ThaiPublica > คนในข่าว > “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีคลังกับงานเฉพาะกิจ-เฉพาะหน้า และวาระที่ต้องทำ

“สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีคลังกับงานเฉพาะกิจ-เฉพาะหน้า และวาระที่ต้องทำ

8 ตุลาคม 2014


ด้วยคำมั่นสัญญาของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยและสัญญาจะรีบทำรีบไปภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่งานที่ต้องทำคือการกอบกู้ประเทศไทยที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับปรุงซ่อมแซม สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ภารกิจขณะนี้มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อัดฉีดเม็ดเงินวงเงินหลายแสนล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ข้าราชการระดับล่าง ชาวนา เกษตรกร “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล่าให้สื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ ฟังถึงภารกิจในระยะสั้นและภารกิจอื่นๆที่ต้องทำในระยะยาวว่า

ผู้สื่อข่าว : มาตรการช่วยชาวนา โครงการนี้ช่วยเหลือเฉพาะชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้นหรือ

ใช่ ชาวนาที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รับจ้างทำนา ก็รับค่าแรงจากเจ้าของที่ดินไป มาตรการนี้เน้นไปที่ชาวนาที่ลงทุน ลงแรง ปลูกข้าวจริงๆ ก่อนออกมาตรการนี้ ผมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำประมาณการค่าใช้จ่าย และมีการคำนวณราคาข้าวล่วงหน้ามาให้ดูด้วย หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือชาวนา ราคาข้าวเปลือกจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งผมดูแล้ว ชาวนาอยู่ไม่ได้แน่ ขายข้าวขาดทุน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแล

มาตรการนี้ไม่ใช่ประชานิยม เพราะวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคะแนนเสียง แต่เราช่วยชาวนาด้วยใจ คงไม่มีรัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ไม่ช่วยเหลือชาวนา โครงการนี้เน้นความช่วยเหลือไปที่ชาวนาเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวในระดับฐานรากจริงๆ ไม่ได้ช่วยทั้งหมด ทางกระทรวงเกษตรฯ คำนวณตัวเลขออกมาแล้ว ชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ได้รับจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไร่ละ 1,000 บาท เท่ากับรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยราคาข้าว 1,300-1,400 บาทต่อเกวียน ทำให้ชาวนาได้มีเงินใช้ก่อน ไม่ต้องรีบขายข้าว

นอกจากมาตรการช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาทแล้ว ยังให้ ธ.ก.ส. จัดโครงการสินเชื่อช่วยเหลือชาวนาอีกหลายโครงการผ่าน ธ.ก.ส. โดยตรงและสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นวงเงินรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ ชาวสวนยางพารา ธ.ก.ส.ให้อัตราดอกเบี้ยเกษตรกรต่ำมาก ซึ่งดอกเบี้ยส่วนเกินนี้เป็นภาระรัฐบาลในการจัดหางบประมาณมาจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.

สำหรับเรื่องข้าวตอนนี้รัฐบาลมีข้าวค้างอยู่ในสต็อกประมาณ 16-18 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ทิ้งไว้ไม่ทำอะไรเลย ข้าวก็เน่าเสียทุกวัน ตอนนี้ก็มีข้าวเปลือกลอตใหม่ ฤดูกาลผลิต 2557/58 ทยอยออกสู่ตลาดอีก 22 ล้านตัน ถ้าเร่งระบายข้าว ราคาก็ตก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นจัดมาตรการช่วยเหลือชาวนาผ่าน ธ.ก.ส. วงเงิน 40,000 ล้านบาท จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท หากเกิน 15 ไร่ ธ.ก.ส. จ่ายครอบครัวละ 15,000 บาท

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าว : วางแนวทางบริหารจัดการหนี้จำนำข้าว 7 แสนล้านบาท อย่างไร

หนี้จำนำข้าว ก็ต้องเร่งระบายข้าวหาเงินมาชำระหนี้ ผมเห็นหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวแล้วนึกถึงหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถึงแม้หนี้ที่เกิดจากการรับจำนำข้าวจะมีมูลหนี้น้อยกว่า แต่ก็เห็นใจข้าราชการที่ทำหน้าที่ขายข้าว ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หากรัฐบาลวางกฎเกณฑ์เข้มงวดมากเกินไปก็ระบายข้าวไม่ได้

การส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศก็มีข้อจำกัด อย่าลืมว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาเก็บข้าวไว้ในสต็อกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ขายกันตามปกติ ปัจจุบันดีมานด์หรือความต้องการข้าวในตลาดโลกก็คงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวทำได้ยากมาก ดังนั้น การบริหารจัดการข้าวต้องมีประสิทธิภาพ และพยายามบริหารให้เกิดความสมดุล

“เรื่องการบริหารจัดการหนี้เก่า ผมได้แจ้งให้ พล.อ. ประยุทธ์ไปแล้วว่าขอทบทวนแผนการก่อหนี้ทั้งหมดที่เคยผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์เห็นด้วย ช่วงที่ผมประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. จึงขอดูแผนการบริหารจัดการหนี้ของ ธ.ก.ส. พบว่ารัฐบาลชุดก่อนกู้เงินโดยไม่ดูอะไรเลย ขาดสภาพคล่องก็กู้ ในลักษณะ term loan ดอกเบี้ยแพงมาก แต่ถ้ากู้เป็นพันธบัตรดอกเบี้ยถูกกว่า ตอนนี้ผมจึงมีแนวคิดที่แปลงหนี้ term loan ของ ธ.ก.ส. มาเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายคนชราแทน ส่วนวงเงินเท่าไหร่ ขายช่วงไหน ต้องดูจังหวะ ไม่ให้เกิดผลกระทบสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ซึ่งผมมอบหมายให้คุณพรรณี สถาวโรดม อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่ปรึกษาของผมดูเรื่องนี้”

ผู้สื่อข่าว : มาตรการช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาท ไม่ได้บรรจุในงบฯ ปี 2558 ว่าใช้เงินจากแหล่งใด

ให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน ไม่ต้องห่วง โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ผมมีหน้าที่ดูแลให้ ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ ไม่ได้บรรจุวงเงินไว้ในงบฯ ปี 2558 ก็ต้องบรรจุในงบฯ ปี 2559 แต่ตอนนี้ ธ.ก.ส. ต้องรีบจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาโดยเร็ว ชาวนาจะได้มีเงินใช้ ไม่รีบขายข้าว จ่ายเงินแค่ 40,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน จ่ายไป 7 แสนล้านบาท พูดตรงๆ ประเทศไทยคงต้องมีการจ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกรต่อไป เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีฐานะยากจน

ผู้สื่อข่าว : เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัวลงเกือบทุกด้าน เป็นห่วงหรือไม่

มันก็ชะลอตัวลงอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่น่าจะขยายตัวเกิน 2% ต่อปี แต่ยังดีกว่าติดลบ นอกจากมาตรการช่วยเหลือชาวนาแล้ว ผมยังไปรวบรวมงบฯ ค้างจ้าง, งบเหลื่อมจ่ายก่อนปีงบประมาณ 2557 และงบฯ ที่มีลักษณะคล้ายกับไทยเข้มแข็ง เข้ามารวมอยู่ในแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 325,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมงบประมาณปี 2558 ทั้งหมดผมต้องพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม ปีนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน หากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น ส่งออกดีขึ้น ปีนี้อาจจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวเข้าใกล้ 2% ต่อปี ตอนนี้กลไกการเบิกจ่ายเงินภาครัฐทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ที่เหลือขึ้นอยู่กับภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งออก

เรื่องการส่งออก ผมมองว่าในระยะยาวมีความเสี่ยงสูง คงไม่ได้เห็นตัวเลขส่งออกขยายตัว 10-20% เหมือนกับช่วง 7 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตคือการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ สิ่งที่ผมต้องจัดเตรียมไว้ให้พร้อมคือ “การปฏิรูประบบภาษี” นอกจากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ต้องทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมันก็เป็นกรรมของผม ต้องเข้ามารับผิดชอบเรื่องการปรับขึ้นอัตราภาษี

ผู้สื่อข่าว : ครม. ผ่านความเห็นชอบแพ็คเกจการปรับโครงสร้างภาษีตามที่คลังเสนอทั้งหมดหรือไม่

ครม. เห็นชอบในหลักการว่าต้องปรับโครงสร้างภาษี แต่รายละเอียดยังไม่ได้เห็นชอบ กระทรวงการคลังต้องศึกษากันต่อไป อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่กรมธนารักษ์ต้องเร่งจัดทำราคาประเมินที่ดิน ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แล้วเสร็จก่อน

ที่ดินทั่วประเทศมีทั้งหมด 30 ล้านไร่ กรมธนารักษ์เพิ่งจัดทำทะเบียนราคาประเมินที่ดินไปแล้วแค่ 7 ล้านไร่ อีก 23 ล้านไร่ ยังไม่ได้ทำ หลังจากที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คงต้องมีบทเฉพาะกาล ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก 1.5 ปี เพื่อรอให้กรมธนารักษ์จัดทำทะเบียนประเมินราคาที่ดินให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและการรับให้ ต้องให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี

การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผมทำแน่นอน แต่จะปรับขึ้นครั้งละ 1% หรือ 2% หรือปรับขึ้นครั้งเดียว 3% ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

นอกจากภารกิจผลักดันระบบการจัดเก็บภาษีตัวใหม่มาบังคับใช้และปรับขึ้น VAT แล้ว ผมต้องหามาตรการอุดรูรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์หรูที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

อย่างเช่นกรณีโกง VAT ผมได้เรียกอดีตอธิบดีกรมสรรพากรมาสอบถาม สรุปว่า กระบวนการคืนภาษี VAT ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติคืน VAT คือสรรพากรพื้นที่ อธิบดีกรมสรรพากรไม่ได้ลงนามอนุมัติ บางกรณีมีนักการเมืองโทรศัพท์เร่งสรรพากรพื้นที่ ทำไมไม่คืนภาษีให้กับผู้ประกอบการช้า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับสรรพากรหลายพื้นที่ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม

ขณะนี้กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการที่เข้าไปพัวพันกับ คดีโกง VATยังไม่จบ โดยเฉพาะกรณีส่งออกเศษเหล็กมูลค่าหลายพันล้านบาท เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจสอบอย่างไร ถึงปล่อยตู้คอนเทนเนอร์เปล่าออกไป มันต้องทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ผมก็อยากทราบเหมือนกันว่ามีข้าราชการคนไหนเข้าร่วมขบวนการโกง VAT บ้าง

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าว : ตำแหน่งเอ็มดีแบงก์รัฐหลายแบงก์ที่ว่างอยู่จะดำเนินการอย่างไร

ผมเป็นรัฐมนตรีคงไม่ลงไปดูในรายละเอียด แต่มอบนโยบายตัวแทนกระทรวงการคลังที่ส่งไปนั่งเป็นกรรมการแบงก์รัฐว่า “ขอให้เลือกคนดี กรรมการสรรหาต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครอย่างเต็มที่ ไม่ใช่อ่านแต่เปเปอร์ที่ผู้สมัครส่งมาให้ดูเพียงอย่างเดียว ประสบการณ์ที่ผ่านมามีมาก เลือกคนชั่วเข้ามา กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว ปัจจุบันผู้บริหารโกงแบงก์กลายเป็นแฟชั่นติดอินเทรนด์ไปทั่วโลก กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่กำกับดูแล ถ้าตรวจพบทุจริต ต้องส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ป.ป.ช. ดำเนินคดีทันที”

ช่วงที่ผมเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ มีผู้สื่อข่าวไม่ทราบสังกัดสำนักไหนถามผมเรื่องธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) พอผมได้ยินคำถาม ก็พูดแบบตัดบทไปว่า “ถ้าไม่ดี ก็ยุบ” ผู้สื่อข่าวอีกหลายฉบับเอาไปเล่นเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเรื่องใหญ่เลย

กรณีของ ธอท. ผมสั่งให้ตัวแทนกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการตรวจสอบฐานะการเงินของ ธอท. พบว่ามีชาวมุสลิมมาฝากเงินกับ ธอท. ไม่ถึง 5% ที่เหลือเป็นชาวไทยพุทธมาใช้บริการ มีทั้งฝากและกู้ ผมจึงสั่งให้สำนักงานงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตรวจสอบในเชิงลึก ตรวจสอบลูกหนี้เป็นรายบัญชี ผลลัพธ์ที่ได้ คงจะเป็นไปตามความคาดหมาย เพียงแต่ผมอยากเห็นว่าของจริงเป็นอย่างไร หากพบกรณีทุจริตก็ส่ง ป.ป.ช. หรือดีเอสไอดำเนินคดี เล่นงานคนโกง เป็นนโยบายของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าว : กรอบป้องกันนักการเมืองแทรกแซงแบงก์รัฐอย่างไร

ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ก่อนหน้านี้คุณประสาร (ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งนั่งอยู่ในบอร์ดชุดนี้ด้วย เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบงก์รัฐ (regulator) ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะให้องค์กรกำกับดูแลแบบนี้ปลอดจากนักการเมืองจริงๆ ต้องเหมือนแบงก์ชาติ นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ หากจะสร้างองค์กรแบบนี้ขึ้นมาใหม่ ก็ต้องช่วยกันออกแรงผลักดันร่างกฎหมายให้ สนช. ผ่านความเห็นชอบ ผมจึงยอมให้โอนอำนาจการกำกับดูแลแบงก์รัฐจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปให้ แบงก์ชาติมีอำนาจลงโทษผู้บริหารแบงก์รัฐที่กระทำความผิด ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดมานานตั้งแต่ยังรับราชการที่กระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าว : แล้วการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะทำอย่างไร

กรณีของบริษัท ทศท กับบริษัท กสท โทรคมนาคม เคยมีการหารือกันในที่ประชุม ครม. มีแนวโน้มว่าต้องการควบรวมกิจการกัน เพราะถ้าตัดสินใจเลือกวิธีการยุบกิจการจะเอาพนักงานไปทำงานที่ไหน และหลังจากควบรวมกันเสร็จ ก็ทำธุรกิจโทรคมนาคมต่อไป แต่ต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่มาเสริม เช่น เครือข่ายบรอดแบนด์ เป็นต้น

ส่วนการบินไทยจะให้รัฐอุดหนุนต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ไหว ซึ่งตอนนี้พนักงานการบินไทยกลัวกันมาก คือเรื่องการปรับลดจำนวนพนักงาน ผู้นำที่ดีก็ไม่มีใครอยากมาสมัครเป็น”ดีดี”(กรรมการผู้อำนวยการใหญ่)ที่นี่ ปัญหาบุคลากรมีจำนวนมากกว่างานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ไม่ใช่การบินไทยแห่งเดียว ช่วงนี้ไม่อยากไปยุ่งเรื่องคน คงต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ผมจะนำประเด็นนี้ไปหารือในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ด

ผู้สื่อข่าว : กรณีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาอย่างไร

ให้เวลาผมแค่ 1 ปี ปรับลดราคาสลากฯ ที่ขายตามท้องตลาดลงมาเหลือคู่ละ 80 บาท ผมขอสารภาพเลยว่าทำไม่ได้ สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เหมือนสินค้าทั่วไปที่ผลิตออกมาน้อยราคาก็แพง ผลิตออกมามากราคาก็ถูก แต่สลากฯ ออกมาใหม่ๆ ราคาแพง เก็บไว้หลายวันราคาถูกลง พอถึงเวลา ไม่ถูกรางวัลก็ต้องฉีกทิ้ง ระบบการจัดจำหน่ายมีหลายทอด ทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว บวกกำไรกันทุกทอด เมื่อ คสช. เอาจริงก็เลิก คนขายสลากได้กำไรไม่มาก แต่ถ้าขายไม่หมด ต้องเก็บไว้ลุ้นรางวัล โอกาสถูกรางวัลมีน้อย

ผู้สื่อข่าว : ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ตอนนี้มองประเทศไทยอย่างไร

ช่วงที่เดินทางไปประชุมต่างประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของยุโรปประเทศหนึ่งเดินมาพูดคุยกับผม ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ทุกอย่าง แต่เขาสงสัยผู้นำที่เป็นทหารจะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ผมบอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านนี้ให้ติดตามผลการจัดอันดับคอร์รัปชันของโลก เป็นดัชนี หรือ KPI ที่ผมใช้วัดผลงานของรัฐบาล เชื่อว่าประเทศไทยอันดับต้องดีขึ้น เกือบทุกครั้งที่มีการประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะพูดอยู่เสมอว่า ใครรับผิดชอบงานกระทรวงไหน หากตรวจพบทุจริตให้จัดการทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ แต่ถ้ารัฐมนตรีคอร์รัปชันเองจบเลย การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นนโยบายที่ พล.อ. ประยุทธ์เน้นมาก

เรื่องปราบคอร์รัปชัน ผมทำแน่ แต่ทำเร็วไม่ได้ ต้องรอบครอบ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รอบที่แล้วผมเคยถูกฟ้องเกือบติดคุก กรณีสั่งพักงานผู้บริหารบริษัทไทยเดินเรือทะเล แต่ก็โชคดี ทนายความของผมแก้ต่างประเด็นข้อกล่าวหาได้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ผมไม่มีผลประโยชน์ ไม่รู้จักกับผู้บริหารกลุ่มนี้มาก่อน ทำตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร สุดท้ายศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ผมชนะ กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนสอนใจผมมาตลอด “ทำอะไรต้องรอบครอบ อย่าบุ่มบ่าม”

ป้ายคำ :