
ผู้ว่าการ ธปท.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะขยายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยระบุว่าจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในการให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กทีวี ว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามที่รัฐบาลเสนอแนะ โดยชี้ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
การผลักดันให้มีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ อาจไม่ยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ และส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ในการให้สัมภาษณ์กับ ฮัซลินดา อามิน(Haslinda Amin)จาก สถานีโทรทัศน์(Bloomberg Television) ในกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร(18 มิ.ย.)
“กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์และได้ผลดี” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว ความเสี่ยงในการปรับเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อจากกรอบ 1%-3% ในปัจจุบันก็คือ “อัตราเงินเฟ้อจริงเริ่มฟื้นตัว”
ความเห็นของดร.เศรษฐพุฒิ ตอกย้ำถึงความแข็งขืนของธนาคารกลางเมื่อเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้ลดต้นทุนการกู้ยืม ความขัดแย้งนี้ได้เพิ่มความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย ส่งผลให้กองทุนทั่วโลกต้องถอนเงินลงทุนประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์จากหุ้นและพันธบัตรของประเทศในปีนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของไทยเฟ้อติดลบ 6 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนมีนาคม
ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตลาดไทยมองว่า เป็นวิธีการสะกิดหน่วยงานทางการเงินให้ลดต้นทุนการกู้ยืม นักวิเคราะห์ซึ่งรวมทั้ง ทามารา เฮนเดอร์สัน(Tamara Henderson) จาก Bloomberg Economics กล่าวว่า วิธีนี้ไม่มีประโยชน์และมีแต่จะทำให้ความพยายามในการควบคุมค่าครองชีพมีความยุ่งยากมากขึ้น
การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อกลับจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้กับรัฐบาลและประเทศโดยรวม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวก่อนที่ การทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกับกระทรวงการคลังที่กำหนดไว้ในเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเริ่มขึ้น
ระดับราคาที่เพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับที่ ธปท. วางไว้ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ให้ผู้กำหนดนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ในสัปดาห์ที่แล้วเป็นครั้งที่สี่ติดต่อกัน ดร.เศรษฐบุตรกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ย 1.1% ในครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ ธปท. ยังไม่ตอบรับข้อเรียกร้องหลายรอบจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ย โดยแย้งว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อกระตุ้นการเติบโตอย่างมีศักยภาพ ไม่ใช่ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง
“อัตราปัจจุบันมีความเหมาะสมในการนำเรากลับไปสู่ศักยภาพในระยะยาว” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว “แต่หากแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็ยินดีที่จะปรับ เราไม่ได้ยึดติดกับมัน และนั่นก็ไม่ใช่จุดยืนที่ดันทุรัง”
เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.1% สู่ 36.762 ดอลลาร์ ณ เวลา 14:31 น. ตามเวลาในไทยหลังจากอ่อนค่าลงเมื่อวันก่อน เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แย่ที่สุดเป็นอันดับสองของเอเชียในปีนี้ รองจากเงินเยนของญี่ปุ่น
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. มีความอดทนต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระดับที่สูงกว่าเมื่อก่อน
ธปท. เผชิญกับการปรับสมดุลที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน โดยพยายามปรับปรุงการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลางของประเทศ ที่กำลังประสบปัญหา ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงระดับหนี้ที่สูงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ว่าเป็นปัญหาที่จะไม่หมดไปในเร็วๆ นี้
“มันเหมือนกับโรคเรื้อรังมากกว่าโรคเฉียบพลัน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า “มันมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อเป็นเวลานาน และจะแก้ไขได้ยาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะนำไปสู่วิกฤติ”
เมื่อถามถึงแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ยและภัยคุกคามต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ประเทศที่มี
นโยบายที่ให้อิสระ ธนาคารกลางจะทำงานได้ดีกว่าในแง่ของผลลัพธ์เงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน
“รอดูผลที่ออกมา(The proof is in the pudding)” ดร.เศรษฐพุฒิ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนปีหน้า กล่าว
แม้จะมีสิทธิ์ลงสมัครเป็นสมัยที่ 2 ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จะไม่สมัครอีก เนื่องจากจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว