รัฐบาลเบี้ยวหนี้แบงก์รัฐ 35,000 ล้านบาท โยกงบฯปี ’68 แจก “เงินหมื่น” – ธ.ก.ส. หนักสุดถูก กมธ. ตัดงบฯ 31,322 ล้านบาท เหลือแค่ 28,050 ล้านบาท ออมสินถูกตัดงบฯ 2,683 ล้านบาท ขณะที่ ธอส., SME D Bank, EXIM Bank ถูกตัดหมด ล่าสุด ณ 11 มิ.ย. 2567 รัฐบาลค้างจ่ายหนี้ มาตรา 28 กว่า 1 ล้านล้านบาท
หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก มีมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 72 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี 18 คน และตัวแทนจากพรรคการเมือง 54 คน อันได้แก่ พรรคก้าวไกล 16 คน พรรคเพื่อไทย 15 คน พรรคภูมิใจไทย 8 คน พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคไทยสร้างไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ขึ้นมาพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ก่อนส่งมอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ช่วงวันที่ 3-5 กันยายน 2567
ช่วงโค้งสุดท้ายของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ปรากฏว่ารัฐบาลโดยสำนักงบประมาณขอเปลี่ยนแปลงรายการ โดยโอนย้ายงบประมาณของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ 5 แห่ง วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เอาไปใส่ไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ หรือ “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” จากเดิมตั้งงบฯ ไว้ 152,700 ล้านบาท เพิ่มเป็น 187,700 ล้านบาท แต่ก็ยังขาดอีก 97,300 ล้านบาท จะหาเงินจากไหนมาเติมให้ครบ 285,000 ล้านบาท คงต้องรอรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบาย
สำหรับงบประมาณของ 5 แบงก์รัฐที่ถูกตัดออกไปนั้นก็คือ งบฯ ชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้กับหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปดำเนินมาตรการ หรือโครงการตามนโยบายรัฐ พูดง่ายๆ ก็คือ “ให้แบงก์รัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อนแล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชำระคืนให้ภายหลัง” เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย, ออกค่าใช้จ่ายในการฝึกอมรมลูกหนี้, รับจำนำผลผลิตการเกษตร, จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ฯลฯ
หนักที่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถูกตัดเรียบ จากเดิม ธ.ก.ส. ขอตั้งงบฯ ชดเชยค่าใช้จ่ายและรายได้ที่สูญเสียจากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมา 59,799 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ก้อน โดยก้อนแรกเป็นเงินงบประมาณที่จัดเตรียมให้ ธ.ก.ส. ใช้ในการบริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 7 โครงการ วงเงินรวม 31,749 ล้านบาท และก้อนที่ 2 เป็นเงินงบประมาณที่ต้องส่งไปให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ใช้บริหารจัดการหนี้ 1 โครงการ วงเงิน 28,050 ล้านบาท ปรากฏว่างบฯ ก้อนแรก 31,749 ล้านบาท ปรับลดกันไปปรับลดกันมาเหลือ 31,322 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ถูกตัดเกลี้ยง เหลือแต่งบฯ ก้อนที่ 2 วงเงิน 28,050 ล้านบาท ต้องส่งไปให้ สบน. บริหารจัดการหนี้
สำหรับงบประมาณก้อนแรกของ ธ.ก.ส. วงเงิน 31,749 ล้านบาท ที่บรรจุไว้ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายปี 2568 นั้น ตามแผนงานที่เตรียมไว้ ธนาคารจะต้องนำเงินงบประมาณไปใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 7 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้
โครงการแรก : โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร โครงการนี้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณเอาไปใช้บริหารหนี้ที่เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐในอดีต 13 รายการ วงเงินรวม 5,872 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 387 ล้านบาท
2) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาลม์น้ำมันปี 2562-2563 วงเงิน 150 ล้านบาท
3) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน 591 ล้านบาท
4) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/63 วงเงิน 174 ล้านบาท
5) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2563/2564 วงเงิน 148 ล้านบาท
6) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 วงเงิน 1,184 ล้านบาท
7) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 195 ล้านบาท
8) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/2565 รอบที่ 1 วงเงิน 2,436 ล้านบาท
9) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงิน 59 ล้านบาท
10) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 วงเงิน 355 ล้านบาท
11) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 วงเงิน 13 ล้านบาท
12) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงิน 173 ล้านบาท
13) ชำระต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงิน 8 ล้านบาท
โครงการที่ 2 : โครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร (เงินทุน ธ.ก.ส.) ขอตั้งงบประมาณเอาไว้ใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายนรัฐ 4 รายการ วงเงินรวม 1,884 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ยโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2552 วงเงิน 597 ล้านบาท
2) ชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ยโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปี 2554/55 และปี 2555 วงเงิน 197 ล้านบาท
3) ชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ยโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปี 2555/56 วงเงิน 300 ล้านบาท
4) ชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ยโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปี 2556/57 วงเงิน 789 ล้านบาท
โครงการที่ 3 : โครงการประกันภัยข้าวนาปี ขอตั้งงบประมาณเอาไว้ใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 3 รายการ วงเงินรวม 215 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ชำระต้นทุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ปีการผลิต 2563 วงเงิน 69 ล้านบาท
2) ชำระต้นทุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ปีการผลิต 2564 วงเงิน 62 ล้านบาท
3) ชำระต้นทุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ปีการผลิต 2565 วงเงิน 84 ล้านบาท
โครงการที่ 4 : โครงการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ขอตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 17 รายการ วงเงินรวม 9,694 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหาร เงินช่วยเหลือเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปี 2560/61 วงเงิน 542 ล้านบาท
2) ชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหาร เงินช่วยเหลือเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปี 2561/62 วงเงิน 1,010 ล้าน บาท
3) ชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหาร เงินช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ปี 2561-2562 วงเงิน 178 ล้านบาท
4) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 วงเงิน 603 ล้านบาท
5) ชำระคืนต้นเงินโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/2563 วงเงิน 545 ล้านบาท
6) ชำระต้นทุนเงินโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิต ปี 2562/63 วงเงิน 231 ล้านบาท
7) ชำระต้นทุนเงินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 วงเงิน 63 ล้านบาท
8) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหาร และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 1,357 ล้านบาท
9) ชำระต้นทุนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต ปี 2563/2564 วงเงิน 170 ล้านบาท
10) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนค่า และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 1,571 ล้านบาท
11) ชำระต้นทุนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 วงเงิน 388 ล้านบาท
12) ชำระต้นทุนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 อีก 574,500 บาท
13) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหาร และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 1,754 ล้านบาท
14) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหาร และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 1,076 ล้านบาท
15) ชำระต้นทุนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหาร และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 23 ล้านบาท
16) ชำระต้นทุนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต ปี 2565/2566 วงเงิน 180 ล้านบาท
17) ชำระต้นทุนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต ปี 2565/2566 อีก 1 ล้านบาท
โครงการที่ 5 : โครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตรแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ขอตั้งวงเงินงบประมาณไว้ใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 27 รายการ วงเงินรวม 14,073 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสถาบันเกษตรกร โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 52 ล้านบาท
2) ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสถาบันเกษตรกร โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง วงเงิน 26 ล้านบาท
3) ชดเชยดอกเบี้ย โครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนสมาชิกวงเงิน 295,100 บาท
4) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการส่งเสริมสินเชื่อ เพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2559-2561 วงเงิน 8,101,600 บาท
5) ชดเชยดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร โครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่วงเงิน 43 ล้านบาท
6) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการส่งเสริมสินเชื่อ เพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 วงเงิน 60 ล้านบาท
7) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และค่าบริหาร โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 446 ล้านบาท
8) ชดเชยต้นทุนเงิน และค่าบริหาร โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 34 ล้านบาท
9) ชดเชย NPLs และต้นทุนการดำเนินงาน โครงการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 810 ล้านบาท
10) ชดเชยดอกเบี้ย โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง 15 ล้านบาท
11) ชดเชย NPLs แทนเกษตรกร โครงการมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงิน 8 ล้านบาท
12) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 3 ล้านบาท
13) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท
14) ชดเชยต้นทุนเงิน และค่าบริหาร โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 40 ล้านบาท
15) ชดเชยต้นทุนเงิน และค่าบริหาร โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 157 ล้านบาท
16) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี2565/2566 วงเงิน 116 ล้านบาท
17) ชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำ และซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 2565-2567 วงเงิน 61 ล้านบาท
18) ชดเชยดอกเบี้ย โครงการสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ระยะที่ 2 วงเงิน 47 ล้านบาท
19) ชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาล วงเงิน 9,986 ล้านบาท
20) ค่าใช้จ่ายอบรมฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในโครงการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาล วงเงิน 1,000 ล้านบาท
21) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 491,100 บาท
22) ชดเชยดอกเบี้ย และ NPLs แทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) วงเงิน 9 ล้านบาท
23) ชดเชยต้นทุนเงิน และค่าบริหาร โครงการสินเชื่อชะลดการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 958 ล้านบาท
24) ชดเชยดอกเบี้ย โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าว เพื่อสร้างวมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 158 ล้านบาท
25) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมมันสำปะหลัง และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/2567 วงเงิน 675,700 บาท
26) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงิน 10 ล้านบาท
27) ชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 13 ล้านบาท
โครงการที่ 6 : โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ตั้งวงเงินงบประมาณ เพื่อใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 1 รายการคือ ขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ 1,732,200 บาท
โครงการที่ 7 : โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ใช้บริหารจัดการหนี้ 2 รายการ วงเงินรวม 9,479,100 บาท ได้แก่
-
1) ขอรับชดเชยต้นทุนเงินค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกร โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 วงเงิน 5,792,600 บาท
2) ขอรับชดเชยต้นทุนเงินค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกร โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 วงเงิน 3,686,500 บาท
ลำดับที่ 2 ธนาคารออมสิน ในปีงบประมาณ 2568 ธนาคารออมสินขอตั้งงบฯ เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการภาระหนี้จากการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล (มาตรา 28) 4 โครงการ วงเงินรวม 3,813 ล้านบาท หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ วาระที่ 1 ปรากฎว่าถูกกรรมการธิการวิสามัญตัดงบฯ ไป 2,683 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
โครงการแรก : โครงการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ธนาคารออมสินขอตั้งงบประมาณไว้ใช้บริหารจัดการหนี้นโยบายรัฐ 1 รายการ วงเงินรวม 49 ล้านบาท คือ รายการขอรับเงินชดเชยต้นทุนเงินจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 25,000 ล้านบาท
โครงการที่ 2 โครงการชดเชยต้นทุนเงิน และภาระดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ขอตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้บริหารหนี้นโยบายรัฐ 3 รายการ วงเงินรวม 152 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 18 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย วงเงิน 1,971 ล้านบาท
2) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 4.2 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง วงเงิน 3,546 ล้านบาท
3) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา 130 ล้านบาท ในโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงิน 25,000 ล้านบาท (ตั้งงบประมาณแทนการยางแห่งประเทศไทย)
โครงการที่ 3 : โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs ขอตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้ 7 รายการ วงเงินรวม 1,839 ล้านบาท ได้แก่
-
1) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 60 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผู้ประกอบกิจการ SMEs ระยะที่ 1 วงเงิน 30,000 ล้านบาท
2) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 1,390,000 บาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงในโครงการ “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” วงเงิน 500 ล้านบาท
3) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 172 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผู้ประกอบกิจการ SMEs ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการ “Transformation Loan เสริมแกร่ง” วงเงิน 20,000 ล้านบาท
4) ขอรับเงินชดเชยต้นทุนเงินให้ธนาคารออมสิน 796 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม วงเงิน 150,000 ล้านบาท
5) ขอรับเงินชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นให้กับธนาคารออมสิน 259 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในโครงการออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท
6) ขอรับเงินชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 3,119,700 บาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการประมงในโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงิน 5,000 ล้านบาท
7) ขอรับเงินชดเชยต้นทุนเงินให้ธนาคารออมสิน 546 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในโครงการสินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” วงเงิน 10,000 ล้านบาท
โครงการที่ 4 : โครงการชดเชยเงินต้น และต้นทุนเงินที่ธนาคารออมสินสำรองจ่าย ขอตั้งงบประมาณเอาไว้ 5 รายการ วงเงินรวม 1,773 ล้านบาท มีทั้งหมด ได้แก่
-
1) ขอรับเงินชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ธนาคารออมสิน 130 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในโครงการสินเชื่อรายย่อย เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท
2) ขอรับเงินชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ธนาคารออมสิน 1,233 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท
3) จากการให้สินเชื่อชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ธนาคารออมสิน 210 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 12,840 ล้านบาท
4) จากการให้สินเชื่อชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ธนาคารออมสิน 32 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 2,160 ล้านบาท
5) จากการให้สินเชื่อชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ธนาคารออมสิน 170 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบอาชีพ และผู้ประกอบการรายย่อย ในโครงการสินเชื่อ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” วงเงิน 5,000 ล้านบาท
ลำดับที่ 3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปีงบประมาณ 2568 ขอตั้งงบฯเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการภาระหนี้จากการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล (มาตรา 28) 2 โครงการ วงเงินรวม 592 ล้านบาท ถูกตัดงบฯเกลี้ยง มีรายละเอียดดังนี้
โครงการแรก : โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ มี 1 รายการ โดย ธอส.ขอรับเงินชดเชยส่วนต่าง ระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) วงเงิน 575 ล้านบาท
โครงการที่ 2 : โครงการมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ มี 1 รายการ โดย ธอส.ขอรับเงินชดเชยส่วนต่าง ระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์สินเชื่อวิมานเมฆของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากมาตรการสินเชื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงิน 18 ล้านบาท
ลำดับที่ 4 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “SME D Bank” ปีนี้ขอตั้งงบฯเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการภาระหนี้จากการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล 2 โครงการ วงเงินรวม 330 ล้านบาท ถูกตัดงบฯไปทั้งหมด มีรายละเอียดดังนี้
โครงการแรก : โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) มี 1 รายการ โครงการนี้ SME D Bank ขอรับเงินชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากรัฐบาล 128 ล้านบาท สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก อันจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในภาพรวม และเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย
โครงการที่ 2 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของไวรัส โคโรนา (COVID-19) – รายเล็ก Extra Cash มี 1 รายการ โครงการนี้ SME D Bank ขอรับเงินชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยวงเงิน 202 ล้านบาท
และลำดับสุดท้ายธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ “EXIM Bank” ปีนี้ขอตั้งบประมาณไว้ใช้สำหรับการบริหารจัดการหนี้ที่เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ 2 โครงการ วงเงินรวม 72 ล้านบาท ถูกตัดงบฯ เกลี้ยง มีรายละเอียดดังนี้
โครงการแรก : โครงการมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มี 1 รายการ โครงการนี้ EXIM Bank ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 11 ล้านบาท
โครงการที่ 2 : โครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan มี 1 ราย โครงการนี้ EXIM Bank ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 61 ล้านบาท
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ล่าสุด ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2567 พบว่ารัฐบาลค้างจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่าย หรือรายได้ที่สูญเสียจากการสั่งให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินมาตรการหรือโครงการนโยบายรัฐ มียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,014,447 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28.16% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3,602,000 ล้านบาท (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี) ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐปี 2565 กำหนดสัดส่วนให้รัฐบาลก่อหนี้ประเภทนี้ (นอกงบประมาณ) ได้ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2567 จึงเหลือวงเงินให้รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามนโยบายรัฐได้อีก 138,193 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดรัฐบาลค้างจ่ายหนี้มาตรา 28 หน่วยงานไหนเท่าไหร่ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไม่เปิดเผยข้อมูล มีแต่ข้อมูลเก่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 รัฐบาลค้างจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและรายได้ที่สูญเสียให้กับหน่วยงานของรัฐจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ (มาตรา 28) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,004,391 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่รัฐบาลติดค้างหนี้ มาตรา 28 มากที่สุดอันดับ 1 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ค้างจ่ายอยู่ 855,419 ล้านบาท ในจำนวนนี้ถูกนับรวมเข้ามาอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 182,453 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 672,966 ล้านบาท ทิ้งไว้ให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการหนี้เอง
อันดับที่ 2 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 92,593 ล้านบาท อันดับที่ 3 ธนาคารออมสิน มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 38,345 ล้านบาท อันดับที่ 4 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 7,651 ล้านบาท อันดับที่ 5 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 7,027 ล้านบาท อันดับที่ 6 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 1,140 ล้านบาท อันดับที่ 7 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 984 ล้านบาท อันดับที่ 8 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 835 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 397 ล้านบาท
ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 28 ไม่ได้กำหนดวงเงินขั้นต่ำที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาใช้หนี้คืนหน่วยงานของรัฐเมื่อไหร่ และในประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐปี 2565 ระบุแต่ว่า “ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการหรือโครงการตามนโยบายรัฐ มียอดคงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น” จึงกลายเป็นช่องทางให้สามารถใช้วิธีการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายโยกเงินมาใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะแจกเป็นเงินสดหรือแจกเป็นเงินดิจิทัล คงต้องติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กันต่อไป