ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ขอบคุณ รมต. ฝากคนใหม่สานต่อโครงการเดิม- มติ ครม. ใช้กองทุนน้ำมัน – งบกลาง 8.3 พันล้าน ตรึง ‘ดีเซล – LPG – ค่าไฟ’

นายกฯ ขอบคุณ รมต. ฝากคนใหม่สานต่อโครงการเดิม- มติ ครม. ใช้กองทุนน้ำมัน – งบกลาง 8.3 พันล้าน ตรึง ‘ดีเซล – LPG – ค่าไฟ’

7 พฤษภาคม 2024


เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ บริเวณโถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • สั่งรับมือ พายุฤดูร้อน-ภัยแล้ง
  • ขีดเส้น 90 วัน ผู้ว่าฯ-ตำรวจ จัดการยาเสพติด
  • นายกฯ มองไม่มีการยึดกระทรวง ทุกพรรคทำงานเพื่อประชาชน
  • ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค
  • มติ ครม. ตรึงน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร
  • เพิ่มวงเงินรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
  • ต่ออายุวีซ่า อินเดีย-ไต้หวัน
  • อนุมัติ 700 ล้าน จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

ระดมสมองจัดเฉลิมพระเกียรติฯ 9 พ.ค.

นายเศรษฐา กล่าวถึงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ตนได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เสนอกิจกรรม เพื่อนำไปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบในวันที่ 28 กรกฎาคม ตลอดจนขอให้หน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบกิจกรรมต่างๆ อย่างทั่วถึง

นายกฯ ขอหน่วยงานความมั่นคง รับมือพายุฤดูร้อน-ภัยแล้ง

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหมกองทัพหรือกอ.รมน. ในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะพายุฤดูร้อน-ภัยแล้งรวมถึงการเร่งขุดลอกคูคลองเพื่อเตรียมความพร้อมการทำเกษตรกรรมและเร่งจัดสรรพื้นที่และสถานที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน

นอกจากนี้นายเศรษฐายังสั่งการให้กองทัพจัดหาพื้นที่ศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดและขอให้นายสุทินคลังแสงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรายงานความคืบหน้าในการประชุมครม. ครั้งหน้า

ขีดเส้น 90 วัน ผู้ว่าฯ-ตำรวจ จัดการยาเสพติด พื้นที่สีแดง 25 จังหวัด

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า จากการสั่งการและลงพื้นที่ด้านการปราบปรามยาเสพติดโดยในที่ประชุมครม. วันนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการยาเสพติดอย่างเด็ดขาดโดยกำหนดให้มีผลการจับกุมชัดเจนภายใน 90 วันโดยเฉพาะพื้นที่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่าเป็นพื้นที่สีแดงทั้งหมด 25 จังหวัด

เร่ง พม. พิจารณาข้อเสนอสมัชชาเด็กฯ เฝ้าระวังความรุนแรง-การคุกคาม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งพิจารณาข้อเสนอของสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติประจำปี 66 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ถูกใช้ความรุนแรงในสถาบันครอบครัวซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง

“เราต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจนรวมถึงปัญหาการคุกคามเด็กในสถานศึกษาโดยขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยบังคับกฎหมายอย่างเด็ดขาดป้องกันไม่ให้มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก” นายเศรษฐา กล่าว

คิกออฟด่านศุลกากร หนองคาย 1 ก.ย.

นายเศรษฐา กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์บริการการค้าขายแดนแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service ว่าในฐานะประธานอนุกรรมการฯขอให้กระทรวงการคลังเร่งวางแผนการจัดตั้งศูนย์ฯเพื่อให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการในรูปแบบ Single Submission โดยให้ทดลองระบบภายในวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย 

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่อยากให้การลงทุนโครงสร้างพื้นที่เป็นแสนล้านแต่ต้องไปเสียเวลาที่ด่านและคอยเป็นเวลานานในขั้นตอนการส่งสินค้าไปยังลาวเชื่อมจีนโดยเฉพาะทุเรียนเป็นผลไม้ไทยที่จะส่งไปยังประเทศจีนไม่อยากให้ผู้ประกอบการเสียผลประโยชน์” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจะเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้โดยให้คณะอนุกรรมการเร่งพิจารณาในด่านศุลกากรอื่นๆที่มีความพร้อมคู่ขนานไปด้วย

เผย ใบ รง.4 ค้างกว่า 200 ฉบับ – สั่ง อก. สะสาง

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ไขปัญหาพร้อมจัดการเรื่องใบอนุญาตโรงงานหรือใบรง.4 ที่มีความล่าช้าและค้างในระบบเป็นจำนวนมากให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งพบว่ามีได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้มีใบอนุญาตค้างอยู่ประมาณกว่า 200 ใบและได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามีการตีกลับไปที่จังหวัดเป็นร้อยใบโดยค้างอยู่ที่กรมโรงงาน

“รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้แต่ต้องการให้เกิดการอนุมัติทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อให้เอกชนไปดำเนินงานสร้างโรงงานพร้อมกับการสร้างงานสร้างอาชีพทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้” นายเศรษฐากล่าว

ขยายวีซ่า อินเดีย-ไต้หวัน อีก 6 เดือน

นายเศรษฐา กล่าวถึงการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยว โดยขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งวางแผนการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อย่างเต็มรูปแบบทั้งด้านการบริการสถานที่ความปลอดภัยเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครม. มีมติขยายเวลาการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก้ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศอินเดียและไต้หวันเป็นกรณีพิเศษเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการต่างประเทศและกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายกฯ ฝาก รัฐมนตรีป้ายแดง สานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ได้เสนอแนะอะไรเป็นพิเศษหรือไม่หลังจากปรับครม.โดยนายเศรษฐาตอบว่า “ไม่มี อย่างที่ทราบไป มีการถ่ายรูป ผมบอกว่า ขอขอบคุณที่รัฐมนตรีทุกท่านได้มีการทำงานอย่างเคร่งครัด”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขอให้รัฐมนตรีคนใหม่ไปดูนโยบายและโครงการที่รัฐมนตรีคนเก่าได้ทำไว้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและให้เริ่มดำเนินการต่อไป

เมื่อถามถึง KPI ของรัฐมนตรี นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมตอบไปแล้วครับ”

ถามต่อว่า ครม.ชุดใหม่มีการแบ่งงานให้พรรคร่วมรัฐบาลยึดกระทรวง เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “อย่าไปมองอย่างนั้นไม่ใช่แบบนั้นเรามองที่ผลงานเป็นหลักมากกว่าไม่ได้เป็นการยึดกระทรวงหรืออะไรวันนี้เราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่าไปมองว่าเป็นการยึดกระทรวงหรือยึดอำนาจถือเป็นการบริหารจัดการการทำงานร่วมกันและเชื่อว่าอะไรที่เราบริหารจัดการได้ลดภาระของพี่น้องประชาชนหรือการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนถือเป็นจุดมุ่งหมายหลักและเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน”

นายเศรษฐา ย้ำอีกว่า “ไม่ได้มีการยึดกระทรวงเราทุกคนมาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน”

โยนกระทรวงพลังงาน ชี้แจงประเด็นกองทุนน้ำมัน

นายเศรษฐา ตอบคำถามเรื่องการดูแลกองทุนน้ำมัน หลังจากที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตรว่า ตนจะให้ใช้กองทุนน้ำมันฯไปก่อนหากไม่พอก็จะให้นำงบกลางฯออกมาใช้โดยกระทรวงพลังงานจะมีการแถลงผลการดำเนินการต่อไป

เมิน หอการค้าฯ ค้านค่าแรง 400 บาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้หอการค้า 76 จังหวัดและสมาคมการค้าแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โดยนายเศรษฐา ตอบว่า ค่าแรงเป็นเรื่องของความเป็นอยู่รากฐานของประชาชนและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งสำคัญ

“10 ปีที่แล้วค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทและในวันนี้ขึ้นมาที่ 340 ถึง 350 บาทนั้นระยะเวลา 10 ปีขึ้นมา 10% แต่ค่าครองชีพขึ้นมาเท่าไรซึ่งผมต้องขอชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มุ่งมั่นและผลักดันในเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ ไม่ทราบ ทักษิณ เจรจาเมียนมา

เมื่อถามถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่านายมาริษเสงี่ยมพงษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานอย่างไรหลังมีกระแสข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร ไปช่วยเจรจากับตัวแทนชนกลุ่มน้อย โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่ทราบว่ามีการไปพูดคุยกันหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านมีความหวังดีกับประเทศ”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงมีการพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องของชั้นความลับและไม่ต้องการที่จะมีการเปิดเผยอะไรและยืนยันในหลักการเดิมว่าต้องการให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพในเมียนมาและประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจาเพราะประเทศไทยมีเขตชายแดนที่ติดกับเมียนมาจำนวนมาก

