่ คิดดูว่าชีวิตจะดีขึ้นแค่ไหน แล้วตั้งแต่เกิดจนตาย เราต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ารัฐบาลแก้ไขพวกนี้ได้ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ทำให้เขาสามารถลดต้นทุนได้”

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งแก้ไขกฎหมายแลกเปลี่ยนเงินตราว่า “สมัยก่อนที่ผมไปเมืองนอกเป็นเรื่องใหญ่นะ จะแลกเงินดอลลาร์สหรัฐต้องขนเอกสารรับรองการเรียน หนังสือเดินทาง เด็กก็เอาพ่อแม่ไปด้วย ต้องไปนั่งรอเงิน ได้เงินมาต้องเซ็นเอกสารอีกหลายอย่าง แต่ตอนนี้เดินไปถึงขอหนังสือเดินทาง ถ่ายเอกสาร บางทีไม่ต้องแล้ว เราก็แลกเงินได้เลย แต่อนาคตจะทำให้ง่ายกว่านี้อีก แล้วเขาบอกว่าแก้ไขกฎหมายแลกเปลี่ยนเงินตราอันเดียว เขาประหยัดไป 1,000 ล้านบาทแล้ว ฉะนั้นถ้าเราทำเยอะแยะหมด มีกี่ใบอนุญาต จะช่วยประหยัดได้แค่ไหน อย่างเกาหลีใต้เขาทำกระบวนการเดียวกัน เขาลดค่าใช้จ่ายของประเทศได้ 150,000 ล้านบาท ปีถัดมาอีก 300,000 ล้านบาท แค่แก้ไขกฎหมายมันทำให้ต้นทุนลดลงไป ประชาชนก็มีความสุข”

อีกอันที่เราจะทำคือไปแจ้งหาย อย่างบัตรประชาชนหายเป็นเรื่องใหญ่ แจ้งตำรวจก่อน แล้วเอามาที่อำเภอของใบใหม่ ตอนนี้เราจะแก้ใหม่ว่ามาแจ้งที่อำเภอเลยแล้วถือว่าเป็นการแจ้งตำรวจแล้วด้วย ถ้าทำอะไรผิด ไปหลอก ก็เหมือนหลอกตำรวจก็ผิดกฎหมาย พวกนี้จะประหยัดเงินไปได้แค่ไหน มีคนทำบัตรหายปีหนึ่วเท่าไหร่ แล้วไม่ต้องไปหาตำรวจ ค่ารถ ค่าถ่ายเอกสาร ค่ารออีก คิดว่าประมาณ 200-300 บาท/คน

“หรือเรื่องการล้มละลาย ใช้เวลาปีครึ่ง เพราะใช้เวลา 6 เดือน เนื่องจากลงราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ คือศาลสั่งมาแล้วว่าล้มละลาย แต่จะให้เป็นคนล้มละลายต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ปรากฏว่าต้องมีคิวลง ก็รอไปเรื่อยๆ 5-6 เดือน แล้วระหว่างที่รอสินทรัพย์เราก็เน่าหมดแล้ว เราทำอะไรไม่ได้ เหมือนตายแล้วยมบาลพาไปไม่ได้ เพราะยังไม่ประกาศว่าตายแล้ว ต้องอยู่เฝ้าตรงนี้ มันเจ็บปวดมากเลย เราเลยเชิญประชุมระหว่างกรมบังคับคดีกับที่ทำราชกิจจานุเบกษา ต่อไปก็จะเหลือประมาณเดือนนิดๆ กลุ่มเดิมก็อาจจะปล่อยผีทีเดียวฉบับใหญ่ 5,000 ชื่ออะไรแบบนั้น ล้างใหม่แล้วเริ่มต้นใหม่  แค่นี้เอง แต่มันไม่มีใครดู ทุกคนดูว่ารัฐมนตรีทำอะไร นายกฯ จะทำอะไร คำสั่งใหญ่ๆ อยู่ตรงไหน แต่บ้านที่มันสะสมหยากไย่ ขยะ ไม่มีใครดู ตอนนี้ก็จะมีคนดูว่าบ้านท่านมีหยากไย่รุงรัง เอาไฟไปส่อง ไปบอกว่าอันนี้กำจัดได้ก็เป็นประโยชน์กับประชาชน

