ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่งทำประกันฯให้นักท่องเที่ยว คุ้มครอง 1 ล้านบาท – มติ ครม.ทุ่ม 3.4 หมื่นล้าน อุดหนุนกระบะไฟฟ้าคันละแสน

นายกฯสั่งทำประกันฯให้นักท่องเที่ยว คุ้มครอง 1 ล้านบาท – มติ ครม.ทุ่ม 3.4 หมื่นล้าน อุดหนุนกระบะไฟฟ้าคันละแสน

19 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯสั่งท่องเที่ยว – คปภ.ทำประกันฯนักท่องเที่ยววงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท
  • ปิ้งไอเดีย – สั่งคมนาคมจัดแสดงสินค้า ‘โอท็อป’ ในสถานีบางซื่อ
  • ‘ท่องเที่ยว’ ของบกลาง 50 ล้าน ดูแลนักท่องเที่ยว
  • ‘เวียดนาม’ ขอไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ‘ท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง’
  • ปิ้งไอเดีย – สั่งคมนาคมจัดแสดงสินค้า ‘โอท็อป’ ในสถานีบางซื่อ
  • มติ ครม.ทุ่มงบฯ 3.4 หมื่นล้าน อุดหนุนกระบะไฟฟ้าคันละ 1 แสน เริ่ม 1 ม.ค.ปี’67
  • ตรึง “ดีเซล – แก๊สหุงต้ม – ค่าไฟฟ้า” ต่อ
  • ไฟเขียวแบงก์รัฐสำรองจ่าย 4,900 ล้าน แก้หนี้ทั้งระบบ
  • โยก “ครองขนิษฐ รักษ์เจริญ” นั่งอธิบดีกรมยุโรป
  • เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ชง ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสภาฯ 21 ธ.ค.นี้

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เสนอให้มีการส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับที่รัฐบาลเสนอผ่านการได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในขั้นตอนการยกร่างและรับฟังความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลยุติธรรม หลังจากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมาย เพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งแล้ว นายกฯ กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้

    “ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับทุก ๆ ฝ่ายด้วย เข้าใจว่าจะเข้าสภาวันที่ 21 ธันวาคม” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่าจะมีผลทางกฎหมายเกี่ยวกับมรดกและทายาทหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ทุกอย่างเท่าเทียมหมดตามที่ชายและหญิงสมรสกัน”

    ปิ้งไอเดีย – สั่งคมนาคมจัดแสดงสินค้า ‘โอท็อป’ ในสถานีบางซื่อ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมศึกษาการนำสินค้าโอท็อปไปจัดแสดงที่สถานีกลางบางซื่อ (สถานีรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์) ซึ่งตนมีโอกาสได้ไปประเทศญี่ปุ่น เลยได้ไอเดียมา และเสนอให้กระทรวงคมนาคมเร่งจัดการไป

    ตรึงค่าไฟปีหน้าไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี และช่วยเหลือหนี้นอกระบบ รวมถึงลูกหนี้รายย่อยเกิดจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เรื่องการสนับสนุนการใช้รถอีวีตามมาตรการอีวี 3 และ 3.5 และขยายสิทธิประโยชน์ด้านสรรพสามิตให้รถอีโคคาร์ที่ยังเป็นสันดาป ตลอดจนมีการเห็นชอบให่้แก้ไขเรื่อง PM2.5 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องที่สำคัญคือเรื่องลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงาน ซึ่งรัฐบาลพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ประมาณ 30 บาทต่อลิตร และค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่ต้องดูราคาค่าแก๊สอีกทีว่าจะลงไปเท่าไร ทั้งนี้ยังไม่มีประกาศที่แน่ชัด

    สั่งท่องเที่ยว – คปภ.ทำประกันฯนักท่องเที่ยววงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลการตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว เพื่อให้ดูแลความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว รวมถึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกทม. ดูแลเรื่องความสะอาดและห้องน้ำที่เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว

    “ผมสั่งการให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ดูแลทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน ครอบคลุมการเสียชีวิตชดเชยไม่เกิน 1 ล้านบาท กรณีอุบัติเหตุชดเชยตามจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท รวมทั้งหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้มีการจัดระเบียบบริการสาธารณสุขและประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว โดยหากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลางก็ให้เร่งเสนอตามขั้นตอน” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ จะต้องประชุมร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และมอบนโยบายให้หน่วยงานของ ททท. ทั้ง 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ทำงานเชิงรุกและให้ความรู้ช่วยกันโฆษณาว่าประเทศไทยดีอย่างไร ควรจะมาท่องเที่ยวอย่างไร

    ส่งข้าวไทยขาย ‘อินโดนีเซีย’ ปีหน้า 2 ล้านตัน

    ด้านนายชัย รายงานว่า นายกฯ แจ้งข่าวดี จากที่มีการติดต่ออย่างเป็นทางการจากประเทศอินโดนีเซีย ที่ต้องการซื้อข้าวจากไทย 2 ล้านตัน และต้องการปีนี้ 1 ล้านตัน และปี 2567 อีก 1 ล้านตัน แต่เนื่องจากนายกฯ มองว่าปีนี้เหลือ 10 กว่าวัน อาจจะส่งให้ไม่ได้ ทางประเทศอินโดนีเซีย จึงขอให้ส่งครั้งเดียว 2 ล้านตัน ดังนั้น จึงคาดว่ามีข้าวเปลือกนาปีในปี 2567 จะมีราคาดี

    ‘เวียดนาม’ ขอไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ‘ท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง’

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ แจ้งว่าได้พบกับผู้นำเวียดนามในการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น โดยผู้นำเวียดนามขอให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมว่าด้วยการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีประเทศที่เกี่ยวข้องคือ ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม

    “พูดง่ายๆ เขาเสนอให้ไทยเป็นพี่ใหญ่เพื่อจัดรูทการท่องเที่ยว” นายชัย กล่าว

    ‘ท่องเที่ยว’ ของบกลาง 50 ล้าน ดูแลนักท่องเที่ยว

    นายคารม กล่าวว่า นายกฯ มีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำประกันให้นักท่องเที่ยวทุกคน วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย และประกันสุขภาพ 5 แสนบาทต่อราย

    “แต่รายละเอียด กระทรวงฯ ได้เสนองบกลาง 50 ล้านบาท ให้ทุกหน่วยงานดูแลนักท่องเที่ยวให้ดี สร้างความเข้าใจกับสมาคมการท่องเที่ยว มีการใช้สื่อตอบโต้เฟคนิวส์ มีเบอร์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว 1155” นายคารม กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดการของบกลาง 50 ล้านบาท โดย นายคารม ตอบว่า “รัฐมนตรีของบกลาง แต่ยังไม่ได้เสนอเข้ามาวันนี้ นายกฯ ดำริให้ทำประกัน แต่ผมได้คุยกับ รมว. ท่องเที่ยว พรุ่งนี้จะมีการแถลงรายละเอียด…นายกฯ กับรัฐมนตรีต้องการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว”

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียวแบงก์รัฐสำรองจ่าย 4,900 ล้าน แก้หนี้ทั้งระบบ

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ดังนี้

    1. ให้ความเห็นชอบมาตรการ จำนวน 3 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) 2) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ และ 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    2. อนุมัติงบเงินงบประมาณ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จำนวน 400 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ จำนวน 4,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    “การแก้ไขหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ในระบบ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้สอดคล้องกับศักยภาพในการหารายได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม” นายคารม ย้ำ

    รับทราบผลงาน ปปง.ปี’65

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบ รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

      1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
      2. เห็นชอบให้นำความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
      3. ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีรายละเอียดที่สำคัญรวม 8 ด้าน คือ (1) ผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันการฟอกเงิน (2) ผลการปฏิบัติงานด้านการปราบปรามการฟอกเงิน (3) ผลการปฏิบัติงานด้านการกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน (4) ผลการปฏิบัติงานด้านความร่วมมือและพัฒนา (5) การพัฒนาองค์การ (6) ผลการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ และการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (7) ผลการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขกฎหมายและออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ (8) ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

    รับทราบเศรษฐกิจไทย Q3/2566 – แนวโน้มปีหน้า

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2566 – 2567 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

    1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2566 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2566 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยแบ่งเป็น 1) ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้า การอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2) ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารและสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูง สาขาเกษตรกรรม สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการก่อสร้างขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง

    2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566 และ 2567 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP สำหรับปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7

    3. การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 แนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 และปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

      3.1 การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปและจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้
      3.2 การเตรียมมาตการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร
      3.3 การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น เร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีและการสร้างตลาดใหม่ ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และอำนวนความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
      3.4 การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เช่น ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
      3.5 การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long – term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
      3.6 การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น ป้องกันและบรรเทาผลกรระทบจากภัยแล้ง เพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ และ
      3.7 การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่นเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ

    ตรึง “ดีเซล – แก๊สหุงต้ม – ค่าไฟฟ้า” ต่อ

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการที่ดำเนินในช่วงเดือนกันยายนยน 2566 ถึงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและด้านไฟฟ้า

      (1) ราคาน้ำมันดีเซล บริหารราคาน้ำมันดีเซลในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
      (2) ราคา LPG บริหารราคาในการตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
      (3) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยต่อไป
      (4) ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็น กลุ่มเปราะบาง จะคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (คือลดไป 21 สตางค์ต่อหน่วย) ซึ่งจะเป็นการลดเป็นเวลา 4 เดือน ครอบคลุมรอบบิล มกราคม – เมษายน 2567 โดยคาดว่าจะมีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.77 ล้านราย โดยรัฐจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน (ประมาณ 1,950 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน)

    นางรัดเกล้า กล่าวย้ำว่า “สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางนั้น ขอความเข้าใจว่ามีความจำเป็นต้องให้ราคาขึ้นจากเดิมที่ลดไว้ด้วยเหตุหลายๆ ปัจจัย แต่ทางรัฐบาลจะพยายามให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และจะแจ้งให้ทราบหลังจากได้เห็นราคาก๊าซ ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 อีกที โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวย้ำว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนระยะสั้นภายใต้ระบบ และโครงสร้างราคาพลังงานที่มีการใช้มากว่า 40 ปี ในส่วนของการดำเนินการระยะยาวนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะมาทำงานเพื่อปรับทั้งระบบและโครงสร้างราคาพลังงานแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ประชาชน”

  • ครม.ไฟเขียวตรึง “ดีเซล – แก๊สหุงต้ม – ค่าไฟฟ้า” ต่อ
  • ทุ่มงบฯ 3.4 หมื่นล้าน อุดหนุนกระบะไฟฟ้าคันละแสน เริ่ม 1 ม.ค.ปี’67

    ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) ผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (อีวีบอร์ด) ซี่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการยกระดับศักยภาพในหลายมิติ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดการขยายตัว และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

    นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้าแต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566) สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,483 คัน โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

    ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ และผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้

    1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

      1.1 สิทธิเงินอุดหนุน

        1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่น้อยกว่า 50 kWh

          1.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
          1.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
          1.3) ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
        2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป

          2.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
          2.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
          2.3) ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)

      1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568)
      1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 – 2570

    2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

    3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 – 2570

    4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 1 ในปี 2567 – 2570

    นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

    ทั้งนี้ การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 เพื่อใช้ในการดำเนินการตามมาตรการ EV 3 ในส่วนที่ขาด และ EV 3.5 สำหรับวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการ EV3.5 ประกอบด้วย วงเงินสำหรับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน และวงเงินสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสิ้น 34,060 ล้านบาท

    ในขณะที่การสนับสนุนงบประมาณสำหรับมาตรการ EV3 ในส่วนที่ขาดนั้น บอร์ดอีวีได้ให้ความเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนภายใต้มาตรการ EV3 เพิ่มเติมดังนี้

  • ขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 เพื่อใช้ในการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณ 7,125.63 ล้านบาท
  • ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567-2568 เพื่อใช้ในการ เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 กรอบวงเงิน 38,868.69 ล้านบาท (โดยแบ่งเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 12,179 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 26,689.69 ล้านบาท)
  • สำหรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

      1) ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต
      2) เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้น ๆ
      3) กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้
      4) การขอรับเงินอุดหนุนหลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด
      5) สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชย บทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด

    สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 สามารถกระทำได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

      1) ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิตามมาตรการ EV3.5 และต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อนเริ่มจำหน่าย
      2) หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 ต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งจำนวนคงเหลือของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้กรมสรรพสามิตทราบ ก่อนลงนามข้อตกลง EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต
      3) ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ประสงค์จะนำมาเข้าร่วมมมาตรการ EV 3.5 จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีตามมาตรการ EV3 แต่เงินอุดหนุนและเงื่อนไขการผลิตชดเชย ตลอดจนบทลงโทษ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการ EV3.5

    สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และไม่ประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ต่อ จะยังคงมีภาระในการผลิตชดเชยการนำเข้า ตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3 โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ได้รับไปแล้ว

    ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3 ไปสู่ EV3.5 เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการ EV 3.5 ในทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และตามยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

    สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ www.excise.go.th

    โยก “ครองขนิษฐ รักษ์เจริญ” นั่งอธิบดีกรมยุโรป

    และในวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง(กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้งนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมยุโรป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 อนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นางโสภา เกียรตินิรชา เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป และมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่แทน

    3. เรื่อง การสรรหากรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอรายชื่อ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยความเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ให้เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหาและเสนอรายชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือก แทนตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ท. ที่ว่างลง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เพิ่มเติม