ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เล็งทำ “Regulatory Guillotine” รื้อเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน – ลดต้นทุน 1,100 ล้าน/ปี คาดแล้วเสร็จ มี.ค.62

ธปท. เล็งทำ “Regulatory Guillotine” รื้อเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน – ลดต้นทุน 1,100 ล้าน/ปี คาดแล้วเสร็จ มี.ค.62

20 พฤศจิกายน 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ระบบการเงินของประเทศในหลายมิติ ทั้งด้านผู้เล่น รูปแบบการให้บริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมทั้งความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง ธปท. เห็นความจำเป็นของการสนับสนุนให้ระบบการเงินปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการเงินอย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินโดยต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค

บทบาทของ ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน จำเป็นต้องปรับให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินกับการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปยังประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการทางการเงินโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้มากขึ้น ธปท. จึงได้นำกระบวนการออกกฎเกณฑ์ที่ดีหรือ Regulatory Impact Assessment (RIA) มาใช้เพื่อปรับหลักคิดในการกำกับดูแลและเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

  • ธปท.ทบทวนกฏหมายล้าสมัย เริ่มรื้อ “เกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน” ให้เท่าทันความเสี่ยงในโลกใหม่
  • ธปท.ปลดล็อคเอกชนทำ “ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ” กับแบงก์ไม่ต้องใช้เอกสาร -ครึ่งปีหลังทบทวนกฎระเบียบธนาคารพาณิชย์เดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล
  • ในปี 2561 นี้ ธปท. เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการทางการเงิน การปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงมุ่งเน้นไปที่ 1) การส่งเสริมบริการทางการเงินด้านดิจิทัล และ 2) การสนับสนุนบริการทางการเงินสำหรับ SMEs เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจ SMEs ได้รับประโยชน์จากบริการทางการเงินที่หลากหลายขึ้น มีนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง โดยที่ ธปท. จะยังได้รับข้อมูลต่างๆ จากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการติดตามดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเหมาะสม

    กว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจต่างๆ หารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจและการเข้าถึงบริการทางการเงิน และร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมบริการทางการเงินด้านดิจิทัลและการสนับสนุนบริการทางการเงินสำหรับ SMEs เพื่อให้การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ซึ่งในการดำเนินการได้มีการนำเครื่องมือ data analytics มาช่วยวิเคราะห์ประเด็นปัญหาของกฎเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อเรื่องดังกล่าวด้วย การปฏิรูปกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินในครั้งนี้ มุ่งที่จะช่วยให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินคล่องตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ 4 มิติ คือ 1) ผลักดันนวัตกรรมและบริการทางการเงินได้รวดเร็วขึ้น (speed) 2) ให้บริการได้ในขอบเขตที่กว้างและในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น (scope) 3) สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายและกว้างขึ้น (scale) และ 4) ช่วยดึงศักยภาพของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการต่างๆ มาใช้ร่วมกันในการยกระดับการให้บริการให้ดีขึ้น (sharing) ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของตนได้ดีขึ้น (segment of one)

    โดยสรุป สิ่งที่สำคัญในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ในครั้งนี้ ในการส่งเสริมบริการทางการเงินด้านดิจิทัล ธปท. ได้ 1) ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตสำหรับการใช้เทคโนโลยีและการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยี cloud computing การเปลี่ยนระบบ core banking หรือการให้บริการแพลตฟอร์มกับ strategic partners โดยให้สถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้เองภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงและการดูแลผู้บริโภคที่เหมาะสมตามที่ ธปท. กำหนด ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน และลดเวลาการนำเสนอบริการทางการเงินใหม่ๆ (time to market)

    2) ปรับปรุงแนวทางของ regulatory sandbox ให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต้องนำนวัตกรรมเข้าทดสอบกับ ธปท. เฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน / มาตรฐานกลาง (common infrastructure / standard) เช่น มาตรฐาน QR code ที่จบการทดสอบไปแล้วก่อนหน้า หรือในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเข้าทดสอบใน regulatory sandbox เช่น การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงิน

    3) สนับสนุนให้สถาบันการเงินใช้เทคโนโลยี biometrics อย่างเต็มรูปแบบในการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า

    ในการสนับสนุนบริการทางการเงินสำหรับ SMEs ธปท. ได้ (1) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม information-based lending โดยผ่อนคลายข้อจำกัดด้านวงเงินตามจำนวนเท่าของรายได้สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ให้แก่ SMEs บุคคลธรรมดาที่กู้เพื่อทำธุรกิจ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินสามารถพัฒนาแบบจำลองในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs โดยใช้ข้อมูลอื่นๆ (alternative data) ประกอบกับข้อมูลรายได้ของ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ SMEs สามารถใช้ข้อมูลความน่าเชื่อถือด้านเครดิตจากแหล่งอื่นๆ ประกอบการยื่นขอสินเชื่อได้ โดยเฉพาะคะแนนเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) และ (2) ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการประเมินราคาหลักประกัน โดยให้ SMEs และบุคคลธรรมดาสามารถใช้เอกสารประเมินหลักประกันฉบับเดียวในการยื่นขอสินเชื่อหรือ refinance สินเชื่อกับสถาบันการเงินหลายแห่งได้โดยไม่ต้องประเมินราคาหลักประกันใหม่หากระยะเวลาการประเมินอยู่ในกรอบที่สถาบันการเงินกำหนด และให้สถาบันการเงินสามารถประเมินราคาหลักประกันโดยไม่ต้องออกไปสถานที่จริง โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า

    นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของ ธปท. และข้อกำหนดที่มีต่อผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วย โดยในส่วนของสถาบันการเงิน ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจัดเก็บเอกสารของสถาบันการเงินที่มีประกาศที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 ฉบับ โดย (1) ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินในรูปแบบของเอกสาร เช่น การปิดประกาศอัตราดอกเบี้ยที่ที่ทำการสาขา แต่ยังคงต้องอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ใช้บริการหากมีการร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องและ (2) ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเก็บเอกสารหรือการส่งเอกสารตัวจริงเพื่อการตรวจสอบของ ธปท. โดยให้สถาบันการเงินจัดเก็บเอกสารและเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ ธปท. ยังได้ปรับปรุงกระบวนการยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. ในรูปแบบ one-stop service โดยการขออนุญาตจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. สามารถยื่นขออนุญาตผ่านช่องทางระบบ e-application ได้ที่จุดเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว และยังลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการขออนุญาตด้วย

    ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการต่างๆ ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินลดระยะเวลาการพัฒนานวัตกรรมและนำเสนอบริการทางการเงินใหม่ๆ ลงได้แล้วยังคาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ลงได้ถึงประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อปี และในส่วนของ SMEs นั้น นอกจากจะเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนโดยรวมที่ SMEs ต้องชำระสำหรับการประเมินราคาหลักประกันลงได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี การปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2562