ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวขยายเวลา “ห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำ” คุมโควิดถึง 31 ม.ค.64

ASEAN Roundup ลาวขยายเวลา “ห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำ” คุมโควิดถึง 31 ม.ค.64

27 ธันวาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 ธันวาคม 2563

  • เวียดนามเปิดเว็บท่าให้ข้อมูล FTA
  • ฟิลิปปินส์คาดสรุป FTA เกาหลีใต้ไตรมาสแรกปี 2564
  • ลาวขยายเวลาห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพื่อคุมโควิด-19
  • รัฐบาลลาวอนุมัติการขายที่ดินริมถนน 450 ปีในเวียงจันทน์
  • เมียนมาจะเริ่มโครงการดึงการลงทุนต่างชาติ
  • เวียดนามเปิดเว็บท่าให้ข้อมูล FTA

    ที่มาภาพ:
    https://en.nhandan.com.vn/business/item/9428502-vietnam-launches-portal-on-free-trade-agreements.html

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade:MOIT) ได้เปิดตัวเว็บไซต์เพื่อเป็น เว็บท่า(Portal) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามได้ลงนามไว้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจในประเทศใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว

    เว็บไซต์นี้เรียกว่า FTAP พัฒนาขึ้นโดยความช่วยเหลือของธนาคารโลกและรัฐบาลออสเตรเลียและขณะนี้เริ่มออนไลน์แล้วในชื่อ https://fta.moit.gov.vn

    เว็บท่านี้มีฐานข้อมูลที่สามารถค้นหาภาษีในประเทศคู่ค้า สถิติการค้าตามประเภทสินค้า ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับมาตรการและข้อกำหนดสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าบริการและการลงทุน

    นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออินเทอร์แอกทีฟเพื่อช่วยธุรกิจประเมินว่า ผลิตภัณฑ์ตรงตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าหรือไม่ และต้องมีขั้นตอนใดบ้างเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดการรับรอง รวมทั้งยังมีเอกสารทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรี และมีข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับธุรกิจที่จะสามารถร่วมได้ ตลอดจนยังรายงานหรือสิ่งพิมพ์ที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อให้ประชาชนดาวน์โหลดได้ฟรี

    บริการที่จัดให้มีในจุดเดียวจะช่วยให้ธุรกิจประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากแหล่งต่างๆ

    นายตรัน ต่วน อานห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าการเปิดตัว FTAP แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลเวียดนามในการนำข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่ให้ใกล้กับธุรกิจและประชาชนมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า MOIT จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อปรับปรุงเว็บท่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

    จากข้อมูลของ MOIT เวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีทั้งหมด 14 ฉบับ และได้ข้อสรุปเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ และกำลังเจรจาอีก 2 ฉบับ โดยที่ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) เป็นสองฉบับล่าสุด

    ฟิลิปปินส์คาดสรุป FTA เกาหลีใต้ไตรมาสแรกปี 2564

    ที่มาภาพ: https://www.rappler.com/business/philippines-south-korea-begin-free-trade-agreement-talks

    ฟิลิปปินส์คาดว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับเกาหลีใต้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปี 2564
    “หวังว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีหน้า” อัลลัน เกปตี้ ผู้ช่วยเลขานุการการค้ากล่าวกับผู้สื่อข่าว เพราะยังอีกสองประเด็นที่ต้องเจรจาต่ออีก

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่ายยังคงตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางวิชาการ ซึ่งสรุปได้ง่ายเนื่องจากเป็นเพียงเรื่องของการปรับแก้ไขบทเฉพาะกาล ส่วนประเด็นที่ซับซ้อนกว่าในการเจรจาแคือ การเข้าถึงตลาด

    “เรายังไม่ได้รับข้อเสนอที่สมเหตุสมผลข้อเสนอที่ดีจากเกาหลี และเรามีคำขอบางอย่างที่พวกเขายังไม่ได้ตกลงเช่นกัน”

    ผลิตภัณฑ์ที่ฟิลิปปินส์ผลักดันให้เข้าถึงตลาดในเกาหลีใต้ได้มากขึ้น ได้แก่ ผลไม้เมืองร้อน เช่น กล้วย มะม่วง สับปะรด และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ

    กล้วยเป็นสินค้าเกษตรที่ฟิลิปปินส์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากกล้วยที่ส่งออกจากฟิลิปปินส์จะถูกเก็บภาษี 30% เมื่อนำเข้าเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าอเมริกากลางและเวียดนาม

    เกาหลีใต้ได้ยกเลิกการเก็บภาษีสำหรับการขนส่งกล้วยของเปรู ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอเมริกากลางจะได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันภายในปีหน้า ด้านเวียดนามจะเริ่มได้รับประโยชน์กับการส่งออกกล้วยไปยังเกาหลีใต้ภายในปี 2024

    ทั้งนี้ ยังคงมีการเจรจาเกี่ยวกับคำขอของฟิลิปปินส์ที่ให้เกาหลีใต้ลดภาษีกล้วย ต่อเนื่อง เกปตีี้กล่าวว่า เกาหลีใต้กำลังผลักดันให้สินค้าอุตสาหกรรมเข้าตลาดฟิลิปปินส์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปฟิลิปปินส์ผ่าน FTA

    การเจรจา FTA ระหว่างฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นทั้งฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้เสร็จสินและลงนามในข้อตกลงภายในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เพียงแต่ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับ FTA ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วแทน หลังจากได้ข้อตกลงเกี่ยวประเด็นการแข่งขัน

    การค้าระหว่างฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้มีมูลค่า 11.44 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

    ลาวขยายเวลาห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพื่อคุมโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.laos-guide-999.com/travel-to-laos.html
    รัฐบาลสปป.ลาวได้ ระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำต่อเนื่อง เริ่มจากในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เพื่อการนำเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัสเข้ามาในลาว โดยที่การประกาศข้อห้ามดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากบางประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นและยังมีการพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่

    รองศาสตราจารย์ดร.บุญคง สีหะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจอดในลาว

    คำสั่งห้ามเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมถึง 31 มกราคม 2564 แต่จะมีข้อยกเว้นสำหรับเที่ยวบินเพื่อมนุษยธรรมที่เห็นว่าจำเป็น แต่ผู้โดยสารทุกคนจะต้องได้รับผ่านการคัดกรองอย่างละเอียด

    รองศาสตราจารย์ดร.บุญคงกล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด -19 ยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อโลกและต่อลาว และยังไม่บรรเทาลง อีกทั้งบางประเทศได้รายงานการพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีอัตราการแพร่เชื้อที่เร็วกว่า “นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่าไวรัสได้กลายพันธุ์และการแพร่เชื้อนั้นเร็วและซับซ้อนกว่าสายพันธุ์เดิม” การติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ทำให้การป้องกันและควบคุมไวรัสซับซ้อนขึ้น

    รัฐบาลขอให้ทุกคนระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งจะไม่มีการออกวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติตามที่ได้ระงับมาแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามนักการทูต เจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในลาวเพื่อทำงานที่จำเป็น

    โดยก่อนเดินทางจะต้องได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศลาวจากคณะกรรมการควบคุมสถานการณ์โควิดและผู้ที่เดินทางเข้าลาวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เข้มงวด โดยต้องมีใบรับรองที่แสดงว่า มีผลตรวจไวรัสโควิดเป็นลบ เป็นเวลา 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางโดยสายการบินที่รับผิดชอบในการตรวจสอบใบรับรอง

    เมื่อเดินทางมาถึงประเทศลาวแล้ว ผู้เดินทางจะได้รับการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้งและถูกกักกันที่สถานที่หรือโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลา 14 วัน

    จุดผ่านแดนทางบกทั่วประเทศจะยังคงปิดให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไปและรถบรรทุกขนส่ง จุดผ่านแดนบางจุดที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล จะปล่อยให้รถบรรทุกผ่านได้แต่ต้องได้รับการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง

    พลเมืองลาวและชาวต่างชาติที่จำเป็นต้องเข้าหรือออกจากลาวอย่างเร่งด่วน สามารถทำได้หลังจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

    นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้จัดคอนเสิร์ตและงานเลี้ยง ส่วนการเฉลิมฉลองปีใหม่สากล ควรจำกัดเป็นงานส่วนตัวที่จัดขึ้นที่บ้าน การสังสรรค์ทางสังคมทั้งหมดรวมถึงงานแต่งงานควรจำกัดและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

    รัฐบาลลาวอนุมัติการขายที่ดินริมถนน 450 ปีในเวียงจันทน์

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2020/12/23/government-approves-sale-of-land-along-vientianes-450-years-road/

    รัฐบาลลาวได้อนุมัติการขายที่ดินตลอดสองข้างทางของถนน 450 ปีในนครหลวงเวียงจันทน์

    สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ออก ประกาศเกี่ยวกับการขายที่ดิน 283,500 ตารางเมตรทั้งสองข้างของถนน 450 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการสงวนที่ดินไว้เพื่อก่อสร้างอาคารราชการแห่งใหม่ และให้เช่าโดยให้สัมปทานกับนักลงทุนเอกชน

    ตอนนี้รัฐบาลได้ประกาศว่าจะเริ่มขายพื้นที่บางส่วนของที่ดินนี้ให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อระดมเงิน

    ที่ดิน 93 แปลงภายในรัศมี 50 เมตรตลอดสองฝั่งของถนน 450 ปีจะถูกขายออกในราคาตลาด เพื่อระดมเงินมาชำระคืนธนาคารแห่งสปป.ลาว สำหรับเงินที่ได้ใช้ไปในการก่อสร้างถนน

    ถนนที่มีความยาว 20.3 กิโลเมตร สร้างเสร็จในปี 2010 เพื่อฉลองครบรอบ 450 ปีที่เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของลาว ถนนสายนี้เชื่อมโยงสัญญาณไฟจราจรดงโดกในเขตไซยธานีไปยังหมู่บ้านดงโพสีในเขตหาดทรายฟอง

    นายคำผาย สิลาสา ประธานกลุ่มก่อสร้างดวงเฉลิม กล่าวว่า การก่อสร้างถนน 450 ปีและการขายที่ดินด้านใดด้านหนึ่ง ได้ตกอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานเทศบาลนครหลวงเวียงจันทน์ในภายหลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องขายที่ดินริมถนนเพื่อระดมเงินที่ใช้ในการก่อสร้างและชำระคืนธนาคารแห่งสปป.ลาว

    อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านไปสิบปีสามารถขายที่ดินได้เพียง 20%เท่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เหมาะสมเช่น น้ำประปาและไฟฟ้า ที่ดินส่วนใหญ่ยังคงไม่มีการถม และไม่เป็นที่สนใจของผู้ซื้อและนักลงทุน

    ดวงเฉลิม ดีเวลลอปเมนท์ คอนสตรัคชั่นกรุ๊ ปได้รับมอบหมายให้พัฒนาที่ดินเพื่อขาย รวมทั้งการเชื่อมต่อสาธารณูปโภคและการถมดิน ภายใต้ข้อตกลงระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ และธนาคารแห่งสปป. ลาว

    การพัฒนานี้มีมูลค่ากว่า 30 ล้านเหรียญดอลลารNและน่าจะขายที่ดินหมดภายใน 5 ปี

    เมียนมาจะเริ่มโครงการดึงการลงทุนต่างชาติ

    ที่มาภาพ:
    https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-start-joint-projects-three-asian-countries.html

    ท่ามกลางความพยายามที่จะดึงการลงทุนจากต่างชาติเพื่อลดผลกระทบของการระบาดของโควิด -19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของเมียนมา รัฐบาลคาดว่าการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 3 โครงการ ที่วางแผนไว้สำหรับเขตย่างกุ้ง ที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไทยมีส่วนร่วม จะเริ่มขึ้นในเร็วนี้

    ในการประชุมประจำปีของสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) อู ต่อง ทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมา (MIFER) กล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการเกษตร ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมของเมียนมา มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MIFER กล่าวว่า เมียนมาจะต้องดำเนินโครงการเขตอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนและสะพานในประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวด ล้อมทางธุรกิจที่มีศักยภาพและดึงดูดการลงทุนมากขึ้น

    ศูนย์อุตสาหกรรมเกาหลี-เมียนมา (Korea-Myanmar Industrial Complex :KMIC) จะเริ่มก่อสร้างในวันที่ 24 ธันวาคม รวมทั้งในเร็ว ๆ นี้รัฐบาลจะเริ่มโครงการ AMATA Smart and Eco City ซึ่งจะดำเนินการร่วมกันระหว่างเมียนมากับไทย และนิคมอุตสาหกรรมเมียนมา-สิงคโปร์ ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับสิงคโปร์

    สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า แผนพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและการปฏิรูปเศรษฐกิจของเมียนมาร์ (Myanmar Economic Resilience and Reform Plan :MERRP) ที่กำลังจัดทำ ได้ครอบคลุมข้อผูกพันที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ยุทธศาสตร์และภาคส่วนต่างๆในประเทศ ร่วมกับผู้พัฒนาที่มีประสบการณ์ในระดับสากล

    KMIC ศูนย์อุตสาหกรรมร่วมเกาหลี – เมียนมา เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งแรกระหว่างรัฐบาลเกาหลีและเมียนมาจะสร้างขึ้นที่เขตเลกู ในย่างกุ้ง กระทรวงการก่อสร้างของเมียนมาร่วมลงทุน 40% ในบริษัทโคเรีย-เมียนมา ดิเวลลอปเม้นท์ คอมเพล็กซ์ขณะที่โคเรียแลนด์ แอนด์เฮ้าซิ่ง คอร์ปอเรชั่น และ โกลบอล แซ-เอ จำกัดถือหุ้น 40% และ 20% ตามลำดับ

    รายงานของYangon Project Bank ระบุว่า โครงการย่างกุ้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าประมาณ 110 ล้านเหรียญดอลลาร์ (148.95 พันล้านจ๊าด) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2023 โครงการนี้จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 558 เอเคอร์ (225 เฮกตาร์) และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก รองรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สถานประกอบการและอุตสาหกรรมหนัก และจะมีโรงเรียนอาชีวศึกษาด้วย ตามรายงานของธนาคารโครงการย่างกุ้ง

    ทั้งนี้คาดว่า บริษัทเกาหลีประมาณ 200 แห่งจะลงทุนในโรงงานผลิตซึ่งจะสร้างรายได้ภาษี 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี อู ฮัน ซอว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้างให้คำมั่นว่า KMIC จะสร้างงาน 50,000 ถึง 100,000 ตำแหน่ง และสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการส่งออกและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ

    โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ Yangon Amata Smart and Eco City ซึ่งรัฐบาลภูมิภาคชื่นชมว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่

    โครงการมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ถูกวางแผนให้พัฒนาบนพื้นที่ 2,000 เอเคอร์ ในเขตดากองตะวันออก และเขตดากองใต้ ในย่างกุ้ง โครงการนี้จะร่วมกันพัฒนาโดยกรมการพัฒนาเมืองและการเคหะ (Department of Urban and Housing Development:UHDD) กระทรวงก่อสร้างเมียนมา กับบริษัท อมตะ เอเชีย (เมียนมา) จำกัด ในเครือบริษัท อมตะ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย

    ในเดือนมกราคม UHDD และ บริษัท อมตะ เอเชีย (เมียนมา) จำกัดได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน 50 ปี โดยUHDD ถือหุ้น 20% ใน บริษัท ที่พัฒนาโครงการส่วนที่เหลือเป็นของบริษัท อมตะ เอเชีย (เมียนมา) จำกัด กระทรวงการก่อสร้างระบุว่า โครงการนี้คาดว่าจะสร้างงาน 33,000 ตำแหน่ง ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของภูมิภาคย่างกุ้ง

    นิคมอุตสาหกรรมเมียนมา-สิงคโปร์ (Hlegu) คาดว่าจะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 436 เฮกตาร์ที่เขตเลกูในย่างกุ้ง มีมูลค่าประมาณ 230 ล้านดอลลาร์ โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา(Myanmar Investment Commission:MIC) เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งจะพัฒนาร่วมกันโดย เซ็มบ์คอร์ป ซีเอสเอสดี เมียนมา(Sembcorp CSSD Myanmar Co.) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของเซ็มบ์คอร์ป อินดัสตรีส์ (Sembcorp Industries) ของสิงคโปร์กับ พาห์ธามา กรุ๊ป(Pahtama Group) ของเมียนมาและเมียนมา อกริบิสซิเนส พับลิก คอร์ป(Myanmar Agribusiness Public Corp)

    รัฐบาลภูมิภาคย่างกุ้งระบุว่า นิคมอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ทำจากอาหาร ผู้พัฒนาจะสร้างถนนทางเข้าไปยังท่าเรือติลาวาที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในย่างกุ้ง ผ่านถนนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ เพื่อขนส่งและส่งออกสินค้าจากนิคมไปยังเมียนมาตอนบน

    MIFER ระบุว่า แม้จะเกิดการระบาด แต่ประเทศก็มีเป้าหมายดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถึง 98%ในปีนี้

    อู ต่อง ทุน กล่าวว่า MIC กำลังพิจารณาข้อเสนอการลงทุนและจะออกใบอนุญาตให้โดยเร็วที่สุด ผ่านการประชุมออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด-19 (CERP)

    ในเดือนเมษายน MIFER ได้ปรับลดอัตราค่าบริการลงครึ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุน

    ในระหว่างการประชุม นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมากล่าวด้วยว่า แม้จะเผชิญกับความท้าทายของโควิด-19 แต่เมียนมายังคงมีศักยภาพที่ดีในแง่ของเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีที่ตั้งที่จัดว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค และสิ่งสำคัญเพื่อดึงดูดการลงทุนคือ ต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย เช่น ความโปร่งใส ความง่ายและสะดวก ความสามารถในการคาดการณ์และความสามารถในการแข่งขัน

    ที่ปรึกษาแห่งรัฐย้ำว่า เมียนมาจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการระบาดใหญ่