ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สปป.ลาวเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรก เวียดนามเริ่มขยายอายุเกษียณปีหน้า

ASEAN Roundup สปป.ลาวเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรก เวียดนามเริ่มขยายอายุเกษียณปีหน้า

29 พฤศจิกายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2563

  • สปป.ลาวเดินเครื่องโรงกลั่นแห่งแรก 30 พ.ย.
  • ลาวสร้างเขื่อนเซเปียนเซ-น้ำน้อยขึ้นใหม่
  • เวียดนามเริ่มขยายอายุเกษียณปีหน้า
  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ CREATE
  • กัมพูชาตั้งนิคม SME Cluster แห่งแรก
  • อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทยลงนามความร่วมมือด้านศุลกากร
  • สปป.ลาวเดินเครื่องโรงกลั่นแห่งแรก 30 พ.ย.

    ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=55496
    สปป.ลาวจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในสัปดาห์หน้า วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เพื่อตอบสนองการบริโภคในประเทศ โรงกลั่นนี้ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไชยเชษฐา นครเวียงจันทน์

    โครงการโรงกลั่นเริ่มขึ้นในปี 2558 โดยบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลาว-จีน ต่งหย่าน ที่มีบริษัทยูนนาน ต่งหย่าน อินดัสเตรียล โฮลดิ้ง ถือหุ้น 75% โดยรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อเพลิงลาว (Lao State Fuel) ถือหุ้น 20% ที่เหลืออีก 5% ถือโดยบริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน จำกัด

    “โครงการโรงกลั่นปิโตรเลียมตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 280,000 ตารางเมตร โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 179 ล้านเหรียญสหรัฐ” นายพะนาย พวงเพชร รองผู้จัดการทั่วไปของลาวปิโตรเลียมและเคมี กล่าวกับสื่อเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน

    “ โครงการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงและลดราคาน้ำมันในตลาดภายในประเทศ”

    โรงกลั่นแห่งนี้คาดว่าจะผลิตน้ำมันเบนซิน(gasoline) ดีเซล เบนซีน(benzene) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(Liquefied Petroleum Gas:LPG)ได้ 1 ล้านตันต่อปี

    ลาวสร้างเขื่อนเซเปียนเซ-น้ำน้อยขึ้นใหม่

    ที่มาภาพ:
    http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Collapsed232.php
    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซ-น้ำน้อยในแขวงอัตตะปือ ได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่อ่างเก็บน้ำขึ้นใหม่ หลังจากที่เขื่อนได้แตกเมื่อ 2 ปีก่อนจนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง

    เจ้าหน้าที่โครงการกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่มาสำวจโครงการเมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายนว่า มีการสร้างเขื่อนแห่งใหม่ไม่ไกลจากโครงสร้างเดิมที่ได้พังลงมาและทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลมาท่วมหมู่บ้านจำนวนมากในตำบลสนามไซซึ่งอยู๋ท้ายเขื่อน

    เขื่อนได้ทรุดตัวลงหลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน เพราะเป็นเขื่อนดินไม่สามารถรองรับมวลน้ำปริมาณมากได้

  • ลาวเขื่อนแตกประสบภัยกว่า 1,000 ครอบครัว รัฐบาลประกาศภัยพิบัติระดับชาติ – สถานฑูตไทยเปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือ
  • “เขื่อนกั้นน้ำใหม่ทำจากคอนกรีต มีความมั่นคงและแข็งแรงและสร้างขึ้นภายใต้คำแนะนำของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัทพลังงานระดับสากลนานาชาติ” เจ้าหน้าที่กล่าว

    ดร.สินาวา สุพานุวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำในวันเดียวกัน เพื่อตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน

    เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในลาวมีจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ได้ 100 แห่ง ภายในปี 2573 ปัจจุบันมีเขื่อน 78 แห่งที่ใช้งานแล้วด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 9,972 เมกะวัตต์ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 52,211 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี

    หากเขื่อนถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานทางเทคนิคสูงสุด เขื่อนเหล่านี้จะคงอยู่ไปอีกนานและเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางเศรษฐกิจสังคมของลาวสำหรับคนรุ่นต่อไป

    การพังทลายของเขื่อนที่โรงไฟฟ้าเซเปียนเซ-น้ำน้อยเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับลาว ทำให้รัฐบาลทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายอีกต่อไป

    เมื่อสันเขื่อนทรุดตัวลงในเดือนกรกฎาคม 2018 ส่งผลให้น้ำท่วมนชจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คนและอีกหลายคนสูญหายไป ในขณะที่อีกหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย หลายหมู่บ้านในตำบลสนามไซถูกน้ำพัดพา

    ขณะนี้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมดอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบเขื่อนทั้งหมดที่กำลังก่อสร้างและดูแลความปลอดภัย

    เวียดนามเริ่มขยายอายุเกษียณปีหน้า

    เวียดนามจะค่อยๆ ขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปีสำหรับผู้หญิงและ 62 สำหรับผู้ชาย โดยเริ่มในปีหน้า

    รัฐบาลได้ออกกฏหมายกำหนดระยะเวลาของการขยายอายุเกษียณภายในปี 2578 จาก 55 ปีสำหรับผู้หญิงและ 60 สำหรับผู้ชาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2564 ซึ่งผู้ชายสามารถเกษียณได้ที่ 60 ปี 3 เดือนและผู้หญิงที่ 55 ปี 4เดือน
    หลังจากนั้นในแต่ละปีจะมีการเพิ่มเวลาการเข้าสู่วัยเกษียณของผู้ชายเข้าไป 3 เดือนจนกว่าจะเป็น 62 ปีในปี 2571 สำหรับผู้หญิงจะมีการเพิ่ม 4 เดือนจนกว่าจะครบ 60 ปี ในปี 2578

    กฏหมายฉบับนี้มาจากการแก้ไขกฎหมายแรงงาน ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งจากการแก้ไขส่งผลให้ประชาชนสามารถเกษียณได้ก่อนเวลา 5 ปีหรือหลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการ เช่น การทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตราย หรือพื้นที่ที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ยากลำบากเป็นเวลา 15 ปี การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการยกของหนัก หรือความสามารถในการทำงานลดลง 61% หรือมากกว่านั้น หากต้องการเกษียณอายุก่อนกำหนด และหากต้องการเกษียณอายุช้าต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษ

    การขยายอายุเกษียณเป็นเรื่องที่ “ล่าช้าไม่ได้” ด่าว ง็อก ดุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้พิการและกิจการสังคมกล่าวไว้ในปีที่แล้ว

    จากข้อมูลของกระทรวงระบุว่า อายุเกษียณในเวียดนามอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่อายุขัยเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัย และรักษาสมดุลให้กับกองทุนบำนาญของประเทศ การขยายอายุเกษียณจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

    เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น กองทุนประกันสังคมของประเทศอาจมีปัญหาในปี 2563 และเงินจะหมดภายในปี 2580 กองทุนประกันสังคมเวียดนาม (Vietnam Social Security:VSS) ได้เตือนไว้

    กองทุนประกันสังคมเวียดนามระบุว่า หากรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณภายในปี 2580 รายจ่ายของรัฐบาลจะเท่ากับรายรับ ก่อนที่จะสูงว่าจากนั้นและรัฐบาลจะต้องควักกระเป๋าจ่าย

    ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรราว 96.2 ล้านคน และมีประชากรสูงอายุในสัดส่วน 11.7% องค์การสหประชาชาติระบุว่า สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในประเทศจะสูงถึง 12.9% ในปี 2573 และ 23% ในปี 2593

    ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ CREATE

    ที่มาภาพ:
    https://www.rappler.com/newsbreak/iq/things-to-know-employees-businesses-metro-manila
    สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (National Economic and Development Authority:NEDA) ได้ชื่นชมวุฒิสภาได้ผ่านร่าง กฎหมายการฟื้นฟูธุรกิจและสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับวิสาหกิจ หรือ Corporate Recovery and Tax Incentives for Enterprises(CREATE) เพื่อช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจากวิกฤตโลก

    ในแถลงการณ์ นายคาร์ล เคนดริก ที. ฉั่ว รักษาการเลขานุการ สำนักงานวางแผนเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า CREATE จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้และมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในท้องถิ่น

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 วุฒิสมาชิกได้ผ่านกฎหมาย Senate Bill 1357 หรือ CREATE Act ในการวาระ ที่2 และ 3

    พระราชบัญญัติ CREATE เมื่อมีการลงนามเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะมีส่วนช่วยในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งรวมถึง มาตรการมาตรการที่ออกมาในระยะที่ 1 (Bayanihan 1) รวมทั้งมาตรการระยะที่ 2 (Bayanihan 2) และพระราชบัญญัติการโอนทรัพย์สินด้อยคุณภาพ(Financial Institutions Strategic Transfer:FIST) ของสถาบันการเงิน

    CREATE จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและขนาดเล็ก (MSMEs) ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการ 99% และแรงงานชาวฟิลิปปินส์ 60%

    ร่างกฏหมาย CREATE ฉบับที่ผ่านวุฒิสภา อนุญาตให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% จาก 30% เป็น 20% เปอร์เซ็นต์สำหรับธุรกิจในประเทศที่มีรายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 5 ล้านเปโซหรือต่ำกว่านั้น และมีสินทรัพย์รวม (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 100 ล้านเปโซ ธุรกิจอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงมาที่ 25% จาก 30% เปอร์เซ็นต์

    มาตรการนี้ยังปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ทางการเงินให้ทันสมัย โดยการให้เป็นไปตามประสิทธิภาพ เป้าหมาย กรอบเวลาและความโปร่งใส

    “ด้วยกฏหมาย CREATE ประเทศจะสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากขึ้น และด้วยสิ่งจูงใจที่ปรับใหม่ซึ่งจะเพิ่มผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการ เช่น การสร้างงาน การเพิ่มมูลค่าในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี”

    การประมาณการโดยคณะกรรมการประสานงานงบประมาณการพัฒนาแสดงให้เห็นว่า เมื่ออัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลลดลงประมาณ 44.6 พันล้านเปโซ อย่างไรก็ตามการเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะเป็นประโยชน์ต่อทุก บริษัท โดยเฉพาะ MSMEs เนื่องจากสามารถใช้การประหยัดภาษีเพื่อเป็นทุนในการดำเนินงานและรักษาพนักงาน

    สำหรับปี 2564 และ 2565 ก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินการจัดเก็บรายได้ไว่าจะมีจำนวน 97.2 พันล้านเปโซและ 7,600 ล้านเปโซตามลำดับซึ่งบริษัท เหล่านี้สามารถลงทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และสร้างงานให้กับคนงานชาวฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น

    กัมพูชาตั้งนิคม SME Cluster แห่งแรก

    ที่มาภาพ:
    https://www.akp.gov.kh/post/detail/222756
    Cambodia’s First SME Cluster Park Breaks Ground in Kandal Province
    กัมพูชาเปิดตัวนิคมเครือข่าย เอสเอ็มอี หรือ SME Cluster Park แห่งแรก โดยได้มีการวางศิลาฤกษ์ไปในวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่เมืองตาเขมา ในจังหวัดกันดาล ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการผลิตในท้องถิ่นเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและการส่งออกเมื่อเริ่มเปิดดำเนินการฃ

    พิธีวางศิลาฤกษ์ใช้ชื่อว่า Worldbridge 14.0 SME Cluster จัดขึ้น โดยมี นายจาม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีอาวุโส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

    โครงการ SME คลัสเตอร์พาร์คมีเนื้อที่ 6 เฮกตาร์ และมีบริษัทเวิล์ดบริดจ์ อินดัสเตรียล ดิเวลลอปเม้นท์(Worldbridge Industrial Development) ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่น เป็นผู้ลงทุนด้วยเงินลงทุนรวม 30 ล้านเหรียญสหรัฐ การก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

    นายจาม ประสิทธิ์กล่าวว่า การจัดตั้ง Worldbridge 14.0 SME Cluster เป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลในการเปิดสู่ตลาดโลกผ่านการส่งออกผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา

    สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เข้ามาในนิคมจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตภัณฑ์สินค้าจริงที่ไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่น รวมทั้งจะติดฉลากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์กัมพูชา เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเขากล่าว

    นายแซ ริทธิ ประธานฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม Worldbridge กล่าวว่า คลัสเตอร์ของ SME ประกอบด้วยศูนย์บริการ ศูนย์สนับสนุนอุปกรณ์อุตสาหกรรม โซน SME โครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์โลจิสติกส์และบริการ ที่ทำการสำนักงานและที่พักคนงาน

    บริษัท ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรด้านการพัฒนา เช่น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งคลัสเตอร์ SME

    อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทยลงนามความร่วมมือด้านศุลกากร

    ที่มาภาพ : https://en.antaranews.com/news/162576/indonesia-malaysia-thailand-to-sign-customs-cooperation-pact

    อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย เสร็จสิ้นการหารือเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ(Frame of Cooperation:FoC) ในเขตศุลกากร การโยกย้ายและการกักกัน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวางแผนที่จะรับรองความร่วมมือในปีหน้า

    นายฟีร์ดาอุส ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์กลางโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Center for Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:CIMT) เปิดเผย หลังจากเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบออนไลน์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายนผ่านมา

    การหารือเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวได้ชะงักลงตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรก็ตามในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ในระดับอนุภูมิภาคสามารถสรุปการหารือเกี่ยวกับ FoC ในเขตศุลกากร การโยกย้ายและการกักกันได้ ในแถลงการณ์ระบุ

    นายฟีร์ดาอุสย้ำว่า ทั้งสามประเทศหวังว่าจะให้การรับรองและนำเอกสารความร่วมมือไปปรับใช้ในปี 2564

    “(ความร่วมมือในด้านศุลกากร) คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่มากขึ้น ต่อภาคการค้าและห่วงโซ่อุปทานสินค้า ผ่านกฎระเบียบและขั้นตอนที่ง่ายขึ้น”

    อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ซึ่งมีพรมแดนทางบกและทางทะเลร่วมกัน ได้จัดตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เรียกว่าโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย(IMT-GT) ในปี2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามประเทศ ที่มีประชากรรวมกันประมาณ 84 ล้านคน

    ด้วยเหตุนี้ IMT-GT จึงจัดทำโครงการประจำหลายโครงการ เพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสามประเทศ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด -19 ทั้งสามประเทศได้จัดการประชุมรัฐมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 26 ผ่านระบบออนไลน์

    ในการประชุมทั้งสามประเทศยังได้หารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการขยายตลาด สำหรับสินค้าส่งออกของทั้งสามประเทศ ผ่านช่องทางดิจิทัล

    “IMT-GT มีแผนจะเปิดตัว IMT-GT อีคอมเมิร์ซ แพล็ตฟอร์มในปี 2564 เพื่อเปิดรับยุคดิจิทัลในภาคการค้า”

    ทั้งสามประเทศยังยืนยันคำมั่นสัญญาที่จะดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการมูลค่า 51 พันล้านเหรียญสหรัฐให้สำเร็จ ซึ่งโครงการประกอบด้วยสะพาน ท่าเรือ รางรถไฟ การขนส่งทางบก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    “ โครงการพัฒนาส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปี 2564” เขากล่าว