ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังหน้าแตก ประมูลเงินกู้ลอตแรก 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา”ล้ม” สถาบันการเงินไม่ยื่นซอง ชี้ความเสี่ยงข้อกฏหมาย

คลังหน้าแตก ประมูลเงินกู้ลอตแรก 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา”ล้ม” สถาบันการเงินไม่ยื่นซอง ชี้ความเสี่ยงข้อกฏหมาย

1 กุมภาพันธ์ 2014


หลังจากที่รัฐบาลรักษาการพยายามดิ้นสุดซอย หาเงินจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 โดยส่งจดหมายเชิญสถาบันการเงินกว่า 34 แห่ง มายื่นซองประกวดราคาการให้เงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก้อนแรกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2557 ณ อาคารทิปโก้ ชั้น 32 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผลปรากฏว่า ไม่มีสถาบันการเงินรายใดส่งตัวแทนมายื่นซองประกวดราคา การประมูลวันนั้นจึงต้องล้มลง

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สาเหตุที่ไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดยื่นซองประกวดราคาให้เงินกู้แก่ ธ.ก.ส. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะติดประเด็นด้านกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ก็คงมีมุมมองที่แตกต่างกันไปในเรื่องนี้ และ ธปท. คงไม่เข้าไปดูแลในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์มีความสามารถในการดูแลตัวเองได้ และการดำเนินการใดๆ ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องดูความเสี่ยง ซึ่งเรื่องนี้อาจมีความเสี่ยงด้านกฎหมาย

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาโครงการจำนำข้าวนั้น ดร.ประสารกล่าวว่า วิธีแก้ที่ถูกต้องที่สุด คือ รัฐบาลควรเร่งระบายข้าว เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสดส่งคืนเจ้าของข้าว แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุนบ้าง แต่เวลานี้ประเด็นที่เป็นปัญหาคือขาดสภาพคล่อง หากเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจ เมื่อมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ก็ต้องขายสินทรัพย์ออกไป เพื่อนำเงินสดมาคืนเจ้าหนี้

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพไม่ได้เข้าร่วมการประกวดราคาครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายที่ยังสับสนกันอยู่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ธนาคารพาณิชย์เอกชนเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่อาจเข้ามาช่วยเสริมได้เท่านั้น

“จะให้กู้หรือไม่ ธนาคารกรุงเทพต้องดูความชัดเจนและความถูกต้อง แต่ถ้ากฎหมายชัดเจน ถูกต้อง เชื่อว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐคงปล่อยกู้ไปแล้ว ไม่ถึงภาคเอกชน” นายโฆสิตกล่าว

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีการกู้ยืมเงิน 1.3 แสนล้านบาท สำหรับโครงการจำนำข้าวมี 2 ประเด็น คือ 1. กรณีรัฐบาลรักษาการอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท เป็นการอนุมัติเกินวงเงินที่รัฐบาลเคยมีมติไว้ก่อนจะยุบสภา ดังนั้น รัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ 2. การกู้เงินเกินวงเงินตามที่ ครม. เคยมีมติก่อนยุบสภาไม่สามารถดำเนินการได้

“เพราะฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาคือต้องมีรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพื่ออนุมัติเพิ่มวงเงินและรีบขายข้าว เพื่อจะได้มีเงินมาจ่ายคืนชาวนา โดยรัฐบาลอาจประกาศให้ชาวนานำใบประทวนไปขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ได้ทุกแห่งโดยรัฐบาลค้ำประกันใบประทวน ก็จะทำให้ชาวนาขึ้นเงินได้เร็วขึ้น” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ต่อกรณีที่มีข่าวสถาบันการเงินยื่นซองประกวดราคา 1 ราย ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นธนาคารทหารไทย เสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงมากจนกระทรวงการคลังไม่สู้ราคา ต้องยอมถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ ในเรื่องนี้ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาปฏิเสธข่าวว่า “ธนาคารทหารไทยไม่ได้ไปยื่นซองประมูลให้เงินกู้ ธ.ก.ส. เนื่องจากประเด็นทางกฎหมายที่ซับซ้อน ควรตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนนำเสนอข่าว มิฉะนั้นธนาคารเสียหาย”

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปรากฏการณ์สถาบันการเงินไม่กล้ามายื่นซองประกวดราคาให้เงินกู้ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ แสดงถึงความไม่เชื่อมั่น ถึงแม้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำความเห็นของนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการกฤษฎีกา มาชี้แจงว่า “การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะเพื่อกู้เงินและค้ำประกันหนี้ให้ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 และการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. และแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ก่อนยุบสภา การดำเนินกู้เงินดังกล่าวไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพราะอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่กำหนดไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ” แล้วก็ตาม

หลังจากที่แผนการประกวดราคาการให้เงินกู้ ธ.ก.ส. ครั้งแรกไม่สามารถดำเนินการได้ นายกิตติรัตน์จะเดินหาเงินมาใช้หนี้ชาวนาต่อไปอย่างไร แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีระดับผู้มีอำนาจจากกระทรวงการคลัง ติดต่อไปยังธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ขอให้มายื่นซองประกวดราคาการให้กู้เงิน ธ.ก.ส. ครั้งที่ 2 ที่จะจัดให้มีขึ้นในสัปดาห์ถัดไป แต่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยปฏิเสธว่าธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ได้ เนื่องจากเป็นห่วงประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน จึงแนะนำให้ สบน. ปรับเปลี่ยนแผนการกู้เงินให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ออกพันธบัตรกู้เงิน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทางธนาคารกรุงไทยอาจจะเข้าไปลงทุน ขณะที่ผู้บริหารธนาคารออมสินตอบสั้นๆ ว่ายังไม่ได้รับเรื่องจากกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ

อนึ่ง ด้วยสถานะของรัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 มีข้อกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักบริหารหนี้ รวมทั้งข้าราชการระดับรองปลัด จนถึงปลัดกระทรวงการคลัง และแม้แต่ภาคเอกชน มีความไม่มั่นใจในข้อกฎหมาย เกรงว่าหากดำเนินการไปแล้วจะมีความเสี่ยงตามมา แม้ว่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าสามารถทำได้และสั่งการให้ข้าราชการดำเนินการทันทีก็ตาม