ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ภูมิธรรม’เคาะขึ้นราคาน้ำตาลกิโลละ 2 บาท – มติ ครม.สั่ง ธ.ก.ส.จัด 56,321 ล้าน แจกชาวนาไร่ละพัน

‘ภูมิธรรม’เคาะขึ้นราคาน้ำตาลกิโลละ 2 บาท – มติ ครม.สั่ง ธ.ก.ส.จัด 56,321 ล้าน แจกชาวนาไร่ละพัน

14 พฤศจิกายน 2023


นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • ‘ภูมิธรรม’เคาะขึ้นราคาน้ำตาลทรายกิโลละ 2 บาท
  • สั่ง ‘อนุทิน’ ห้ามออกใบพกพาอาวุธปืน 1 ปี
  • มติ ครม.สั่ง ธ.ก.ส.จัด 56,321 ล้านบาท แจกชาวนาไร่ละพัน
  • ปรับไทม์ไลน์งบฯปี’67 คาดทูลเกล้าฯ 17 เม.ย.ปีหน้า
  • จัด ครม.สัญจรนัดแรก-ลงพื้นที่ ‘หนองบัวลำภู’ 3-4 ธ.ค.นี้
  • เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรมได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และมติ ครม.

    เคาะขึ้นราคาน้ำตาลทรายกิโลละ 2 บาท

    นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีวาระเสนอให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและน้ำตาล (อ้อย) โดยให้ดำเนินการนับตั้งแต่ มติ ครม. ออก และคาดว่าอย่างเร็วที่สุดอาจเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 หรือ วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 และคาดว่าภายในกรอบระยะเวลา 1 เดือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับเงินช่วยเหลือ

    นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงมติมติเคาะขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 2 บาทว่า ตนได้ประชุมกับกรรมการอ้อยและน้ำตาล และได้คุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ โดยได้หารือร่วมกัน 2 ครั้ง จนได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะดำเนินการขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาทตามต้นทุน ซึ่งเป็นการพิจารณาอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง

    “ส่วนอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม เรายังไม่ให้ขึ้น ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว แต่ให้ดูว่าเรื่องเกี่ยวกันพันใคร อย่างไร และมีช่องทางการดำเนินการจัดการอย่างไร เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติและขอให้ดำเนินการตามนี้” นายภูมิธรรม กล่าว

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า “เกษตรกรกำลังเดือดร้อน เราทำให้ราคาน้ำตาลขึ้น 2 บาท และให้ส่วนเกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการ เอาเรื่องแก้ไขให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นอนาคตอาจมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาความฉุกเฉินและบรรเทาปัญหาของประชาชน

    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ติดภารกิจหลายวัน ได้ฝากเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ โดยนายภูมิธรรม ตอบว่า “ฝากให้ดำเนินการเรื่องเร่งด่วน ทำเรื่องที่ค้างอยู่อย่างเร่งด่วน”

    สั่ง ‘อนุทิน’ ห้ามออกใบพกพาอาวุธปืน 1 ปี

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อห่วงใยกรณีเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง และกระสุนพลาดไปโดน น.ส.ศิรดา สินประเสริฐ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ครูโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เสียชีวิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงกรณีการใช้อาวุธปืน และสภาพการณ์การท่องเที่ยวที่เกิดจากการใช้อาวุธรุนแรง จึงฝากให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีฯ เร่งรัดดำเนินการโดยให้มีการห้าม หรือ กวดขันการใช้อาวุธปืน โดยนายอนุทินฯ ย้ำว่าได้ให้แนวทางว่าตลอด 1 ปีนับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินจะไม่มีการออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนให้บุคคลทั่วไปทุกกรณีโดยเด็ดขาด และจะไม่ให้มีบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงสามารถพกพาอาวุธปืนได้ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการปกครองศึกษากรณีที่จะไม่ให้บุคคลทั่วไปครอบครองอาวุธปืนได้ และจะไม่ให้มีการนำเข้าอาวุธปืนยกเว้นหน่วยงานของทางราชการ

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ , นายคารม พลพรกลาง และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ปรับไทม์ไลน์งบฯปี’67 คาดทูลเกล้าฯ 17 เม.ย.ปีหน้า

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

  • วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุม ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณปี 2567
  • วันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2566 สำนักงบประมาณ พิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณปี 2567
  • วันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 สำนักงบประมาณ เปิดรับฟังความคิดเห็น
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย
  • วันที่ 12 – 22 ธันวาคม 2566 สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 และเอกสารงบประมาณ
  • วันที่ 26 ธันวาคม 2566 สำนักงบประมาณ เสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ
  • วันที่ 3 – 4 มกราคม 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระแรก
  • ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567
  • วันที่ 3 – 4 เมษายน 2567 สลค.เสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อในวาระที่ 2 – 3
  • วันที่ 9 – 10 เมษายน 2567 เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯให้ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ผ่านความเห็นชอบ
  • คาดว่า วันที่ 17 เมษายน 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นำขึ้นทูลเกล้าฯ
  • ปรับโครงสร้าง ศธ. – ตั้งสำนักบริหารมัธยมศึกษา

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าวและสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ซึ่งเป็นการศึกษาการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียนและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยปรับปรุงสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานตามโครงสร้างและให้มีชื่อใหม่ว่า “สำนักบริหารการมัธยมศึกษา” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบการจัดการมัธยมศึกษาโดยตรง โดยต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกับได้เสนอขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักบริหารการมัธยมศึกษา ซึ่งวุฒิสภามีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวด้วย

    สั่ง คค.เคลียร์ปมสายการบินปฏิเสธคนพิการนั่งรถเข็นไฟฟ้าขึ้นเครื่อง

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีสายการบินปฏิบัติต่อคนพิการไม่เหมาะสม ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลการพิจารณา หรือ ผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ปฏิเสธผู้โดยสารชาวต่างชาติ ซึ่งมีความพิการทางร่างกายและจำเป็นต้องใช้รถเข็นไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนที่นำรถเข็นไฟฟ้าขึ้นเครื่องบิน และปฏิเสธการเดินทาง เนื่องจากรถเข็นไฟฟ้าดังกล่าวบรรจุแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดความจุ 240 วัตต์ – ชั่วโมง (Watt – Hour:Wh) เกินกว่าที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์อนุญาตให้นำขึ้นครื่องได้ (ไม่เกิน 160 Wh) ซึ่งไม่สอดคล้องกับประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 ข้อ 6 ที่กำหนดข้อยกเว้นการพาแบตเตอรี่ลิเธียมไออนสำหรับรถวีลแชร์ที่มีขนาดไม่เกิน 300 Wh หรือ 25g (Lithium Content:LC) ไปกับอากาศยานได้ รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ถอยสะพานเทียบเครื่องบินออก ในขณะที่ผู้โดยสายยังอยู่บนสะพานจนผู้โดยสารเกือบพลัดตกจากทางลาดของสะพานดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวัง

    ซึ่งกรณีดังกล่าว กสม. เห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความพิการ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้กระทรวงคมนาคมทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) โดยเฉพราะอย่างยิ่งประเด็นการปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารที่เป็นคนพิการและประเด็นมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่สายการบินและท่าอากาศยานต้องจัดให้ผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ

    ขยายเวลาออกอนุ กม.คุ้มครองแรงงาน 9 ฉบับ 1 ปี

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 9 ฉบับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

    การจัดทำกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ ได้แก่ 1) พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการให้กิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่าสิบคนเป็นสมาชิกของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 2) พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดเวลาเริ่มให้มีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 3) กฎกระทรวงเกี่ยวกับการให้นายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย 4) กฎกระทรวงเกี่ยวกับอัตราเงินสะสม และเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 5) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างที่มิได้อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 6) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับแบบหลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างและการออกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนให้แก่นายจ้าง 7) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับการนำส่งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินเพิ่มเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 8) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเงินสะสมและเงินสมทบที่นายจ้างต้องนำส่งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ 9) ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับแบบหนังสือกำหนดบุคคลผู้พึงได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีลูกจ้างตาย

    ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างเข้าสู่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องพิจารณาศึกษาปัจจัยอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตลอดจนพิจารณาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มของปัจจัยในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเด็นภาวะหนี้ครัวเรือนต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ. 2565 และอัตราค่าครองชีพประกอบการพิจารณาด้วย จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

    สั่ง ธ.ก.ส.จัด 56,321 ล้านบาท แจกชาวนาไร่ละพัน

    น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอสำหรับกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบวงเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และส่งรายชื่อเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งวงเงินงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) งบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท น.ส.เกณิกา กล่าว

    จัด ครม.สัญจรนัดแรก-ลงพื้นที่ ‘หนองบัวลำภู’ 3-4 ธ.ค.นี้

    น.ส.เกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีบัญชาเห็นชอบกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬา เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีประเด็นการตรวจราชการที่สำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาความยากจน 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3) การแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร และ 4) การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งมีการมอบหมายคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

    โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ซึ่งกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เป็นประธานประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู

    ผ่านแผนปฏิบัติป้องกันโรคระบาด 2566 – 70

    น.ส.เกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566 – 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ) เสนอ โดยคณะกรรมการฯ รายงานว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด มาแล้ว 2 ฉบับ ต่อมาคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินงานแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 – 2564 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งปัจจุบันสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานแล้ว คณะกรรมการฯ จึงจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 3 ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการนำไปใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเตรียมความพร้อมและป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความมั่นคงด้านต่าง ๆ ของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

    (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา 5 ประเด็น ดังนี้ (1) การพัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ (3) การยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ (4) การพัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ และ (5) การพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงและระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ

    ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 2 บาท/กก.

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติมอบหมายตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

    1. ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ดำเนินการประกาศราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรตามอำนาจ และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนวทางการบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยด่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนี้

      (1) ให้ปรับราคาจำหน่าย ณ หน้าโรงงาน ราคาน้ำตาลทรายขาว จากเดิมกิโลกรัมละ 19.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 21.00 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากเดิม กิโลกรัมละ 20.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 22.00 บาท สำหรับราคาจำหน่ายปลีก เห็นควรมีราคากำกับดูแลที่เหมาะสม
      (2) มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปรับปรุงแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
      (3) มอบหมายกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) นำเสนอ กกร. พิจารณาทบทวนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าน้ำตาลทราย รวมทั้งการกำหนดราคาจำหน่าย ณ หน้าโรงงาน และราคาจำหน่ายปลีก ตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ
      (4) มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมการค้าภายใน พิจารณามาตรการกำกับดูแลให้มีน้ำตาลทรายในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ
      (5) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ ต่อไป

    2. ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ) นำเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพิจารณาทบทวนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าน้ำตาลทราย โดยกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

    3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) และกระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) พิจารณามาตรการกำกับดูแลให้มีน้ำตาลทรายในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ

    ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไปคือการประชุมของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อหาข้อสรุปก่อนส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขราคาต่อไป

    ขยายเวลาออกอนุ กม.คุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย 1 ปี

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

    ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 47 ฉบับ กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 44 ฉบับ (เป็นกฎกระทวง จำนวน 12 ฉบับ ระเบียบ จำนวน 6 ฉบับ และประกาศ จำนวน 26 ฉบับ) ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับดังกล่าว

    การจัดทำกฎหมายลำดับรองจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

      (1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอจดทะเบียน การออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมือง พ.ศ. ….มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอจดทะเบียน การออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนการอนุญาตการจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมืองของต่างประเทศ โดยบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับความยินยอมจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติอื่นที่ได้จดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมืองของประเทศนั้นไว้แล้ว เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
      (2) ร่างกฎกระทรวงการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร เพื่อป้องกันระบบนิเวศน์ที่เป็นแหล่งกำเนิดสมุนไพรไม่ให้ถูกทำลาย
      (3) ร่างกฎกระทรวงการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การอนุญาต ให้ใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร

    ไฟเขียวตั้งงบฯปี’67 อุดหนุน ‘MTJA’ กว่า 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณ และแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

    ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
  • ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ
  • โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

    รับทราบผลงานป้องกัน – ปราบปราม ค้ามนุษย์ปี’67

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 292.18 ล้านบาท ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

      1. ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย เช่น สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีค้ามนุษย์จำนวนมากขึ้น ปี 2564 จำนวน 188 คดี และปี 2565 จำนวน 253 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.57, จับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 482 คดี ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 403 คดี (ที่มีจำนวน 79 คดี) โดยขยายผลเป็นคดีค่ามนุษย์ถึง 41 คดี นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปี, ตรวจสอบยึดอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหา ในปี 2564 มีคำสั่งยึดอายัด จำนวน 15 คดี เป็นเงินจำนวน 4,926,275.05 บาท ปี 2565 จำนวน 84 คดี เป็นเงินจำนวน 40,882,661.75 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 729.89
      2. ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ เช่น คุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน จำนวน 202 คน โดยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 161 คน และเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 41 คน, คุ้มครองผู้เสียหายในสถานคุ้มครอง ใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยคิดเป็น 129 วัน ลดลงจาก 143 วัน ในปี 2564 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองโดยเฉลี่ยสูงถึง 288 วัน ลดลงกว่าร้อยละ 55 (159 วัน)
      3. ด้านป้องกัน เช่น ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565, ตรวจสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก จำนวน 941 แห่ง (จากทั้งหมด 30,453 แห่ง) พบการกระทำความผิด จำนวน 857 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานจ่ายค่าจ้างไม่ตรงกำหนดไม่พบการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กหรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ, เฝ้าระวังและป้องกันผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ณ ด่านตรวจคนหางาน จำนวน 71,270 คน ระงับการเดินทาง จำนวน 383 คน และตรวจบริษัทจัดหางานให้คนไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน จำนวน 132 แห่ง โดยไม่พบการกระทำความผิด

    ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป เช่น เพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการสนับสนุนข้อมูลจากส่วนกลางให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ อบรมให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองของรัฐและเอกชนฯ ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    ตั้ง ‘หมอชลน่าน – สุดาวรรณ’ รักษาราชการแทน รมว.ดีอีเอส

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอแต่งตั้งนายอรรถสิทธิ์ กันมล ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) สูง กองกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน สคก. ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สคก. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ดังนี้

      1. นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
      2. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเติม