ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(1)

“Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(1)

9 มกราคม 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หารือภาคเอกชนเกาหลีใต้ ระหว่างร่วมประชุม ASEAN-ROK CEO Summit ที่นครปูซาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557
ที่มาภาพ : prachatai.com/journal/2014/12/56948

หลังการต่อสู้มายาวนานที่ประชุม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในท่าอากาศยานนานาชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ดำเนินการแบบคู่ขนานทั้ง 2 รูปแบบ คือ

    1.ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) โดยให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปทุกราย (Common Use ) ใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติได้และ

    2.ให้ ทอท. เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนานาชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท.ด้วยตนเอง

  • นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”
  • หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ กว่าจะมาถึงจุดการบังคับให้ต้องเปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในท่าอากาศยานนานาชาติ” นี้ได้ มีเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสลายการผูกขาด แต่เมื่อต้องเปิดจริงๆ ยังมีปมอะไรที่ผูกไว้ ทำไม ทอท.จึงรีบเสนอ “แบบคู่ขนานทั้ง 2 รูปแบบ ” ให้ครม.อนุมัติ!!

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือ “ดิวตี้ฟรี” นั้นมี 2 รูปแบบ คือ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานนานาชาติ มีทอท.เป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่ เรียกว่า “ดิวตี้ฟรีในสนามบิน” กับธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมือง หรือ “ดิวตี้ฟรีในเมือง” (Downtown Duty Free) สำหรับผู้ที่สนใจต้องการประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร

    ปมปัญหาเริ่มต้นจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางเยือนเกาหลีใต้ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2557 ได้เชิญชวนบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ปรากฏว่าบริษัท ล็อตเต้ เกาหลี ตอบรับคำเชื้อเชิญของนายกฯ เข้ามาเปิดบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด

    เมื่อเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตกรมศุลกากร เพื่อเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร บอกให้บริษัท ล็อตเต้ ระบุบริเวณพื้นที่ที่บริษัทจะใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) ภายในสนามบินนานาชาติ ตามประกาศกรมศุลกากร ฉบับที่ 44/2561 ด้วย (เดิมคือ ประกาศกรมศุลกากร ฉบับที่ 20/2549) กำหนดเงื่อนไขว่า “ผู้ขออนุญาตต้องมีจุดส่งมอบสินค้าตั้งอยู่ในพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติ บริเวณที่ผู้ซื้อจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรไปแล้ว”

    ทางบริษัท ล็อตเต้ ฯ จึงทำหนังสือถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขอเช่าพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้กับลูกค้า ปรากฏว่าท่าอากาศยานดอนเมือง ตอบปฏิเสธ อ้างพื้นที่ในท่าอากาศยานแออัดมาก ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ตอบ บริษัท ล็อตเต้ ฯ จึงมาร้องเรียน นางรวิฐา พงศ์นุชิต ในฐานะนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

    ช่วงปี 2558 นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ออกเดินสายชี้แจงตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานใด

    สมาคมดิวตี้ฟรี ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

    วันที่ 25 เมษายน 2559 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงไปร้องเรียน นายศรีวราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแขณะนั้น ขอให้ตรวจสอบกระบวนการขออนุญาต เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจบางรายหรือไม่? พร้อมกับขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยและมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

    ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกือบ 1 ปี วันที่ 27 มีนาคม 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีคำวินิจฉัยว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ เป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน , จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือ ละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552

    ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอแนะ ให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน”

    นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังตรวจพบที่ผ่านมา ทอท. เคยอนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง โดยมาเช่าพื้นที่กับ ทอท. เพื่อเปิดจุดส่งมอบสินค้า บริเวณห้องรับรองผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศของบริษัทการบินกรุงเทพ ชั้น 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีความเห็นว่า “ในกรณี ทอท. กล่าวอ้างว่าได้ให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดียว เป็นผู้ตั้งจุดส่งมอบสินค้า มีลักษณะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือ เป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า”

    หน้าที่และอํานาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

    มาตรา ๒๓๐ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

    (๑) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
    (๒) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น
    (๓) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ

    ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป

    ในการดําเนินการตาม (๑) หรือ (๒) หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดําเนินการต่อไป

    ทอท.เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

    วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 นายนิตินัย สิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทำหนังสือที่ ทอท. 5510/2560 ชี้แจงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ทอท. ไม่สามารถจัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ร่วมกันตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    กรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงแม้ ทอท. ไม่เคยนำกิจกรรมส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาประมูลคัดเลือกก็ตาม แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ทอท. ได้คัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูลทั่วไป ดังนั้น กิจกรรมส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นสิทธิตามสัญญาโดยชอบธรรมของผู้ที่ชนะการประมูลกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ผู้ประมูลได้คือบริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ)

    ส่วนกรณีท่าอากาศยานดอนเมือง ทาง ทอท. ได้เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว ดังนั้น การประกอบกิจการส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จึงถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ชนะการประมููลเช่นกัน (ผู้ประมูลได้บริษัทคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี)

    ทั้งนี้ ทอท.ยืนยันว่าการดำเนินการของ ทอท. ที่ผ่านมา ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูลอย่างโปร่งใส ทำให้ ทอท. ต้องเคารพในสิทธิของผู้ชนะการประมูล

  • AOT เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ “นายกฯ-สนช.-สผผ.” ปฏิบัติตามรธน.
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานสนช. กรณีทอท.ไม่ทำตามคำวินิจฉัย

    หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับแจ้งจากทอท.ว่าไม่สามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติเห็นชอบ ให้จัดทำรายงานเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นวาระเร่งด่วน ตามมาตรา 12 , มาตรา 33 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552

    สนช.ส่งเรื่องคืน – สั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติตามกม.ใหม่

    ระหว่างที่เรื่องรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสนช. ปรากฏว่าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับใหม่ 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ทางสนช.ส่งเรื่องคืนผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำเรื่องนี้กลับไปปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับใหม่ให้ถูกต้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงรับเรื่องจากสนช.กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

    ผู้ตรวจการแผ่นดินบี้ AOT เลือกเปิดจุดส่งมอบสินค้า “ใน – นอก” พื้นที่สัมปทาน

    วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญตัวแทนกระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม และทอท. เข้าร่วมประชุม ภายหลังการประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ทอท. ดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1. ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแก่ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถประกอบกิจการได้ หรือ 2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (คู่สัญญา) จัดหาพื้นที่เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ทอท.ทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินว่า เลือกดำเนินการตามข้อที่ 2 โดยขอให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ร่วมกัน

    ทอท.เลือกเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ในพื้นที่สัมปทาน แต่ “คิง เพาเวอร์” ไม่อนุญาต

    ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือแจ้งสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับแจ้งจากทอท. ว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงรายเดียว จึงย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของบริษัทที่จะบริหารจัดการใด ๆ ภายใต้สิทธิ และข้อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกำหนดไว้ในสัญญา หากให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับประมาณการต่างๆ ตามที่บริษัทได้ยื่นเสนอค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบริษัท และเป็นการละเมิดเงื่อนไขสัญญา หากมีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสัญญา หรือข้อตกลงดังกล่าว ขอสงวนสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการใช้สิทธิทางศาล เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิโดยชอบของบริษัท”

    ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งนายกฯ ทอท.ไม่ทำตามคำวินิจฉัย – ชงครม.ชี้ขาด

    กรณี ทอท. ไม่สามารถดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 กำหนดให้นำความในมาตรา 32 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งระบุว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

    ช่วงปลายปี 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำรายงานเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด วันที่ 8 มกราคม 2562 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงทำหนังสือไปทวงถามนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งการ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ปรากว่าเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปอีกพักใหญ่

    ทอท.เปิดประมูลดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ “คิง เพาเวอร์” กวาดเรียบ

    ในช่วงเดือนเมษายน 2562 ทอท. เปิดประมูลคัดเลือกผู้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก่อนที่สัญญาสัมปทานฯเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กวาดทุกสัญญาฯ

    วันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. มีมติอนุมัติให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้ชนะประมูล เป็นผู้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ผู้ชนะประมูลได้รับสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    ต่อมา ในช่วงปลายเดือนตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2562 ทอท. เปิดประมูลคัดเลือกผู้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 มีผู้มาซื้อซอง 2 ราย คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อถึงกำหนดวันยื่นข้อเสนอมีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มายื่นซองเพียงรายเดียว ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. จึงมีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 อนุมัติ ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ผู้ชนะประมูล เป็นผู้ได้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ไปอีก 10 ปี 6 เดือน

  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี
  • จากนั้นในช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2562 ทอท. ได้เปิดขายซองประมูล เพื่อคัดเลือกผู้รับสัมปทานให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ตามมติของคณะกรรมการ ทอท. ผลปรากฎว่าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้มาซื้อซองประมูล 2 ราย คือบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ส่วนที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีผู้มาซื้อซองเพียง 1 ราย คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

    ครม.เห็นชอบตามบอร์ด ทอท. เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” คู่ขนาน 2 รูปแบบ

    ยันไม่ทันได้เปิดให้ผู้ประมูลยื่นซองข้อเสนอและราคา กระทรวงคมนาคม นำแนวทางการแก้ปัญหาของคณะกรรมการ ทอท. แบบคู่ขนาน 2 รูปแบบ ตามที่กล่าวมาในข้างต้น เสนอเรื่องผ่านมาทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสายงานกระทรวงคมนาคม ตามลำดับชั้น

    จากนั้นทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงทำบันทึกข้อความ เรื่องกรณีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยร้องเรียนให้มีจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามอนุมัติ ก่อนที่จะนำเสนอประชุม ครม. วันที่ 2 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติให้ทอท.เปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในรูปแบบคู่ขนาน ทั้งให้ทอท.เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วยตนเอง และให้สิทธิเอกชนรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ

    ช่วงสุดท้ายของบันทึกข้อความ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสนอตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 33 วรรค 2 ได้บัญญัติว่า กรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว”

    วันที่ 26 ธันวาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามอนุมัติวาระ ให้นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ต่อมา ที่ประชุม ครม. วันที่ 2 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม โดยทอท.นำเสนอ จึงถือได้ว่านายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 33 วรรค 2 แล้ว ไม่ถือว่าเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

    ขณะเดียวกัน ทอท. ก็ได้ดำเนินการตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาข้อพิพาทของบอร์ด ทอท. โดยเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะด้วยตนเอง และ เปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามารับสิทธิให้บริการจุดส่งมอบสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองทุกรายใช้ร่วมกัน ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ถือเป็นการสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ส่วนการเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนรายเดียว เพื่อมาทำจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งทำคู่ขนานไปกับจุดส่งมอบสินค้าที่ทอท.ทำเองจะมีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน ทอท.จะได้รับประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวอย่างไร นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุด

  • ทำไม!! จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ไม่มีใครอยากเข้าประมูล
  • โปรดติดตามอ่าน “Pick-up Counter” ของรัก – ของหวง AOT (ตอน2)