ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ธนาคารกลางจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ‘การเมือง’

ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ธนาคารกลางจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ‘การเมือง’

29 เมษายน 2024


ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ธนาคารกลางจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ‘การเมือง’ และเมื่อหากดูที่สาเหตุที่ทำให้การเติบโตซบเซา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก

เช้าวันที่ 29 เมษายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี(CNBC) ว่า แรงกดดันทางการเมืองจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นอิสระของธนาคารกลาง

“รอดูผลที่ออกมา(The proof is in the pudding) ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวกับรายการ Street Signs Asia ของ CNBC

แม้จะมี “เสียงเรียกร้อง” ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท. ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร “หากไม่ได้เป็นเพราะเราดำเนินการอย่างเป็นอิสระ” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

“ผมคิดว่ากรอบธรรมาภิบาล(governance framework )นั้นค่อนข้างชัดเจน … การตัดสินใจที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าอยู่บนพื้นฐานของ (สิ่งที่เรา) รู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ มากกว่าการคำนึงถึงการพยายามผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรืออื่นๆ”

  • “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ขาดโมเมนตัม-หลักนิติธรรมตกต่ำ
  • ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดเดือนเมษายนนี้ แต่ธนาคารกลางกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงจากนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ด้วย จากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

    ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ลงทุนและผู้บริโภคใช้จ่าย

    ในรายงานการประชุมเดือนเมษายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน “แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging)”

    “หนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตหรือการสะสมความมั่งคั่ง” รายงานระบุ

  • ธปท. ย้ำดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเป็น “robust policy” รองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
  • ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า เป็น “การสร้างสมดุลที่ยาก” สำหรับธนาคารกลาง เนื่องจากพยายามดูแลการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน

    ในวิดีโอสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ของ CNBC ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า นอกจากการส่งออกที่ซบเซาแล้ว ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐจากพ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งการที่พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ได้ประกาศใช้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนและไตรมาสแรกของปี 2567 มีผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.8%

    “หากดูที่สาเหตุที่ทำให้การเติบโตซบเซา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเป็น “ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัว” และสอดคล้องกับการพยายามที่จะ “การลดหนี้ลงเป็นลำดับ คือการดำเนินการที่สมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้ให้กับครัวเรือนมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้คนก่อหนี้ใหม่มากเกินไป”

    เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 ตามรายงานล่าสุดของ ธปท. โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

    ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “เราก็มีเงินเฟ้ออีกครั้ง โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นและกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายของเรา ในช่วง 1% ถึง 3%” ภายในสิ้นปีนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ผู้ว่าการธปท.กล่าวอีกว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไม่แน่นอน จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพ เนื่องจากประเทศเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรจากการที่ “กำลังแรงงานที่หดตัว”

    อีกทั้งเป็นต้องมี “การมุ่งเน้นที่การลงทุนภาครัฐให้มากขึ้น มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

    “ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมาก คือ การให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎระเบียบมากขึ้น” รวมถึง “ความง่ายในการประกอบธุรกิจ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว