ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 9 เดือน รัฐบาลเศรษฐา งัด ‘ท่องเที่ยว’ ทุกเม็ด อุ้มเศรษฐกิจ

9 เดือน รัฐบาลเศรษฐา งัด ‘ท่องเที่ยว’ ทุกเม็ด อุ้มเศรษฐกิจ

15 มิถุนายน 2024


กางนโยบาย ‘ท่องเที่ยว’ รัฐบาลเศรษฐา งัดทุกเม็ดอุ้มเศรษฐกิจไทย 9 เดือน เปิดฟรีวีซ่าไป 93 ประเทศ – ลดภาษีนำเข้าไวน์-สุราพื้นเมือง เพิ่มรายได้ – ทุ่มงบฯจัดอีเวนต์เผยแพร่ประเพณีสงกรานต์-ลอยกระทงไปทั่วโลก – เที่ยวเมืองรองหักภาษี 1.5-2 เท่า-ตั้งเป้าฯผลักดันไทยเป็น ‘Tourism Hub’ ในภูมิภาคนี้

‘การท่องเที่ยว’ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ชูเรื่องการท่องเที่ยว เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ระหว่างที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศแล้ว ยังตั้งเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ ‘ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว’ (Tourism Hub)

รัฐบาลนายเศรษฐา รู้ดีว่า เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่งบประมาณมีจำกัด ทำให้นโยบายการท่องเที่ยวถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ หรืออีกแง่หนึ่งคือ การนำต้นทุนจุดแข็งของประเทศมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีตัวเลขเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์เรื่องปากท้องของประชาชน และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำได้เป็นอย่างดี

สำนักข่าวไทยพับลิก้า จึงไปรวบรวมข้อมูลนโยบาย และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลนายเศรษฐา ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2566 เพื่อเป็นการตอกย้ำ และแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากแค่ไหน และ 9 เดือนที่ผ่านมา ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวอะไรไปบ้าง

โฆษกรัฐบาลย้ำ ‘ไม่มีเครื่องจักรไหนดีเท่าการท่องเที่ยว’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 รัฐบาลนายเศรษฐา จัดประชุม ครม.นัดแรก ก็เริ่มชูนโยบาย ‘Quick Win’ ด้านการท่องเที่ยว ภายหลังการประชุม ครม.ก็ได้มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยนายชัย กล่าวย้ำว่า “ไม่มีเครื่องจักรตัวไหนดีเท่าการท่องเที่ยว” ที่สำคัญคือ รัฐบาลมองว่า การท่องเที่ยวจะเป็นความหวังใหม่ที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างรวดเร็ว

มาตรการแรก ที่นายเศรษฐากล่าวถึงคือ “วีซ่าฟรีชั่วคราว” (Visa Free) โดยเริ่มนำมาใช้กับประเทศจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเหตุผล คือ การเพิ่มกลุ่มเป้าหมายการท่องเที่ยว

ปี 2562 (ก่อนโควิด-19) เป็นจุดพีคของการท่องเที่ยว ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้มิติของการท่องเที่ยวดิ่งลงเหว และค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาในปี 2565 สามารถทำรายได้ 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวกว่า 11 ล้านคน หลังสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลง การท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ทำรายได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวเกือบ 20 ล้านคน

เมื่อรัฐบาลนายเศรษฐาเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงมีเวลาราว 3 เดือนที่จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2566 ให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2.4 ล้านล้านบาท ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยว ฯตั้งเป้าไว้แค่ 1.6 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ใช้ชื่อว่า ‘บัญญัติ 10 ประการ’ (แม้จะมี 8 ประการ) แต่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ดังนี้

  1. วีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน
  2. ดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องกำหนดแผนและแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างความมั่นใจในการเดินทางมาประเทศไทย โดยมีแผนทำภาพยนตร์โฆษณาสื่อสาร ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ดาราศิลปิน นักร้อง สร้างความมั่นใจผ่านภาพยนตร์โฆษณา
  3. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคู่ความร่วมมือ
  4. กระตุ้นศักยภาพการเดินทางด้วยการเพิ่มเที่ยวบินและความถี่ โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเมืองรองที่มีศักยภาพสูง หลายเมืองในจีนเป็นเมืองหลวงของมณฑลที่ไม่เคยมีสายการบิน โดยตรง (direct fight)
  5. เร่งพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน
  6. ส่งเสริม-จัดอีเวนต์ให้การท่องเที่ยวไทยมีจุดขายทั้ง 365 วัน เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ โดยรัฐบาลจะทำให้เป็น world class อีเวนต์ ไม่ใช่ local event
  7. รัฐบาลได้รับคำมั่นสัญญาจากผู้ประกอบการ ขานรับแนวทางนี้และพร้อมเสนอแพคเกจ- โปรโมชั่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็น entertainment hub กิจกรรมบันเทิงในเอเชีย
  8. take action กับผลกระทบทางลบ และตั้ง Online Crisis Management มีทีมมอนิเตอร์เวลาเรื่องไม่ดี และเข้าไปแก้ไขทันที

นอกจากนี้ นายชัย ยังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ว่า

“นายกฯ ลงพื้นที่ไปภูเก็ต และเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจของประเทศ อะไรที่ทำได้ให้ทำก่อน อย่ารอให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ภาพที่เห็นคือ quick win ด้านการท่องเที่ยว โดยชูจังหวัดภูเก็ตกับเชียงใหม่เป็นจุดขาย

ปี’66 รายได้ท่องเที่ยวหลุดเป้า

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวรวม 28.1 ล้านคน เรียกได้ว่าต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลวางไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ประมาณ 50%

โดยในไตรมาส 4/66 มีนโนบาย-มาตรการที่สำคัญ ดังนี้

  • มติ ครม. วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เปิดวีซ่าฟรี “รัสเซีย” อยู่ไทยไม่เกิน 90 วัน
  • มติ ครม. วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เปิดวีซ่าฟรี “อินเดีย-ไต้หวัน” อยู่ไทยไม่เกิน 30 วัน
  • มติ ครม. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายกฯ มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้หาอินฟลูเอนเซอร์จีนมาทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวจีนที่อาจหลงเชื่อเฟคนิวส์
  • มติ ครม. วันที่ 19 ธันวาคม 2566 พิจารณาทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลปีใหม่

ในไตรมาสนี้ นายเศรษฐา มีแผนที่จะขยายสนามบินเชียงใหม่ให้มีความจุเพิ่ม 5.5 ล้านคน และทำให้สนามบินเชียงใหม่สามารถรับไฟล์ทบินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อดูตัวเลขนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2566 จะเห็นว่า ในแต่ละเดือนจะมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2.1 – 2.3 ล้านคน เว้นแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 2.6 ล้านคน และธันวาคม 2566 เพิ่มเป็น 3.2 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า นโยบาย-มาตรการของรัฐบาล ตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ไม่ได้กระตุ้น หรือ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะช่วงปลายปีถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

หั่นภาษี‘สุราพื้นเมือง-ไวน์นำเข้า-ปรับเกณฑ์คืน VAT’ เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

ตั้งแต่ต้นปี 2567 รัฐบาลนายเศรษฐา จึงทยอยออกมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การปรับลดภาษีสุราพื้นเมือง-ไวน์นำเข้า เพื่อสร้างภาพลักษณ์ Tourist Desination อีกทั้งปรับเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund fot Tourists) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 13 สินค้าสุรา และการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  2. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)
  3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของ กค. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund for Tourists) ของนักท่องเที่ยวเพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถัดมาการประชุม ครม. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน โดยต่ออายุไปอีก 6 เดือน เนื่องจากรัฐบาลมองว่า นักท่องเที่ยวคาซัคสถานเป็นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดยปี 2566 มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางมาประเทศไทยกว่า 172,282 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่เคยเดินทางเข้าประเทศไทย และมีค่าใช้จ่ายเงินในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 75,080 บาท/คน/ครั้ง

ทุ่มงบฯ 104 ล้าน จัด ‘Songkran Festival’ ให้ทั่วโลกรู้จักวัฒนธรรมไทย

หลังจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘UNESCO’ ประกาศขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติอย่างเป็นทางการ จากนั้นที่ประชุม ครม.ก็มีมติอนุมัติงบประมาณ 104,872,000 บาท จัดงาน ‘Maha Songkran World Water Festival 2024’ หรือ ‘เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567’ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการจัดงานอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล (Festival Economy) เน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) มาผสานเข้ากับการออกแบบกิจกรรม (Experience Design) และต่อยอดจนเกิดเป็น “หนึ่งเมือง หนึ่งสิทธิบัตรงานเทศกาลนานาชาติ หรือ 1 City 1 IP (Intellectual Property)” ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ประกาศนโยบายผลักดันไทยเป็น ‘Tourism Hub’ ของภูมิภาคนี้

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นอีกวันที่รัฐบาลนายเศรษฐาประกาศนโยบายใหญ่คือ ประกาศขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยการดันอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 8 อุตสาหกรรม (8 ฮับ) และหนึ่งในนั้นคือการผลักดันศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub)

โดยนายเศรษฐา แถลงรายละเอียดอย่างกว้างๆ สรุปดังนี้

  • เฟ้นหา Soft Power ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ให้โดดเด่นในสายตาประชาคมโลก ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ งานศิลปะ อาหาร วัฒนธรรม และที่น่าจับตามองคือ กีฬา และศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย
  • ผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก อย่างจังหวัดน่าน
  • รัฐบาลจะเปิดอิสรภาพสู่การเดินทางระดับภูมิภาค อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ปลดล็อกทุกข้อจำกัด ข้อกังวลของการท่องเที่ยว ผ่านการเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ อย่าง จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาค และใน CLMV ประกอบไปด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
  • การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องได้รับการส่งเสริมต่อยอดทุกรูปแบบ ทุกจังหวัด ทั้งเมืองหลัก
  • เมืองรองต้องพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งแก้ไขกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคการท่องเที่ยว เช่น เวลาเปิดปิดของสถานบริการ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการแก้ไขภาษีสำหรับการจัดงานหรือแข่งขันต่างๆ รองรับการเป็น Homestay ของคนทั่วโลก
  • แต่ละหน่วยงานของทุกพื้นที่จะต้องนำธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สร้างเป็นจุดขาย
  • รัฐบาลปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เอื้อให้ผู้จัดงานระดับโลก ให้สามารถเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และงานศิลปะ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม ‘เศรษฐา’ ชูวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ดัน 8 ฮับ ก้าวสู่ที่ 1 ภูมิภาค

กระหน่ำฟรีวีซ่า 93 ประเทศ

หลังจบเทศกาลสงกรานต์ 2567 นายเศรษฐา กล่าวในวันที่ 18 เมษายน 2567 ว่า ภาพรวมเทศกาลสงกรานต์เป็นไปด้วยดีเป็นไปด้วยดี ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

“เรียกว่าเป็น ‘world-class events’ และได้มีการสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการต่อเนื่องครึ่งหลังของเดือนเมษายนนี้ เพราะยังมีเทศกาลวันไหลที่พัทยา อะไรอีกหลายๆ อย่างที่ต้องทำงานกันต่อไป” นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567

ทิศทางนโยบาย-มาตรการการท่องเที่ยวหลังจากนี้ ยังคงมุ่งเน้นไปที่ “วีซ่าฟรี” ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุ และการให้สิทธิประเทศใหม่ๆ เช่น มาตรการต่ออายุวีซ่าฟรี “รีสเซีย” (มติ ครม. วันที่ 23 เม.ย. 2567) ต่ออายุวีซ่าฟรี “อินเดีย-ไต้หวัน” (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ค. 2567)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไฮไลท์การท่องเที่ยวของรัฐบาลนายเศรษฐาตลอด 9 เดือน หนีไม่พ้น “วีซ่าฟรี” ซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นมาตรการระยะสั้น เห็นได้จาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่มีการให้วีซ่าฟรีเพิ่มอีก 36 ประเทศ รวมแล้วประเทศไทยให้สิทธิวีซ่าฟรี ทั้งหมด 93 ประเทศ/ดินแดน ทั้งนี้แต่ละประเทศได้รับสิทธิการพำนักในจำนวนวันที่แตกต่างกัน โดยมีประเทศที่ได้รับสิทธิ ดังนี้

ประเทศที่ได้รับสิทธิวีซ่าฟรีเพิ่ม 36 ประเทศ/แดนแดน: (1) ราชอาณาจักรภูฏาน (2) สาธารณรัฐบัลแกเรีย (3) สาธารณรัฐไซปรัส (4) สาธารณรัฐฟีจี (5) จอร์เจีย (6) สาธารณรัฐอินเดีย (7) สาธารณรัฐคาซัคสถาน (8) สาธารณรัฐมอลตา (9) สหรัฐเม็กซิโก (10) รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี (11) โรมาเนีย (12) สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน (13) ไต้หวัน (14) สาธารณรัฐประชาชนจีน (15) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (16) มาเก๊า (17) มองโกเลีย (18) สหพันธรัสเซีย (19) ราชอาณาจักรกัมพูชา (20) สาธารณรัฐแอลเบเนีย (21) สาธารณรัฐโคลอมเบีย (22) สาธารณรัฐโครเอเชีย (23) สาธารณรัฐคิวบา (24) เครือรัดอมินีกา (25) สาธารณรัฐโดมินิกัน (26) สาธารณรัฐเอกวาดอร์ (27) สาธารณรัฐกัวเตมาลา (28) จาเมกา (29) ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (30) สาธารณรัฐคอซอวอ (31) ราชอาณาจักรโมร็อกโก (32) สาธารณรัฐปานามา (33) สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (34) สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (35) ราชอาณาจักรตองกา และ (36) สาธารณรัฐโอเรียนทัลอุรุกวัย