“ยืนยันว่าไทยจะปฏิบัติตามมติของอาเซียนที่ได้กำหนดกรอบขึ้นมารวมทั้งเรื่องการช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนไทยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ดูแลอยู่” นายเศรษฐา กล่าว

ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม – ย้ำจุดยืนประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเสนอแก้ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงราชการกระทรวงกลาโหมเรื่องสกัดกั้นการรัฐประหารว่า พูดคุยกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ได้มีการพูดคุยเลย”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ลงพื้นที่ไป จ.มหาสารคาม และจ.ร้อยเอ็ด แต่บังเอิญนายสุทินติดภารกิจที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยากสอบถามดูเหมือนกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่ลงพื้นที่ไป จ.มหาสารคาม และจ.ร้อยเอ็ด เป็นการเน้นในเรื่องของปัญหาที่มีมานานคือ การบริหารจัดการเรื่องน้ำภัยแล้งและพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาและกระทรวงกลาโหมดูแลเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า หากมีการเจอกับนายสุทินคงได้มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็น ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงราชการกระทรวงกลาโหม

เมื่อถามว่าจุดยืนของนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อสกัดการรัฐประหารใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “อะไรที่ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ไปสกัดกั้นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยผมสนับสนุนเต็มที่”

ถามต่อว่า การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่ไปเป็นการกระตุกต่อมกองทัพใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบเพราะยังไม่เห็นรายละเอียดแต่ส่วนตัวเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพและเชื่อว่ากองทัพเองมีความตั้งใจที่ดีในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน”

ถามต่อว่า เท่าที่มีการสัมผัสกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นทหารที่มีแนวคิดรุ่นใหม่เปิดกว้างที่จะยอมรับกับการร่างกฎหมายสกัดกั้นการรัฐประหารใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่แน่ใจว่ารุ่นใหม่รุ่นเก่าคืออะไรแต่เชื่อว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 เหล่าและปลัดกระทรวงกลาโหมที่ได้มีการพูดคุยกันตลอดมาทุกท่านฟังเสียงพี่น้องประชาชนเป็นหลัก”

ตั้งเป้าไทยเป็น Financial Hub – สั่งศึกษาแนวทางดึงต่างชาติลงทุน

ด้านนายชัย กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Financial Hub ตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ว่า นายกฯ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค และสามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำในการจูงใจให้บริษัทการเงินการธนาคาร การลงทุน และเทคโนโลยี เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย

ดังนั้น นายกฯมอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางเตรียมแผนที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub อย่างแท้จริง

นายกฯ เล็งขุดบ่อบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง

นายชัย กล่าวต่อว่า จากที่นายกฯลงพื้นที่ต่างๆพบว่าภัยแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงหนักมากจึงสั่งให้กระทรวงมหาดไทยประสานกับหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะหน่วยงานทหารให้เตรียมความพร้อมที่จะลำเลียงน้ำจากแหล่งอื่นๆมาช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัย

“จุดไหนที่มีศักยภาพจะเจาะบ่อบาดาลได้ขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการเจาะทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง” นายชัย กล่าว

มติครม. มีดังนี้

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เผยงบปี 2568 เพิ่มเกือบ 2 แสนล้าน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่ามีส่วนที่น่าสนใจคือ รายจ่ายงบฯ ลงทุน ซึ่งมีสัดส่วนต่องบประมาณเพิ่มจาก 20.4 % ในปีงบประมาณ 2567 เป็น 24.2 % ในปีงบประมาณ 2568 ทั้งนี้ ถือว่าเพิ่มจากงบประมาณปี 2567 ถึง 27.9 % หรือเป็นเงินถึงเกือบ 2 แสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าเงินจำนวนนี้ ถือเป็นการเพิ่มงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอดคล้องตามความต้องการของแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยจากงบประมาณปี 2567 กว่า 15,977 ล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณปี 2568 ที่ 117,351 ล้านบาท ถือเป็นอีกโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง และเพื่อความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะประชาชนสามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำงบประมาณผ่านแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้

“รัฐบาลตั้งใจที่จะเสนองบประมาณ 2568 นี้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยทุกด้าน ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจการปกครอง ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า เมื่อ พ.ร.บ. งบประมาณ 2568 นี้ผ่านรัฐสภาแล้ว จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นต่อยอดเรียนรู้ และเสนอความต้องการของตนผ่านการใช้งบประมาณเพื่อสร้างความเจริญในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง” นายชัย กล่าว

มอบรองนายกฯ ตรวจร่างมติ ครม. ก่อนเสนอ นายกฯ

นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายพิชิต ชื่นบาน) (1) เป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติ ครม. ที่ สลค. จัดทำ และ (2) พิจารณากลั่นกรองเรื่องกฎหมายก่อนเสนอ นรม. ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ

นายชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. แต่ละครั้ง เมื่อ ครม. ได้พิจารณาและอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีคำสั่งใดๆ ในเรื่องต่างๆ ที่เสนอต่อ ครม. แล้ว สลค. จะจัดทำร่างมติ ครม. ในเรื่องนั่นๆ แล้วเสนอให้ รมต. ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. เป็นผู้ตรวจพิจารณา และลงนามรับรองความถูกต้องก่อน จึงจะถือเป็นมติ ครม. ที่จะแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องและหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ ถือปฏิบัติ หรือดำเนินการต่อไป และการพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะในระดับ พ.ร.บ. หรือการดำเนินการคดีความต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน และเพื่อให้การพิจารณาของ นรม. เป็นไปด้วยความรอบคอบ

นรม. พิจารณาแล้วมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติ ครม. ที่ สลค. จัดทำ และเป็นผุ้พิจารณากลั่นกรองเรื่องกฎหมายก่อนเสนอ นรม.

ผ่าน กม.เพิ่มเติมคุณสมบัติต้องห้าม ‘ผู้ใหญ่บ้าน’

​​นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

​​นายคารม กล่าวว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติในครั้งนี้ ได้เพิ่มเติมกฎหมาย และฐานความผิด ซึ่งเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จากเดิมมีกฎหมาย 10 ฉบับ คือ 1) กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 2) กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 3) กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 4) กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 5) กฎหมายว่าด้วยศุลกากร 6) กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนในฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือ วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ 7) กฎหมายว่าด้วยที่ดินในฐานความผิดเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ 8) กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 9) กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง และ 10) กฎหมายว่าด้วยการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือ หรือ เจ้าสำนัก โดยเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ คือ 1) กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2) กฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และ 3) กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านไว้เข้มงวด เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่เคยกระทำผิดตามกฎหมายที่ระบุไว้เข้าสู่ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หากบุคคลดังกล่าวมาเป็นผู้นำราษฎร อาจทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นในชุมชน หมู่บ้าน ไม่ยอมรับบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จภายในหมู่บ้าน จึงต้องอาศัยคุณสมบัติผู้มีมาตรฐานสูง มีความประพฤติที่ดี ไม่เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของราษฎรในหมู่บ้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม จึงจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติบุคคลที่จะเป็นผู้นำหมู่บ้านอย่างเข้มงวด

นายคารม ระบุ ร่าง พรบ.ดังกล่าวที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามคำบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 13/2563 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 7-8/2565 เรื่อง การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือ เสรีภาพของบุคคล ต้องไม่จำกัดสิทธิ หรือ เสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะกรณีของความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายการเลือกตั้ง ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 เกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ใหญ่บ้าน และระบุฐานความผิดเพื่อการจำแนกประเภทการกระทำความผิดและความหนักเบาแห่งสภาพบังคับตามลักษณะและพฤติการณ์แห่งการกระทำ กำหนดระยะเวลาของการต้องห้ามเป็นผู้ใหญ่บ้านสำหรับความผิดบางประเภท เป็นเวลา 10 ปี และหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถสมัครเพื่อเข้ารับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้

เดินหน้า ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดเตรียมงบประมาณรองรับการดำเนินโครงการไว้แล้ว จำนวน 30,327,930 บาท

นายคารม กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ. โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อให้เด็กได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา

“ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนฯ สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนและได้รับงบประมาณสนับสนุนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จึงเห็นควรดำเนินโครงการศูนย์การเรียนฯ ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องขออนุมัติการดำเนินจากคณะรัฐมนตรีทุก 5 ปี” นายคารม กล่าว

เคาะร่างแถลงการณ์ร่วม รมว.อาเซียน ด้านการพัฒนาชนบท

​​นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 13 (แถลงการณ์ร่วมฯ) (Joint Statement of The Thirteenth ASEAN Ministers Meeting on Rural Development and Poverty Eradication) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ขอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน มีหนังสือแจ้งผลการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและรับรองแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

ใช้กองทุนน้ำมัน – งบกลาง ตรึง ‘ดีเซล – LPG – ค่าไฟ’

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้นำเสนอ และมอบหมายให้ พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตามอำนาจและหน้าที่ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สรุปสาระสำคัญดังนี้

