ThaiPublica > สู่อาเซียน > MRC เผยน้ำแม่โขงตอนล่างสูงขึ้นมาที่ระดับปกติ คาดฝนตกมากขึ้นพ.ค.-ก.ค.

MRC เผยน้ำแม่โขงตอนล่างสูงขึ้นมาที่ระดับปกติ คาดฝนตกมากขึ้นพ.ค.-ก.ค.

30 เมษายน 2020


ที่มาภาพ: http://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/mekong-levels-rise-to-normal-while-more-rainfall-is-in-forecast/

สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission:MRC)ในวันที่ 30 เมษายน 2563 เผยแพร่รายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้เพิ่มขึ้นมาที่ระดับปกติ และคาดว่าฝนจะตกมากขึ้น

รายงานของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า ระดับน้ำทั่วลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างส่วนใหญ่สูงขึ้นกลับมาอยู่ในระดับปกติของค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่ยังต่ำกว่าระดับน้ำในฤดูร้อนของปี 2561 และ 2562

จากการสังเกตการณ์ของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ฝนที่ตกก่อนฤดูกาลในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในเดือนเมษายน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงกลับมาสู่ระดับปกติ

ดร.ลัม ฮุง สน หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งในสังกัดสำนักงานเลขาธิการกล่าวว่า “ภูมิภาคนี้มีฝนตกในปริมาณมากตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน แม้ปริมาณโดยรวมยังอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ที่เชียงแสน ในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวัดระดับน้ำที่อยู่เหนือสุดในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พบว่า วันนี้(30 เมษายน 2563) ระดับน้ำอยู่ที่ 3 เมตรหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.20 เมตร ขณะระดับน้ำที่วัดได้ในนครเวียงจันทน์ สปป.ลาวอยู่ที่สูงกว่า 2 เมตรเล็กน้อย ขณะที่ระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 1.13 เมตร

ในกัมพูชา ระดับน้ำที่สตึงเตร็ง จังหวัดกระแจะ และกำปงจาม ต่างสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำที่จุดบรรจบจตุมุข ท่าเรือพนมเปญ และแปร็ก กะดัม ต่างอยู่ในค่าเฉลี่ย

ส่วนในเวียดนาม พื้นที่แม่โขงเดลต้า หรือบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เมืองถั่น จาว บนแม่น้ำโขง และเมืองจาว ด็อก บนแม่น้ำบาสสัค ระดับน้ำยังผันผวนใกล้เคียงค่าเฉลี่ย เป็นผลจากน้ำขึ้นน้ำลง

ภัยแล้งของปี 2562 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ส่งผลให้ระดับน้ำของทั้งลุ่มน้ำโขงลดลงต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ต่ำกว่าระดับที่เคยวัดได้นับแต่ตั้งเริ่มมีการวัดระดับน้ำใน 60 ปีก่อน และยังมีผลต่อเนื่องในหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำโขงซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูฝน

ดร.สนกล่าวว่า “ระดับในฤดูร้อนของปีนี้ยังคงต่ำกว่าระดับน้ำในปี 2561 และ 2562 เนื่องจากผลกระทบของกระแสน้ำของแม่น้ำโขงสายหลักที่ลดต่ำมากในปีที่แล้ว แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นทีละน้อย”

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีฝนตก ซึ่งทำให้พื้นที่แห้งแล้งอย่างมากกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง

สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงคาดว่า จะมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักทั่ว 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563 กัมพูชา สปป.ลาว และไทยจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเวียดนาม

สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า ภูมิภาคแม่น้ำโขงปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอล นิโญ่ และลานีญา ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและความเย็นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ที่สลับกันไปมา ทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติเล็กน้อยและตกไม่ทั่วพื้นที่

“เราคาดว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะมีฝนตกมากขึ้นและชุ่มชื้นมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามประชาชนควรเตรียมพร้อมเพราะอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ทุกเวลา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน พืชผลและอาจจะถึงกับชีวิต” ดร.สนกล่าว

จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ประเมินทั้งจากความเป็นไปได้และและระดับความแห้งแล้งกับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้น พบว่า กัมพูชา สปป.ลาว ไทยและเวียดนาม จะมีฝนตกไม่เท่ากันในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563

เดือนพฤษภาคมทั้ง 4 ประเทศค่อนข้างที่จะไม่มีฝน แต่ในเดือนมิถุนายน กัมพูชาและไทยจะมีฝนตกมากกว่า สปป.ลาวและเวียดนาม ส่วนในเดือนกรกฎาคม ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และไทยจะมีฝนตกหนักมาก ขณะที่มีฝนตกน้อยกว่าในเวียดนาม

การคาดการณ์ฝนตกทั้ง 3 เดือนรวมกัน ทำให้สถานการณ์ในกัมพูชา สปป.ลาว และไทยจะมีความชุ่มชื้นมากกว่าเวียดนาม เพราะทั้ง 3 ประเทศมีโอกาสที่ได้รับน้ำฝนมากกว่า

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเริ่มจัดตั้งครั้งแรกในนาม “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” เมื่อปี พ.ศ. 2500 และเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “คณะกรรมการชั่วคราว” ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ต่อมาพ.ศ. 2538 ทั้งสี่ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมกัน ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการร่วมมือ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง แบบยั่งยืน อันเป็นการก่อตั้ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC)

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล มีภารกิจเพื่อส่งเสริม และประสานงานการด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งน้ำ และทรัพยากรอันเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แบบยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการส่งเสริมแผนงานยุทธศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งจัดหาข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ และให้คำแนะนำด้านนโยบาย