ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปัดตอบกู้ ‘ออมสิน’ แจก “เงินดิจิทัล” – มติ ครม.เคาะพักหนี้เกษตรกร – แถมปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท

นายกฯปัดตอบกู้ ‘ออมสิน’ แจก “เงินดิจิทัล” – มติ ครม.เคาะพักหนี้เกษตรกร – แถมปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท

26 กันยายน 2023


เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • ตั้ง คกก.สอบปมค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก”
  • ปัดตอบกู้ ‘ออมสิน’ แจก “เงินดิจิทัล” ชี้ยังไม่ถึงเวลา
  • ชง ครม.สัปดาห์หน้า ตั้ง คกก.ขับเคลื่อนดิจิทัล วอลเล็ต
  • สั่งขยายสนามบินภูเก็ต รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม 5.5 ล้านคน
  • มติ ครม.เคาะพักหนี้เกษตรกร – แถมปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท
  • ไฟเขียวงบลงทุน รสก.ปี’67 เกือบ 1.4 ล้านล้าน
  • เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปี’67
  • ต่ออายุ “จตุพร บุรุษพัฒน์” นั่งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯอีกปี
  • เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา แถลงต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและมติ ครม.

    ตั้ง คกก.สอบปมค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก”

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นบ้านของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หรือ “บิ๊กโจ๊ก” โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.แล้ว จำนวน 3 คน เป็นพลเรือน 2 คน และอดีตนายตำรวจ 1 คน ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน โดยให้เวลาตรวจสอบภายใน 15 วัน

    “เรื่องนี้หนักใจอยู่แล้ว ไม่ซับซ้อน แต่เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่สาธารณชนจับตามอง เป็นเรื่องความมั่นคงด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีผลโยงใยไปถึงการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิด ว่ากันทีหลัง การประชุมคณะกรรมการข้าราชการ ประชุมตำรวจ (ก.ตร.) ยังคงเป็นวันที่ 27 กันยายนไม่มีการเปลี่ยน ทั้งนี้ การแต่งตั้งยังคงยึดหลักของข้อกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่

    ปัดตอบกู้ ‘ออมสิน’ แจก “เงินดิจิทัล” ชี้ยังไม่ถึงเวลา

    นายเศรษฐา ยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงประเด็น Digital Wallet 10,000 บาทว่า “ยังไม่เสร็จ ยังไม่เรียบร้อย”

    เมื่อถามว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้เป็นการกู้ยืมเงินธนาคารออมสินหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ยังไม่ถึงเวลา เดี๋ยวถ้าพร้อมแล้วจะแถลง”

    ถามต่อว่าทุกอย่างจะทำเป็นไปตามกรอบหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ ตามกฎหมาย ที่มาที่ไปของเงิน เรื่องของหลักการ ก็พยายามทำให้ดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่บอกมาว่า อำเภอไหน ที่ไหน อาจจะกันดาร ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็พยายามพิจารณาอยู่”

    “อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว ต่อไปนี้ถ้าจะแถลงอะไรให้ครบหมดทุกอย่างจะเป็นการดีกว่า เดี๋ยวพูดไปอีกอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง มันไม่ดีหรอก เดี๋ยวมีคณะกรรมการชุดใหญ่มาแถลงเลยดีกว่า ให้เป็นรูปธรรม ให้ครบทุก ๆ คำถามที่มีคำถามมา จะเหมาะสมกว่า ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่นั้น ก็เร็วๆ นี้” นายเศรษฐากล่าว

    เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาโจมตีว่าการยืมเงินธนาคารออมสิน จะเป็นการทุบกระปุกออมสินของเด็ก นายเศรษฐา ตอบว่า “อย่างที่ผมบอก เดี๋ยวค่อยชี้แจงให้ทราบดีกว่า”

    ชง ครม.สัปดาห์หน้า ตั้ง คกก.ขับเคลื่อนดิจิทัล วอลเล็ต

    ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตว่า โครงการนี้ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาล ต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยกระทรวงการคลังจะทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ส่วนกรรมการก็จะมี รองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ และตัวแทน กระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สภาพัฒน์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น โดยมีคณะทำงานชุดเล็ก ศึกษารายละเอียด เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ อย่างช้าที่สุดต้องไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า

    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการขยายเพดานการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 จาก 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มเป็น 45% เพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตใช้หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ก็เป็นส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้สรุป แต่อย่าให้ลงลึกไปในรายละเอียดมากกว่านี้เลย ยืนยันการดำเนินโครงการนี้ รัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด

    สั่งขยายสนามบินภูเก็ต รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม 5.5 ล้านคน

    ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้มีเรื่องเข้ามาพิจารณาทั้งหมด 58 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องด่วน

    นายชัย กล่าวต่อว่า เรื่องหนึ่งที่ยังไม่เป็นมติ ครม. คือการสร้าง quick win จากการท่องเที่ยว ซึ่งสืบเนื่องจากที่นายกฯ ลงพื้นที่ไปภูเก็ต และเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจของประเทศ อะไรที่ทำได้ ให้ทำก่อน อย่ารอให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ภาพที่เห็นคือ quick win ในการท่องเที่ยวต้องใช้จังหวัดภูเก็ตกับเชียงใหม่

    “ภูเก็ตมีความจุสนามบิน 12.5 ล้านคน เป็นปัญหา ถ้าต้องการดึงดูด เราต้องการ 18 ล้านคน เพิ่มอีก 5.5 ล้านคน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี เร่งให้กระทรวงคมนาคม รีบไปทำแผนเสนอมา ยังไม่ถึงขนาดสมบูรณ์ แต่ขอดูแผนว่าจะทำให้ภูเก็ตสามารถให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ 5.5 ล้านคน รวมทั้งการคมนาคมขนส่ง เดินทางจากภูเก็ตเข้าเมือง ขนส่งและไปแห่งท่องเที่ยว” นายชัย กล่าว

    สั่งลด จนท. ต้องรับนายกฯลงพื้นที่

    นายชัย กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า “นายกฯ ย้ำว่าต่อไปนี้เวลาลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน ท่านสั่งทีมงานว่าต้องลดขนาดทีมลง อย่าไปรบกวนประชาชน และกำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวง ไม่ต้องแห่กันมารับเยอะ อธิบดีมาแล้ว รองอธิบดีกรุณาไม่ต้องมา คือมาให้น้อยคน เพราะมาแล้วทีมงานแต่ละกระทรวงตามมาเป็นขบวนใหญ่ นายกฯ ตกใจทำไมใหญ่ขนาดนี้ ท่านต้องการทีมเล็กๆ”

    ตั้ง 3 คกก.สอบปมบุกค้นบ้านตำรวจชั้นผู้ใหญ่

    นายชัย เปิดเผยว่า นายกฯ สั่งการให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายขจัด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการกระทำผิดกฎหมาย โดยได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 247/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการ และพล.ต.ท. วินัย ทองสอง กรรมการเเละเลขานุการ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

    ทั้งนี้ คณะกรรมการนี้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการตรวจสอบออกไปอีก โดยให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 10 วัน และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับเชิญ หรือ ขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด

    “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้เป็นไปตามความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นหลักการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ต้องการธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม และความถูกต้อง” นายชัย กล่าว

    แจงเหมาลำบิน “สหรัฐฯ-UN” คุ้ม ดึงต่างชาติลงทุน 5,000 ล้านเหรียญ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่นายกฯ และคณะเหมาเที่ยวบิน 30 ล้านบาท เพื่อไปประชุม UN โดย นายชัย ชี้แจงว่า “ผมคิดว่าในความเป็นจริง ผมไปทริปนี้ด้วย ทุกคนเกี่ยวข้อง ใครที่วิจารณ์ สำนักเลขาธิการนายกฯ เขาเตรียมไว้แล้ว ตามคำชี้แจงตามนั้นทุกประการ คิดอยากจะร้องก็เป็นสิทธิ แต่ผมยืนยันเลยครับว่าการไปเที่ยวนี้ เรื่องใหญ่ต้องถามว่าประเทศเราได้ประโยชน์อะไร นายกฯ ไปแล้วนำอะไรมาสู่ประเทศชาติบ้าง เรื่องที่คนหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องปลีกย่อยมากๆ เรื่องกระพี้ ไม่ใช่เรื่องแก่น”

    “ผมคิดว่าเรามานั่งคำนวณดีกว่าว่า หลังจากนายกฯ ไปทริปนี้ ที่จะเกิดกับประเทศชาติ โดยเฉพาะการดึงเอาเม็ดเงินมาลงทุนในไทย เพื่่อความยั่งยืนของประเทศ ลงทุนในด้าน BCG นี่เป็นทิศทางที่ทั่วโลกกำลังเดินไป และประเทศไทยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นายกฯ ไปเที่ยวนี้นำพาประเทศไทยกลับไปสู่การเชื่อมต่อกับโลกอย่างมีพลังและมีความหวังอีกครั้ง”

    “เวลานี้ประเทศไทยกลับไปอยู่ในจอเรดาร์แล้ว และจากการพูดคุยกับบริษัทชั้นนำของโลก มีแนวโน้มว่าหลายบริษัทจะเริ่มสตาร์ทการลงทุนระดับ 5 พันล้านเหรียญ โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าเราเดินบนเส้นทางนี้เงินทุนจะไหลเข้ามาเยอะมาก และเป็นเส้นทางที่ใช้แรงงานค่าจ้างสูง เงินเดือนสูงขึ้น เป็นอนาคตใหม่สำหรับคนไทย”

    ย้ำเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน รู้วิธีหารายได้

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่อง quick win จากการท่องเที่ยว โดย นายชัย ตอบว่า รัฐบาลเน้นตั้งแต่ต้นว่า เศรษฐกิจของประเทศต้องแก้ด้วยการเพิ่มรายได้ให้ประเทศ นายกฯ เป็นนักธุรกิจมาก่อน ท่านมองเข้าใจว่าจะใช้เงินแล้วต่อยอดอย่างไร

    “ที่ท่านบอกว่าไม่มีแผนหาเงิน การเล่นกับ quick win เรื่องการท่องเที่ยว ภูเก็ตขยาย 5.5 ล้านคน คนหนึ่งใช้ต่ำๆ 5 หมื่นบาทต่อทริป เรากำลังพูดถึงการหารายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่ม 275,000 ล้าน ภูเก็ตที่เดียว เชียงใหม่กำลังขยายเป็นคู่ขนาน ความจุอีก 5 ล้านคน และอีก 2 แสนกว่าล้านบาท ยังไม่นับสุวรรณภูมิ ด้านการท่องเที่ยวไม่ต้องทำอะไรมากมาย มันจะเพิ่ม 5 แสนกว่าล้าน”

    “ทราบไหมว่าเมื่อวานนายกฯ ไปรับนักท่องเที่ยวจีนที่สุวรรณภูมิ ทูตจีนมารายงานนายกฯ ว่าทันทีที่ประกาศนโยบายวีซ่าฟรี ในประเทศจีนกลายเป็น talk of the china ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์เที่ยวไทยเพิ่มเป็น 100 เท่า มีคนเข้ามาเตรียม จองแล้ว ปกตินักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยเดือนละ 270,000 คน เวลานี้คนจีนจองแล้ว 650,000 คน เพิ่มเกิน 1 เท่าตั้ว นี่แค่ขยับไม่ใช้งบสักบาท นักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนเดียวเพิ่ม 3 ถึง 4 แสนคน” นายชัย กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เคาะพักหนี้เกษตรกร – แถมปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

    • กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานัเป้นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) 
    • ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 (1 ปี)
    • วิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567
    • งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนด มาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดการพักหนี้เกษตรกร โดย นายชัย ตอบว่า นโยบายพักหนี้ในปีแรกจะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 2.7 ล้านคน โดยมุ่งเน้นไปที่เกษตรกรรายย่อยกลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยการพักชำระหนี้ทั้งหมด 3 ปี แต่รัฐบาลจะของบในแต่ะปี

    “เวลานี้เป็นนโยบายของรัฐบาลว่า เลือกช่วยคนกลุ่มย่อยและครอบคลุมให้มากที่สุด ธกส. รายงานมา เพื่อให้สอดคล้องกับวงเงินงบประมาณ กลุ่มที่จะช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือกลุ่มหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า “เรามองว่าการพักชำระหนี้ก่อนหน้านี้ 13 ครั้ง พักไปแล้วไม่มีแผนติดตามต่อ และไม่มีแผนสร้างรายได้ใหม่ให้เกษตรกร ที่สุดวนกลับมาลูปเดิม อันนี้เรามีแผนเลยว่าจะเพิ่มรายได้ด้วยแนวคิดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ แต่มันจะเริ่มมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ ปรับโครงสร้างภาคการเกษตรจะเริ่มปี 2567 ระหว่างนี้จะไปเริ่มได้ต้องพักเสียก่อน แล้วปีหน้าเข้าสู่ลูปการเพิ่มรายได้”

  • ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย แถมปล่อยกู้ใหม่ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย เริ่ม 1 ต.ค.นี้
  • ไฟเขียวงบลงทุน รสก.ปี’67 เกือบ 1.4 ล้านล้าน

    นายชัย รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย

    (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติ และโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท

    (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท

    สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม. และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2567 ให้ดำเนินการได้ เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณ หรือ ได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้วและปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติ ครม. เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครม. ยังรับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 76,756 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนิงานช่วงปี 2568-2570 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท

    เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปี’67

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท และ (3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

    สาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

    1. แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ
    2. แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567
    3. แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท

    โดยในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ ขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น และขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อทราบต่อไป

    ทั้งนี้ จากประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดที่ไม่เกินร้อยละ 70

    บริจาคเงินอุดหนุน “ศูนย์ทุ่นระเบิด” อาเซียน

    นายชัย รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติ อนุมัติในหลักการให้ไทยบริจาค เงินอุดหนุนสำหรับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Center: ARMAC) (ศูนย์ ARMAC) เป็นเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567- พ.ศ. 2569) วงเงินรวม 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

    ทั้งนี้ ศูนย์ ARMAC จัดตั้งขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (operational budget) ซึ่งการที่ไทยพิจารณามอบเงินอุดหนุนตามความสมัครใจสำหรับการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิด และแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนิงานของศูนย์ ARMAC อย่างต่อเนื่อง โดยที่ศูนย์ดังกล่าวเป็นองค์กรที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือกรอบอาเซียน ดังนั้น การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจของไทยจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-กัมพูชา และเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของไทยในกรอบทวิภาคี

    เห็นชอบแผนความร่วมมือ “อินโด-มาเล-ไทย”

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และให้ สศช. สามารถปรับถ้อยคำได้ ในกรณีที่มีใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. เพื่อให้เห็นชอบอีก โดยให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2566

    นายชัย เสริมเสริมว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของประเทศสมาชิก ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยไม่มีการลงนาม โดยแถลงการณ์ร่วมฯ มีสาระสำคัญดังนี้

    1. การพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค
    2. การพัฒนาภาคเกษตรกรรม
    3. การพัฒนาภาคบริการฮาลาล
    4. การพัฒนาภาคการท่องเที่ยว
    5. การพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพในอนุภูมิภาค
    6. การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในระดับอนุภูมิภาค
    7. การลดก๊าซเรือนกระจก
    8. ความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคส่วนต่างๆ ในอนุภูมิภาค

    นายชัย กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศ และเป็นการสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน

    ตั้งรักษาการแทน รมว.คลัง

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

    1. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
    2. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

    เสนอชื่อ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ นั่ง กมธ.กิจการวุฒิสภา

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

    “การมอบหมายรัฐมนตรีเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้มีผู้แทนคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและประสานงานระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในกิจการของวุฒิสภา” นายชัย กล่าว

    กำหนด 13 ต.ค.เป็น “วันนวมินทรมหาราช”

    นายชัย รายงานว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ได้รับทราบและนำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ทั้งนี้ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”

    ต่ออายุ “จตุพร บุรุษพัฒน์” นั่งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯอีกปี

    นายชัย กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ ตำแหน่งว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการ จำนวน 7 ราย ดังนี้

    1. แต่งตั้งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ตำแหน่งว่าง)
    2. แต่งตั้งนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ข้าราชการพลเรือนสามัญ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง)กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (แทนนายอรรถพล)
    3. แต่งตั้งนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ (แทนนายปิ่นสักก์)
    4. แต่งตั้งนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทรัพยากรธรณี ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)
    5. แต่งตั้งนายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทรัพยากรธรณี (แทนนางอรนุช)
    6. แต่งตั้งนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (แทนนายพิชิต)
    7. แต่งตั้งนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (แทนนายสมศักดิ์)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เสนอแต่งตั้ง นายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (สายงานบริหาร) ตำแหน่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เสนอแต่งตั้งนางสุพร ตรีนรินทร์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (สายงานบริหาร) ระดับสูง ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (นักบริหาร ระดับสูง) กระทรวงยุติธรรม มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณ เสนอการแต่งตั้งข้าราชการ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 2 ตำแหน่ง ดังนี้

    1. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
    2. นายอภิชาต รัตนราศรี ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นางสาวมรกต เจนมธุกร อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา
    2. นายสุวพงศ์ ศิริสรณ์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
    3. นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 รายดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

    7. ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูงต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางบก จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2568
    2. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงจะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567

    8. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 6 ราย ดังนี้

    1. นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)
    2. นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายซาดา ไทยเศรษฐ์)
    3. นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเกรียง กัลป์ตินันท์)
    4. นายวัฒนา ช่างเหลา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)]
    5. นายนิยม ช่างพินิจ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชาดา ไทยเศรษฐ์)]
    6. นายศุภชัย นพขำ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเกรียง กัลป์ตินันท์)]

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    9. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้

    1. พลเรือโท นิกรม เพชรวีระกุล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    2. นางจิตรา หมีทอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    10. ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 1)

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไปอีก 1 ปี (ต่อครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

    11. ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ (ครั้งที่ 1)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ต่อไปอีก 1 ปี(ต่อครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

    12. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่เดียวติดต่อกันเป็นเวลาครบ 4 ปี และแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงทดแทนเพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียน รวมจำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมท่าอากาศยาน ทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ
    2. นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทดแทนลำดับที่ 1

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

    13. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายสมบัติ อำนาคะ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนุชา นาคาศัย)
    2. นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนุชา นาคาศัย))

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    14. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวราวุธ ศิลปอาชา) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

    15. เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

    16. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอนายคารม พลพรกลาง ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    17. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายชื่นชอบ คงอุดม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
    2. นายสุรชาติ ศรีบุศกร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    18. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียในอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    19. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายชยุต ภุมมะกาญจนะ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    20. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง จำนวน 10 ราย ดังนี้

    1. นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม
    2. นายวราวุธ ยันต์เจริญ
    3. พลอากาศเอก สุรพล พุทธมนต์
    4. นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ
    5. นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
    6. นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล
    7. นายสิรภพ ดวงสอดศรี
    8. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ
    9. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
    10. รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์

    21. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายยู่สิน จินตภากร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    22. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุทิษา ประทุมกุล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    23. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 8 ราย ดังนี้

    1. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย)
    2. นายกิตติกร โลห์สุนทร ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
    3. นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร)
    4. นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
    5. นายยรรยง พวงราช ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
    6. นายศุภชัย ใจสมุทร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
    7. นายกฤช เอื้อวงศ์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ขุนละเอียด)
    8. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ขุนละเอียด)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    24. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นางสมหญิง บัวบุตร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายไชยา พรหมา)
    2. นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายไชยา พรหมา))

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    25. ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
    2. นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

    26. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ และเพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการ จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    2. นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    27. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 12 ราย ดังนี้

    1. นางสาวเรวดี ศรีชาย
    2. นายภัทร บุญประกอบ
    3. นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา
    4. นางสาวดาวประกาย ศิริพรรณาภิรัตน์
    5. นางสาวชนิสรา โสกันต์
    6. นายรวีภัทร์ จิรศักดิ์วัฒนา
    7. นายธนวรรณ เพ็งดิษฐ์
    8. นางสาวณัฐณิชา บุรณศิริ
    9. นายชนภัทท์ จันทรุเบกษา
    10. นายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร
    11. นายพชร ธรรมมล
    12. นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 26 กันยายน 2566 เพิ่มเติม