ตั้งสำนักงานดูแลกฎหมายชั้นรองเหมือนกฤษฎีกา

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากทบทวนใบอนุญาตหรือกฎหมายรองไปแล้ว สิ่งที่ต่อไปที่จะต้องทำคือจัดตั้งสำนักงานดูแลกฎระเบียบต่างๆ โดยปัจจุบันมีเพียงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้นที่มีสำนักงานกฤษฎีกาดูแลตรวจสอบ แต่พอเป็นกฎหมายชั้นรองลงมา เช่น กฎกระทรวง บางฉบับแค่ผ่านคณะรัฐมนตรีหรือบางทีแค่รัฐมนตรีก็บังคับใช้ และพวกนี้คือสิ่งที่บั่นทอนประชาชนอยู่ ดังนั้น กฎหมายส่วนรองลงมาอาศัยหน่วยงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาเป็นสำนักงานแก้ไขกฎหมายเร่งด่วนประมาณนี้  เป็นคนตรวจสอบเป็นตะแกรงร่อนแทน

“โครงการกิโยตินที่ทำอยู่คือตั้งใจจะสะสางกฎหมายออกไป แต่พอผ่านไปเหมือนโต๊ะทำงานเรา สะสางไปอีก 3 วันมันก็เต็มอีกแล้ว เดี๋ยวลูกน้องเอางานมาให้ เอาของมาไว้ ดังนั้น พอมันสะอาดแล้ว มันก็ต้องคัดกรองของใหม่ที่เข้ามาได้ต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้ ก็ต้องมีสำนักงานเป็นผู้ดูแลประตูอยู่ว่าให้เข้ามาเท่าที่จำเป็น เท่าที่ดูแล้วเป็นประโยชน์เท่านั้น อันนี้เราเห็นตัวอย่างมาจากเกาหลีใต้ คือพอกฎหมายรองเข้ามาที่สำนักงาน เขาก็จะปรึกษาเอกชนด้วย มันก็จะมีกระบวนการทำงานร่วมกับเอกชนดูความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ว่าอยากจะเขียนแบบนี้ก็เขียน แต่แง่ซ้ำซ้อนก็ไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน เพราะดูกฎหมายคนละชั้น แต่ตอนนี้ก็มีความไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนอนุมัติกฎหมายระดับรอง เหมือนอย่างพระราชบัญญัติมีกฤษฎีกาดูว่าอะไรควรมีไม่ควรมี ก็ยังต้องรับฟังความเห็นคิดกันอยู่ว่าใครจะทำ ส่วนงานสะสางกฎหมายที่ไม่ควรอยู่ ล้างของเก่าๆ เป็นหน้าที่ของสำนักงานฯ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ขณะที่ในเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่ายังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเพราะเรายังไม่เริ่มกระบวนการ แต่อย่างความยากง่ายในการทำธุรกิจเข้าใจแล้วเราทำไปแล้ว แต่ว่าส่วนโครงการกิโยตินเราจะค่อยๆ ดำเนินการต่อไป บางอันก็เป็นที่คน บางอันเป็นเงื่อนไขก็ต้องแก้ที่กฎหมาย แต่จริงๆ เรื่องระบบหลังบ้าน ถ้าเราทำให้ใช้ดึงข้อมูลได้ง่าย เจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องไปใช้วิธีอื่น แค่เสียบบัตร ถามว่าต้องการทำใบอนุญาตนี้ กดปุ่มก็ดึงข้อมูลเข้ามา ทุกอย่างรวมรวบครบทันที เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องไปขออะไรจากประชาชนอีก แต่ตอนนี้มันยังไม่ได้ขนาดนั้น

“ตัวอย่างสวัสดิการรัฐของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีปัญหากันวันนี้ เพราะไม่มีใครตรวจสอบได้ว่าใครได้เงินอะไรบ้าง อยากรู้ว่าผมได้สวัสดิการกี่อย่างของรัฐบาล ไม่มีใครรู้เลย บางอันก็มีเลขประชาชน บางอันก็ไม่มี บางอันไปอยู่ในกระดาษ จ่ายเงินรัฐบาลกี่พันล้าน แต่อยู่ในกระดาษ ต่อไปเราก็จะขอให้เข้าสู่ระบบเดียวกันหมด เอาทุกอย่างมากชนกันมันก็จะเห็นหมดทำได้หมดเลยตั้งแต่เกิด แก่ ตาย เราจะเอาใบมรณบัตรมาดูด้วย ต่อไปเอาคนตายมารับเงินก็ไม่ได้แล้ว” ดร.กอบศักดิ์กล่าว