ประเทศที่ได้รับสิทธิก่อนแล้ว 57 ประเทศ/ดินแดน: (1) แคนาดา (2) สาธารณรัฐเช็ก (3) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (4) สาธารณรัฐเอสโตเนีย (5) สาธารณรัฐฟินแลนด์ (6) สาธารณรัฐฝรั่งเศส (7) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (8) สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) (9) สาธารณรัฐฮังการี (10) สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (11) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (12) ไอร์แลนด์ (13) รัฐอิสราเอล (14) สาธารณรัฐอิตาลี (15) ญี่ปุ่น (16) รัฐคูเวต (17) สาธารณรัฐลัตเวีย (18) ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (19) สาธารณรัฐลิทัวเนีย (20) ราชรัฐลักเซมเบิร์ก (21) มาเลเซีย (22) สาธารณรัฐมัลดีฟส์ (23) สาธารณรัฐมอริเชียส (24) ราชรัฐโมนาโก (25) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (26) นิวซีแลนด์ (27) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ (28) รัฐสุลต่านโอมาน (29) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (30) สาธารณรัฐโปแลนด์ (31) สาธารณรัฐโปรตุเกส (32) รัฐกาตาร์ (33) สาธารณรัฐซานมารีโน (34) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (35) สาธารณรัฐสโลวัก (36) สาธารณรัฐสโลวีเนีย (37) ราชอาณาจักรสเปน (38) สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (39) สาธารณรัฐเกาหลี (40) ราชอาณาจักรสวีเดน (41) สมาพันธรัฐสวิส (42) สาธารณรัฐตุรกี (43) ยูเครน (44) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (45) สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ (46) สหรัฐอเมริกา (47) สาธารณรัฐเปรู (48) ฮ่องกง (49) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (50) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (51) ราชรัฐอันดอร์รา (52) เครือรัฐออสเตรเลีย (53) สาธารณรัฐออสเตรีย (54) ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม (55) รัฐบาห์เรน (56) สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และ (57) เนการาบรูไนดารุสซาลาม

นโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลนายเศรษฐามุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ด้วย “วีซ่าฟรี” ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งสิ้น 28,150,016 คน พบว่า ท๊อปไฟว์ของนักท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาคล้วนเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิวีซ่าฟรีอยู่ก่อนแล้ว โดยข้อมูลนักท่องเที่ยวแต่ละสัญชาติ ดังนี้

  • ภูมิภาคเอเชีย 20,177,758 คน โดย 5 สัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ (1) มาเลเซีย 4,626,422 คน (2) จีน 3,521,095 คน (3) เกาหลีใต้ 1,660,042 คน (4) อินเดีย 1,628,542 คน และ (5) เวียดนาม 1,033,688 คน
  • ภูมิภาคยุโรป 5,962,231 คน โดย 5 สัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ (1) รัสเซีย 1,482,611 คน (2) อังกฤษ 817,220 คน (3) เยอรมัน 729,163 คน (4) ฝรั่งเศส 545,003 คน และ (5) เนเธอร์แลนด์ 229,539 คน
  • ภูมิภาคอเมริกา 1,287,461 คน โดย 5 สัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ (1) อเมริกัน 930,206 คน (2) แคนาดา 214,264 คน (3) บราซิล 50,005 คน (4) เม็กซิโก 32,195 คน และ (5) อาร์เจนตินา 18,782 คนภูมิภาคตะวันออกกลาง โดย 5 สัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ (1) ซาอุดิอาระเบีย 178,113 คน (2) ยูเออี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 138,934 คน (3) โอมาน 86,488 คน (4) คูเวต 79,255 คน และ (5) กาตาร์ 43,162 คน
  • ภูมิภาคแอฟริกา โดย 5 สัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ (1) แอฟริกาใต้ 60,280 คน (2) เอธิโอเปีย 12,845 คน (3) มอริเชียส 12,099 คน (4) โมร็อกโก 8,899 คน และ (5) เคนยา 4,459 คน

ส่วนมาตรการระยะกลางคือการจัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส, ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพำนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยทั้งสองมาตรการจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน 2567 สุดท้ายคือขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ซึ่งปัจจุบัน กต. ให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567

มาตรการระยะยาวคือ การพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากนี้ยังมีมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดึงกลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่น ๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล และการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567

ท่องเที่ยวเมืองรอง-ค่าใช้จ่ายหักภาษี 1.5-2 เท่า

หนึ่งสัปดาห์หลังรัฐบาลออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติชุดใหญ่ ยังมีมาตรการการกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง บิลค่าที่พัก – แพกเกจทัวร์ หักภาษี 1.5 – 2 เท่า ทั้งสำหรับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2567

โดยหลักการคือนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนา ไม่รวมค่าขนส่งเดินทาง โดยหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อีกทั้งหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรองและจังหวัดท่องเที่ยวหลัก

ป้ายคำ :