ThaiPublica > เกาะกระแส > รมต.คลังยันไม่ขัดกรอบเงินเฟ้อธปท. แต่ขอมาตรการสนับสนุนการลงทุน ชี้ช่องลดดอกเบี้ย

รมต.คลังยันไม่ขัดกรอบเงินเฟ้อธปท. แต่ขอมาตรการสนับสนุนการลงทุน ชี้ช่องลดดอกเบี้ย

29 ตุลาคม 2024


นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวหลังการหารือกับดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 2568

ก่อนหน้านี้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองและธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องนโยบายการเงิน และนำไปสู่การมีวิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของภาคการเมือง การหารือร่วมกันถึงกรอบเงินเฟ้อปี 2568 จึงเป็นที่จับตาของสื่อมวลชนจำนวนมาก

นายพิชัยกล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือร่วมกันหลังจากที่มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านคณะทำงานมาหลายครั้ง โดยวันนี้ได้ข้อสรุปสิ่งที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีถึงแนวนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล “หน้าที่ผมก็คือทําความ ตกลงพ้องกันให้ได้เพื่อจะนําเสนอครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อนโยบายทางการคลังและการเงินจะได้ดําเนินได้”

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยอาจจะมีปัญหา ข้อหนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจเติบโตไม่สูง ทางภาครัฐต้องการที่จะเห็นว่าการเติบโตต้องสูง ถึงแม้ว่าวันนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมา ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจเติบโตที่ประมาณ 1.9-2% แต่ปีนี้ก็คิดว่าน่าจะโตได้ 2.7% ซึ่งน่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 35% แต่ในปีต่อไป ก็เห็นว่าหากยังเดินตามปกติ ก็อาจจะการเติบโตประมาณ 3% อาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่านี้เล็กน้อยได้

“อย่างไรก็ตาม เราก็คิดว่าอะไรที่ทำได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้มากขึ้น เมื่อได้เห็นเป้าและอยากจะเห็นเศรษฐกิจเติบโต ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เข้าใจในเจตนาแล้วก็เข้าใจในนโยบาย เพราะนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็มีจุดประสงค์เหมือนกัน เขียนไว้ชัดเจนว่าจะออกนโยบายทางการเงิน กําหนดขึ้นมา เพื่อสนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ชัดเจน คำนี้คําเดียวก็ชัดเจน” นายพิชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่อาจจะมีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนข้อที่ 3 คณะกรรมการนโยบายทางการเงินก็จะได้มีการพูดคุยกับธนาคารประเทศไทย เพื่อจะให้มั่นใจว่านโยบายสองอย่าง ทั้งเรื่องนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เอื้ออํานวยและสอดคล้องที่จะสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องการ

นายพิชัยกล่าวว่า แนวทางทั้งหมดมีอยู่แล้ว ก็ได้ทําความตกลงกัน

“กรอบเงินเฟ้อเป็นปลายเหตุ ของจะถูกจะแพง คิดได้หลายอย่าง การลงทุนน้อยมีรายได้น้อย ไม่มีเงินซื้อ สินค้าราคาขึ้นไม่ได้ มันเป็นปลายเหตุ เพราะฉะนั้นก็มาคุยกันที่ต้นเหตุดีกว่า ดังนั้นการกำหนดกรอบเงินเฟ้อก็ยังใช้อยู่ ซึ่งผมก็ได้บอกไปว่า ผมไม่ว่าอะไรจะเป็น 1.5% หรือ 3.5% มันก็ไม่มีผล ถ้าของจริงมันออกมาแล้วมันต่ำกว่า 1% ก็ค่าเท่ากัน สำหรับผมรับได้ กระทรวงการคลังก็รับได้ ถ้าจะอยู่กรอบ 1-3%” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวต่อว่า การบริหารนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมาตรการในการที่จะสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ยอมรับ หากว่าเพื่อจะทําให้เงินเฟ้อขึ้นไปสู่จุดที่เหมาะสมใกล้เคียงกับค่ากลาง เช่น 2% เป็นต้น

“ถ้าต่ำกว่า 1% ธปท.ช่วยกําหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ขึ้นไปได้ไหม ซึ่งมาตรการการที่จะทำให้ขึ้นไปได้ 2% ก็ต้องมาดูกันว่าคืออะไร จะตัดสินใจอย่างไร การเติบโตของเศรษฐกิจต้องการการลงทุน ซึ่งรัฐบาลผลักดันอยู่แล้ว เมื่อมีการลงทุนปัจจัยที่จะทําให้การลงทุนเกิด และต้องการที่จะลงทุน ก็คือ เรื่องที่หนึ่ง อัตราดอกเบี้ย เมื่อจะกําหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน ก็ต้องมาดูเรื่องดอกเบี้ย ดอกเบี้ยจะขึ้นจะลงให้ ก็จะรู้แล้วว่าจะหมุนอย่างไรเทียบกับต่างประเทศ แล้วถ้าจะลง เอาลงอย่างไร” นายพิชัยกล่าว

“ฉะนั้นเราไม่ต้องพูดแล้วว่า งวดนี้จะลงหรือจะขึ้น ถ้าจะสนับสนุนการลงทุน อีกทั้งก็ต้องรวมทั้งปัจจัยต่างประเทศ แล้วก็ดูว่าควรจะลงหรือขึ้นเพราะฉะนั้นไม่ต้องถามธปท.ว่างวดข้างหน้าสองเดือน จะขึ้นหรือจะลง ธปท.สนับสนุนการลงทุน หากเห็นว่าปัจจัยอื่นอื่นถ้าลงด้วยก็จะดี แต่ผมก็ยอมรับกับธปท.ว่า ถ้าอยากมีการลงทุนและลงดอกเบี้ย คนลงทุนคนทํางานก็ยังทํางานไม่เต็มที่ เครื่องจักรยังไม่เต็มที่ เพราะคนลงทุนคนทํางาน ในส่วนของ SME ก็ยังเป็นคนเดิม ยังมีภาระหนี้เดิมอยู่แล้วยังไม่จบ

นายพิชัยกล่าวว่า นโยบายภาครัฐคือ ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งได้แจ้งกับธปท.แล้วว่า อยากจะให้แก้ให้ตกผลึก บูรณาการให้ได้ภายในสองสัปดาห์ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภคได้ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อแก้ได้ ก็หมายความว่าโอกาสที่คนลงทุน หาสินเชื่อใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้

นายพิชัยกล่าวต่อว่า เมื่อทำอย่างนี้ได้ ก็เกิดการลงทุน และเมื่อเกิดการลงทุน ดอกเบี้ยก็จะลดเอง สภาพคล่องก็จะมา ค่าเงินเฟ้อก็อาจจะสูงขึ้น สินค้าก็จะแพงขึ้น “ถามว่ารับได้ไหมก็รับได้ เพราะมันต่ําไปทําให้ภาคผู้ผลิตผลิตไม่ได้ วันนี้ก็คุยกันลงตัว” นายพิชัยกล่าว

“กรอบเงินเฟ้อนี้ เรารับได้ถ้ามีมาตรการที่จะสนับสนุนการลงทุน การเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งทําให้ค่าเงินเฟ้อขึ้นมาใกล้เคียง 2% ไม่ควรจะอยู่ข้างล่าง ถามว่าทําได้หรือไม่ ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เพราะถ้าไม่มีมาตรการอื่นๆ จะทําให้สูงก็ทำยาก”นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยย้ำว่า ต้องมองที่ต้นเหตุ ที่ว่าประเทศต้องมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต ต้องมีการลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่สำหรับนักลงทุนอยากเห็น หนึ่งโอกาสที่จะขาย หมายถึงอุปสงค์(demand)โต ผู้ที่มีหนี้ครัวเรือนดีขึ้น สอง ดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะลงด้วยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สามมีมาตรการอื่นๆที่ทําให้มีการนําขึ้น ค่าเงินก็แข่งขันกับต่างประเทศได้

“ถ้า 3 ข้อเดินไป เงินเฟ้อจะปรับขึ้นเอง เงินเฟ้อเป็นปลายเหตุ ต่อให้ประมาณการเศรษฐกิจไว้ที่ 2-3% ก็จะได้ตามประมาณการก็บากถ้าองค์ประกอบอื่นๆไม่เดินไปตามนั้น” นายพิชัยกล่าว

นอกจากนี้กรอบเงินเฟ้อสามาถปรับเปลี่ยนได้ หากว่าทํามาได้ ในระดับหนึ่งแล้วเห็นว่า ประเทศมีการเติบโต อีกทั้งไม่มีประเทศไหนเขียนว่าต้องทบทวนปีละครั้ง

ในกรณีที่เงินเฟ้อไม่ถึง 2% ก็ต้องพิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะไม่ได้เป็นเรื่องของนโยบายการเงินอย่างเดียว เป็นเรื่องนโยบายการลงทุน นโยบายอื่นๆประกอบกัน ทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงินต้องเดินในทิศทางที่พุ่งเป้าหมายเดียวกัน

“สําหรับผมไม่มีปัญหาเรื่องตัวเลข 1-3% แต่ที่มีปัญหา คือ ค่าเงินเฟ้อจริงต่ํากว่า 1% ไม่เอา จึงให้มีมาตรการอื่นซึ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วมีผลทําให้สนับสนุนให้เงินเฟ้อขึ้นไป เพราะทันทีที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้น สมมติว่าเติบโตขึ้นไปได้ 3.2-3.5% ค่าเงินเฟ้อได้สัก 2% ์Nominal GDP หรือ GDP ที่เป็นตัวเงินจะได้ 5.5% แล้วทีนี้ผมก็รู้ว่าถ้าโตขึ้น 5.5% ผมก็สามารถสร้างหนี้สาธารณะได้ 70% ของ 5.5% ซึ่งก็คือ 3.85% หมายความว่าผมสามารถที่จะตั้งงบประมาณเพื่อบริหารประเทศขาดดุลได้ถึง 3.85% ของ GDP ซึ่ง GDP ปีต่อไปก็น่าจะอยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท 3.85% คือ 770,000 ล้านบาท ถ้าไม่ตั้งให้เกินนี้ หนี้ต่อ GDP ก็จะไม่เกิน 70%” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวว่า การหารือได้ข้อสรุปในหลักการตามนี้ ซึ่งธปท.ก็จะไปปรับในข้อที่กระทรวงการคลังเห็นด้วย เพื่อจะได้รีบพิจารณา และเร่งเสนอครม.

นายพิชัยกล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาของกระทรวงการคลัง ของรัฐบาล ตระหนักว่ามาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินต้องไปด้วยจะเห็นว่าสิ่งที่กระทรวงการคลังแก้ไข จะไม่พยายามจะไปในทิศทางที่ต่างกัน พยายามจะให้เห็นปัญหาเดียวกัน เรื่องเดียว ก็คือ อยากจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

นายพิชัยกล่าวถึงการผลักดันนโยบายการลงทุนทั่วไปว่า มีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง FDI ที่เริ่มทยอยเข้ามา การใช้เม็ดเงินคงจะเริ่มทยอยมากขึ้น FDI ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่ได้ไปทําการตลาดมาของอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน โดยมีความต้องการ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกพื้นที่ที่ต้องการลงทุนไม่อยากจะห่างจากกรุงเทพฯนัก โดยมีบริเวณ EEC รวมไปถึงสองมีความต้องการพลังงานสีเขียว ในระดับราคาที่เหมาะสม และสามเรื่องคน โดยเฉพาะทักษะ หากเป็นทักษะทั่วไปที่ต้องเสริม ก็มีนโยบาย upskil reskil แต่ในบางด้านที่ต้องการทุกษะสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ก็ต้องเป็น นโยบายแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลจะจัดทำขึ้น เป็นการสร้างคนสร้างในจํานวนที่มากพอ เก่งพอที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามา เพราะไม่ใช่เฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์ แต่รวมไปถึงเกษตรชีวภาพ ที่อาจจะทยอยเข้ามา เพราะฉะนั้นภายในประเทศ ก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นเพื่อปรับปรุง มีการเตรียมด้านโลจิสติกส์บวกแลนด์บริดจ์ คือเรื่องเดียวกัน ทำแลนด์บริดจ์อย่างเดียวคงไม่ได้ เชื่อมแค่อันดามันพื้นที่เล็ก ต้องมีโลจิสติกส์ การขนถ่ายสินค้าก็ต้องเชื่อมกับประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือ จีน

นายพิชัยกล่าวว่า สิ่งที่ฝากธปท.ไปพิจารณาอีกข้อหนึ่งคือ ภาคการลงทุนของไทยโดยธรรมชาติแล้วมีหลายหลาย บางอย่างมีตลาดในประเทศ 70% ส่งออก 30% และมีบางประเภทที่พึ่งพาการส่งออกทั้ง 50% หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นปัจจัยสำคัญ “ไม่ขอบอกว่าอ่อน แต่อยากจะให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่น คู่แข่ง ต่อให้เราอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่คนอื่นอ่อนน้อยกว่าเราก็ไม่ชอบเราต้องอยู่ในระดับที่สามารถจะแข่งขันได้ ก็หมายความว่ามาตรการก็จะต้องดูให้ครบหมด ต่อไปนี้จะดูเงินเฟ้อ ก็จะมีองค์ประกอบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เหล่านี้จะดูเป็นแพ็กเกจ การแก้หนี้ การกํากับธนาคารเป็นแพ็กเกจก็จะทําให้การสนับสนุนการลงทุน คนปล่อยสินเชื่อก็จะปล่อยได้ คนกู้ก็จะกู้ได้”

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทุกประเทศมีการดูแลอยู่ ในลักษณะมีหลักการ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงโดยเสียหลักการ ดูแลว่าอยู่ในลักษณะปกติหรือไม่ แข่งขันจากต่างประเทศได้หรือไม่ แข่งกับประเทศคู่แข่งได้หรือ และจะเห็นว่าบางประเทศไม่ได้ใช้เงินเฟ้อ แต่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ย น “ผมก็อยากจะใช้นโยบายที่ควบคู่กันไป ให้ดูทั้งสองอย่างเพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน”

สำหรับแนวปฏิบัติเรื่องเงินเฟ้อที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดช่วงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพื่อเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับแต่ละปี และกำหนดให้ กนง. ต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

  • ผู้ว่าธปท. แจง More Openness ที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป
  • ธปท.ชี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี
  • ผู้ว่า ธปท. ไม่เห็นด้วยปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ชี้เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจ
  • ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ธนาคารกลางจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ‘การเมือง’
  • ธปท. ย้ำดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเป็น “robust policy” รองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
  • ผู้ว่า ธปท. ยันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ หลังนายกฯเรียกร้องลดดอกเบี้ย
  • นายกฯไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯ จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย – มติ ครม.ตั้งงบผูกพัน 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน