ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้จัก CLMV ในมิติต่างๆ และโอกาสทางธุรกิจของนักลงทุนไทย

รู้จัก CLMV ในมิติต่างๆ และโอกาสทางธุรกิจของนักลงทุนไทย

2 มกราคม 2020


แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีทิศทางชะลอตัวลง กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ยังคงเติบโตได้อย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงน่าสนใจว่า ประเทศกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะและปัจจัยสนับสนุนใดที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เขียนบทความนี้ นำเสนอข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับกลุ่มประเทศ CLMV ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และการเงิน ตลอดจนวิเคราะห์ถึงโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มนี้

เศรษฐกิจโดยรวมของ CLMV

ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศ CLMV จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก และมีแนวโน้มที่จะคงการเติบโตในลักษณะนี้ในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ป่าไม้ สินแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพในการขยับขยายอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศได้ดี และมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จากทั้งด้านการทำงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ป่าไม้ สินแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพในการขยับขยายอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้ดี และมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จากทั้งด้านการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

ทั้งนี้ ในวงการตลาดทุน กลุ่มประเทศ CLMV ถูกจัดว่าเป็น “ตลาดชายขอบ” หรือ Frontier Markets โดยมีคุณลักษณะเด่นคือเป็นตลาดที่ใหม่และมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มาก จากโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดกลุ่มอื่น ๆ แม้ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงกว่าจากค่าเงินหรือภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น

  • จัดอยู่ในสถานะประเทศรายได้ปานกลาง
  • หลายคนอาจมีภาพจำว่า CLMV เป็นประเทศรายได้ต่ำ แต่แท้จริงแล้ว ทั้ง 4 ประเทศต่างได้รับการยกระดับเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างหรือ Lower Middle Income ตามเกณฑ์ของธนาคารโลกแล้ว

  • มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง
  • จุดเด่นประการหนึ่งของกลุ่มประเทศ CLMV คือเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากการที่รัฐบาลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา (ตารางที่ 1) ส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมีความชัดเจนและต่อเนื่อง และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในระยะยาว

  • ประชากรกว่าร้อยละ 60 อยู่ในวัยทำงาน
  • CLMV มีความได้เปรียบด้านกำลังแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศ โดยมีประชากรวัยทำงานอายุ 15 – 59 ปี ที่สูงกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 177 ล้านคน และค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ใช้ทักษะระดับล่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนส่วนเพิ่มในการฝึกฝนอบรมแรงงานเช่นกัน

    การค้าและการลงทุนของ CLMV

  • มีอัตราการเปิดประเทศสูง

  • อัตราการเปิดประเทศ หรือสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการต่อ GDP ในระดับสูงหมายถึง CLMV มีการพึ่งพาภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี แม้ระดับการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็ว แต่ก็ทำให้ประเทศกลุ่มนี้เผชิญกับความเสี่ยงภาคต่างประเทศที่มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก

  • เป็นแหล่งการลงทุนสำคัญของผู้ประกอบการต่างชาติ
  • สถานการณ์การค้าและการลงทุนของโลกที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจหลายประเทศมองหาโอกาสและตลาดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่ง CLMV ก็มีความเหมาะสม จากเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวดี นอกจากนี้ CLMV ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในระยะหลัง โดยผู้ประกอบการจีนบางส่วนได้ทยอยย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสินค้านำเข้าในระดับสูง

    สำหรับประเทศไทย กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนเช่นกัน โดยข้อมูลการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย แสดงให้เห็นว่า CLMV เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการลงทุนของธุรกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 8 และรูปที่ 9) โดยข้อได้เปรียบหลักในการลงทุนของไทยใน CLMV คือทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ส่งผลให้มีความเข้าใจตลาดที่ดีกว่า และมีต้นทุนขนส่งต่าง ๆ ที่ต่ำกว่า

    ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยนิยมเข้าไปลงทุนใน CLMV ในภาคการผลิตและภาคการเงินเป็นสำคัญ โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของธุรกิจภาคการผลิตดังกล่าว คือหมวดการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

  • สินค้าและตลาดส่งออกกระจุกตัว (CLM)
  • โครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV โดยเฉพาะ CLM ยังค่อนข้างกระจุกตัว กล่าวคือ มีความหลากหลายของสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกไม่มากนัก สะท้อนจากมูลค่าของหมวดสินค้าส่งออกอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมของประเทศ ในมิติของตลาดส่งออกรายประเทศ พบว่า สปป.ลาว และเมียนมายังมีตลาดหลักที่กระจุกตัวมาก ขณะที่กัมพูชาและเวียดนาม มีตลาดที่หลากหลายกว่า (ตารางที่ 4) ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศผู้นำเข้าหลักประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

  • การค้าชายแดนกับไทยมีมูลค่าการค้ารวมสูง (CLM)
  • การเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย ทำให้การค้าชายแดนของกลุ่ม CLM กับไทยมีความสำคัญ และมีสัดส่วนต่อมูลค่าการค้ารวมในระดับสูงโดยไทยมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่อยู่ใกล้ จึงมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ อีกทั้งรูปแบบการค้ายังเรียบง่าย ไม่มีกฎระเบียบหรือมาตรการกีดกันที่เข้มงวด นอกจากนี้ ความนิยมของสินค้าไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากที่สินค้าไทยมีคุณภาพดี และผู้บริโภคส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกับแบรนด์ไทยจากสื่อต่างๆ มาเป็นระยะเวลานาน

    การเงินของ CLMV

  • พัฒนาการของภาคการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ
  • CLMV ยังมีพัฒนาการของภาคการเงินในระดับต่ำในหลายมิติ อาทิ ความสามารถในการเป็นตัวกลางของภาคการเงิน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อของภาคเอกชนในประเทศต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น (รูปที่ 12) และจากข้อมูลของรายงาน The Global Findex Database ฉบับปี 2560 ของธนาคารโลก (ตารางที่ 5) ที่ชี้ให้เห็นว่า CLMV ยังมีพื้นที่ให้สามารถพัฒนาได้อีกมาก

  • ธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญของระบบการเงิน
  • ธนาคารพาณิชย์จัดเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญของภาคเอกชนในกลุ่ม CLMV ส่วนหนึ่งเนื่องจากช่องทางอื่น ๆอาทิ ตลาดเงิน และตลาดทุน ยังมีขนาดเล็กมาก โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตลาดหลักทรัพย์ ที่มีจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนน้อย และสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (MarketCapitalization) ต่อ GDP ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดเงินและตลาดทุนโดยรวมของ CLMV ยังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนา บริการทางการเงินจึงอาจไม่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจและครัวเรือนได้อย่าง เต็มที่ ดังนั้น ภาคการเงินของไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปเสนอบริการในช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย ของบริการทางการเงินได้

    โอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

    ทางออกทางหนึ่งของไทยท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง คือการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาด CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่มนี้ยังเติบโตดีตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ การลงทุนในตลาด CLMV ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2561 ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีทั้งหมด 584 แบรนด์ โดยมี 49 แบรนด์ที่ขยายกิจการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยใน CLMV กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ CLMV มีความคล้ายคลึงกับไทยทั้งในด้านลักษณะสังคม วัฒนธรรม รวมถึง Lifestyle ของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาธุรกิจและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดกลุ่มนี้ได้ดี

    สำหรับการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV นั้น ภาครัฐได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อวางแนวทางเจาะตลาดเป้าหมายและสินค้าเป้าหมายอย่างเร่งด่วนโดยหนึ่งในตลาดเป้าหมายส่งออกดังกล่าวคือ CLMV และติดตามประเมินสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

    นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้พัฒนาโครงการเชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค หรือโครงการรถไฟทางคู่ ที่จะเชื่อมโยงไทย กัมพูชา สปป. ลาว และจีน เพื่อการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของไทยในการคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ได้เร็วและมากกว่าประเทศอื่น

    ในขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ก็ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจในตลาด CLMV เช่นกัน โดยการพัฒนาสินเชื่อระยะยาวเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทยไปเปิดบริการในต่างประเทศ หรือว่าจ้างบริษัทไทยให้ไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยพิจารณาหลักประกันตามความเหมาะสม และคิดดอกเบี้ยในราคาถูก นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศที่ 8.6 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562) สะท้อนถึงความพร้อมในการสนับสนุนผู้ส่งออกไทยให้สามารถขยายตลาดใหม่ได้เป็นอย่างดี

    บทสรุป

    กลุ่ม CLMV เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนถึงกำลังซื้อที่มีแนวโน้มเติบโตดี มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน ทรัพยากร และเสถียรภาพทางการเมือง การพึ่งพาภาคต่างประเทศยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง รวมทั้งภาคการเงินยังมีลู่ทางให้ธุรกิจสถาบันการเงินไทยสามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้ง่าย

    ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้ ซึ่งมี ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการเจาะตลาดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการขยายการค้าการลงทุน รวมทั้งยังมี EXIM Bank เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินอีกด้วย