ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯมอบท่องเที่ยวหา ‘อินฟลูเอนเซอร์จีน’ แก้เฟคนิวส์ – มติ ครม.สั่งคลังศึกษายกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’

นายกฯมอบท่องเที่ยวหา ‘อินฟลูเอนเซอร์จีน’ แก้เฟคนิวส์ – มติ ครม.สั่งคลังศึกษายกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’

28 พฤศจิกายน 2023


มื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯสั่งท่องเที่ยวหา ‘อินฟลูเอนเซอร์จีน’ แก้เฟคนิวส์
  • กำชับทุกกระทรวงแจงความคุ้มค่าดูงาน ตปท.
  • ปลื้ม ‘วีซ่าฟรี’ ดึงมาเลฯเที่ยวไทยกระฉูด
  • จี้ทุกกระทรวงเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ ปชช.
  • สั่ง ศธ.เร่งยกระดับภาษาอังกฤษเด็กไทย
  • มติ ครม.สั่งคลังศึกษายกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’
  • จัดงบฯ 780 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย หนุนพ่อค้าซื้อข้าวเข้าสต๊อก 4 ล้านตัน
  • ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4
  • เด้งอธิบดี DSI นั่งรองปลัดยุติธรรม
  • กางโผแต่งตั้งผู้ว่าฯ 28 จว. – ผู้ตรวจฯ มท. 10 ตำแหน่ง
  • เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    จี้ดีอีเอสเร่ง “Cloud Service”

    นายชัย กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งดำเนินการโครงการ Cloud Service โดยให้กระทรวงดีอีเร่งเอาเรื่องคลาวน์เซอร์วิสมาใช้โดยเร็ว เพราะอยากให้เร่งสปีดในการก้าวไปสู่ E-Government และมี E-Service ที่ครบวงจร

    กำชับทุกกระทรวงแจงความคุ้มค่าดูงาน ตปท.

    นายชัย กล่าวต่อว่า “นายกฯ กำชับให้เจ้ากระทรวงทุกกระทรวงว่า ที่ผ่านมามีหลายกระทรวงพาทีมงานไปดูงานและติดต่องานต่างประเทศ นายกฯ ขอให้กลับมาแล้ว นอกจากจะรายงานว่าไปทำอะไร นายกฯ ขอให้เน้น result oriented ว่าไปเจรจาแล้วคาดหวังผลอะไร และเมื่อไรจะเห็นผลนั้น นายกฯ เน้นมากว่า ขอให้ได้ผลลัพธ์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย ที่ใช้ไปกับการเดินทางต่างประเทศ”

    สั่งท่องเที่ยวหา ‘อินฟลูเอนเซอร์จีน’ แก้เฟคนิวส์

    นายชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีปรากฏการณ์ fake news ในหมู่นักท่องเที่ยวจีน ดังนั้น นายกฯ ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งดำเนินแผนการที่จะหาอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน (influencer) มาทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวจีนที่อาจหลงเชื่อข่าวเฟคนิวส์ต่างๆ

    นอกจากนี้ นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ยังกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการเรื่องแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์โดยด่วน ถ้าหากมีเบอร์ไหนมีการโทรออกหมายเลขโทรศัพท์เป็น 100 สายภายใน 1 วัน ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปิดทันที

    ปลื้ม ‘วีซ่าฟรี’ ดึงมาเลฯเที่ยวไทยกระฉูด

    นายชัย กล่าวต่อว่า จากที่นายกฯ ลงพื้นที่ที่ด่านสะเดา และพบกับผู้นำประเทศมาเลเซีย โดยผู้นำประเทศมาเลเซียได้บอกกันนายกฯ ว่า นโยบายไทยเชิงรุกด้านการท่องเที่ยว (Visa Free) และมาตรการอื่นๆ ได้ผลโดดเด่นมากกับคนมาเลเซีย ตัวเลขคนมาเลเซียข้ามแดนขึ้นไปสูงมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวมาเลเซียไม่เติบโตตาม

    “ฝ่ายการเมืองของประเทศมาเลเซียเป็นห่วงว่า ถ้าปรากฏการณ์การเสียดุลนักท่องเที่ยว ถ้าเกิดนานไป และคนไทยไม่ไปเที่ยวมาเลเซียเพิ่มเลย เดี๋ยวมันจะเกิดแรงกดดัน ขอให้ทางเราช่วยรักษาสมดุล โดยส่งเสริมให้คนไทยไปเที่ยวมาเลเซียบ้าง” นายชัย กล่าว

    จี้ทุกกระทรวงเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ ปชช.

    นายชัย กล่าวต่อว่า “นายกฯ บอกว่า เหลืออีกประมาณ 1 เดือนจะสิ้นปี 2566 ขอให้ทุกกระทรวง เตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน เตรียมไม้เด็ดต่างๆ ที่คิดว่าประกาศออกมาแล้วประชาชนจะแฮปปี้ ให้เร่งสปีด”

    สั่ง ศธ.เร่งยกระดับภาษาอังกฤษเด็กไทย

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยตอบสนองต่อข่าว ‘ระดับทักษะภาษาอังกฤษของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน’ โดยนายกฯ ต้องการให้มีมาตรการ หรือ โครงการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

    “ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ เราจะเน้นท่องเที่ยวเน้นอินเตอร์ แต่ที่ไหนได้ พอประเมินภาษาอังกฤษออกมาแล้วเราด้อยที่สุด” นายชัย กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    สั่งคลังศึกษายกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย พร้อมมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยที่คำแถลงนโยบายของ ครม. ได้กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจว่า รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงได้เสนอมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย 5 มาตรการ ดังนี้

      (1) มาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย
      (2) การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภค
      (3) การพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการศึกษา
      (4) การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการศึกษา และ
      (5) การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการศึกษา

    โดยให้ กค. มท. และ กต. นำเสนอรายละเอียดของมาตรการที่เกี่ยวข้องและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมมาตรการอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการต่อไป

    ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษี ซึ่งจะต้องมีการจัดทำประสาณการสูญเสียที่ชัดเจนต่อไป แต่จะสามารถเพิ่มรายได้จาการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทส ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า นายชัย ตอบว่า “รายละเอียดยังไม่พูดกันในชั้นนี้ แต่พูดกันในหลักการว่า จะต้องทำให้ระบบภาษีต่างๆ ทำให้สินค้าที่นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวในไทย ราคามันดึงดูดให้อยากเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย อยากจะมาช้อปในไทย เช่น ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมนี้ ถ้าเขาไปซื้อที่อื่นแล้วถูกกว่าเรา เขามาเที่ยวก็ไม่ซื้อที่เรา หรือ มีเจตนารมณ์อยากจะมาเที่ยวด้วยช้อปด้วย ก็อาจจะไม่เลือกเรา เพราะมาบ้านเราแล้วซื้อสินค้ารวมภาษีแพงกว่าที่อื่น ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวไม่เลือกมาเมืองไทย”

    “รายละเอียดเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ไปคิดคำนวณ และเสนอรายละเอียดให้สอดคล้องกับทิศทางในหลักการที่กำหนด”

    นายชัย ย้ำว่า นโยบายดังกล่าวหมายถึงดิวตี้ฟรีขาเข้าเท่านั้น โดยหลักการคือยกเลิกคลังสินค้าทั้งหมด ไม่มีดิวตี้ฟรีขาเข้า แต่จะลดสินค้าต่างประเทศลง และเน้นสินค้าในประเทศมากขึ้น

    “มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเพิ่มการใช้จ่าย มาตรการด้านภาษีมีอะไรบ้าง การเข้ามาซื้อแล้วจะทำยังไงให้เป็น local content สินค้าที่ผลิตในไทยมากขึ้น” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า ในอนาคตอาจมีข้อเสนอที่จะยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า แต่กระทรวงการคลังยังไม่เสนอมา ดังนั้นจึงเป็นแค่แนวทางให้ไปพิจารณา

    จัดงบฯ 780 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย หนุนพ่อค้าซื้อข้าวเข้าสต๊อก 4 ล้านตัน

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 66/67 (โครงการฯ) และอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 780 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คกก.นโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ ภายในกรอบวงเงินงบฯ 780 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของโครงการฯ สรุปได้ดังนี้

    หลักการและเหตุผล – ข้าวจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ส่งผลให้โรงสีและตลาดกลางมีความจำเป็นต้องเร่งจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด ดังนั้น โครงการฯ จะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยการเก็บรักษาสต๊อกไว้และชดเชยค่าเสียโอกาสในการเก็บรักษาข้าว ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

    วัตถุประสงค์

      (1) เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวในช่วงต้นฤดูได้เพิ่มขึ้นในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และผู้ประกอบการค้าข้าวสามารถรับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมากโดยไม่ต้องเร่งระบาย รวมทั้งเป็นการดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เพื่อทำให้ราคาตลาดข้าวภายในประเทศมีเสียรภาพ
      (2) เพื่อส่งเสริมสินเชื่อทุกประเภทที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บสต๊อกให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โดยไม่แทรกแซงตลดให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี

    กลุ่มเป้าหมาย – ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะเก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร โดยมีเป้าหมายเป็นขาวเปลือกและข้าวสาร 4 ล้านตัน ในระยะเวลา 2-6 เดือน

    วิธีการ – รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อกไว้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และตามระยะที่เก็บสต๊อกไว้ 60-180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ ดังนี้

      (1) การรับซื้อข้าวเปลือก: ผู้ประอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องนำเงินกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (ยกเว้น ธ.ก.ส. เป็นสัญญาเงินกู้) จากธนาคารไปดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร โดยทางตรงและทางอ้อม
      (2) การเก็บสต๊อก: เก็บสต๊อกข้าวและข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรในรูปข้าวเปลือก หรือสีแปรสภาพเป็นข้าวสารตามปริมาณและมูลค่าที่ได้รับจัดสรร
      (3) การยื่นขอชดเชยดอกเบี้ย: เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสัญญากู้ยืมเงินครบกำหนดชำระให้ธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐรับรองการกู้เงินและดอกเบี้ยที่จะได้รับการชดเชย โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำหลักฐานดังกล่าวยื่นการขอรับชดเชยอกเบี้ยต่อคณะอนุกรรมการจังหวัดตามขั้นตอนต่อไป

    กรอบวงเงินงบประมาณ – กรอบวงเงิน 780 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    ค่าชดเชยดอกเบี้ย

      (1) ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 440 ล้านบาท (ปริมาณ 2 ล้านตัน x 11,000 (ราคาต่อ 1 ตัน) x 4% x 6 เดือน)
      (2) ข้าวเจ้า 340 ล้านบาท(ปริมาณ 2 ล้านตัน x 8,500 (ราคาต่อ 1 ตัน) x 4% x 6 เดือน)
      ค่าชดเชยดอกเบี้ยสามารถถัวจ่ายระหว่างรายการได้

    แหล่งเงิน – ใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กรมการค้าภายในเสนอขอรับการจัดสรรงบฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

    ระยะเวลาดำเนินการ – ตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 ต.ค. 68 ดังนี้
    (1) ทั่วประเทศ (ยกเว้นภาคใต้)

      -การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต๊อกตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 มี.ค. 67
      -ระยะเวลาการเก็บสต๊อกข้าวตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 ธ.ค. 67

    (2) ภาตใต้

      -การับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต๊อก 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 67
      -ระยะเวลาการเก็บสต๊อกข้าว 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 68

    หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก – กระทรวงพาณิชย์

    ผลที่คาดว่าจะได้รับ

      (1) ผู้ประกอบการค้าข้าวมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยไม่เร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาด
      (2) สามารถดึงปริมาณข้าวส่วนเกินออกจากระบบตลาดได้นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้านอื่นๆ
      (3) ราคาข้าวเปลือกในระบบตลาดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

    และเพื่อให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐในระยะยต่อไปเกิดการใช้จ่ายงบฯ ได้อย่างคุ้มค่า และเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ มีความถูกต้องและโปร่งใส เห็นควรให้ความสำคัญในการควบคุม กำกับ ดูแล และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจสอบเก็บสต๊อกข้าวของผู้ประกอบการค้าข้าว ประกอบกับ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ว่า ในการจัดทำมาตรการ/โครงการเพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเกษตรต่อจากนี้ไป ให้พิจารณาดำเนินมาตรการ/โครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ของตนเองได้อย่างเพียงพอในระยะยาว และดำรงชีวิตได้ย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืนต่อไป

    อนุมัติงบ ฯ 352 ล้าน จ่ายค่าอพยพคนไทยในอิสราเอล

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายฯ วงเงิน 352.16 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบอิสราเอลและฉนวนกาซา ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยซึ่งพำนักในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ กต. ซึ่งมีภารกิจในการดูแลปละคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลโดยเร็วที่สุด รวมถึงชดเชยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับไทยด้วยตนเอง โดยนับตั้งแต่ 7 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้อพยพคนไทยจากอิสราเอลกลับไทยแล้ว จำนวน 7,470 ราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต จำนวน 39 ราย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 ราย และผู้ที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว จำนวน 25 ราย

    กต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในอิสราเอล ในวงเงินประมาณ 939.12 ล้านบาท โดยในเบื้องต้น กต. ได้ทดรองจ่ายงบฯ จากเงินอุดหนุนช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ภายใต้งบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งได้รับจัดสรร จำนวน 13.33 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อบัตรโดยสารและเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ จัดซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น และเช่ายานพาหนะเพื่ออพยพคนไทยจากอิสราเอล และต่อมา สงป. ได้อนุมัติให้ สป.กต. เบิกจ่ายงบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายฯ วงเงิน 97 ล้านบาท ครั้งที่ 1 สำหรับชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

    กต. ได้มีหนังสือไปยัง สงป. เพื่อขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายฯ ครั้งที่ 2 ในวงเงิน 352.16 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายในช่วง พฤศจิกายน 66 เพื่อชำระค่าใช้จ่ายในส่วนที่ยังไม่ได้รับจัดสรรและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องเบิกจ่าย ซึ่ง สงป. แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบกลางฯ ดังกล่าวแล้ว

    รับทราบผลการดำเนินนโยบาย 30 บาทพลัส – แนวทางป้องกันความพิการแต่กำเนิด

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินการมาตรการ Quick Win นโยบาย 30 บาทพลัส และข้อเสนอแนะมาตรการหารือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยกระดับ 30 บาทพลัส ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย ผ่านนโยบาย 12 ประเด็น โดย 1 ในนั้น คือนโยบายมะเร็งครบวงจร ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตการเสียชีวิตอันดับ 1 ของหญิงไทย โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจาก 11/100,000 ประชากร เหลือเป็น 4/100,000 ประชากร ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก 1,000,000 โดสในหญิงอายุ 11-20 ปี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยได้ปีละอย่างน้อย 4,000 คน ซึ่งตั้งแต่ 8 – 27 พฤศจิกายน 2566 เฉลี่ยวันละ 40,794 เข็ม ฉีดสะสมไปแล้ว 507,506 เข็ม

    โดย ครม. ยังมีมติรับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหารือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด 2 มาตรการ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

    1. มาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดก่อนการตั้งครรภ์

      -ระยะสั้น ให้ สธ. สปสช. และ สปส. ปรับปรุงเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการกรดโฟลิกของหญิงไทยที่เป็นผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม รวมถึงการขยายสิทธิให้สามารถเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์หรือบริการส่งวิตามินทางไกล
      – ระยะกลาง ขยายสิทธิไปยังแรงงานต่างด้าวที่เป็นผูประกันตน และดำเนินการเชิงรุก ผ่านการส่งเสริมการแจกกรกโฟลิกในสถานประกอบการขนาดใหญ่
      – ระยะยาว ขยายสิทธิไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติและแรงงานต่างดาวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนไทย

    2. มาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดระหว่างการตั้งครรภ์

      -ระยะสั้น ให้ สธ. สปสช. และ สปส. ปรับปรุงเพิ่มวงเงินถัวเฉลี่ยให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม รวมถึงเพิ่มตัวเลือกให้หญิงตั้งครรภ์เลือกตรวจคัดกรอง โดยเสียค่าใช้ส่วนต่างที่ไม่ครอบคลุม และขยายสิทธิไปยังแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตน
      – ระยะกลาง ขยายสิทธิไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติและแรงงานต่างดาวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนไทย
      – ระระยาว เปลี่ยนแปลงการตรวจคัดกรองเบื้องต้นมาเป็นแบบ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทากในครรภ์จากเลือดมารดา) โดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นประชาชนชาวไทยทั่วไป

    แจงผลงาน คกก.นโยบายประมงแห่งชาติ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติตามที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอดังนี้

    1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ1 ครั้งที่ 1/2566 (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 มีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
    1.1 รับทราบหลักการและเป้าหมายการทำงานของคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง (คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ) [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน] ดังนี้

      1.1.1 เรื่องปัญหาที่สืบเนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing)ให้คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
      1.1.2 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงภายในประเทศให้คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
      1.1.3 การดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ให้กรมประมงดำเนินการตามปกติ
      1.1.4 คณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ใช่องค์กรบริหารจัดการการประมงโดยตรงแต่เป็นองค์กรในทางนโยบาย ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ปัญหาเมื่อมีข้อขัดข้องกับชาวประมงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
      1.1.5 คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ จะทำงานคู่ขนานและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
      1.1.6 ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีหน้าที่ในการสนับสนุนและจะต้องไม่ออกกฎระเบียบที่จะขัดกับการแก้ไขดังกล่าว

    1.2 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ จำนวน 8 คณะ ดังนี้

      1.2.1 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (คำสั่งที่ 12/2564)
      1.2.2 คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 13/2564)
      1.2.3 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 4/2564)
      1.2.4 คณะอนุกรรมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (คำสั่งที่ 6/2564)
      1.2.5 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา (คำสั่งที่ 7/2564)
      1.2.6 คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานการปฏิบัติกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 9/2564)
      1.2.7 คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำการประมงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 10/2564)
      1.2.8 คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 11/2564)

    1.3 แต่งตั้งคณะทำงาน 1 คณะ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการใดในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนและนโยบายระยะยาว
    1.4 มอบหมายให้กรมประมงไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1กันยายน 2566 จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้

      1.4.1 ขอให้ยกเลิกการกำหนดให้เรือประมงติดวิทยุมดขาว2 แทนมดดำ ของกรมเจ้าท่า
      1.4.2 ขอให้ปรับแก้ประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มระยะเวลาอยู่อาศัยเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต (over stay) สามารถตรวจอัตลักษณ์และขอหนังสือคนประจำเรือแรงงานต่างด้าว (seabook) ได้
      1.4.3 เร่งนำเรือออกนอกระบบ จำนวน 1,007 ลำ งบประมาณ 1,806 ล้านบาท (อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา)
      1.4.4 ส่งเสริมกองเรือประมงนอกน่านน้ำใหม่
      1.4.5 ลดโทษปรับให้เหมาะสมกับความเสียหายของความผิดรวมทั้งให้มีคณะทำงานศึกษาและดำเนินการในเรื่องการจัดตั้งระบบ One Stop Service เพื่อความรวดเร็วในการอนุญาตทำการประมง โดยมอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รับผิดชอบและไปดำเนินการต่อไป

    1.5 รับทราบการทบทวนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯให้เหมาะสม โดยจะหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานกรรมาธิการ) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายฯ

    ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 เพื่อกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการขยายเวลาเปิดสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ สมควรกำหนดเป็นท้องที่นำร่องขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ส่วนท้องที่อื่นที่ประสงค์จะขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัด มท. กำหนด

    ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 6/2 และ ข้อ 6/3 ดังนี้

    1. ข้อ 6/2 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) (3) (4) และ (5) ที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้เริ่มเปิดทำการได้ตามเวลาที่กำหนดในข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 ถึงเวลา 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น

    สถานบริการตามมาตรา 3 (2) ที่อยู่ในสถานที่ตั้งตามวรรคหนึ่งให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา 11.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น

    2. ข้อ 6/3 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) (3) (4) และ (5) ที่อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ท้องที่จังหวัดภูเก็ต ท้องที่จังหวัดชลบุรี ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เริ่มเปิดทำการได้ตามเวลาที่กำหนดในข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น

    สถานบริการตามมาตรา 3 (2) ที่อยู่ในท้องที่ตามวรรคหนึ่งให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา 11.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น

    ท้องที่อื่นที่ประสงค์จะให้สถานบริการเปิดทำการได้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัด มท. กำหนด โดยสรุปเวลาเปิดปิดสถานบริการ ดังนี้

    นายชัย กล่าวเสริมถึงเรื่องมาตรการการปรับเวลาปิดสถานบริการ เป็นเวลา 04.00 น. ว่า “ข้อเสนอข้อนี้ ยังไม่ได้บอกว่าเอาแค่ 5 จังหวัด หรือ มากกว่านั้น ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดูว่าจะขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการไปเท่าไร และครอบคลุม 5 จังหวัดหรือมากกว่านั้น ที่ประชุมไม่ได้ระบุ รอดูว่ามหาดไทยเสนอยังไง

    เห็นชอบปฏิญญาเกษตรยั่งยืน – ความมั่นคงอาหาร รับมืออากาศแปรปรวน

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) (ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ)
      2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ [จะมีการให้ความเห็นชอบและร่วมรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) (การประชุม COP28) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์]

    ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ได้มีหนังสือถึงประเทศสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ [(Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] เพื่อขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้ร่วมลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน โดยพิธีการลงนามระดับผู้นำประเทศจะจัดขึ้นระหว่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) ในวาระ World Climate Action ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

    1. ประเด็นที่ควรตระหนักถึง

      (1) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนเปลงอย่างรุนแรงส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นตัวด้านการเกษตรและระบบอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงอาหารเมื่อต้องเผชิญกับความหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
      (2) ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ ราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนา ตามบริบทของความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
      (3) ระบบเกษตรและอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแบบครอบครัว ชาวประมง ผู้ประกอบการด้านอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะความร่วมมือของสถาบันการเงินในการให้เงินทุกสนับสนุน

    2. แนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ

      (1) เพิ่มกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับตัวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความปราะบางของเกษตรกร ชาวประมง และผู้ผลิตอาหารรวมถึงเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคสำหรับแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม การเสริมสร้างและการจัดการน้ำแบบบูรณาการในระบบเกษตรและอาหารทุกระดับเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
      (2) สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การมีระบบการคุ้มครองทางสังคมและเครือข่ายความปลอดภัย การวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงเป้าหมายและความต้องการเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน
      (3) สนับสนุนคนงานในภาคการเกษตรและระบบอาหาร รวมถึงบทบาทของสตรีและเยาวชนให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามแนวทางที่เหมาะสม
      (4) ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เช่น เสริมสร้างสุขภาพของดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการสูญเสียขยะทางอาหารจากการผลิตและการบริโภค เสริมสร้างการจัดการน้ำแบบบูรณาการ

    3. การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2568

      (1) เพิ่มการมีส่วนร่วมตามความเหมาะสมภายในบริบทของประเทศ โดยบูรณาการระบบเกษตร และอาหารเข้ากับแผนของชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ระยะยาว และยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ก่นอที่จะมีการประชุม COP30 (ปี 2568)
      (2) ทบทวนหรือปรับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรและอาหาร เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนความสามารถในการปรับตัวและการดำรงชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการลดการสูญเสียอาหาร ของเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงการเงินทุกรูปแบบจากภาครัฐ องค์กรการกุศลและภาคเอกชนสำหรับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร
      (3) ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมถึงความรู้ในท้องถิ่นและชนพื้นเมืองเพื่อเพิ่มผลผลิตและการผลิตที่ยั่งยืนของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบท เกษตรกรรายย่อย ครอบครัวเกษตรกรและผู้ผลิตรายอื่น
      (4) เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ เปิดกว้าง ยุติธรรม เสมอภาค และโปร่งใส โดยมีองค์การค้าโลกเป็นแกนหลัก

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ พร้อมกำหนดเวลาออก กม.ลำดับรอง

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้มีมติ (31 ต.ค. 2566) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อ ครม. โดยเร็ว

    ทั้งนี้ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

    1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้

      1.1 คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมี นรม. เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
      1.2 คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส. เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ
      1.3 คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คกก. อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

    2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

    3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

    4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

    5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด

    6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ

    เด้งอธิบดี DSI นั่งรองปลัดยุติธรรม

    นางสาวเกณิกา กล่าวที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ดังนี้

      1. พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
      2. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ตำแหน่งอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

    กางโผแต่งตั้งผู้ว่าฯ 28 จว. – ผู้ตรวจฯ มท. 10 ตำแหน่ง

    นายชัย กล่าวเสริมว่านอกจากนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

    1. นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    4. นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    5. นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    6. นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    7. นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    8. นายอลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    9. นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    10. นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    11. นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง
    12. นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง
    13. นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำนักงานปลัดกระทรวง
    14. นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด สำนักงานปลัดกระทรวง
    15. ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สำนักงานปลัดกระทรวง
    16. นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนาน สำนักงานปลัดกระทรวง
    17. นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง
    18. นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
    19. นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา สำนักงานปลัดกระทรวง
    20. นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง
    21. นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจงหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง
    22. นายนริศ นิมามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวง
    23. นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง
    24. นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง
    25. นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผุ้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง
    26. นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
    27. ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง
    28. นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเติม