ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า ธปท. ยันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ หลังนายกฯเรียกร้องลดดอกเบี้ย

ผู้ว่า ธปท. ยันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ หลังนายกฯเรียกร้องลดดอกเบี้ย

21 กุมภาพันธ์ 2024


ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยยันศรษฐกิจไม่ได้ ‘วิกฤติ’ หลังนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมชี้ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินไม่ได้ทำให้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวหรืออุปสงค์การส่งออกดีขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Nikkei Asia เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ธปท. ไม่เอาด้วยกับการเรียกร้องให้จัดประชุมฉุกเฉินเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย โดยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับการแก้ไข ด้วยการกลับทิศทางนโยบายการเงิน

ในการสัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Asia ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าธนาคารกลาง “ไม่ได้ดันทุรัง” ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ไปไหนทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

สำนักข่าว Niikei Asia รายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางมีมากสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกันสี่เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว แต่ในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องอีกครั้งในวันจันทร์(19 ก.พ.)หลังจากการรายงานตัวเลข GDP ที่อ่อนแอ โดยเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไปในวันที่ 10 เมษายน

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วยว่ามีความ “เป็นมืออาชีพ” และมีความ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ใน “วิกฤติ” นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอดเพื่ออ้างได้ว่าเศรษฐกิจวิกฤติเพื่อที่จะได้รับการอนุมัติจากกระบวนการทางนิติบัญญัติ ให้เดินหน้านโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ได้

“การฟื้นตัวแม้อ่อนแอ แต่ก็ฟื้นและต่อเนื่อง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

สำนักข่าว Niikei Asia รายงานต่อว่า แต่ท่าทีของรัฐบาลต่อธนาคารกลางทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดร.เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุหลังจากหมดวาระในปี 2568 เพราะจะเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี

“มีความตึงเครียด แต่อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางซึ่งยังคงอยู่ตรงนั้นเสมอ เพราะเราสวมหมวกคนละใบ ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ฝ่าเสียงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยชี้ไปที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธปท.ตามหลังแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่เริ่มขึ้นในปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเราเนื่องจากการฟื้นตัวของเราช้ากว่าประเทศอื่นๆ ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

“มันไม่ใช่สถานการณ์การคิดแบบกลุ่ม” ดร.เศรษพุฒิกล่าวถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นบุคคลภายนอก 4 คน และมีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพียง 3 คน

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ กรรมการกนง. 2 รายโหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ดร.เศรษฐพุฒิบอกกับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่าเสียงส่วนน้อย “กังวลว่าอุปสรรคเชิงโครงสร้างมีความรุนแรงมาก จึงอาจมีความสมเหตุสมผลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นระดับที่พอดี(neutral)ใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมานาน เช่น จำนวนประชากร และผลิตภาพแรงงานที่ลดลง คณะกรรมการยังเห็นว่ามีเหตุผลที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งการท่องเที่ยวมีการจ้างงานประมาณ 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานไทยและมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับใน GDP

“สิ่งที่เราเห็นคือการทดแทนการนำเข้ามากขึ้นในจีน … ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาผลิตด้วยตนเองมากขึ้นและไม่ได้นำเข้า” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

นอกจากนี้การพำนักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยวก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน ดร.เศรษฐพุฒิ ไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนทั้งปีได้ ซึ่งตัวเลขนี้เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 ก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด

“หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก อันเป็นผลจากโควิด” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว “มันเป็นความเสี่ยงที่จะสรุปว่าทุกอย่างจะกลับไปหมือนเดิม เพียงแต่ช้าเท่านั้น คุณต้องทำอะไรบางอย่างถ้าคุณอยากจะได้จำนวนนั้น”

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่เข้าไปแทรกแซงธนาคารกลาง แต่จะพยายามโน้มน้าวธนาคารกลางให้ “เห็นใจผู้ที่กำลังเดือดร้อน”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวกับสำนักข่าว Nikkei ว่า “พวกเขากำลังประสบกับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะรายได้ไม่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างที่เราต้องการ แต่เรารู้สึกว่าวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นที่ดีกว่า คือ การใช้มาตรการเจาะจงเป้าหมาย เพราะไม่เหมาะสมที่จะแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกคน

ผู้ว่าการ ธปท.รับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อผู้กู้ยืม แต่กล่าวว่าการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% ของ GDP

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆ เลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำมากเป็นเวลานาน มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม และผมคิดว่าการลดอัตราอีกครั้ง จะส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่การพยายามจัดการให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

  • นายกฯไม่เคยสั่งสภาพัฒน์ฯ จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย – มติ ครม.ตั้งงบผูกพัน 3.7 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์ 62,000 คน