ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯ จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย – มติ ครม.ตั้งงบผูกพัน 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน

นายกฯไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯ จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย – มติ ครม.ตั้งงบผูกพัน 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน

20 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านใน ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯจี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย
  • ปัดปรับ ครม. ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทย ต้องเป็นไปตาม กม.
  • สั่งบอร์ดดิจิทัล ศึกษาข้อเสนอ ป.ป.ช. ส่ง ครม.ใน 30 วัน
  • เสนอ UN ตั้งกองทุนช่วย ปท.เพื่อนบ้านแก้ PM 2.5
  • มติ ครม.ตั้งงบผูกพัน 10 ปี 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน
  • เพิ่มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2565/66 เป็น 1,197 บาท/ตัน
  • ควักเงินนายจ้างช่วยลูกจ้าง จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 1 แสนบาท
  • ยุติข้อพิพาท ‘ไทย-บราซิล’ ปมอุดหนุนราคาน้ำตาล
  • ตั้ง ‘ปลัดพลังงาน’ คุม กฟผ. – ‘ฐปณีย์’ นั่งบอร์ดเยียวยาจำเลยคดีอาญา
  • เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เสนอ UN ตั้งกองทุนช่วย ปท.เพื่อนบ้านแก้ PM 2.5

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับนางอามีนา เจ. โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SCG) โดยรองเลขาธิการสหประชาชาติได้ชื่นชมการแก้ไขปัญหาและรับมือฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ

    “แน่นอนว่าปัญหานี้ยังมีอยู่ แต่เราจะเดินหน้าแก้ไขกันต่อไป…(ฝุ่น PM2.5) เป็นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศไทยมีปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านมีการเผา เพราะเรื่องทุนการบริหารจัดการวัชพืชไม่เพียงพอ” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้เสนอกับรองเลขาธิการฯ ว่า ให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกพัฒนาไปพร้อมกัน และลดปัญหาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

    สั่งราชทัณฑ์ – กองทัพ – ผู้ว่าฯ ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เนื่องจากปี 2567 เป็นปีมหามงคล จึงอยากขอความร่วมมือให้กรมราชทัณฑ์ ผ่านกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานความมั่นคง กองทัพ และผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องมาตรการรักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ถนน ทางเท้า ท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำ เพื่อให้บ้านเมืองมีความสะอาดและสวยงาม รวมถึงลดปัญหาน้ำท่วมด้วย

    เร่ง พม.ชงร่าง กม.รับรองเพศสภาพ เข้าสภาฯ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานศึกษารายละเอียดในการใช้ถ้อยคำ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการเรียกชื่อตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้เกียรติและศักดิ์ศรีของคนทุกกลุ่ม โดยไม่เป็นการลดทอนคุณค่าของเพศสภาพ

    “เราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย เรื่องการด้อยค่าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดกับคนไทย ขอให้วิปรัฐบาลศึกษาเพิ่มเติม และพูดคุยเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ที่จะเสนอต่อสภา โดยขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งเสนอร่างกฎหมายต่อ ครม.และสภา” นายเศรษฐา กล่าว

    สั่งบอร์ดดิจิทัลศึกษาข้อเสนอ ป.ป.ช. ส่ง ครม.ใน 30 วัน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการดิจิทัลวอลเลต ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯ รับไปพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อยุติ และนำเสนอต่อ ครม. ใน 30 วัน

    ไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯจี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ยว่าพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ฯหรือยัง โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ทราบมาก่อนแล้ว เพราะได้มารายงานก่อนที่จะมีการแถลงข่าว และให้เกียรติสภาพัฒน์ ฯเป็นผู้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567

    “ผมไม่เคยสั่งท่านเลขาฯ และเลขาฯ ก็บอกชัดเจนว่าผมไม่เคยสั่ง เป็นเรื่องของความอิสระของหน่วยงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ตาม ผมไม่มีอำนาจในการไปสั่ง” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา ยังบอกว่า ผมอยากจะฝากข้อคิดว่า “การมีอิสระ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้อง หรือ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน”

    เมื่อถามถึงโพสต์ X ที่นายกฯ อยากให้มีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ตนไม่ได้ดูที่ความอยาก หรือ ความเป็นไปได้อย่างไร เพราะตนเชื่อว่าเรามีข้อมูลใหม่จากสภาพัฒน์ ฯมาแล้ว
    “การประชุมเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายน 2567 ตนคิดว่าอีกตั้ง 2 เดือน ก็อยากจะรบกวน อ้อนวอน วิงวอน จะใช้คำอะไรก็ตาม ลองพิจารณาดูอีกทีก็แล้วกัน” นายเศรษฐา ตอบ

    ปัดปรับ ครม. ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทย ต้องเป็นไปตาม กม.

    นายเศรษฐา ตอบคำถามหลังมีข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะมานั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในอนาคตว่า “คำถามเรื่องนี้คงต่อเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงกระแสข่าวปรับ ครม. วันนี้ทุกคน ทุกท่าน พยายามที่จะเร่งเข็นผลงานออกมา ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้

    ถามต่อเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากต้องการเดินทางจะกลับประเทศไทย ได้พูดคุยเรื่องนี้อย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่มีเรื่องนี้เข้ามา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย”

    ถามต่อว่าจะเกิดวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศ เช่นเดียวกับกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่านับตั้งแต่ที่นายทักษิณเดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย”

    ห้าม รมต.เสนอวาระจร เว้นด่วนจริงๆ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสั่งการของนายกฯ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่องไม่ให้มีการเสนอวาระจรในการประชุม ครม. โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เรามีขั้นตอนการทำงานเยอะอยู่แล้ว วาระแต่ละวันก็เยอะ การที่เราต้องรอบคอบในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ ครม. ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้…วันนี้ก็มีวาระจร ยืนยันว่าถ้ามีเรื่องด่วนจริงๆ ก็เป็นไปได้

    สั่ง รมต.ปรับลดขบวนผู้ติดตาม

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการ ว่า นายกฯ ได้เคยสั่งการเมื่อวันที่ 13 กันยายน และ 26 กันยายน 2566 ให้ปรับลดจำนวนคนและรถนำขบวนให้เหมาะสมเท่าที่จำเป็น แต่ปรากฏว่าหลังจากสั่งการไปแล้ว ขบวนและผู้ติดตามก็ยังเยอะอยู่

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ ได้กำชับอีกครั้งในที่ประชุม ครม. ว่าให้ลดจำนวนผู้ติดตามลง อย่าทำให้มันเกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการจราจร และย้ำว่า ผู้ติดตามไม่ต้องห่วงเรื่องบารมี เอาคนเท่าที่จำเป็น อย่ายกกันไปเยอะเกินไป พี่น้องประชาชนจะไม่แฮปปี้

    ขอ ‘ราชทัณฑ์’ ส่งนักโทษชั้นดีขุดลอกคลอง

    นายชัย กล่าวต่อว่า ปี 2567 เป็นปีมหามงคล นายกฯ จึงขอความร่วมมือในการรักษาความสะอาด และขอให้ส่วนราชการหามาตรการในการรักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งสั่งการผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้นำนักโทษชั้นดีมาทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน ท่อน้ำที่ตัน เพื่อรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมา โดยขอให้ร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เกิดการบูรณาการ ให้บ้านเมืองมีความสวยงาม

    สั่งรีวิวชื่อตำแหน่ง รับความเท่าเทียมทางเพศ

    นายชัย รายงานว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอัตลักษณ์ ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ ทั้งการผลักดันร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ. การรับรองเพศ คำนำหน้านามฯ นายกฯ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานทุกหน่วยงาน ในการศึกษา และมีความละเอียดอ่อนในการเลือกใช้ถ้อยคำ ที่ระบุถึงอัตลักษณ์ทางเพศ คำนึงถึงความเป็นกลาง เพื่อเป็นการให้เกียรติ และศักดิ์ศรีกับคนทุกกลุ่ม

    “นายกฯ บอกว่าไปลงพื้นที่นครพนม หัวหน้าด่านศุลกากรที่นครพนม ซึ่งเป็นสุภาพสตรี แต่ท่านนายกฯ เผลอเรียกว่า ‘นายด่านศุลกากร’ หัวหน้าด่านก็อึกอักนิดหน่อย นายกฯ บอกผมรู้สึกเลยว่าสงสัยศัพท์ที่ใช้ต้องสังคายนากันใหม่ ต้องไปดูเรื่องคำศัพท์ให้ดี” นายชัย รายงาน

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปรีวิวชื่อตำแหน่ง กรณีที่เคยมีแต่ ‘นาย’ แต่ปัจจุบันมีสุภาพสตรีด้วย ก็ควรใช้นำหน้าควรจะเป็นคำที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษก ฯ, นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ตั้งงบผูกพัน 10 ปี 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย และอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณ์สุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย

    โดยโครงการผลิตแพทย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข และกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568 – 2577 ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการผลิตแพทย์ฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 (รวม 16 ปี) และคาดว่า

      (1) บุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขสามารถพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว
      (2) บุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนกและหน่วยงานเครือข่ายใน สธ. ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตอบสนองความต้องการการผลิตบุคลากรตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว และ
      (3) กระจายโอกาสทางการศึกษาทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค

    เพิ่มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2565/66 เป็น 1,197 บาท/ตัน

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยเขตมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

    • ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาท/ต้นอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.
    • อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท/ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และ
    • ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาท/ต้นอ้อย

    ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้

    • ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.2 หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,674.64 บาทต่อตันอ้อย) และกำหนดอัตราขั้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
    • ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตันอ้อย

    ต่อฟรีวีซ่ารับนักท่องเที่ยว ‘คาซัคสถาน’ อีก 6 เดือน

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติคาซัคสถานเป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะสิ้นสุด โดยให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตราดังกล่าวออกไปอีกถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติของ ททท. ในช่วงวันที่ 25 กันยายน 2566 – 10 มกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวคาซัคสถานเดินทางมาประเทศไทยแล้วกว่า 68,824 คน และในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางมาประเทศไทยกว่า 172,282 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่เคยเดินทางเข้าประเทศไทย โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 75,080 บาท/คน/ครั้ง จึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง

    โดยยังได้มอบหมายหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตาม และประเมินผลกระทบจากการออกประกาศ มท. ฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลา 6 เดือน ที่ประกาศไว้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ ให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเสนอ ครม. พิจารณายกเลิกประกาศ มท. ดังกล่าวต่อไปได้

    ผ่าน กม.กำหนดพื้นที่ใช้สอยในมหาวิทยาลัยเอกชน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดินจะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จากการกำหนดเนื้อที่ที่ดินขั้นต่ำที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนในแต่ละประเภทพึงมี เป็นการกำหนด “พื้นที่ใช้สอย” ตามลักษณะการใช้ประโยชน์บนเนื้อที่ที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแทน

    นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดบทนิยาม คำว่า “พื้นที่ใช้สอย” หมายความว่า พื้นที่ในอาณาบริเวณเนื้อที่ที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อันหมายรวมถึงพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคารที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดไว้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คำว่า “ผังแม่บทการใช้ประโยชน์พื้นที่สอย” หมายความว่า ผังบริเวณในการจัดพื้นที่ใช้สอยของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่เห็นถึงองค์ประกอบทางกายภาพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอย ที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ คำว่า “แผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” หมายความว่า แผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งหรือได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อันครอบคลุมเเผนการดำเนินงานด้านกายภาพ ด้านวิซาการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารจัดการ แล้วแต่กรณี

    “กำหนดให้ที่ดินที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต้องมีเนื้อที่ที่เหมาะสมเพียงพอต่อการจัดพื้นที่ใช้สอย เพื่อรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างครบถ้วน โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ อว. กำหนด และต้องเป็นที่ดินที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ในกรณีที่ที่ดินมิได้มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ต้องมีการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันในลักษณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา และสามารถจัดกิจกรรมทางการศึกษาได้โดยสะดวก” นายคารม กล่าว

    ควักเงินนายจ้างช่วยลูกจ้าง จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 1 แสนบาท

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลทีให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 โดยปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายจากเดิม 50,000 เป็น 65,000 และแก้ไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศรีษะ

    นายคารม กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้าง มีสาระสำคัญ ดังนี้ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลจ่ายไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศรีษะ

    “การปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย เป็นการปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในการักษาพยาบาบที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิทยาศาสตร์การแทพย์ที่มีความก้าวหน้า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับนี้ จึงเป็นการคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วย” นายคารม กล่าว

    รับทราบมติ คกก.นโยบายปาล์มน้ำมันฯ

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สาระสำคัญดังนี้

      1. กนป. มีมติมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมการค้าภายใน) พิจารณาทบทวนรายละเอียดโครงการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ปี 2566-2567 ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
      2. เห็นชอบการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน และมอบ พณ. (กรมการค้าภายใน) นำมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคินค้าและบริการ
      3. เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ในส่วนผู้แทนเกษตรกร จากเดิม ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็น ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ (ด้านปาล์มน้ำมัน)
      4. เห็นควรชะลอการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภามนตรีประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Producing Countries: CPOPC) ของไทย และมอบหมายฝ่ายเลขานุการ กนป. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะนำมาเสนอ กนป. พิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้แจ้งกระทรวงการต่างประเทสดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาและครอบคลุมในทุกมิติ
      5. มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ รับข้อสังเกตจากที่ประชุมและเร่งรัดการดำเนินโครงการวิจัย “สมการโครงสร้างราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม” ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ (เดือนตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) และนำมาเสนอ กนป. พิจารณาต่อไป

    ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบทั้งระบบเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งจะทำให้มีเกณฑ์โครงสร้างราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์อุปสงค์ อุปทานในแต่ละช่วงเวลา

    ไฟเขียว ศธ.ตั้งงบผูกพันกว่า 2.2 หมื่นล้าน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) วงเงินทั้งสิ้น 22,102,973,600 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 7,469,328,800 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 14,633,644,800 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – พ.ศ. 2572 ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

    ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำแผนการดำเนินการ และยืนยันความพร้อมของรายการดังกล่าว โดยกำหนดวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของรายการ รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ประมาณการราคาหรือผลการสอบราคา สถานที่/พื้นที่พร้อมที่จะดำเนินการให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณา ตลอดจนควรกำหนดให้มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกชั้นตอน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน ศักยภาพในการดำเนินการ ตลอดจนสถานะการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    สาระสำคัญ

    ศธ. รายงานว่า ศธ. เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพของคนทุกช่วงวัยด้วยการปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัยและนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน มีการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ. ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายประสิทธิภาพการทำงานของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDLP) ระยะที่ 1 จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการสื่อสารและการเรียนแบบสองทาง โดยนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกำกับ ศธ. ให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศธ. โดย สพฐ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา : พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 วงเงินงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. โดยสามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด ศธ. จำนวน 349 โรงเรียน และมีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

    2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ศธ. จะจัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด ศธ. จำนวน 29,312 โรงเรียน โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้

      2.1 การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 งบประมาณ 6,531.08 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เปลี่ยนบทบาทครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม มีการดำเนินการ ดังนี้

        (1) การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์
        (2) การเช่าใช้ระบบคลาวด์ สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา

      2.2 การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 15,571.90 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และมีโอกาสได้อย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

        (1) เช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 607,655 เครื่องรวมเป็นเงิน 15,491.90 ล้านบาท ระยะเวลา 60 เดือน สรุปได้ ดังนี้

        (2) การพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น 1) การจัดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา 2) การจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี การสร้างสรรค์สื่อและการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและการสร้างเครือข่ายผู้สร้างสื่อเทคโนโลยีและผู้ใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ศธ. จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับปีงบประมาณอื่น ๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว

      2.3 งบประมาณและระยะเวลาดำเนินการ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลาฯ ใช้วงเงินงบประมาณรวม 22,102.97 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

      หมายเหตุ : เนื่องจากมีการปรับเป็นทศนิยมสองหลัก ดังนั้น จึงส่งผลต่อการคำนวณผลรวมบางรายการในตาราง ทั้งนี้ ศธ. จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 7,469.33 ล้านบาท และส่วนที่เหลือ จำนวน 14,633.64 ล้านบาท จะขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2572

    3. ประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น

      3.1 สพฐ. มีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในโลกปัจจุบัน
      3.2 ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัย โดยปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” ที่ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
      3.3 ผู้เรียนได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
      3.4 ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถ “เรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา”
      3.5 นักเรียนและครูผู้สอน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์ม NDLP ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
      3.6 ไทยเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ครม.รับทราบการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567

    ยุติข้อพิพาท ‘ไทย-บราซิล’ ปมอุดหนุนราคาน้ำตาล

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ และอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบการลงนามเอกสารข้อยุติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน [Mutually Agreed Solution (MAS)] ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบราซิลว่าด้วยเรื่องการอุดหนุน ซึ่งสินค้าน้ำตาลทรายของไทย (DS 507) (เอกสารข้อยุติฯ) ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
      2. อนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก [World Trade Organization (WTO)] และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามเอกสารข้อยุติฯ (ตามข้อ 1)
      3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือผู้แทนสำหรับการลงนามดังกล่าว
      4. เห็นชอบการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และรับบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507) (บันทึกความเข้าใจฯ) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ไทยและบราซิลได้หารือ (Consultation) ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งไทยได้แจ้งความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายให้ฝ่ายบราซิลทราบตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในการหารืออย่างเป็นทางการครั้งที่ 12 ระหว่างไทยและบราซิล (ผ่านระบบ Video Conference) (ฝ่ายไทยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย อก.เป็นหัวหน้าผู้แทน และฝ่ายบราซิลมีผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการค้า กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้แทน) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยุติกรณีพิพาทดังกล่าวด้วยการลงนามในเอกสารข้อยุติฯ และเสนอให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำ WTO ณ นครเจนีวา ของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ลงนาม โดยตั้งเป้าหมายให้มีการลงนามในห้วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 13 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27- 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ฝ่ายบราซิลยังเสนอให้มีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507) เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติกรณีพิพาทแล้ว

    ทั้งนี้ ไทยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

    จัด ครม.สัญจร พะเยา 18 – 19 มี.ค.นี้

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงานการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และแพร่) ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 มีประเด็นการตรวจราชการสำคัญ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาศักยภาพการค้าการลงทุน (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (3) การพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (4) การยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความมั่นคง และ (5) การอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีบัญชามอบหมายภารกิจ ดังนี้

      1. การลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ มอบหมายคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี
      2. การประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานการประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายเลขานุการ
      3. การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีและวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรี ดำเนินการจัดประชุม ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานสำหรับวาระกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่จะนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี
      4. การตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย จัดกำหนดการตรวจราชการในภาพรวมของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567
      5. การอำนวยความสะดวก ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการและอำนวยความสะดวกด้านที่พักของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเดินทาง และกำหนดการในภาพรวมของนายกรัฐมนตรี
      6. การรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยในการดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน
      7. การประชาสัมพันธ์ ให้กรมประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก และโฆษกกระทรวงดำเนินการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน
      8. การรักษาความปลอดภัย ให้กองทัพภาคที่ 1 กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและรักษาความปลอภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    อนุมัติ 104 ล้าน จัดงาน ‘เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ปี’67’

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 104,872,000 บาท (134,872,000-30,000,000) เพื่อดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567

    ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ คือ สร้างสิทธิบัตร Intellectual Property Festival เพื่อเชิดชูงานที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมากกว่า 200,000 คน สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 3,125 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

    โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ขึ้นในเดือนเมษายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันงดงามของไทยและ เฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลของโลก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก รวมทั้งสื่อมวลชน Online/Offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง และพื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 กิจกรรมภายในงาน เช่น ขบวนรถพาเหรดสงกรานต์ จากกลุ่มจังหวัดเป้าหมาย 16 จังหวัด, 11 อุตสาหกรรม Soft Power (อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ออกแบบ และแฟชั่น) ,การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน รำมโนราห์, การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ลานสงกรานต์ 5 ภาค นำเสนอประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาค การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ การทำบุญตักบาตร รดน้ำผู้สูงอายุ และสรงน้ำพระ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย

    ตั้ง ‘ปลัดพลังงาน’ คุม กฟผ. – ‘ฐปณีย์’ นั่งบอร์ดเยียวยาจำเลยคดีอาญา

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 10 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายวัชรเดช เกียรติชานน ที่ปรึกษาด้านการปกครอง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
      6. นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมที่ดิน
      7. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง
      8. นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
      9. นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง
      10. นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. เรือเอก สาโรจน์ คมคาย ที่ปรึกษากฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายฝลิตแห่งประเทศไทย รวม 10 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และขอลาออก ดังนี้

      1. นายประเสริฐ สินสุขประเสิริฐ ประธานกรรมการ
      2. รองศาสตราจารย์กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ
      3. พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ
      4. รองศาสตราจารย์ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา กรรมการ
      5. นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการ
      6. นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ กรรมการ
      7. นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ
      8. ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ
      9. นายวรากร พรหโมบล กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงพลังงาน)
      10. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    3. ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวม 9 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี ดังนี้

      1. นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ประธานกรรมการ
      2. นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ กรรมการ
      3. พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย กรรมการ
      4. นางสาวสกมลพัฒน์ ปุงบางกะดี่ กรรมการ
      5. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กรรมการ
      6. นายธนพล โตโพธิ์ไทย กรรมการ
      7. นายจิรพล สังข์โพธิ์ กรรมการ
      8. นายภูมินทร์ บุตรอินทร์ กรรมการ
      9. นางสาวพิมพ์เพ็ญ ลัดพลี กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    4. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี ดังนี้

      1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ (ด้านการแพทย์)
      2. นางชฎาพร รักษาทรัพย์ (ด้านสังคมสงเคราะห์)
      3. รองศาสตราจารย์อนุสรณ์ อุณโณ (ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
      4. นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย
      5. นายชนะพล มหาวงษ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเติม