ThaiPublica > เกาะกระแส > CLMVT Forum 2019 อาเซียนต้องร่วมมือเหนียวแน่น เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในยุคสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนร้าวลึกกว่ามิติทางการค้า

CLMVT Forum 2019 อาเซียนต้องร่วมมือเหนียวแน่น เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในยุคสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนร้าวลึกกว่ามิติทางการค้า

25 มิถุนายน 2019


กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงาน CLMVT Forum 2019 ภายใต้แนวคิด CLMVT as the New Value Chain Hub of Asia ศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชีย ขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมเรเนซองส์

CLMVT คือ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา เวียดนาม และไทย ตั้งอยู่ใจกลางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกด้วยจำนวนประชากรรวมกันกว่า 238 ล้านคน รายได้รวมกันกว่า 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ GDP ที่ 6.2% ในปี 2561 ทำให้ภูมิภาค CLMVT เต็มไปด้วยศักยภาพและโอกาสในการลงทุนอย่างล้นเหลือ แม้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและไม่แน่นอน แต่ภูมิภาค CLMVT ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพเพื่อยืนหยัดและชนะความท้าทายของเศรษฐกิจโลกมาตลอด

CLMVT Forum 2019 เป็นเวทีการหารือระหว่างผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อสร้างความร่วมมือให้ภูมิภาค CLMVT เติบโตต่อเนื่องและแข่งขันได้ โดยร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางในอนาคตของภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นเวทีรวมสุดยอดนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงจากแต่ละประเทศใน CLMVT

ในงานจึงมีการเสวนาในหัวข้อที่หลากหลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่า ความขัดแย้งทางค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนหยั่งรากลึกกว่าแค่มิติด้านการค้า ไม่อาจระบุได้ว่าจะยุติลงได้ในเร็ววัน และผลกระทบต่ออาเซียนจะรุนแรงยิ่งกว่าครั้งใดในอดีต แม้จะส่งผลดีในระยะสั้น แต่จะเป็นผลลบในระยะยาว พร้อมแนะให้หารือและร่วมมือกันภายในภูมิภาคให้มากขึ้น ตลอดจนเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคครั้งสำคัญนี้ ขณะเดียวกัน CLMVT ยังมีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสอีกมาก

CLMVT Forum 2019 มีรัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผู้แทนระดับสูงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เอกอัครราชทูต ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ภาควิชาการ หอการค้า จากประเทศสมาชิก CLMVT และหอการค้าแห่งชาติ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ รวมกว่า 500 คน เข้าร่วมงาน

สหรัฐฯ-จีนร้าวลึกกว่ามิติทางการค้า

ในค่ำวันที่ 23 มิถุนายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานเลี้ยงรับรองและเสวนาก่อนเปิดการประชุม CLMVT Forum อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน โดยมีศาสตราจารย์คีชอร์ มาห์บูบานี (Prof. Kishore Mahbubani) อดีตทูตสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส (ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์) และศาสตราจารย์ด้านการดำเนินนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) กล่าวในปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Are the US and China doomed to enmity ฤาสหรัฐอเมริกากับจีนจะจบลงด้วยการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน”

“ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่ลึกยิ่งไปกว่านั้น” ศาสตราจารย์คีชอร์ มาห์บูบานี กล่าวและว่า ในอดีตเมื่อเกิดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีคู่แข่งลำดับสองกำลังไล่ตามมาชิงความเป็นหนึ่ง ความตึงเครียดย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น ความตึงเครียดทางการค้าที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นเพียงมิติหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจ

ศาสตราจารย์คีชอร์ มาห์บูบานี ศาสตราจารย์ด้านการดำเนินนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

ศาสตราจารย์คีชอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งนี้อยู่ที่การเมืองหรือเศรษฐกิจ พร้อมกับชี้ว่า มิติด้านการทหาร เช่น การเผชิญหน้ากันในทะเลจีนใต้, มิติด้านวัฒนธรรม เช่น เหตุผลและความเชื่อซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย และมิติด้านอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกกลัวภัยจากผิวเหลืองในโลกตะวันตกซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจแสดงออกได้อย่างชัดเจนและมีความซับซ้อน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มองข้ามความสำคัญไม่ได้ในความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น และอาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ที่ถูกกดดันให้ต้องตัดสินใจเลือกข้าง

ศาสตราจารย์คีชอร์กล่าวถึงภูมิหลังของอาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก แต่กลับประสบความสำเร็จในการรวมตัวกันจนเติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่การรวมตัวระดับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกล้วนประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเอเชียใต้หรือยุโรป และวิเคราะห์ว่า ปัจจัยความกลัวเป็นจุดกำเนิดของการรวมตัวเป็นอาเซียน ในช่วงก่อตั้งเมื่อปี 1967 โลกมีความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว ด้วยวิสัยทัศน์และความเข้มแข็งของผู้นำอาเซียนในช่วงนั้น จึงเกิดการรวมตัวกันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น จนปัจจุบัน อาเซียนเป็นภูมิภาคที่นำมาซึ่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนเป็นเวทีสากลให้มหาอำนาจได้พบปะเจรจากัน

ศาตราจารย์คีชอร์กล่าวว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่รวมตัวแล้วประสบความสำเร็จเพราะจุดเริ่มต้นมาจากความกลัว ทำให้อยู่ด้วยกันรวมตัวกันประกอบกับมีโชคทางการเมือง 2 ด้าน ด้านแรก ปีก่อตั้งอาเซียน 1967 เป็นปีที่จีนแยกตัวออกจากรัสเซีย นับจากนั้นอาเซียนและสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันมาตลอดในภูมิภาคนี้ ส่วนโชคการเมืองด้านที่ 2 ปี 1980 เป็นช่วงที่อาเซียนมีผู้นำที่เข้มแข็ง ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย, นายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์ แห่งมาเลเซีย, นายกรัฐมนตรีลี กวน ยู แห่งสิงคโปร์ รวมทั้งผู้นำไทย แต่ปัจจุบันหลายชาติอาเซียนมีความแตกแยกภายใน จึงต้องมีความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอาเซียนมีความสงบสุขมีความเจริญรุ่งเรือง

ศาสตราจารย์คีชอร์กล่าวว่า ในอดีต ความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ จับมือกับจีนส่งผลให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้นมา แต่ในปัจจุบัน เมื่อสหรัฐฯ ขัดแย้งกับจีนและกำลังพยายามสลัดความสัมพันธ์ (decouple) ทางเศรษฐกิจจากจีน ผลกระทบที่ส่งต่อมาถึงภูมิภาคอาเซียนที่พึ่งพาความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจนี้ย่อมสั่นคลอนไปด้วย

“ขณะนี้อาเซียนกำลังประสบกับช่วงเวลาที่อันตรายใหญ่หลวง และผมเชื่อว่าไม่มีห้วงเวลาใดที่อาเซียนจะอันตรายไปกว่าช่วงนี้ ที่ผ่านมาอาเซียนโชคดีที่สหรัฐฯ กับจีนทำงานร่วมกัน แต่ตอนนี้สหรัฐฯ กับจีนแตกคอกัน”

ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนครั้งนี้ ศาสตราจารย์คีชอร์มองว่า จะเป็นอนุสรณ์เตือนใจและอันตรายมากยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์ 52 ปีของอาเซียน

“อาเซียนต้องเริ่มเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามจิตวิทยานี้ การพูดคุยหารือกันให้มากขึ้น เช่น การประชุม CLMVT นี้จึงจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในเวทีที่สำคัญมากที่จะช่วยนำอาเซียนให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้” ศาสตราจารย์คีชอร์ทิ้งท้ายพร้อมให้ความหวังและเชื่อมั่นว่า โลกในอนาคตจะต้องดีขึ้นกว่าปัจจุบัน หากพิจารณาจากพัฒนาการในอดีตมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรโลกที่หลุดพ้นความยากจน อดอยาก และสัดส่วนจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญแนะเร่งสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

สำหรับเสวนาในหัวข้อ Trade War: What it means for ASEAN มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ลี เฉิน เฉิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงานสถาบันการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (Singapore Institute of International Affairs) ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนายมนตรี มหาพฤษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

  • ชี้อาเซียนเร่งรวมตัวเป็นฐานการผลิตเดียว
    ลี เฉิน เฉิน มีความเห็นความสอดคล้องกับศาตราจารย์คีชอร์ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนนี้เป็นมากกว่าสงครามการค้า “จะเรียกว่าการแข่งขันช่วงชิงอำนาจหรือสงครามเย็นก็สุดแท้แต่ แต่โอกาสที่จะจีนยอมถอย เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย” ลีมองว่า สำหรับจีนตอนนี้ ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยและศักดิ์ศรี

    ส่วนผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ นั่นคือ ในระยะสั้น การย้ายฐาน การผลิตออกจากจีนมายังอาเซียน อย่างไรก็ตาม การย้ายห่วงโซ่การผลิตจากจีนมายังอาเซียนไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินหยวน นอกจากนี้ในปี 2020 ยังมีบริษัทญี่ปุ่นจะย้ายฐานมาไทยและเวียดนาม มากขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีการย้ายฐานการผลิตออกมา 15% ซึ่งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ได้รับประโยชน์อีกด้วย ตลอดจนการเข้าไปแทนที่ตลาดสินค้าจีน ในสหรัฐฯ อาจเป็นผลบวกต่ออาเซียนในช่วงนี้

    ลี เฉิน เฉิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงานสถาบันการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์

    แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ในระยะยาว สงครามการค้ามีผลกระทบทางลบต่ออาเซียน โดยเฉพาะการค้าที่หดตัวจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการคาดการณ์จากมาเลเซียว่า สงครามการค้าจะกระทบต่อจีดีพีให้ลดลงจาก 5% เป็น 4.6%

    เมื่อพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ ความขัดแย้งทางการค้าบีบให้อาเซียนต้องตัดสินใจภายใต้ภาวะที่กดดันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะในทางปฏิบัติแล้วอาเซียนไม่สามารถเลือกได้ระหว่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลภูมิภาคมานานกับจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เป็นนักลงทุนโดยตรงรายใหญ่ และอาเซียนก็ต้องการการลงทุนโดยตรงจากจีนอีกด้วย

    สำหรับทางออกของอาเซียน ลีชี้ว่า ประชาคมอาเซียนต้องรวมตัวกันและเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งจะต้องเร่งส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่า และฐานการผลิตเดียว (single production hub) โดยไม่รอช้า เพื่อให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก ให้ทันกันกระแสการเติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคและยานยนต์

    แต่การที่จะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกได้ ลีแนะนำว่า อาเซียนต้องมีความเชื่อมโยงกันด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure connectivity) ที่ยังขาดแคลนอีกมาก และมีช่องว่างให้ภาครัฐรวมทั้งเอกชนซึ่งเป็นพันธมิตรต่างประเทศรายอื่นที่ไม่ใช่จีน ไม่ใช่สหรัฐฯ เพราะยังมีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป เข้ามาสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงกันยิ่งขึ้น

    อาเซียนต้องดำเนินการปรับมาตรการ กฎระเบียบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนเป้าหมายร่วม และยึดมั่นในนโยบายการค้าเปิดเสรี

  • อาเซียนเสริมกันอย่างดีในห่วงโซ่ผลิต

    ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เห็นสอดคล้องกันว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนต่ออาเซียนจะรุนแรงมากยิ่งกว่าในอดีต เช่น ในกรณีของไทย การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐฯ ลดลง เพราะห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี โอกาสของอาเซียนอยู่ที่ความร่วมมือเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิต ของแต่ละประเทศในภูมิภาค ซึ่งก้าวหน้าในระดับที่แตกต่างกัน จากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เกื้อหนุนกันเพื่อเชื่อมต่อไปยังห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

    ดร.สมประวิณได้อ้างถึงการศึกษาของสายงานวิจัยซึ่งประเมินผลของการเก็บภาษีรอบที่ 4 ที่สหรัฐฯ เคยระบุว่าจะเก็บจากทุกประเภทสินค้า จะพบว่า ในกรณีเลวร้ายสุดอัตราภาษีที่จ่ายจริง (effective rate) จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของอัตราปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลกับสินค้าไปทั่วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

    ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

    นอกจากนี้จากการประเมินด้วยแบบจำลองที่คำนึงถึงผลกระทบ 2 ด้าน ด้านแรกผลของการทดแทน (substitution effect) ซึ่งหมายถึงทั้งสหรัฐฯ กับจีนต้องหาคู่ค้ารายใหม่ การนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทนการนำเข้าสั่งซื้อสินค้าระหว่างกัน ส่วนผลกระทบอีกด้านคือผลกระทบด้านลบต่อการผลิต เพราะอาเซียนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนใช้ โดยผลที่ได้จากแบบจำลองคือ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และผลกระทบนั้นมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับจีนนั่นเอง

    สำหรับประเทศไทยพบว่าได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งทางการค้าบ้างเล็กน้อย หมายความว่าไทยได้รับผลดีจาก substitution effect มากกว่าผลกระทบด้านลบจากห่วงโซ่การผลิต ซึ่งดูเหมือนกับว่าเป็นข่าวดีของไทย แต่แบบจำลองนี้ยังไม่ได้มีปัจจัยช่วงระยะเวลา ไม่มีปัจจัยการเมือง รวมทั้งไม่มีผลกระทบจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

    เมื่อศึกษาลึกลงไปของผลกระทบที่อาจจะมีต่อไทย พบว่า การส่งออกของไทยได้รับประโยชน์เฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้รับผลทางลบ และเมื่อแยกเป็นรายภาคสินค้า การส่งออกส่วนใหญ่ได้รับผลลบ ภาคสินค้าที่ได้รับผลดีกระจุกตัวในบางภาคเท่านั้น

    ดร.สมประวิณกล่าวว่า ข้อมูลที่นำเสนอแสดงให้เห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้แข่งขันกัน แต่เสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดี ในการพัฒนาภูมิภาคนี้ และแต่ละประเทศสมาชิกก็มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่คุณค่า โดยดูได้จากทิศทางการค้าที่เปลี่ยนไป (trade diversion) รวมทั้งทิศทางการลงทุนที่หันเหไป (investment diversion) ซึ่งประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จะได้รับผลดี

    เมื่อพูดถึงการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนทิศไป ส่วนใหญ่มักหวังที่จะเห็นการลงทุนโดยตรงเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากโครงการการส่งออกและการลงทุนแล้ว จะเห็นการมีส่วนร่วมและสถานะในห่วงโซ่การผลิตของโลกของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต่างกัน ประเทศสมาชิกอาเซียน ไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งแม้การผลิตอยู่ในต้นน้ำเหมือนกัน แต่การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของโลกอยู่ในจุดที่ต่างกัน

    ประเทศจีนซึ่งอยู่ในการผลิตต้นน้ำเหมือนกันแต่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของโลกอย่างมาก จึงเป็นจุดเชื่อมต่อของไทยไปยังโลก ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่กึ่งกลางของห่วงโซ่การผลิตช่วยให้ไทยและประเทศอื่นมีการเชื่อมโยงกัน

    นอกจากนี้ ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นฐานการผลิตในต้นน้ำ ก็พบว่าโครงสร้างการผลิตของไทยคล้ายกับเวียดนาม แต่ต่างจากกัมพูชา แสดงให้เห็นว่าแม้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ไม่ได้อยู่ในระดับการผลิตเดียวกันในห่วงโซ่การผลิต เช่น ในธุรกิจเทเลคอมไทยจะอยู่ในการผลิตปลายน้ำ เวียดนามอยู่ตรงกลาง กัมพูชาอยู่ในต้นน้ำ นั่นหมายความว่าทั้ง 3 ประเทศนี้สามารถเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดีในห่วงโซ่การผลิต

    “เราต้องคุยกันให้มากขึ้น และความร่วมมือกันคือหัวใจ” ดร.สมประวิณกล่าวสรุป

  • แนะเจรจาข้อตกลงในนามกลุ่มอาเซียน
    นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองผลกระทบของสงครามการค้า ที่ก้าวขึ้นไปถึงขั้นรุนแรงยิ่งกว่าแค่สหรัฐฯ กับจีน แต่กำลังลุกลามเป็นการปกป้องทางการค้าในระดับภูมิภาค (regional protectionism) เช่น ข้อตกลง USMCA ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา ซึ่งภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังเม็กซิโกจำเป็นต้องปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ (product portfolio) เตรียมรับมือกับผลกระทบในเรื่องนี้

    นายมนตรีกล่าวว่า การที่อาเชียนประกาศจะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทาง เศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค (Regional Compre hensive Economic Partnership: RCEP) ให้บรรลุผลภายในปีนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ โดยตรง

    นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

    นายมนตรีเสนอว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ควรผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มในการเข้าร่วมข้อตกลงสำคัญๆ ระดับโลกแทนที่จะเข้าร่วมแบบเอกเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลก นอกจากนี้ยังเสนอว่า อาเซียนควรเจรจาเพื่อประสานความร่วมมือกันในการผลิตสิ่งที่เป็นจุดแข็งของแต่ละประเทศ แทนที่จะแข่งขันกันเองในเวทีการค้าโลก ตลอดจนค้นหาดีเอ็นเอของอาเซียนและร่วมมือกันเพื่อเตรียมรับกับผลกระทบของความขัดแย้งที่อาจขยายวงออกไป ไม่ว่าจะเป็น USMCA สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กับสหภาพยุโรป หรือกับอินเดีย

    นายกประยุทธ์ชี้ CLMVT ต้องยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาค

    ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่สำคัญว่า ภูมิภาค CLMVT ถือว่ามีความโดดเด่นในฐานะศูนย์กลางการค้า การลงทุน ทั้งในภาคการ เกษตร อุตสาห กรรม และบริการ เนื่องจากการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และการมีปัจจัยพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อม ทำให้ภูมิภาค CLMVT มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นในเครือข่ายการผลิตของอาเซียนและเอเชีย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้

    กลุ่มประเทศ CLMVT จึงถือเป็นภูมิภาคที่ทั่วโลกให้การจับตามอง เห็นได้จากศักยภาพทางด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและตลาดสำคัญที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมของภูมิภาค CLMVT ขยายตัวสูงถึง 5.1% และระหว่างปี 2556-2560 ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม CLMVT มีการค้ากับประเทศนอกกลุ่ม CLMVT ขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงถึง 4.6% ต่อปี นอกจากนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ CLMVT ด้วยกันยังขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7.1 และ 15.7% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง และการประสานของห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคที่เชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

    “ภูมิภาคของเราต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ที่มีบทบาทในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของทุกประเทศทั่วโลก โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจในทุกๆ ภาคเศรษฐกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตร หรือบริการ”

    การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้จึงนำมาสู่โอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับภาคธุรกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตระดับโลก แต่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงในการทำธุรกิจ ทำให้ทุกภาคส่วนใน CLMVT ต้องปรับตัว และที่สำคัญคือต้องจับมือกันในการก้าวไปข้างหน้า และแบ่งปัน ไม่ใช่แข่งขันกันอย่างเดียว

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคเอกชนต้องมีการเตรียมความพร้อม และป้องกันความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดโลก เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ โดยภูมิภาค CLMVT จำเป็นต้องยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาค เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงในเครือข่ายการผลิตโลกได้ต่อไป ทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาธุรกิจการเกษตร สิ่งทอ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

    CLMVT ต้องร่วมมือกันรับโอกาส

    จากนั้นเป็นการเสวนาระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อ CLMVT ภูมิภาคแห่งโอกาสที่ไม่มีสิ้นสุด โดยนายพัน โสรสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา, นางเขมมานี พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สปป.ลาว, ดร.ถั่น มินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมียนมา และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีนางสาวกเว็น โรบินสัน บรรณาธิการข่าวทั่วไป สำนักข่าว Nikkei Asian Review ดำเนินการเสวนา

    จากซ้าย นายพัน โสรสัก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา, นางเขมมานี พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สปป.ลาว, ดร.ถั่น มินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมียนมา, นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

    นายพัน โสรสัก กล่าวว่า แม้ปัจจุบันมีความท้าทายหลายอย่างในเศรษฐกิจโลก แต่ก็มองว่าขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอีกด้วย และ CLMVT มีศักยภาพในห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จากที่ตั้งที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์รวมทั้งมีแรงงานจำนวนมาก และเชื่อว่าแต่ละประเทศจะเสริมซึ่งกันและกันได้

    สำหรับกัมพูชาเองได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับนักลงทุน ที่ต้องการขยายการลงทุน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีบริการครบวงจรในจุดเดียว ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และบริการอื่นๆ นักลงทุนเพียงแค่ย้ายการลงทุนมาเท่านั้น

    ประเด็นสำคัญที่กำลังจับจ้องกันคือ ความขัดแย้งทางการค้า ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุน มีการพิจารณาฐานการลงทุนใหม่ที่ศักยภาพ ซึ่งส่งผลให้มีการเรียกร้องประเทศฐานการลงทุนนั้นปรับปรุงเพื่อสร้างภาวะแวดล้อมทางการลงทุน ในเรื่องนี้ นายพันกล่าวว่า CLMVT มีความยืดหยุ่นมาก และเปิดโอกาสให้นักลงทุนกระจายการลงทุน การส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้นำอาเซียนแนะนำให้อาเซียนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง

    “CLMVT มีแรงงานราคาถูก และมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เวียดนามขยับขึ้นไปในระดับสูงในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะทำให้ CLMVT ได้รับประโยชน์ระหว่างกัน เสริมซึ่งกันและกัน”

    ส่วนความท้าทาย มีการพูดกันว่ายังมีหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การขาดแรงงานที่มีทักษะ นโยบายด้านการค้า การศึกษา ซึ่งนายพันกล่าวว่า ทุกประเทศก็อยู่ในกระบวนการนั้นอยู่แล้ว โดยกัมพูชาเองมีการปฏิรูปหลายด้าน และแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การศึกษาได้มีการปรับหลักสูตรให้มีการเรียนการสอน STEM หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก

    “ความท้าทายก็คือโอกาส เพราะความท้าทายนั้นทำให้เราต้องคิดพิจารณาว่าจะไปที่ไหน เวียดนามเป็นตัวอย่างที่ที่จะนำมาเรียนรู้”

    นางเขมมานี พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สปป.ลาว กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลกมีความขัดแย้งกัน CLMVT จำเป็นที่จะยังคงเปิดรับการค้าและการลงทุน และแทนที่จะมุ่งไปที่การส่งออกนอกภูมิภาคก็ควรที่จะเน้นการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้นรวมไปถึงการรวมตัวเป็นกลุ่มย่อย เช่น CLMVT

    อย่างไรก็ตาม CLMVT ก็ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งคมนาคมข้ามพรมแดน การออกกฎหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคและการดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามา ซึ่งจะทำให้ CLMVT จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานะดีที่จะรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนการผลิต การมีส่วนในห่วงโซ่การผลิต การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนรายใหม่

    “ตอนนี้เป็นเวลาของ CLMVT ที่จะได้ประโยชน์จากโอกาสที่เปิดไว้นี้ และห่วงโซ่การผลิตใน CLMVT นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นจากไทยและเวียดนาม ส่วนลาวและเมียนมาอยู่ระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก และมีโอกาสในธุรกิจประมง เกษตร อาหาร ท่องเที่ยวและบริการ”

    สำหรับประเทศลาวได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 80s หลังจากมีการปรับเปลี่ยนจากการพัฒนาโดยรัฐมาสู่ภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ โดยลาวสามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่สำคัญลาวมีจุดเด่นที่การผลิตไฟฟ้า

    สำหรับความท้าทายนั้น นางเขมมานีกล่าวว่า ได้แก่ การเข้าถึงตลาดภายในอาเซียน ซึ่ง 6 ประเทศในอาเซียนสามารถเข้าถึงตั้งแต่ปี 2010 และเข้าตลาดเมียนมา เวียดนาม กัมพูชาในปี 2018 การเข้าถึงตลาดได้ทำให้การส่งออกของลาวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากสินค้าในห่วงโซ่ของลาว และภาคเอกชนของลาว

    ดร.ถั่น มินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมียนมา กล่าวว่า CLMVT เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน และอาเซียนก็เชื่อมต่อกับจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี

    “เราต้องส่งเสริมการร่วมมือระหว่าง CLMVT ด้วยกัน เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและยังมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจร่วมกันด้วย มีข้อตกลงการค้าข้ามชายแดน เราต้องพัฒนาห่วงโซ่เพื่อเศรษฐกิจ”

    สำหรับเมียนมา ดร.ถั่น มินท์ กล่าวว่า ได้มีการปฏิรูป 2 ด้าน ด้านแรก การออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุน รวมทั้งได้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมาย ทั้งกฎหมายการลงทุน กฎหมายธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เปิดรับการค้าจากทั่วโลก

    นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย กล่าวว่า ปี 2560 มูลค่าการค้าของ CLMVT กับทั่วโลกสูงถึง 951 พันล้านดอลลาร์ แต่กลับมีมูลค่าการค้าระหว่างกันภายใน CLMVT เองเพียง 75 พันล้านดอลลาร์ จึงยังสามารถขยายการค้าระหว่างกันได้อีกมาก

    สำหรับเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาในกลุ่ม CLMVT ทั้งหมดในปี 2560 เพิ่มขึ้นสูงมากรวมกันถึง 31.9 พันล้านดอลลาร์ และทุกประเทศที่รับการลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนที่แตะระดับสูงสุดใหม่ เพิ่มขึ้น 28% และคิดเป็นสัดส่วน 23% ของเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาทั้งหมดในอาเซียน แสดงให้เห็นว่า CLMVT ดึงดูดการลงทุนได้มาก

    ประเทศไทยซึ่งอยู่ในศูนย์กลางของ CLMVT จึงมีความสำคัญในด้านการเชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ทั้งระบบรางหรือรถไฟ ถนน เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และเชื่อมโยงครอบคลุมไทย ลาว ไปจนถึงจีน รวมทั้งทะลุผ่านเมียนมาไปถึงอินเดียซึ่งกำลังสร้าง และเป็นหลายประเทศถือเป็นการพัฒนาบนเส้นทางระบียงเศรษฐกิจ

    ไทยขณะนี้มีการเชื่อมต่อจากแม่สอดไปยังเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปี รวมทั้งมีการเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมของประเทศจีนบนโครงการ One Belt One Road ที่เชื่อมโยงผ่านไทย- จีน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมเครือข่ายลุ่มน้ำโขง GMS Network ของ CLMVT และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มนี้ คือ East-West Economic Corridor (EWEC) หรือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกของ GMS ที่เชื่อมโยงทะเลจีนใต้ รวมไปถึงแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) เชื่อมโยงจีน-พม่า ลาว-ไทย และแนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)

    นอกจากนี้ ต้องมีการร่วมมือกันในด้านการควบคุมกติกา เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน เช่น พิธีการเอาสินค้าออกข้ามแดน

    “เชื่อว่ามีโอกาสมหาศาลใน CLMVT ในหลายด้าน แม้มีความท้าทายแต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องข้ามผ่าน สำหรับไทยแล้วมีหลายโครงการที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนประเทศ CLMV หากต้องการ ดังนั้นเชื่อว่าหากเราช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านความรู้ กฎเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผ่านอุปสรรคหรือความท้าทายไปได้ และการค้าก็จะขยาย”