ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ได้มีพิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนและมอบสิทธิ์ให้รัฐวิสาหกิจลาว-เอเซีย โทรคมนาคม ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาล สปป.ลาว เข้าถือหุ้นในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม จำกัด
ผู้ลงนามในสัญญา ประกอบด้วย พูวง กิดตะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน และ พลจัตวา อุลาทา ทองวันทา ผู้อำนวยการ รัฐวิสาหกิจ ลาว-เอเซีย โทรคมนาคม โดยมีตัวแทนจากกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กระทรวงป้องกันประเทศ ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำ สปป.ลาว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ตามเนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กระทรวงการเงิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม (https://www.mof.gov.la/index.php/2024/08/26/sen-san-yan/) ไพทูน เที่ยงละไม รักษาการณ์ หัวหน้ากรมปฏิรูปและการประกันภัย กระทรวงการเงิน ได้บอกเล่ารายละเอียด ที่มาของพิธีเซ็นสัญญาครั้งนี้ว่า
เดิมกระทรวงการเงินได้เป็นตัวแทนรัฐบาลลาว ออกข้อตกลง ฉบับที่ 0643/กง. ลงวันที่ 6 เมษายน 2553 ว่าด้วยการอนุญาตจัดตั้ง บริษัทลาวพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง จำกัด ขึ้น โดยผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้มาจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
บริษัทลาวพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลลาว เข้าถือหุ้น 20% ในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม(Viet Nam-Laos Vung Ang Port Joint Stock Company : VLP)
ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลลาวได้ก่อตั้งรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทลาวพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง พร้อมเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิ์การถือหุ้นในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม มาเป็นรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนแทนบริษัทแม่
ภายหลัง รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐวิสาหกิจลาวบริการท่าเรือหวุงอ๋าง โดยมีกระทรวงการเงินเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว
ปี 2562 รัฐบาลลาวได้ตั้งรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ขึ้นทำหน้าที่แทนรัฐวิสาหกิจลาวบริการท่าเรือหวุงอ๋าง
รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เป็นการร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงินกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน ถูกตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือที่ 1 , 2 และ 3 ของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
ขณะที่รัฐบาลเวียดนาม ได้เห็นชอบในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของรัฐบาลลาวในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม จาก 20% เป็น 60% โดยรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ได้เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนนี้ในนามรัฐบาลลาว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 รัฐบาลลาวได้อ้างอิงเนื้อหาในแผนความร่วมมือลาว-เวียดนาม ประจำปี 2563 จากที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม ครั้งที่ 45 ซึ่งมีนโยบายให้กระทรวงการเงินจัดหารัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ที่มีรัฐบาลลาวเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ขึ้นทำหน้าที่แทนรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม โดยให้คัดเลือกกิจการที่มีศักยภาพ มีความพร้อมด้านเงินทุน เทคนิค วิชาการ เพื่อเป็นคู่ร่วมทุนกับฝ่ายเวียดนาม ในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม พร้อมกันนั้น ก็ได้สั่งยุบเลิกรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม
กระทรวงการเงินจึงได้คัดเลือกให้รัฐวิสาหกิจลาว-เอเซีย โทรคมนาคม ซึ่งเป็นกิจการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐบาลต้องการ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลลาวถือหุ้นเต็มทั้ง 100% มารับบทบาทในส่วนนี้แทน<
……

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ตั้งอยู่ชายทะเลในจังหวัดฮาติงห์ ภาคกลางค่อนขึ้นมาทางเหนือของเวียดนาม อยู่ห่างทางใต้จากกรุงฮานอย 340 กิโลเมตร และอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดกว๋างบิ่ญ
ปี 2540 รัฐบาลเวียดนามได้วางแนวทางพัฒนาเมืองหวุงอ๋างตามแผน”เหนือกว๋างบิ่ญ ใต้ฮาติงห์” ด้วยการสร้างเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือนำลึกหวุงอ๋าง ต่อมาปี 2549 ได้สถาปนา”เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง”ขึ้น บนพื้นที่ 227.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,400 ไร่ บริเวณเชิงเขาทางเหนือของเทือกเขาหว่าญเซิน ในอำเภอกี่อาญ
นอกจากที่ดินซึ่งเตรียมไว้สำหรับให้นักลงทุนมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างที่เป็นแม่เหล็กสำคัญ สำหรับดึงดูดเม็ดเงินลงทุน
ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกได้ 46,000 เดทเวทตัน

ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2560 ทีมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของไทย ได้เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย-ลาว-เวียดนาม ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขต ขึ้นไปจนถึงกรุงฮานอย ได้เขียนรายงานถึงท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างไว้ว่า ประกอบด้วย 3 ท่าเทียบเรือ ได้แก่
-ท่าเทียบเรือที่ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร
-ท่าเทียบเรือที่ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร
-ท่าเทียบเรือที่ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร
การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เป็นเหมือนการเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับลาว เพราะที่ตั้งท่าเรือแห่งนี้ อยู่ตรงปลายทางของถนนหมายเลข 8 และ 12 ที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญตามแนวขวางของลาว และเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดของลาวที่จะไปออกสู่ทะเล หากวัดจากจุดเริ่มต้นที่นครหลวงเวียงจันทน์
เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลเวียดนามและลาวร่วมกันตั้งบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (VLP) ขึ้น เพื่อร่วมบริหารและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งออกสินค้าที่ผลิตได้จากลาว

ช่วงแรกหลังการก่อตั้ง บริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง รัฐบาลเวียดนามถือหุ้น 80% และรัฐบาลลาว 20%
กลางปี 2562 รัฐบาลลาวได้ขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนามขึ้นเป็น 60% และขอเป็นผู้บริหารท่าเทียบเรือที่ 1 ,2 และ 3 เอง ขณะที่กระทรวงการเงินได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน ตั้งรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนามขึ้น โดยกระทรวงการเงินถือหุ้น 51% บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน ถือหุ้น 49%
วัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ตั้งขึ้นเพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ในนามรัฐบาลลาว และเข้าบริหารท่าเทียบเรือที่ 1 , 2 และ 3 ของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เพื่อขยายขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทั้งแบบเทกองและตู้คอนเทนเนอร์ โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจะสามารถให้บริการแก่เรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000 ตัน ถึง 100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 50,000 ตู้ ถึง 1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน ถึง 20 ล้านตัน ได้ในปี 2573
ปี 2563 รัฐบาลเวียดนามตกลงตามข้อเสนอของลาว โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ลงมาเหลือ 40% พร้อมเปิดทางให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เข้าบริหารท่าเทียบเรือ 1 , 2 และ 3…
บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน เป็นบริษัทในกลุ่ม”พงสะหวัน” ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายกว้างขวางครอบคลุมหลากหลายประเภทกิจการ ทั้งธุรกิจค้าไม้ ธนาคารพาณิชย์ สายการบิน ค้าปลีกน้ำมัน และที่สำคัญ คือธุรกิจโลจิสติกส์
เครือข่ายธุรกิจของกลุ่มพงสะหวัน ได้เข้าไปมีบทบาทในฐานะเจ้าของสัมปทานและผู้ร่วมทุนกับรัฐบาลลาวในโครงการพัฒนาที่สำคัญหลายโครงการ เช่น
รัฐวิสาหกิจ ลาว-เอเซีย โทรคมนาคม เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงป้องกันประเทศ หรือกระทรวงกลาโหมของลาว โดยกระทรวงป้องกันประเทศถือหุ้นเต็มทั้ง 100%
รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลลาวทางฝั่งทหาร ในการลงทุนหรือร่วมทุนในธุรกิจหรือกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ
ธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐวิสาหกิจ ลาว-เอเซีย โทรคมนาคม เข้าไปมีบทบาทก่อนหน้านี้ คือการร่วมทุนกับเวียดเทล(Viettel Group) ตั้งบริษัทสตาร์ เทเลคอม ขึ้นในปี 2551 เพื่อเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ Unitel ในลาว โดยรัฐวิสาหกิจ ลาว-เอเซีย โทรคมนาคม ถือหุ้น 51% เวียดเทล ถือหุ้น 49% และปัจจุบัน Unitel ถือเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ค่ายหนึ่งของลาว

ส่วนเวียดเทล เป็นบริษัทสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยี่ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงกลาโหมเวียดนาม นอกจากในลาวแล้ว เวียดเทลยังได้ขยายเครือข่ายออกไปลงทุนหรือร่วมทุนในธุรกิจสื่อสารในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เมียนมา ติมอร์ตะวันออก รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปอาฟริกา และอเมริกาใต้
…..
พิธีเซ็นสัญญาระหว่างกระทรวงการเงิน และรัฐวิสาหกิจ ลาว-เอเซีย โทรคมนาคม ซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เปรียบไปแล้ว เหมือนเป็นการเปลี่ยนตัวผู้เล่นหลัก ที่จะเข้ามาดูแลการเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับลาว
จากเดิมที่บทบาทนี้เคยตกกับภาคธุรกิจซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นทางการเมืองกับบุคคลในพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และรัฐบาล อย่างกลุ่มพงสะหวัน
เปลี่ยนมาชูบทบาทให้”ทหาร”ได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ ที่จะเข้ามารับผิดชอบภารกิจส่วนนี้แทน…