ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเปิดฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ถาวร 1 มี.ค.นี้-มติ ครม.รับลูก ป.ป.ช.- ตั้ง พพ.เจ้าภาพสอบ ‘โครงการสูบน้ำโซลาร์เซลล์’

นายกฯเปิดฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ถาวร 1 มี.ค.นี้-มติ ครม.รับลูก ป.ป.ช.- ตั้ง พพ.เจ้าภาพสอบ ‘โครงการสูบน้ำโซลาร์เซลล์’

2 มกราคม 2024


เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายก ฯเปิดฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ถาวร 1 มี.ค.นี้
  • รื้อภาษีสรรพสามิตสุราพื้นบ้าน-เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว
  • ดัน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ไม่ทัน Q1/67 เข็นมาตรการอื่นเสริม
  • ติวเข้ม ส.ส. เพื่อไทย รับศึกอภิปรายงบฯปี’67
  • มติ ครม.รับลูก ป.ป.ช.-มอบพลังงานสอบ ‘โครงการสูบน้ำโซลาร์เซลล์’
  • หั่นภาษีสุราพื้นเมือง – ไวน์นำเข้า เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว
  • ปรับเกณฑ์สมรส ขั้นต่ำ 18 ปี ตามข้อเสนอ กสม.
  • ตั้งคนใกล้ชิด-การเมือง นั่งบอร์ด ‘รฟท.-กทท.-กนอ.’
  • เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    น้อมนำพระราชดำรัสในหลวง

    นายเศรษฐา กล่าว สวัสดีปีใหม่ต่อสื่อมวลชน และบอกว่า วันนี้มีการประชุม ครม. หลายเรื่อง แม้จะเป็นวันแรกของปีสำหรับการทำงาน โดยเรื่องแรกคือ ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเนื่องในวโรกาสปีใหม่ เป็นแนวทางในการทำงาน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ปี 2567 เป็นปีมหามงคล เนื่องจากกำลังจะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมายุครบ 6 รอบ และรัฐบาลมีแผนงานที่ชัดเจน ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการ หรือ ผู้เกี่ยวข้องุทกท่านดำเนินงานอย่างเคร่งครัด

    “พระราชดำรัสคือ การทำงาน สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรทำตาม” นายเศรษฐา กล่าว

    ปลดล็อกเรือ 1,200 ลำ ทำประมงได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.นี้

    นายเศรษฐา กล่าวถึงเรื่อง IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ว่า ประเด็น IUU มีผลกระทบต่อชาวประมงนับแสนราย ดังนั้นรัฐบาลจึงแก้กฎระเบียบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อเพิ่มวันทำประมงให้เรือประมง 1,200 ลำ สามารถทำประมงได้ ช่วยให้เกิดการสร้างงานกว่า 20,000 คน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่คืนชีวิตให้กลับชาวประมงไทย

    รับทราบความคืบหน้าคุ้มครองสิทธิเด็ก-สตรี

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ ครม. เห็นชอบให้รายงานผลการดำเนินงานของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรีและคุ้มครองเด็ก ส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษา

    “เป็นการบ่งบอกถึงประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าทางสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเท่าเทียม” นายเศรษฐา กล่าว

    รื้อภาษีสรรพสามิตสุราพื้นบ้าน-เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีอากรประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีสุราพื้นบ้าน (ปรับ 0%) โดยให้กรมสรรพสามิตทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่ช่วยสุราพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ

    เปิดฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ถาวร 1 มี.ค.นี้

    นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า นโยบายของรัฐบาลจะยกระดับความภาคภูมิใจของพาสปอร์ตไทย และถ้าจะให้ดีต้องยกเรื่องการขอวีซ่าทั้งสองประเทศ

    “เมื่อสักเดือนกว่าที่ผ่านมา ประเทศจีนก็มีการยกเว้นการเข้าประเทศให้กับอีก 5 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไทยอยู่ แต่นั่นเป็นการชั่วคราว แต่ตอนนั้นผมไม่อยากจะพูดเพราะตอนนั้นเรากำลังคุยกันอยู่ วันนี้เป็นข่าวดีที่เขาจะยกถาวร เริ่มต้นวันที่ 1 มีนาคม 2567 แสดงว่าไปกลับทั้งสองประเทศ ไม่ต้องมีวีซ่าซึ่งกันและกัน เป็นการยกระดับความสำคัญของพาสปอร์ตไทยให้นักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาทั้งสองประเทศ” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้ชี้แจงไปที่กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์ว่าขณะนี้เราพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ และดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีด้วย

    สั่ง กต.ดูแลคนไทยในญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ตนได้กำชับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันเกิดเหตุ และคิดว่ายังไม่มีปัญหาอะไร แต่ได้ให้ช่วยดูแลอย่างเต็มที่เหมือนเดิม เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ หรือ นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น

    ปัดยื้อเวลา ‘เด็กอายุ 14 เหตุกราดยิง’ ส่งสถานบำบัดแล้ว

    เมื่อถามเรื่องเยาวชนที่ก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน นายเศรษฐา ตอบว่า มีข้อสรุปว่าจะเข้าสู่สถานบำบัด เพื่อดูแลทางด้านจิตใจต่อ ซึ่งก็อยู่ในการควบคุมและดูแลของรัฐอยู่ดี

    ถามต่อว่า หากมีการยื้อเวลา อาจจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ครับ เพราะเยาวชนอยู่ในความควบคุมอยู่ ไม่ใช่เป็นการยื้อเวลา แน่นอนว่าเด็กอายุ 14 ปีมีความผิดปกติทางด้านจิต ก็ต้องดูแลตรงนี้ให้ดี”

    ดัน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ไม่ทัน Q1/67 เข็นมาตรการอื่นเสริม

    ผู้สื่อข่าวยังถามเรื่องการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ปี 2567 นายเศรษฐา ตอบว่า “ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ อย่าง เราก็พยายามทำเต็มที่ อะไรทำได้เราก็ทำก่อน ก็หวังว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนที่เราเข้ามาบริหารงาน เราก็คิดว่าจะสามารถดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตได้ในไตรมาสแรก ประมาณ 1 กุมภาพันธ์ หรือ 1 มีนาคม 2567 แต่ตอนนี้มันไม่ได้ แต่เราก็พยายามหาวิธีอื่นมาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นผ่านการท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เราก็พยายามทำขึ้นมา”

    ถามต่อเรื่องมาตรการเร่งด่วนในช่วงที่ดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่เรียบร้อย นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ทำอยู่ทุกเรื่องอย่างที่ได้แถลงไป เช่น เรื่องการประมงก็ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเรื่องของวีซ่าฟรีซึ่งเป็นระยะยาวก็น่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง นักท่องเที่ยวจีนก็ไม่จำเป็นจะต้องขอวีซ่า ที่เราคิดว่าจะหมดตอนสิ้นเดือน ก.พ.ก็ไม่มีอายุแล้ว เป็นการยกเว้นทั้งสองทางอย่างถาวร”

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “หลายๆ มาตรการที่ออกมา ไม่ได้มีจุดไหนจุดเดียว เรื่องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การเจรจาสนธิสัญญาการค้า การเจรจาการลงทุน ท่านก็เห็นอยู่ว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติมาลงทุน การทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น วันนี้ก็มีการพูดคุยเรื่อง One Stop Service ซึ่งยังไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ชี้แจงว่ามีการดำเนินการอยู่ว่ามีการขนถ่ายสินค้าจากไทยข้ามไปลาวหรือจีน ก็อยากให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เราดูหลายเรื่อง”

    ยันเศรษฐกิจไม่ติดลบ แต่อาการหนัก

    นายเศรษฐา ยังตอบคำถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยากให้ทบทวนเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต เพราะตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น ว่า ตนไม่ทราบ “ผมไม่ทราบ ผมดูแต่แค่ 1.5% ไตรมาส 3/2566 มันไม่ดี ต้องดูไตรมาส 4/2566 ด้วย อย่าลืมว่าที่เรียนมาตลอด คือ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก จีดีพีไม่จำเป็นต้องติดลบ ก็ถือว่าอยู่ในภาวะที่หนักหนาอยู่เหมือนกัน เพราะประเทศอื่น ๆเพื่อนบ้านแล้ว พี่น้องสื่อมวลชนทราบอยู่แล้วว่าขยายตัวเท่าไร”

    ติว ส.ส. เพื่อไทย รับศึกอภิปรายงบฯปี’67

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการเชิญรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทยเข้าหารือ นายเศรษฐา ชี้แจงว่า ตนไม่ได้เจอ ส.ส. ประมาณ 1 เดือน แต่ไม่ได้มีเรื่องต้องกำชับเป็นพิเศษ โดยส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยเรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเรื่องของพื้นที่ในการดูแลประชาชน

    “คงมีการกำชับเรื่องงบประมาณ เรื่องเดิม ๆ เรื่องพื้นที่ เรื่องดูแลพี่น้องประชาชน ต้องไม่ลืมว่าจริงๆ แล้ว พวกท่าน หมายถึงพวกที่เราประชุมกันอยู่ในตำแหน่งบริหาร ก็พยายามเตือนว่าเราต้องลงพื้นที่ด้วยนะ ดูแลพี่น้องประชาชน เพราะหลายท่านก็เป็น ส.ส. เหมือนกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่าเป็นการสั่งการหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “เป็นการพูดคุยกันทั้งสองทางมากกว่า ท่านอาจจะอยากสื่อสารอะไรให้ผมทราบเหมือนกัน ไม่ใช่ผมสื่อสารฝ่ายเดียว เราอยู่ด้วยกัน เป็นพาร์ทเนอร์กัน ก็ต้องพูดคุยกันตลอด”

    ถามต่อเรื่องการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา ตอบว่า “ขอบคุณที่เตือน เพราะรู้สึกว่าท่านอนุทิน ต้องเป็นคนเลี้ยงครั้งต่อไป ท่านยังไม่ได้ชวนเลย เดี๋ยวสื่อต้องทวงท่านเองก็แล้วกัน”

    ถามต่อว่า นายกฯ ก็อยากมีวงหารือกระชับมิตรใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “แหม คนที่เขาจะเลี้ยงเค้ายังไม่ชวนเลย เดี๋ยวคงต้องไปทวงท่านอนุทินกันด้วยแล้วกัน ผมก็อยากให้ท่านเลี้ยงอยู่เหมือนกัน ยินดีอยู่แล้ว บังเอิญในช่วงส่งท้ายปีเก่าได้เจอกับท่านที่หัวหิน ก็ลืมทวงไปหน่อย แต่ผมเชื่อว่าท่านก็อยากกินอยู่ แต่บังเอิญว่ายังยุ่ง ๆ กัน อยากทานครับ”

    แจง ‘Easy E-Receipt’ 50,000 บาท สะดวกกว่ารัฐบาลชุดก่อน

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ มอบหมาย และสั่งการภายหลังการประชุม ครม. โดยเรื่องหนึ่งคือ นโยบาย E-Reciept ที่ลดหย่อยภาษี 50,000 บาท ซึ่งจะแตกต่างจากปีก่อน ที่ต้องเอาใบเสร็จเก็บไว้กับตัวถึงเวลาไปกรอกเอง แต่ของรัฐบาลนี้คือให้ร้านเข้าโครงการ ถึงเวลาไปยื่นเสียภาษีรายได้บุคคล

    ปลื้มอุบัติเหตุปีใหม่ลดลง

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ แสดงความยินดีและขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะช่วงเทศกาลปีใหม่มีอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสีย บาดเจ็บและเสียชีวิต ลดลงอย่างมาก

    นายชัย ให้ข้อมูลว่า สถิติวันที่ 1 มกราคม 2567 มีผู้บาดเจ็บ 128 ราย แต่ปี 2566 มี 218 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตวันที่ 1 มกราคม 2567 มีมากกว่า 60 ราย ขณะที่ปีก่อนอยู่ที่มากกว่า 90 ราย

    “นายกฯ บอก โอ้ เป็นเรื่องที่ขอขอบคุณพี่น้องชาวไทยที่ให้ความร่วมมือ” นายชัย กล่าว

    สั่ง คค.แก้ปัญหา ‘หมอชิต 2’ ให้จบก่อนสงกรานต์

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ พูดถึงข่าวประชาชนร้องเรียนว่า สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 ชานชาลาไม่ค่อยพร้อม การบริการไม่ค่อยดี แต่กระทรวงคมนาคมก็ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ได้เข้าไปตรวจแก้ไข ไปดำเนินการ ทำให้การให้บริการประชาชนดีขึ้นอย่างมาก

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบเป็นนโยบายให้กระทรวงคมนาคมว่า สงกรานต์ที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะวัดผลอีกทีว่าสถานีขนส่งหมอชิต 2 ต้องไม่มีเสียงครหา ต้องมีแต่เสียงชื่นชมจากพี่น้องประชาชน

    แก้ กม. 20 ฉบับ ปลดล็อกเรือประมง 1,200 ลำ

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอบคุณ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินการเร่งรัดแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการออกเรือทำมาหากินของชาวประมงชายฝั่ง ทำให้มีการแก้กฎหมาย 20 ฉบับ เป็นผลให้เรือประมงขนาดไม่ใหญ่ที่เคยติดระเบียบต่างๆ สามารถออกทำการประมงได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จำนวน 1,200 ลำ เป็นผลให้เกิดการจ้างงานทันที 20,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

    สั่งกรมศุล ฯทำ ‘One Stop Service’ ทุกด่าน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ สั่งการให้ขยายผลการนำร่องนโยบาย One Stop Service ศุลกากรที่จังหวัดหนองคาย โดยให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ไปทำแผนการทำ One Stop Service แทบทุกจุดที่เป็นด้านการค้าและการส่งออก และให้ทุกหน่วยงานที่เเกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าร่วมมือกัน และทำแผนทั่วทุกจุดในปีนี้

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    หั่นภาษีสุราพื้นเมือง – ไวน์นำเข้า เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ และรับทราบ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอชุดมาตรการ จำนวน 2 มาตรการ ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นนโยบายสำคัญของ ครม. ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา จึงเห็นควรนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดมาตรการ เพื่อเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายได้โดยเร็ว จำนวน 2 มาตรการมีรายละเอียดดังนี้

    1. การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดนจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อยใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

      1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สินค้าสุรา มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

        (1) สุราแช่ชนิดไวน์ และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

        (2) สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

        (3) สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้

          3.1) อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

          3.2) สุราแช่ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

          3.3) สุราแช่อื่นๆ นอกจาก 3.1 และ 3.2 โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

        (4) สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่

        ระยะเวลาดำเนินการ – ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

      1.2 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กิจการบันเทิง หรือ หย่อนใจ

      วิธีการดำเนินการ – กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต ยกร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่า จากอัตราร้อยละ 10 ลดลง เหลือร้อยละ 5 ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ประเภทที่ 17.01 ได้แก่ ไนต์คลับ , ดิสโกเธค , ผับ , บาร์ และค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายความรวมถึง สถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือ การแสดงอื่นใด เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว และบริการ ให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567)

      1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์

      วิธีการดำเนินการ – กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 (ฉบับที่…) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรศุลกากรสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืช หรือ สารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย และให้ลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เป็นยกเว้นอากร

      ระยะเวลาดำเนินการ – ให้มีผลใช้บังคับพร้อมร่างกฎกระทรวงฯ ตามข้อ 1.1

    2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้า เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refundfor Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิว เพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกรมสรรพากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้า เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 มีดังนี้

      (1) การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือ ลดลงประมาณ 75% และ
      (2) การปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป หรือ แท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เพิ่มเป็น 40,000 บาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เพิ่มเป็น 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี (หรือ 4.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี (หรือ 1.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือ ลดลงจาก 333 คนต่อวัน ที่ต้องแสดงสินค้าเหลือเพียง 84 คนต่อวัน โดยประมาณ หรือ ลดลงกว่า 75%

    ในภาพรวมมาตรการดังกล่าวที่ กค. เสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073

  • ‘คลัง’ ลดภาษี “สุราพื้นเมือง – ไวน์ – สถานบันเทิง” กระตุ้นนักท่องเที่ยวช้อปเพิ่ม 2,900 ล้านบาท/ปี
  • รับลูก ป.ป.ช.-มอบพลังงานสอบ ‘โครงการสูบน้ำโซลาร์เซลล์’

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล พบประเด็นในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนี้

      1. การจัดสรรงบประมาณ
      2. การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
      3. การจัดซื้อจัดจ้าง
      4. กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา
      5. การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า
      6. การติดตามและประเมินผลโครงการ และ
      7. การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

    โดย ครม.มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงพลังงานสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ผ่านร่าง MOU กองทุนแม่โขง-ล้านช้างปี’66

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2566 ตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้ หากมีคามจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ขอให้ อว. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
      2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

    นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง ฯ สรุปได้ดังนี้ 1.หลักการเบื้องต้น เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งสันติภาพและความมั่งคั่งในบรรดาประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง 2.โครงการและหน่วยงานดำเนินโครงการ ฝ่ายจีนได้พิจารณาโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2566 ของไทย โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 13 โครงการ เช่น โครงการเชื่อมโยงและยกระดับขีดความสามารถด้านสมุนไพรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเทคโนโลยีสีเขียว โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการการพัฒนาและสาธิตระบบการรู้จำและตรวจจับข้อมูลสำหรับกระบวนการเลี้ยงโคเนื้อและการบริหารจัดการฟาร์มในภูมิภาคแม่โขงล้านช้าง โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น 3.การจัดสรรงบประมาณและบริหารงบประมาณ ฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณให้กับฝ่ายไทย ภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ (รวมเป็นเงิน 2,834,101 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 103.1 ล้านบาท) 4.การบริหารจัดการโครงการ ฝ่ายไทยจะใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นวันเริ่มต้นโครงการ 5.การกำกับดูแลการตรวจสอบและการประเมินผล ฝ่ายไทยจะเร่งรัดหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และ 6.ระยะเวลา บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามและมีระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลา อีก 5 ปี

    รับลูก กสม. ปรับเกณฑ์สมรส ขั้นต่ำ 18 ปี

    นางรัดเกล้า อินทวงค์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้เด็กสมรสก่อนวัยอันควร ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอโดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

      1. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยปรับแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับคำมั่นของประเทศไทยต่อกระบวนการ UPR และข้อสังเกตของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กและคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
      2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบังคับสมรสในวัยเด็กให้ครอบคลุมทุกกรณีเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เช่น กรณีเป็นความยินยอมโดยสมัครใจของเด็ก กรณีการบังคับด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจ กรณีการบังคับที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กสมัครในล่วงประเวณี หรือกรณีการบังคับสมรสอันเป็นผลมาจากการถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
      3. เมื่อปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป

    “กสม. ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อคณะทำงาน Universal Periodic Review (UPR) เมื่อปี 2559 ในการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” นางรัดเกล้า กล่าว

    แจงผลงานส่งเสริมบทบาทสตรี ตามอนุสัญญา ฯฉบับ 8

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ 8 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (อนุสัญญาฯ) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและประกันพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรี โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2528 โดยการภาคยานุวัติ ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องเสนอรายงานของประเทศต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ เพื่อชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ ที่ได้นำมาเพื่อใช้ปฏิบัติงานตามอนุสัญญาฯ

    พม. ได้จัดทำรายงานฯ ฉบับที่ 8 ซึ่งครอบคลุมผลการดำเนินงานในปี 2554-2566 ด้วยการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ จากนั้นได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อนำเสนอข้อมูลและร่วมกันพิจารณา รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำเป็น (ร่าง) รายงานฯ และแจ้งเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความถูกต้องและให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) รายงานฯ ในขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้รายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) ภายหลังจากหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นชอบต่อรายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    โดยรายงาน ฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1. ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยมีมาตรการและกลไกเพื่อส่งเสริมสิทธิและสถานภาพสตรี เพื่อสร้างความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สตรีทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
      2. ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น

      • ความก้าวหน้าในการจัดทำกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีนัยยะเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ
      • การดำเนินการวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเพศระหว่างหญิงชาย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งพบว่ามีกฎหมายที่มีเนื้อหาบางส่วนมีนัยยะในการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ จำนวน 3 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508
      3. รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ ประกอบกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของสตรีอย่างเข้มแข็ง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมสิทธิของคนทุกกลุ่มในสังคม ตลอดจนเร่งรัดสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เกิดการยอมรับในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข
      4. ประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ได้แก่

        (1) ระดับประเทศ ประชาคมโลกเห็นถึงความจริงจังและความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในเวทีระหว่างระเทศ
        (2) ระดับสังคม ได้รับทราบถึงการดำเนินการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และ
        (3) ระดับประชาชน ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และประชาชนมีหลักประกันสิทธิและเสรืภาพของตนซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเกิดความเสมอภาคต่อประชาชนทุกเพศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีสันติในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

    ทั้งนี้ มอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการเสนอรายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษ ต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดส่งรายงานภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 และขณะนี้ได้พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ซึ่ง พม. ได้ประสาน กต. เพื่อแจ้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบว่า ประเทศไทยจะเร่งดำเนินการให้สามารถจัดส่งรายงานฯ ได้ภายหลังที่ ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 2 มกราคม 2567

    ปรับพิกัดฮาร์โมไนซ์สินค้าภายใต้ TAFTA

    1. ให้ความเห็นชอบบัญชีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product-Specific Rules of Origin : PSRs) ในพิกัดศุลกากรกรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (Harmonized System 2022 : HS 2022) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
      2. ให้ความเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขภาคผนวก (เรื่อง กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า) ของความตกลง TAFTA ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในหนังสือแลกเปลี่ยนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ.สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
      3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยตามข้อ 2
      4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยตามข้อ 3
      5. มอบหมายให้ พณ. และกระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้บัญชีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลง TAFTA ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2567 (พณ. แจ้งว่า การดำเนินกระบวนการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Committee on Rules of Origin : CROO) ภายใต้ความตกลง TAFTA ซึ่งมีกรมศุลกากรเป็นหัวหน้าผู้แทนไทย ได้หารือกับฝ่ายออสเตรเลียเพื่อดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบอาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (HS 2022) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) ในปัจจุบัน โดยการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขภาคผนวก 4.1 ของความตกลง TAFTA ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 1902 และข้อที่ 1903 ของความตกลง 4.1 ของความตกลง TAFTA ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 1902 และข้อที่ 1903 ของความตกลง TAFTA

    โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 4 ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อบัญชี PSRs ฉบับ HS 2022 และเห็นพ้องให้ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือ (exchange of letter) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อที่ 1903 ของความตกลง TAFTA เพื่อยืนยันข้อตกลงในการแก้ไขภาคผนวก 4.1 (เรื่อง กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า) ของความตกลง (TAFTA รวมทั้งมอบหมายให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บัญชี PSRs ฉบับ HS2022 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 และเนื่องจาก WCO มีการจัดประเภทสินค้าใหม่ มีการรวมสินค้าที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยมาอยู่ในพิกัดศุลกากรอื่นที่มีอยู่ และมีการยกเลิกพิกัดศุลกากรเดิม จึงทำให้ต้องดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs ภายใต้ความตกลง TAFTA จากฉบับ HS 2002 เป็นฉบับ HS 2022 ซึ่งประกอบด้วย พิกัดศุลกากรของสินค้า จำนวน 5,612 รายการ (เพิ่มขึ้น 388 รายการ จากพิกัดศุลกากรเดิม HS 2002 ที่มีจำนวน 5,224 รายการ ทั้งนี้ การปรับรายการพิกัดศุลกากรในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อรายการสินค้าภายใต้ความตกลง TAFTA เนื่องจากไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดรายการสินค้าแต่อย่างใด) โดยสามารถแบ่งการปรับโอนเป็น 3 กลุ่มได้แก่
    กรณีจำนวนรายการ

      (1) พิกัดศุลกากรและ PSRs ไม่เปลี่ยนแปลง 4,408 รายการ
      (2) พิกัดศุลกากรไม่เปลี่ยนแปลงแต่ PSRs เปลี่ยนแปลง 84 รายการ
      (3) พิกัดศุลกรกรและ PSRs ใหม่ 1,120 รายการ

    พณ. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้

      1) กค. (กรมศุลกากร) พิจารณาแล้วเห็นว่าการปรับโอนพิกัดศุลกากรในครั้งนี้ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่ไทยผูกพันไว้เดิมในด้านการลดภาษีหรือยกเลิกอากรศุลกากร
      2) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยเข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่โดยที่ พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) แจ้งว่าการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs ภายใต้ความตกลง TAFTA เป็นการดำเนินการทางเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของ WCO ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้า และเป็นการปรับปรุงในระดับเทคนิคที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างกวาง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามที่มีการกำหนดขอบเขตและความหมายไว้ในมาตรา 178 วรรคสาม อีกทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประเภทอื่นตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยตามมาตรา 4(7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กรณีจึงต้อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

    ทั้งนี้ พณ. ยังเห็นว่าการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขภาคผนวก 4.1 ของความตกลง TAFTA เข้าข่ายเป็นการทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีตามมาตร 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ดี ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีสาระสำคัญเป็นเพียงการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า จากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็น ฉบับปี 2022 (HS 2022) ซึ่งเป็นการดำเนินการทางเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก และการปรับโอนพิกัดศุลกากรดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดิม ตามที่ตกลงกันไว้ภายใต้ความตกลง TAFTA จึงไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่ฝ่ายไทยและออสเตรเลียมีอยู่เดิม

    ตั้งคนใกล้ชิด-การเมือง นั่งบอร์ด ‘รฟท.-กทท.-กนอ.’

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 7 ราย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย

      – นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการ
      – นายวิม รุ่งวัฒนจินดา กรรมการ
      – นายศันสนะ สุริยะโยธิน กรรมการ
      – นางสาวศุกร์สิริ อภิญญานุวัฒน์ กรรมการ
      – นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ
      – นายอาทิตย์ สุริยาภิวัฒน์ กรรมการ
      – นายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ กรรมการ

    ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการนำเสนอต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

    2. การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำนวน 5 ราย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย

      – นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ
      – นายศราวุธ เพชรพนมพร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      – นายอาทิตย์ สุริยาภิวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      – พลโท พิเชษฐ คงศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      – นายชัยทัต แซ่ตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ในการนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการนำเสนอต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

    3. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 10 ราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ประกอบด้วย

      – นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ
      – พลเอก กนิษฐ์ ชาญปรีชญา กรรมการ
      – นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน กรรมการ
      – นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กรรมการ
      – นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ
      – นายธนวัฒน์ ปัญญาสกุลวงศ์ กรรมการ
      – นายเสกสกล อัตถาวงศ์ กรรมการ
      – รองศาสตรจารย์ อนามัย ดำเนตร กรรมการ
      – นายเอกภัทร วังสุวรรณ กรรมการ
      – นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ กรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง เป็นต้น

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 มกราคม 2567 เพิ่มเติม