ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ภูมิธรรม’ เล็งเปิดประมูลข้าวค้าง 10 ปี มิ.ย.นี้ – มติ ครม.กลับลำจัดงบฯกลางปี’67 แจกเงินหมื่น

‘ภูมิธรรม’ เล็งเปิดประมูลข้าวค้าง 10 ปี มิ.ย.นี้ – มติ ครม.กลับลำจัดงบฯกลางปี’67 แจกเงินหมื่น

21 พฤษภาคม 2024


เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • ‘ภูมิธรรม’ไม่พอใจ GDP ปี’67 โต 2.5% สั่งหามาตรการกระตุ้น ศก.
  • เล็งเปิดประมูลข้าวค้าง 10 ปี มิ.ย.นี้
  • สั่งเกษตรเตรียม 3 แผนงาน รับมือภัยพิบัติช่วงฤดูฝน
  • สั่งลดธงครึ่งเสาไว้อาลัย ปธน.อิหร่าน 3 วัน
  • มติ ครม.กลับลำจัดงบฯกลางปี’67 แจกเงินหมื่น แทนโอนงบ
  • จัดงบฯ 95 ล้าน ให้ สพร.ทำ ‘Payment Platform’
  • ไฟเขียว กฟภ.กู้ 3,052 ล้าน ลงทุน 5 แผนงาน
  • เปิดประชุมสภาวิสามัญผ่านงบฯปี’68 ตั้งแต่ 19 มิ.ย.นี้
  • สั่งกรมศิลฯส่งโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนกัมพูชา
  • เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งติดภารกิจเดินทางไปราชการที่ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ในระหว่างวันที่ 15 – 21 พฤษภาคม ณ ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    สั่งลดธงครึ่งเสาไว้อาลัย ปธน.อิหร่าน 3 วัน

    นายชัย รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ถึงแก่อสัญกรรม ดังนั้น นายภูมิธรรม แจ้ง จึงมีคำสั่งให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ลดธงครึ่งเสาทั่วราชอาณาจักร เพื่อไว้อาลัยแก่ประธานาธิบดีแก่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นเวลา 3 วัน ได้แก่ วันที่ 23, 24 และ 27 พฤษภาคม 2567

    เปิดประมูลข้าว 10 ปี มิ.ย.นี้

    นายชัย กล่าวต่อว่า จากข่าวว่าข้าวล้อตสุดท้ายจากโครงการรับจำนำข้าวที่จังหวัดสุรินทร์ ยังอยู่ในสภาพที่ดีพอจะประมูลขายออกไปได้หรือไม่ โดยที่ประชุม ครม. วันนี้ นายภูมิธรรมแจ้งว่า ได้มีข้อพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า ไม่มีสารตกค้างใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์คุณภาพโภชนาการ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ระบุว่า ข้าวลอตนี้จะสามารถเปิดประมูลได้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนมิถุนายน 2567

    ไม่พอใจ GDP ปี’67 โต 2.5% สั่งหามาตรการกระตุ้น ศก.

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส 1/67 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี มีการเติบโต 1.5% โดยมีปัจจัยบวกหลัก คือปริมาณการส่งออกบริการ หรือภาคการท่องเที่ยว เติบโต 24.8% สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เติบโต 11.8% ภาคการขนส่งก็เติบโต 9.4% ทั้งหมดเป็นผลจากการท่องเที่ยวที่เติบโตสูงขึ้น

    นายชัย กล่าวถึงปัจจัยลบ โดยมีตั้งแต่การอุปโภคของภาครัฐ ติดลบ 2.1% การลงทุนรวม ติดลบ 4.2% ปริมาณการส่งออก ติดลบ 2% การเกษตร ติดลบ 3.5% อุตสาหกรรม ติดลบ 3% และการก่อสร้าง ติดลบ17.3%

    นายชัย กล่าวต่อว่า ภาคเอกชนลงทุนเป็นบวก ขณะที่ภาครัฐเพิ่งมีการอนุมัติงบประมาณผ่านสภาไปเมื่อปลายเดือนเมษายน 67 ทำให้มีการติดลบ โดยเฉพาะงบลงทุนจะเริ่มทยอยออกมาใช้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จะทำให้ตัวเลขการลงทุนภาครัฐหรือการก่อสร้างเริ่มสูงขึ้น…ถ้าไตรมาส 1 ไม่มีตัวเลขบวกจากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาประคับประคอง จีดีพีอาจไม่เห็นเป็นบวกขนาดนี้” นายชัย กล่าว

    อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาพัฒน์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพี ณ สิ้นปี 2567 ที่ 2.7% โดยล่าสุด สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการการเติบโตเหลือ 2.5%

    “ในที่ประชุม นายภูมิธรรม และนายพิชัย ชุณหวชิร รมต. คลัง พิชัย ได้คอมเมนต์ว่า ตัวเลขการเติบโตที่ 2.5% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตสูงกว่าเราระดับมากกว่า 5% ถ้าเราเติบโตได้ 2.5% แม้จะดีกว่าปีที่แล้ว แต่เราไม่ควรถึงพอใจแค่นี้ ดังนั้น ควรหามาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ” นายชัย กล่าว

  • สภาพัฒน์ฯหั่น GDP ปี’67 เหลือ 2.5% หลังเศรษฐกิจไทย Q1 โตแค่ 1.5%
  • สั่งเกษตรเตรียม 3 แผนงาน รับมือภัยพิบัติช่วงฤดูฝน

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสั่งการคาดการณ์ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด ห่วงใยประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ได้สั่งการทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมความพร้อมและจัดทำแผนรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นและเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด

    กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณและการกระจายของฝนน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ และในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยสูง ซึ่งส่งผลให้ฝนตกหนัก สภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

    ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยได้กำหนดร่างการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ 1) การป้องกันและเตรียมความพร้อม ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการน้ำ การสำรองเมล็ดพันธุ์ เสบียงอาหารสัตว์ และเครื่องจักรและเครื่องมือ การสร้างความเข้าใจกับความเสี่ยง 2) การเผชิญเหตุและการหยุดยั้งความเสียหาย เช่น การเร่งระบายน้ำ การสนับสนุนเรือตรวจการและเจ้าหน้าที่ และ 3) การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม อาทิ การสำรวจและประเมินความเสียหาย การจัดหน่วยเคลื่อนที่ การบำบัดน้ำเสีย และการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา ควบคู่กับการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ ตลอดจนกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในช่วงฤดูฝน

    “นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์ช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสภาพอากาศ ห่วงใยประชาชนและเกษตรกรทั่วไทยในช่วงฤดูฝน สั่งการให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรหากเกิดภัยธรรมชาติในหน้าฝน รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมได้ทันต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น” นายชัย กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    จัดงบฯ 95 ล้าน ให้ สพร.สร้าง ‘Payment Platform’

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เป็นผู้ดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) กรอบงบประมาณโครงการฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 95 ล้านบาท และให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. ในการสนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สพร. ได้จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศไทย ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอันก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทุกภาคส่วน ประกอบกับการดำเนินโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับการพัฒนาพื้นฐานทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานภาครัฐ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

    โดยมีระยะเวลาดำเนินการในระยะแรก จำนวน 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และเดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งาน งบประมาณจำนวน 95 ล้านบาท โดย สพร. จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการดังกล่าวพร้อมกรอบงบประมาณ 95 ล้านบาท ด้วยแล้ว

    กลับลำจัดงบฯกลางปี’67 แจกเงินหมื่น แทนโอนงบ

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กค. ได้หารือร่วมกับ สงป. เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ Digital Wallet ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

    โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 3,480,000 ล้านบาท สงป. ได้จัดสรรงบประมาณแล้วรวมทั้งสิ้น 3,457,941.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.37 โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 1,749,963.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.61 ของงบประมาณที่จัดสรร ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก ดังนั้น การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงเป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ

    แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีสาระสำคัญ เช่น มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง จัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ย

    โดยปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการกำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้

  • ครม.กลับลำจัดงบกลางปี’67 ทำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน-เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้
  • ไฟเขียว กฟภ.กู้ 3,052 ล้าน ลงทุน 5 แผนงาน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2566 จำนวน 5 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 3,052 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็น ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยให้ กฟภ.จัดทำแผนการกู้เงินส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณตามความเห็นของกระทรวงการคลังต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า กฟภ. ขอกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2566 จำนวน 5 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 3,052 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ กฟภ. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนในแผนงานดังกล่าว โดยรายละเอียดของแผนงานภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 5 แผนงาน

      1. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของ กฟภ. ปี 2566 เป็นการกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. โดยจะพัฒนาโครงข่ายสื่อสารของ กฟภ. ให้ครอบคลุม และมีความมั่นคง สนับสนุนกระบวนการบริการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของสายงานต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและยกระดับการบริการลูกค้าให้สะดวกรวดเร็ว และมีความทันสมัยยิ่งขึ้น ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566-2568 เงินกู้ภายในประเทศ 300.00 ล้านบาท

      2. แผนระยะยาวการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน (ระยะที่ 2) เป็นการก่อสร้างและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหนือดินเป็นเคเบิลใต้ดินในพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 74 จังหวัด ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กฟภ. เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามตามความประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณทางด้านงานโยธา ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566-2568 เงินกู้ภายในประเทศ 1,537.00 ล้านบาท

      3. แผนงานก่อสร้างปรับปรุงอาคาร 2 และผังบริเวณ กฟภ. สำนักงานใหญ่ เพื่อขอรับการประเมินและการรับรองมาตรฐาน LEED4 เป็นการปรับปรุงอาคาร 2 เป็นสำนักงานยุคใหม่ (Modern-Office) และเป็นอาคารประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Office) ได้รับรองตามมาตรฐาน-LEED โดยปัจจุบันอาคาร 2 เป็นอาคารเก่าที่มีอายุการใช้งานประมาณ 40 ปี ซึ่งมีสภาพอาคารที่เสื่อมโทรม ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566-2568 เงินกู้ภายในประเทศ 302.00 ล้านบาท

      4. แผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบควบคุมและป้องกันสถานีไฟฟ้าระยะที่ 2 ที่ผ่านมา กฟภ. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบควบคุมสถานีไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-based Substation Control System : CSCS) เพื่อใช้งานควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าในสถานีไฟฟ้าต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีสถานีไฟฟ้าที่ใช้งานระบบ CSCS จำนวน 653 สถานี ซึ่งมีหลายสถานีไฟฟ้าที่มีการใช้งานยาวนานเกินกว่า 10 ปี ทำให้อุปกรณ์หลักของระบบ CSCS เริ่มมีการชำรุดบ่อยครั้งและไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ รวมถึงอุปกรณ์ดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตได้ยกเลิกการผลิตไปแล้ว และอะไหล่รุ่นใหม่ไม่สามารถใช้ทดแทนรุ่นเก่าได้ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนระบบ CSCS เดิมออกและติดตั้งระบบ CSCS ใหม่ทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566-2569 เงินกู้ภายในประเทศ 343.00 ล้านบาท

      5. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านระบบงานและแพลตฟอร์ม ปี 2566 เป็นการพัฒนาแนวทางการบริหารและจัดการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องต่อทิศทางการดำเนินงานและแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566-2567 เงินกู้ภายในประเทศ 570.00 ล้านบาท

    รับทราบ กมธ.วุฒิสภา เสนอตั้ง “กรมการมัธยมศึกษา”

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งกรมการมัธยมศึกษา ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปพิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

    คณะกรรมาธิการศึกษา วุฒิสภา ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลกี่ยวกับการจัดตั้งกรมการมัธยมศึกษา เพื่อปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาให้มีความเหมาะสมกับสภาพของงานในปัจจุบัน และสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายที่รัฐบาลกำหนด และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีศักยภาพที่เหมาะสมกับการพัฒนาสู่ระดับอุดมศึกษา หรือพัฒนาสู่ทักษะวิชาชีพชั้นสูงได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน จึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ดังนี้

      1. ควรกำหนดกรอบแนวคิดการจัดตั้งกรมการมัธยมศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาสู่คุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
      2. ควรเร่งรัดดำเนินการยกระดับสำนักบริหารการมัธยมศึกษาให้เป็นกรมการมัธยมศึกษาโดยเร่งด่วน เพื่อการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
      3. ควรเร่งรัดการพิจารณาขอบข่าย โครงสร้าง ภารกิจ ในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือรอการดำเนินการตามขั้นตอน และควรมีการปรับระบบบริหารจัดการภายในกรมการมัธยมศึกษารองรับภารกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
      4. ควรเร่งรัดการพิจารณาปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายในกรมการมัธยมศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดวางระบบสำนักงาน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งระบบ ตลอดแนวจากส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สถานศึกษา และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในภารกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน
      5. ควรเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
      6. ควรสร้างความเข้มแข็ง การปฏิบัติหน้าที่ เชื่อมโยง ด้วยการกำกับดูแลของกรมมัธยมศึกษาซึ่งจะทำให้เครือข่ายดังกล่าวสามารถสร้างคุณภาพมัธยมศึกษาได้

    กมธ.วุฒิสภาแนะรัฐบาลจัดทำประมวล กม.แรงงาน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

    คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 13 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พระราชบัญญิแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ไว้ในฉบับเดียวกัน และคงหลักการสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ตามเดิม เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

    1.ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน

      1.1 รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นระบบ และนำบัญชีท้ายพระราชบัญญัติตามกฎหมายเดิมมาจัดทำเป็นบัญชีท้ายประมวลกฎหมายแรงงานให้ครบถ้วน รวมถึงดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนในทางนิติบัญญัติต่อไป โดยรัฐบาลให้ความสำคัญ รวมทั้งเร่งรัดการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
      1.2 ควรมีการทบทวนการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะสมได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่วางหลักการสำหรับการตรากฎหมายของรัฐว่า ให้ถึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น
      1.3 ควรมีการทบทวนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานว่ามีส่วนใดของกฎหมายที่ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแรงงานที่จะจัดทำขึ้นใหม่หรือมีประเด็นใดที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นต้น

    2.ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงาน พ.ศ. ...

      2.1 บทบัญญัติในส่วนวันบังคับใช้กฎหมายของประมวลกฎหมายแรงงาน ควรกำหนดในรูปแบบให้ผ่านช่วงเวลาหนึ่งไปก่อนจึงให้ประมวลกฎหมายแรงงานมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาหลักกฎหมายและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ของประมวลกฎหมายแรงงาน
      2.2 ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานจำนวน 13 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น
      2.3 กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อเชื่อมโยงการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านการบังคับใช้กฎหมายเก่าไปสู่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน
      2.4 หลักการอื่น ๆ ตามที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าจำเป็น และสมควรระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน พ.ศ. … ตามรูปแบบของการ่างกฎหมายต่อไป

    เปิดประชุมสภาวิสามัญผ่านงบฯปี’68 ตั้งแต่ 19 มิ.ย.นี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. …. (ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567) และ ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. …. (โดยยังมิได้ระบุวันที่ปิดประชุม) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 ประกอบกับสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ปีที่ 2 จะเริ่มวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 – 30 ตุลาคม 2567 แต่โดยที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ในวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2567 ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (7 พฤษภาคม 2567) โดยเป็นระยะเวลาที่อยู่นอกสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 122 วรรคสามและวรรคสี่ บัญญัติให้เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ ซึ่งการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และที่ผ่านมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา

    ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 จึงเห็นสมควรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2567 (รวม 3 วัน) ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับวันปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภานั้น เห็นสมควรให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรรับไปพิจารณาแล้วแจ้งผลให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบโดยด่วน ก่อนนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อไป

    เวนคืนที่ดินสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน

    ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของโครงข่ายถนนรังสิต – นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบที่ปัจจุบันมีปัญหาการจราจรหนาแน่นอย่างมาก ช่วยรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการใช้เส้นทางสำหรับคมนาคมขนส่งได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย และคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว

    โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ข้างต้น เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ

    ออก กม.เพิ่ม “วาฬสีน้ำเงิน – นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าสงวน

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. …. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) และนกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามลำดับ และ

    ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีท้าย กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ทำให้จำนวนสัตว์ป่าคุ้มครอง จากเดิมจำนวน 1,316 รายการ คงเหลือ 1,306 รายการ โดยแบ่งเป็น 2 บัญชี ดังนี้ บัญชี 1 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ ได้แก่ (1) จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 176 รายการ (2) จำพวกนก จำนวน 948 รายการ (3) จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 68 รายการ (4) จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 4 รายการ (5) จำพวกแมลง จำนวน 20 รายการ บัญชี 2 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ ได้แก่ (1) จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 21 รายการ (2) จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 20 รายการ (3) จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 6 รายการ (4) จำพวกปลา จำนวน 30 รายการ (5) จำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำนวน 13 รายการ รวมทั้ง เพิ่มรายการ จำนวน 8 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้ (1) ค่างตะนาวศรี (Trachypithecus barbei) (2) งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis) (3) ปลากระเบนปีศาจหางเคียว (Mobula tarapacana) (4) ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) (5) ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (6) ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ (Sphyrna zygaena) (7) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) (8) ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran)

    กำหนด “พัทยา-ชลบุรี- ประจวบฯ” เป็นพื้นที่ป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะ

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่เขตการปกครองพิเศษพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า พื้นที่ระบบหาดบางเบิด – เขาถ้ำธง ระบบหาดทุ่งทราย ระบบหาดทุ่งยาง ระบบหาดทุ่งเมือง และระบบหาดบ้านเกาะเตียบ บริเวณตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ในปัจจุบัน เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดการรบกวนสมดุลของตะกอนชายฝั่งจนอาจทำให้เสถียรภาพชายฝั่งพังลงจนทำให้ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะ ประกอบกับปัจจุบันไม่มีมาตรการที่ใช้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการกำกับ และควบคุมมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดให้พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะทาง 1,000 เมตร ของตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามมาตรา 21 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558

    และ พื้นที่ระบบหาดหาดยินยอม บริเวณเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่ชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และจะปรับสภาพชายฝั่งให้เข้าอยู่ในสภาวะสมดุลอยู่ตลอดเวลาตามรอบฤดูกาล เป็นความสมดุลบนความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนสมดุลของตะกอนชายฝั่งจนอาจทำให้เสถียรภาพชายฝั่งพังลงจนส่งผลทำให้ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะ และป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดการรบกวนสมดุลของตะกอนชายฝั่งจนอาจทำให้เสถียรภาพชายฝั่งพังลงจนทำให้ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะ ประกอบกับปัจจุบันไม่มีมาตรการที่ใช้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มาตรการเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของสภาพธรรมชาติชายฝั่งและการกำหนดกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปรบกวนเสถียรภาพชายฝั่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการกำกับ และควบคุมมิให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเห็นควรกำหนดให้พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะทาง 1,000 เมตร ของเขตการปกครองพิเศษพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558

    ทั้งนี้ ทส. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่เขตการปกครองพิเศษพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

    นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ครม. ก็ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ตำบลธงชัย และตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. เพื่อเป็นการกำกับ และควบคุมมิให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

    สั่งกรมศิลฯส่งโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนกัมพูชา

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร มอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และกัมพูชา รวมทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นภาคีที่ยึดมั่น และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงทวิภาคีอย่างเคร่งครัด

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2543 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุเขมรที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 43 รายการ และต่อมากรมศิลปากรได้มีการตรวจสอบและมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชา ตามมติ ครม. (24 กุมภาพันธ์ 2552 และ 13 มกราคม 2558) แล้ว จำนวน 23 รายการ คงเหลือโบราณวัตถุอีก 20 รายการ ซึ่งกรมศิลปากรได้ตรวจสอบแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่สามารถพบได้ในโบราณสถานทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ (13 มกราคม 2558) ให้กรมศิลปากรแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ โดยหากรัฐบาลกัมพูชาประสงค์จะขอรับโบราณวัตถุดังกล่าวคืน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดส่งหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา

    ในครั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งคำร้องเพื่อขอรับคืนโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ พร้อมทั้งส่งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมศิลปากร ยืนยันได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา วธ. จึงขออนุมัติมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้กัมพูชา ได้แก่

      1. ส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
      2. ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
      3. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
      4. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 18
      5. ส่วนองค์พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
      6. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
      7. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน – นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      8. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
      9. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
      10. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
      11. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      12. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      13. กลีบขนุนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      14. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
      15. กลีบขนุนรูปพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
      16. กลีบขนุนรูปพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
      17. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      18. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      19. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
      20. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เพิ่มเติม