  1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. – 31 ก.ค. 2567
  2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567
  3. ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค. – ส.ค. 2567 (4 เดือน)

ทั้งนี้ พน. คาดว่าจะใช้งบฯ สำหรับดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

  • มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท
  • ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท
  • ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท
  • มาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท

โดย ในที่ประชุม ครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

อนุมัติ กม.รื้อถอนสิ่งติดตั้งกิจการปิโตรเลียมในทะเล ไทย-มาเลเซีย

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีข้อบังคับเกี่ยวกับกิจกรรมการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 (หมวด 8 การเคลื่อนย้าย การกำจัด การรื้อถอน และการกอบกู้) และในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (ข้อ 3.12) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดของการดำเนินงาน รวมถึงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน

ในการนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายมาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมถึงได้จัดทำสรุปรายงานและแผนการรื้อถอนที่ผู้ได้รับสัญญาต้องเสนอขออนุมัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการ ค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง ที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 และที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนฯ

ทั้งนี้ พน. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดของการดำเนินงาน ขั้นตอน และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมที่ชัดเจน เห็นควรให้มีร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2567 ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับสัญญาและผู้ดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วม รับผิดชอบในการดำเนินงานที่จำเป็นเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยสอดคล้องกับทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานสากลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เคาะร่าง กม. ปิโตรเลียม ไทย-มาเลเซีย

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระค่าภาคหลวงและรายได้อื่น ๆ จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมให้แก่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซีย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระค่าภาคหลวงและรายได้อื่น ๆ จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมให้แก่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซีย พ.ศ. 2547 เพื่อขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากกองทุนเงินบำรุงการวิจัยให้กว้างขึ้น ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้แก่

1) การสนับสนุนโครงการวิจัยใด ๆ สำหรับการสำรวจหรือการแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้ครอบคลุมหัวข้อการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนา ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเฉพาะการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS)

2) การบริหารและการประเมินผลโครงการวิจัย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการประชุมและการเดินทางของคณะอนุกรรมการพิจารณาการใช้เงินบำรุงการวิจัยกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและผู้ประเมินทางเทคนิค และค่าดำเนินการเพื่อคัดเลือกโครงการวิจัย และบริหารจัดการเพื่อเริ่มโครงการ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของต้นทุนโครงการแต่ละโครงการ

3) ค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษาคนไทยและมาเลเซียในโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย สำหรับการสำรวจหรือแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมฯ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีอำนาจในการเสนอโครงการวิจัยของประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้สนใจหรือนักวิจัยโดยเฉพาะคนไทยและมาเลเซียได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการสำรวจหรือแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยสำหรับประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่า กระทรวงพลังงานมีแผนให้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พร้อมกันทั้งสองประเทศ แต่ในชั้นการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงปรากฏข้อเท็จจริงว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการเพื่อให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ภายในวันดังกล่าวได้ จึงเห็นควรให้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามหลักปกติที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 และในทางปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานงานเพื่อดำเนินการให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับในวันเดียวกันได้ต่อไป

ตั้ง ‘ภูมิธรรม’ รักษาการแทนนายกฯ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2566 มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 13 กันยายน 2566 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 27 เมษายน 2567 นั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้

  1. นายภูมิธรรม เวชยชัย
  2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
  3. นายพิชัย ชุณหวชิร
  4. นายอนุทิน ชาญวีรกุล
  5. พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
  6. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

2. ในระหว่างรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 บัญญัติให้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน และมาตรา 48 บัญญัติให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัติมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน และวรรคสามบัญญัติให้ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่าวงใด ให้ผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี

อนุมัติ 700 ล้าน จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (งานเฉลิมพระเกียรติฯ) จำนวน 700 ล้านบาท โดยการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดและค่าใช้จ่ายของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และนำเสนอคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ความเห็นชอบเมื่อส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบผลการพิจารณาแล้วให้นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยตรง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง โดยสปน. รายงานว่า

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในด้านงานพิธีการ การจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการจัดงานอื่น ๆ ในนามรัฐบาล ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ และต่อมาในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบมอบหมายให้ สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงินทั้งสิ้น 700 ล้านบาท แบ่งเป็นกรอบวงเงินที่คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว จำนวน 7 รายการ วงเงิน 304.82 ล้านบาท และกรอบวงเงินที่ยังไม่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองฯ จำนวน 395.18 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในช่วงก่อนและหลังวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ สรุปได้ ดังนี้

(1) กรอบวงเงินงบประมาณที่คณะกรรมการกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ เห็นชอบในหลักการแล้ว 304.82 ล้านบาท

  • คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการ งานเฉลิมพระเกียรติฯ 283.07 ล้านบาทและคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 231.48 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 179.85 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงกลาโหม (กองทัพเรือ)
    • การจัดสร้างเครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในงานพระราชพิธีริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 3.63 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สำนักพระราชวัง
    • ค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมเรือพระราชพิธีและงานประดับตกแต่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี 48.00 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
    •  คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 17.20 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย (มท.)
  • การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทยเฉลิมพระเกียรติฯ 34.40 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : วธ. (กรมการศาสนา)

(2) คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติฯ 21.75 ล้านบาท

  • ค่าใช้จ่ายในการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก 19.75 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : วธ. (กรมศิลปากร)
  • ค่าใช้จ่ายในการจัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 2.00 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : มท.

นางสาวเกณิกา กล่าวต่อว่า กรอบวงเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรอง ขอใช้งบประมาณงานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งใช้สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ฝ่ายฯ คณะอนุกรรมการฝ่ายฯ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจ 395.18 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงการต่างประเทศ มท. สปน. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดและค่าใช้จ่ายของภารกิจที่ได้มอบหมายในช่วงก่อนและหลังวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และนำเสนอคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณงานเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด เช่น (1) เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ (2) ไม่มีงบประมาณของหน่วยงานรองรับ และ/หรือหน่วยงานไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานได้ หรือสามารถปรับแผนฯ ได้ แต่งบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยตรงตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562

ต่ออายุ วีซ่าอินเดีย-ไต้หวัน

นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้สาธารณรัฐอินเดีย และไต้หวันเป็นรายชื่อประเทศ/ดินแดนในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐอินเดีย/ไต้หวัน ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขให้มีผลบังคับใช้ชั่วคราวเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม-11 พฤศจิกายน 2567 (6 เดือน) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสาธารณรัฐอินเดียและไต้หวันในภาพรวม โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย

2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของไต้หวัน ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ รวม 2 ฉบับ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตาม และประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้

ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ เพิ่มเติมอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน2567 (เดิมระยะเวลาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567)

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และช่วยเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมประมาณ 2,158 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นการตรวจลงตราในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสาธารณรัฐอินเดียและไต้หวันในภาพรวม โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย

ตั้ง ‘วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์’ ปลัดพาณิชย์

นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

  1. นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  2. นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจ จากฐานชีวภาพ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ รวม 7 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

  1. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ประธานกรรมการ
  2. รองศาสตราจารย์สิรี ชัยเสรี ด้านการบริหารเศรษฐกิจการเกษตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  3. นางรวีวรรณ ภูริเดช ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  4. ศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  5. นางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ ด้านการเงิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  6. นายสุเมธ เหล่าโมราพร ด้านบริหารธุรกิจและการตลาด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  7. นายทศพล ทังสุบุตร ด้านนิติศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

4. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2516 (เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจและห้ามกักกันข้าว และคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2518 (เรื่อง แต่งตั้งกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489)

2. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 ชุดใหม่ จำนวน 10 ตำแหน่ง ดังนี้

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ
  2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธานกรรมการ
  3. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนกรรมการ
  4. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนกรรมการ
  5. อธิบดีกรมการค้าภายใน หรือผู้แทนกรรมการ
  6. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ หรือผู้แทนกรรมการ
  7. ผู้แทนกรมการปกครอง กรรมการ
  8. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
  9. ผู้แทนกรมการข้าว กรรมการ
  10. ผู้อำนวยการกองที่รับผิดชอบสินค้าข้าว กรมการค้าภายใน กรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

  1. นายณัฐภูมิ เปาวรัตน์ ความรู้และประสบการณ์ด้านกิจการคลังสินค้า
  2. นายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย ความรู้และประสบการณ์ด้านกิจการไซโล
  3. นายวรพันธ์ ประเสริฐยิ่ง ความรู้และประสบการณ์ด้านกิจการห้องเย็น
  4. นายกษาปณ์ เงินรวง ความรู้และประสบการณ์ด้านกิจการธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้

  1. นายวิชัย ไชยมงคล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  2. พลเรือโท นิกร เพชรวีระกุล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  3. นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  4. นางจินตรา หมีทอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายสันติ พร้อมพัฒน์)]

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567 เพิ่มเติม