ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ภูมิธรรม’ นัดถกบอร์ดดิจิทัลฯ 23 ม.ค.นี้ – มติ ครม.ตั้ง 4 อรหันต์ รื้อประมวลแพ่ง – อาญา

‘ภูมิธรรม’ นัดถกบอร์ดดิจิทัลฯ 23 ม.ค.นี้ – มติ ครม.ตั้ง 4 อรหันต์ รื้อประมวลแพ่ง – อาญา

16 มกราคม 2024


เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • ‘ภูมิธรรม’ เลื่อนประชุมบอร์ดดิจิทัลฯ รอความเห็น ป.ป.ช.
  • นัดถกบอร์ดดิจิทัล ฯใหม่วันประชุม ครม.สัญจร
  • ยันเศรษฐกิจไทยวิกฤติ
  • ยังไม่ชง พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสภา ฯ จนกว่าได้ข้อสรุปครบ
  • ปัดข่าวลดเงินดิจิทัลฯเหลือ 3 แสนล้าน-ใช้งบฯปกติ
  • มติ ครม.ตั้งงบฯปี’68 วงเงิน 3.6 ล้านล้าน กู้ 7 แสนล้านบาท
  • ลดภาษี 1 บาท ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท 3 เดือน
  • ตั้ง 4 อรหันต์ รื้อประมวลแพ่ง – อาญา – นิติบุคคล
  • เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานผลการประชุม ครม.

    ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15 -19 มกราคม 2567

    เลื่อนประชุมบอร์ดดิจิทัลฯ รอความเห็น ป.ป.ช.

    นายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า การประชุมเลื่อนไปแล้ว เพราะรัฐบาลได้รับหนังสือมาจากกฤษฎีกา และได้ทราบว่าจะมีหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย จึงนำความเห็นจากสองหน่วยงานเข้าประชุมพร้อมกัน และไม่ต้องประชุมหลายครั้ง

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า วันนี้ทราบมาว่าหนังสือทาง ป.ป.ช.จะมาถึง ตนรอดูว่ามีอะไรบ้าง และคิดว่าถ้าเรียบร้อย ก็จะจัดประชุมทั้ง 2 เรื่องทันที เพื่อไม่ให้ข้อเสนอแนะทั้งหมดขัดแย้งกัน และจะเป็นเรื่องดี ถ้านายกฯ ได้กลับมาประชุมด้วย

    เมื่อถามถึงน้ำหนักข้อเสนอของ ป.ป.ช. นายภูมิธรรม ตอบว่า “ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน ประชาชนเสนอมา การเมืองเสนอ พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา ก็ให้น้ำหนักเท่ากัน คือรับฟังภายใต้เงื่อนไขวัตถุประสงค์ของโครงการ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และไปไกลจากวัตถุประสงค์ที่จะทำ อาจต้องพิจารณาให้ความสำคัญในอีกระดับหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่ตรงกับวัตถุประสงค์และมีข้อเสนอแนะที่น่ารับฟังก็จะเป็นเรื่องใช้ในการพิจารณาประกอบให้มากขึ้น”

    ถามต่อว่า จะมีคำตอบให้ประชาชนได้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า “ก็ต้องมีเพราะเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน เนื่องจากเรามาในช่วงที่รัฐบาลอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจประเทศแย่ และความไม่ต่อเนื่องของงบประมาณก็มีอยู่ ฉะนั้น การดำเนินการจึงไม่ใช้เงื่อนไขเหมือนปกติที่เราเข้ามาแล้วสามารถใช้เงินงบประมาณได้ ขณะนี้ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม งบฯปี 2567 ถึงจะได้ใช้”

    “วันนี้งบฯปี’67 ใช้แค่เฉพาะงบประจำ กับ เงินเดือนข้าราชการเป็นหลัก ส่วนงบลงทุนยังใช้อะไรไม่ได้ ฉะนั้น เราอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่เราไม่ได้ให้ข้อจำกัดเหล่านี้มาเป็นข้อสะดุดหยุดลงของโครงการ” นายภูมิธรรม กล่าว

    นอกจากนี้ นายภูมิธรรม เสริมว่า รัฐบาลยังมีโครงการอื่นๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการค้า การขับเคลื่อนองค์กรของรัฐ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

    ย้ำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ เป็นโครงการกระตุ้น ศก. ไม่ได้แจกเงิน

    “ดิจิทัล วอลเล็ต ถือเป็นโครงการสำคัญ เราเริ่มต้นจากการประเมินว่าเศรษฐกิจมีปัญหา รู้ทั้งหลักวิชาการ ซึ่งอาจจะมองแตกต่างกันได้ ดูทั้งเงื่อนไขประชาชนที่เราประสบพบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า คนยากคนจน หรือ แม้กระทั่งคนชั้นกลาง SMEs หรือ ธุรกิจทั้งหมด ทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา มีสภาพที่ไม่ขยับขับเคลื่อน หลายบริษัทต้องปิดกิจการลง โดยเฉพาะ SMEs ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ปิดกิจการลงไปเยอะ ฉะนั้น ความจำเป็นที่เราคิดว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจ หรือ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งหมดขับเคลื่อนมีความสำคัญ” นายภูมิธรรม กล่าว

    “เราอยู่ในระบบทุนนิยมจะนิ่งเฉยอย่างนี้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องขับเคลื่อน โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการขับเคลื่อนที่ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน”

    “วันนี้เราเถียงกันในเรื่องหลักการ และเถียงในเรื่องวิธีคิด ในเรื่องระบบการจัดการ ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ แต่การเถียงกันทั้งหมดต้องอิงฐานที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ เราอยู่ในระบบทุนนิยม จะขยับระบบทุนนิยมให้เดินหน้าไปได้ก็ต้องคำนึงถึงจิตใจ และความมนุษย์ของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน…โครงการนี้เป็นโครงการที่เราพุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการแจกเงิน การกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ทำให้การจ้างงานเกิดขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

    นายภูมิธรรม ย้ำว่า “ขอความกรุณาอย่าเอาวิชาการมานั่งเถียงกัน แต่เอาวิชาการมาเป็นข้อพึงระวังได้และต้องคำนึงถึงชีวิตที่เป็นจริง เพราะเวลาเราถกเถียงกันในหมู่ข้าราชการระดับสูง หรือนักวิชาการก็ดี เราเถียงบนพื้นฐานที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ประสบปัญหาที่พี่น้องประชาชนได้รับ จึงอยากเชิญชวนให้เรื่องนี้มาช่วยกันพูด ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหามันดีขึ้น ถ้ามีวิธีการที่ดีกว่านี้เราไม่ขัดข้องอะไรยินดีรับฟัง มีอะไรที่บอกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่กลไกราชการในปัจจุบันถือเป็นกลไกเดิมที่ทำอยู่ในรัฐบาลเดิม และทำวิธีการเดิม ๆ ดังนั้น เรายังไม่เห็นว่าภายใต้กลไกที่เคยทำปฏิบัติมาแบบเดิม ๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรให้ดีขึ้น

    “การที่เราเสนอสิ่งใหม่ควรดูในกรอบของสิ่งใหม่ และดูว่าตรงนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร เพื่อให้เดินหน้าได้ ผมขอเชิญชวนทุกฝ่ายเริ่มต้นจากความเป็นจริง เอากรอบวิชาการมาจับ อย่าใช้ความรู้สึกเฉพาะด้านของตัวเอง และต้องยอมรับว่าเรื่องต่างๆ ในการแก้ไขต้องใช้ความร่วมมือด้วยกันทุกเรื่อง วันนี้เป็นระบบทุนนิยมเราแข่งขันสู้กัน พยายามจัดการให้ระบบดีที่สุดแต่ก็ต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจและคำนึงถึงความเป็นจริงของมนุษย์และคนในประเทศไทยด้วยกัน” นายภูมิธรรม กล่าว

    นัดถกบอร์ดดิจิทัล ฯ ในวันประชุม ครม.สัญจร

    เมื่อถามว่าความเห็นของ ป.ป.ช.จะมาเมื่อไร นายภูมิธรรม ตอบว่า ไม่ทราบ แต่ได้ยินว่าจะมาเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะนำเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต พร้อมกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าประชุมพร้อมกันกับ นายกฯ ในวันประชุม ครม.สัญจร (23 มกราคม 2567)

    ถามต่อว่า ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินเดินไปไม่ได้รัฐบาลจะมีแผนสำรองหรือไม่ นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า รัฐบาลคิดกรอบใหญ่ไว้แล้ว แต่รอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร และแก้ปัญหาจากความเป็นจริง

    “อย่าใช้คำว่า ‘ถ้า’ บ่อย คำว่าถ้าบ่อยเป็นการจินตนาการ เราคิดไว้แล้วกรอบต่ำ ๆ จะเป็นอะไรอย่างไร ถ้าได้ หรือไม่ได้อะไรก็จะทำอย่านั้น ส่วนถ้ามันเกิด หรือไม่เกิดก็ไม่รู้ รอให้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วค่อยมาถามก็ได้” นายภูมิธรรม กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ มีแน่นอนใช่หรือไม่ โดย นายภูมิธรรม ตอบว่า “เรายืนยันที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ส่วนจะได้อะไรขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและข้อเสนอของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทางกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติ เราก็คงเอามาปรับใช้ หากเป็นเรื่องความเห็น รัฐบาลต้องยืนยันความเห็นของเราเองในการดำเนินการถ้าเราเห็นต่าง ถ้าเห็นด้วยก็ไม่มีปัญหา”

    “นโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายที่คิดขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันคิดตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลและได้แถลงต่อรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ฉะนั้น ความชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายนี้ตามที่รัฐสภาเลือกมาจากประชาชนถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรมที่สุด เพียงแต่เรารับฟังเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสบายใจและให้รอบด้านครบถ้วนมากที่สุดเท่านั้นเอง อย่าใช้บางประเด็น หรือบางส่วนมาขวางทุกเรื่องแล้วทำไม่ได้เลย” นายภูมิธรรม กล่าว

    ยันเศรษฐกิจไทยวิกฤติ

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำงาน เนื่องจากไม่มีกลไกหลายอย่าง รวมถึงเรื่องที่ค้างจากรัฐบาลเดิม ฉะนั้น รัฐบาลใช้เวลาช่วงต้นในไตรมาสแรกของการเข้ามาเป็นรัฐบาล 3 เดือน เพื่อคลี่คลายและแก้ไขปัญหา และอยากให้ทุกคนดูในภาพรวมและให้ช่วยกันคิดว่า ประเทศชาติจะหลุดพ้นจากวิกฤติที่เป็นอยู่อย่างไร

    “การจะบอกว่าวิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ หรือ มาวิจารณ์รัฐบาลดำเนินการแบบนั้น โดยเอาความชนะทางการเมืองเป็นที่ตั้ง อยากให้เข้ามาดูความเป็นจริงและช่วยกันคิด และให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลมากที่สุด และช่วยกันคิด เพราะประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคน” นายภูมิธรรม กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ระเบียบการเงินการคลังระบุว่า เศรษฐกิจต้องวิกฤติจริง ๆ ถึงจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้ ทำให้ นายภูมิธรรม ตอบว่า “เศรษฐกิจวิกฤติจริงๆ ใครเป็นคนกำหนดว่า วิกฤติ ถามผม ผมบอกว่าวิกฤติ ถามฝ่ายค้านก็บอกว่า ไม่วิกฤติ ทั้งที่ ก่อนฝ่ายค้านจะเข้ามา ก็มองว่าวิกฤติและจะแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องดูความเป็นจริง ไม่ใช่พูดตามวาระอารมณ์ หรือตามสถานการณ์”

    ยังไม่ชง พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสภา ฯ จนกว่าได้ข้อสรุปครบ

    เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะยืดระยะเวลาออกไปจากเดิมใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า ปัจจุบันรัฐบาลเดินตามแผนทั้งหมด ส่วนจะยืด หรือ ไม่ ขึ้นกับสถานการณ์จริง ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด เพื่อให้เดินหน้า

    ถามว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลเข้าสภาเมื่อไร นายภูมิธรรม ตอบว่า “ยัง ต้องเคลียร์ให้ทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร และทุกคนต้องเข้าใจสิ่งที่ตนพูด ต้องดูว่าของจริงจะให้ไปได้อย่างไร วันนี้ถ้าบอกว่าจะไปกู้ไหม จะไปโน่นนี่นั่น มันตอบไม่ได้ เพราะข้อสรุปต่างๆ ยังไม่ครบถ้วน อย่ามองอะไรไกลเกินจากความเป็นจริง ช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะมีข้อเสนออะไรสำหรับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ดีกว่ามาบอกว่าไปโน่นไปนี่แล้วมาจินตนาการต่างๆ ถ้าคนของรัฐบาลตอบไม่ตรงกัน หรือตอบมีปัญหาซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ จะกลายเป็นว่าไม่พร้อม ไม่ได้ดูแลมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้คิด ตนคิดว่าเป็นข้อเสนอวิจารณ์ที่ไม่ได้อยู่ในใจ ที่มีความรู้สึกร่วมกันที่อยากจะแก้ปัญหาประเทศ”

    ถามว่า รัฐบาลตั้งธงที่จะแจกเงินดิจิทัล นายภูมิธรรม ตอบว่า “ไม่ใช่ธง แต่เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่ใช่อำเภอใจ มีธงหมายความว่าอำเภอใจจะทำอย่างนี้อย่างนั้นก็ได้มันไม่ใช่ แต่เป็นนโยบายที่คิดมาอย่างดี เอามาคุยกับพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงต่อรัฐสภาชัดเจน เมื่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาชัดเจนตนไม่ทำ งวดหน้าอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านก็กางมาแล้วก็บอกว่าเรื่องนี้เรื่องนั้นไม่ทำ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยในการช่วยกันมอง”

    เมื่อถามว่า ถ้าออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้รัฐบาลจะถอยหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า “ไม่มีคำว่า ‘ถ้า’ ขอเจอความเป็นจริง ตอนนี้ยังไม่มีเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ หรือ ไม่เงินกู้ ขอความเป็นจริงก่อน ตรงนี้ยังไม่ชัดเจนเลย แต่จะให้ตนไปคิดเรื่องอื่น ถ้าคิดไปอาจจะคิดฟรีก็ได้ รอให้ความจริงเกิดขึ้นก่อน หากความเห็น ป.ป.ช.มาถึงจะเปิดเผยหรือไม่ อยู่ที่ว่าเป็นเอกสารระดับไหน”

    เมื่อถามว่าความเห็นของ ป.ป.ช.จะสร้างเงื่อนไขจนเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า “ไม่ทราบ ป.ป.ช. จะออกมาจริง หรือ เปล่ายังไม่รู้เลย แต่เราได้ยินว่าจะมี เราก็รอ แต่ยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการว่าให้รอก่อนเดี๋ยวจะส่งมา ไม่มี เราทราบว่าจะมี จึงคิดว่าถ้ามีจริงก็จะรอได้อีก ไม่มีปัญหาที่จะขยับไปอีกอาทิตย์สองอาทิตย์ เดือนสองเดือน หากทุกอย่างพร้อมเราเดินได้ทันที เพราะทุกอย่างเตรียมการไว้หมดแล้ว”

    สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะดันไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า “ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย จะมาบอกว่าให้ดันไปถึงศาลรัฐธรรมนูญท่านคิดเอง ถ้าอยากให้ดันไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหรือเปล่านั่นเป็นแนวทางหนึ่ง ถ้าเป็นข้อเสนอจากท่าน ซึ่งเราพูดชัดเจนแล้วว่าไม่มีธงที่จะเดิน เราดูตามความเป็นจริงแล้วว่าตามความเป็นจริง อย่าจินตนาการมาก ยิ่งจินตนาการมากยิ่งเหนื่อย”

    นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ปัดข่าวปรับลดเงินดิจิทัลฯเหลือ 3 แสนล้าน-ใช้งบฯปกติ

    ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเลื่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลื่อนประชุม เพราะต้องการฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เพราะถ้าเร่งประชุมก็โดนกล่าวหาว่ารวบรัด แต่ความเห็นจาก ป.ป.ช. จะเข้ามาเมื่อไร คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน จากนั้นเมื่อพิจารณาความเห็นของกฤษฎีกาและป.ป.ช. แล้ว จะได้ดำเนินการประชุมเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะให้ถูกต้อง และเดินหน้าโครงการต่อ

    “นาทีนี้ยังตั้งเป้าเหมือนเดิม เวลาเริ่มกระชั้นก็ต้องยอมรับ ผมไม่ได้ปฏิเสธ…ในฐานะของคณะกรรมการนโยบายฯ เรามีหน้าที่รับฟังให้รอบด้าน ฟังความเห็นเขาด้วย ข้อเสนอแนะคืออะไร ขออนุญาตรอให้ถึงก่อน เมื่อข้อแนะนำข้อเสนอแนะเป็นอย่างไรแล้ว เราสามารถปฏิบัติตามเพื่อให้ข้อห่วงใยต่างๆ คลายใจลงได้หรือไม่เพียงใด แล้วจึงตัดสินใจต่อ” นายจุลพันธ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลจะไม่ใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท แต่จะใช้เงินจากงบประมาณปี 2568 และปรับลดวงเงินรวมเหลือ 300,000 ล้านบาท โดย นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า “ผมก็เห็นข่าวชิ้นเดียวกัน ที่บอกว่า 5 แสน เหลือ 3 แสนล้านบาท และจะกลับไปใช้งบประมาณปกติ เห็นจากสื่อ ผมยืนยันว่าในเวลาที่มีการประชุมเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งผมเชื่อว่าผมอยู่เกือบทุกชุด ไม่มีการพูดคุยประเด็นนี้เลย ไม่มีตัวเลข 300,000 เลย เลยไม่แน่ใจว่ามาจากไหน”

    เมื่อถามถึงการใช้เงินโดยออกเป็น พ.ร.ก. นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ใช้คำว่ายังไม่ได้พิจารณา การออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจของ ครม. อยู่แล้ว เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ขณะนี้ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุย”

    แจงลดภาษีสรรพสามิต ตรึงราคาดีเซล 30 บาท 3 เดือน

    นายจุลพันธ์ รายงานว่า ที่ประชุม ครม.มีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน ประมาณ 1 บาทต่อลิตร ตรึงไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึง 19 เมษายน 2567 เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาระด้านพลังงานของประชาชน

    “ถามว่ารอบที่แล้ว 2.5 บาทใช่ไหม ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ เพราะเราใช้กลไกในการช่วยเหลือช่วงต้น จะเห็นว่ารัฐบาลชุดก่อนหน้ามีการอุดหนุนถึง 5 บาท แต่รัฐบาลนี้เข้ามาก็กลับมาที่ 2.5 บาท และครั้งนี้ 1 บาท เป็นไปตามกลไกที่เราเตรียมการไว้…เราปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความยั่งยืนโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐในระยะยาว” นายจุลพันธ์ กล่าว

    อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ อธิบายว่า รัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดภายในทำให้สามารถดูแลราคาพลังงานให้เป็นไปตามเป้า และไม่มีนโยบายให้ตรึงราคาน้ำมันตามที่กำหนด

    เมื่อถามถึงการปรับลดราคาพลังงานในช่วง 3 เดือนจากนี้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “หลังเดือนเมษายน 2567 ยังตอบไม่ได้”

    นายจุลพันธ์ ให้ข้อมูลว่า การปรับลดราคาพลังงานครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน อยากให้ตรึงราคาน้ำมันไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2567 จะต้องพิจารณาอีกครั้ง

    เมื่อถามถึงราคาน้ำมันที่เหมาะสม นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย แต่ยืนยันว่าอยู่ในระดับราคาที่มีความเหมาะสม และสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทยได้”

    ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เห็นชอบ MOU ขนส่งทางทะเล 7 ประเทศ

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และราชอาณาจักรไทย ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเคยทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเลกับประเทศต่างๆ เช่น เปรู เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเลระหว่างภาคีร่างความตกลงฯ ภายใต้หลักเสรีภาพในการเดินเรือและหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการพาณิชยนาวีและการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โดยมีขอบเขตการใช้บังคับกับเรือ บริษัทเรือ ลูกเรือ และสินค้าบนเรือ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure: SOP)

    ร่างความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นการสร้างกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุน อันจะนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทยในสาขาความเชื่อมโยงทางทะเลในเวทีระหว่างประเทศ ภายใต้บริบทด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งเสริมสถานะความเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบกและทางทะเลของไทยที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการกำหนดเป้าหมายและท่าทีด้านความเชื่อมโยงทางทะเลที่ไทยต้องการผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในฐานะประเทศผู้นำ (Lead country) ด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC

    ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างความตกลงฯ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว และดำเนินการจัดทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) แจ้งการมีผลใช้บังคับของร่างความตกลงฯ เมื่อ คค. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยัง กต. ว่าได้ดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้ว (เดิมจะมีการลงนามร่างความตกลงฯ ระหว่างการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คค. แจ้งว่า การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป ทำให้ยังไม่ทราบกำหนดวันลงนาม

    ทั้งนี้ ร่างความตกลงฉบับนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

    ลดภาษี 1 บาท ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท 3 เดือน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประเภทอัตราตามปริมาณ (ลิตร) (ปรับลดประมาณ 1 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 จนถึงหลังเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน 2567

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการมาตรการภาษี โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (ประมาณ 1 ปี 8 เดือน มีการสูญเสียรายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท โดยในแต่ละครั้ง ปรับอัตราภาษีลดลงแตกต่างกัน) รวม 8 ฉบับ

    มาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และที่ผ่านมา รัฐบาล ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยก่อนหน้านี้ กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2566 (ปรับลดประมาณ 2.50 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกช่วยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ในครั้งนี้ จึงเห็นควรดำเนินมาตรการทางภาษีต่อเนื่อง โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ร่วมกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าวประมาณ 1 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567

    ทั้งนี้ กค. ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยรายงานว่า การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท/เดือน (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบฯ 2566) โดยการดำเนินการตามมาตรการภาษีในครั้งนี้จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ

    “มาตรการครั้งนี้ เป็นการยืดระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงานระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ทาง พน. ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะ “รื้อ – ลด – ปลด – สร้าง” ด้วยการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน” นางรองรัดเกล้า กล่าว

    ตั้งงบฯปี’68 วงเงิน 3.6 ล้านล้าน กู้ 7 แสนล้านบาท

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท และการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 2568

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 กำหนดให้ในการจัดทำงบฯ ประจำปี ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนดนโยบายงบฯ ประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบฯ และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดงบดุลฯ และเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ ปี 2568 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ ปี 2568 ในวันที่ 16 มกราคม 2567 โดยปีงบฯ 2568 คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,454,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร และอื่นๆ คงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,887,000 ล้านบาท

    วงเงินงบฯ ปี 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-71) ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สำหรับ งบฯ ลงทุน และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

      1) โครงสร้างงบประมาณ ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้ (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 180,873.1 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.38 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 72.78 (2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท) (3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 742,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 24,577.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.62 ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับสัดส่วนต่องบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 144,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 25,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.00 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วยร้อยละ 3.40
      2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59
      3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนที่ร้อยละ 3.64

    นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 2568 เนื่องจาก (1) ข้อสั่งการของ นรม. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการนำนโยบายของรัฐบาล มากำหนดเป็นจุดเน้นที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 และใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับต่อไป โดยมีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณที่สะท้อนถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และกรณีจะเพิ่มหรือลดงบประมาณในรายการใด ต้องสามารถอธิบายเหตุผล และความจำเป็นได้อย่างชัดเจน (2) ให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของการกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ซึ่งด้วยหลักการและเหตุผลทั้ง 2 ข้อข้างต้นนี้ จึงได้มีการเสนอปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 2568

    ทั้งนี้มีกรอบเวลาที่สำคัญ อาทิ

  • ธันวาคม 2566 – 2 กุมภาพันธ์ 2567 หน่วยรับงบประมาณ จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่แสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยรับงบประมาณ
  • 3 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2567 สงป. พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนำเสนอ ครม. และ 26 มีนาคม 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียด พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียด
  • สงป. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณ จากนั้นดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย
  • ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. และให้ สงป. จัดพิมพ์ร่าง และเอกสารประกอบงบประมาณ
  • 28 พฤษภาคม 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเอกสารประกอบงบประมาณ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร
  • 5-6 มิถุนายน 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 1
  • ท้ายที่สุด 17 กันยายน 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไป
  • เห็นชอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ‘ไทย – เยอรมนี’

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันให้มีทิศทางและความสอดคล้องกับประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการลงนามปฏิญญาร่วมฯ ในช่วงการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2567

    ร่างปฏิญญาร่วมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      (1) เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในฐานะกลไลสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เสรีภาพทางวิชาการและผลประโยชน์ร่วมกัน
      (2) ไม่จำกัดสาขาความร่วมมือ โดยหัวข้อในแต่ละสาขาความร่วมมือจะเป็นไปตามความสนใจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะกำหนดผ่านการประชุมและข้อตกลงในภายหลัง
      (3) ครอบคลุมใน 10 กิจกรรม ได้แก่ 1) การประกาศรับข้อเสนอร่วมกันสำหรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี 2) การส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ โดยฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย 3) การจัดประชุม สัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ประชุมวิชาการและนิทรรศการร่วมด้านวิทยาศาสตร์ 4) การส่งเสริมให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยในสองประเทศดำเนินความร่วมมือในโครงการวิจัยร่วม 5) การแลกเปลี่ยนข้อมูล วัสดุ และเอกสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6) การส่งเสริมให้นักศึกษาและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาใช้ประโยชน์จากโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงใช้ประโยชน์จากโครงการแลกเปลี่ยนที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนของนักศึกษาระหว่างไทยและเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง 7) การสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยและเยอรมนี 8) การกำหนดรูปแบบอื่น ๆ ของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน 9) การแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรม นโยบาย วิธีปฏิบัติ กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา และ 10) การสนับสนุนกิจกรรมขององค์การแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst: DAAD) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะสถาบันทางวิทยาศาสตร์ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม ค.ศ. 1983 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี
      (4) ทั้งสองฝ่ายจะถ่ายทอดการสนับสนุน และการสร้างมาตรการในแต่ละสาขาความร่วมมือแก่ภาคีที่สาม เช่น หน่วยงานที่บริหารโครงการ องค์กรทางวิทยาศาสตร์ หรือ องค์กรสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้ สามารถจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการ โดยกำหนดสาขาความร่วมมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตาม รวมถึงข้อตกลงด้านงบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ที่เหมาะสมโดยการสนับสนุนงบประมาณของกิจกรรมตามปฏิญญาร่วมฯ อาจจะสร้างเป็นข้อตกลงแยกต่างหากหรือการประกาศทุนสนับสนุน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขข้อขัดแย้งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้โดยการปรึกษาหารือกันฉันมิตร
      (5) แก้ไขเมื่อใดก็ได้ โดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของทั้งสองฝ่าย
      (6) มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม

    ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จว.ชายแดนใต้อีก 3 เดือน

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2567 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ดังนี้

      1. ปรับลดพื้นที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะสถิติการก่อเหตุและการสูญเสียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
      2. ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอ ปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 (ซึ่งเดิมครบกำหนดวันที่ 19 มกราคม 2567) เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีการก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติประกาศให้อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

    ผ่านร่างแถลงผลประชุม รมว.เกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 16

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (2024 Zero Draft Communique) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน (Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ครั้งที่ 16 โดยไม่มีการลงนาม ในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของเอกสารร่างแถลงการณ์ เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยร่างฯ ดังกล่าวให้ความสำคัญของการดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่

      1. ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นได้ และดำเนินการตามวาระ 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการยุติความหิวโหยด้วยการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ปรับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อการผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและยั่งยืน ส่งเสริมการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ลดการสูญเสียอาหารและของเสียส่งเสริมวิธีการผลิตและพันธุ์พืชที่ยั่งยืน แนวทางการจัดการปศุสัตว์อย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและเกษตรอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของดิน การเข้าถึงน้ำที่เพียงพอและมีคุณภาพ เพิ่มความรู้เกษตรกรในการปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารที่สมบูรณ์ ปรับปรุงการจัดการปุ๋ย การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสีเขียว ส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลง ส่งเสริมการวิจัยและการลงทุนเพิ่มเติมด้านความยั่งยืนทางการเกษตรและระบบอาหาร การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและนวัตกรรมได้
      2. ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยเพิ่มบทบาทขององค์การการค้าโลก(WTO) ด้านกฎการค้าสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ระบบการค้าเปิดกว้าง ปลอดภัยและโปร่งใส บทบาทของระบบข้อมูลด้านการตลาดของสินค้าเกษตร (Agricultural Market Information System: AMIS) การดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดี และการควบคุมเชิงป้องกันเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหาร โรคสัตว์ โรคและแมลงศัตรูพืช เพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนในการป้องกัน เตรียมความพร้อมและควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อและการดื้อยาด้านจุลชีพ (AMR) ในมนุษย์และสัตว์ เพื่อเสริมสร้างแนวทางด้านสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่ปราศจากการตัดไม้ทำลาย (deforestation-free) ความสัมพันธ์ทางการตลาดให้มีความเท่าเทียมสำหรับทุกคนในห่วงโซ่ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรขนาดกลาง ตลอดจนเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
      3. การลดอาหารเหลือทิ้ง โดยมุ่งที่จะลดการสูญเสียอาหารเหลือทิ้งตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 การกำหนดเป้าหมาย วัดความสูญเสียอาหารเหลือทิ้ง ขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การบริจารอาหารที่เหลือ หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุ อาทิ นำไปเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
      4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท บทบาทของสตรี โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในการได้รับอาหารที่เพียงพอ ตามแนวทางปฏิบัติโดยสมัครใจของ FAO ว่าด้วยสิทธิในอาหารซี่งรับรองโดยคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ตลอดจนบทบาทของเกษตรกรรายจ่ายและแรงงานในชนบท การปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน น้ำ การเงิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และทรัพยากรพันธุกรรม เน้นย้ำในการปกป้องที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งบทบาทของ CFS เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ

    ตั้ง 4 อรหันต์ รื้อประมวลแพ่ง – อาญา – นิติบุคคล

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหรือเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 คณะ ดังนี้

      1. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
      2. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
      3. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ
      4. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    1. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

    องค์ประกอบ นายสวิน อักขรายุธ ประธานกรรมการ โดยกรรมการประกอบด้วย หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ นายไกรสร บารมีอวยชัย นายจักรพงษ์ เล็กสกุลไชย นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ นายทวีศักดิ์ วรพิวุฒิ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ นายธรรดร มลิทอง นายปราโมทย์ ผลาภิรมย์ นายมนัส สุขสวัสดิ์ นายวรรณชัย บุญบำรุง นายสมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ และนายชวการ ลิปม์ศิระ

    2. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    องค์ประกอบ นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายเกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ นางจริยา เจียมวิจิตร นายณรงค์ ใจหาญ นายนพดล เภรีฤกษ์ นายไพโรจน์ วายุภาพ นายสิทธิโชค ศรีเจริญ และนายสุพล ยุติธาดา

    3. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท และองค์กรทางธุรกิจ

    องค์ประกอบ คุณหญิงพรทิพย์ จาละ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายจิตรกร ว่องเขตกร นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล นายไชยวัฒน์ บุนนาค นางณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์ นายธวัชชัย พิทยโสภณ นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ นางสุวรรณา เชื้อบุญชัย นางสุดา วิศรุตพิชญ์ นายอนันต์ จันทรโอภากร และนายเอื้อน ขุนแก้ว

    4. คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา

    องค์ประกอบ นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ นายณัฐพงศ์ โปษกะบุตร นายตระกูล วินิจนัยภาค นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายปกป้อง ศรีสนิท นายประธาน จุฬาโรจน์มนตรี นายประธาน วัฒนวาณิชย์ พลตำรวจโท ปัญญา เอ่งฉ้วน นายศิริชัย สวัสดิ์มงคล นายสมชาย จุลนิติ์ นางสาวนริศรา แดงไผ่ นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล และนายวีระวัฒน์ ปวราจารย์

    หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะ (คงเดิม)

      1. ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำบันทึกชี้แจงหรือให้ข้อคิดเห็นหรือส่งผู้แทนมาชี้แจง และให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการในเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ
      2. ให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือ ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ้องขอ
      3. จัดให้มีการศึกษาวิจัยหรือกลั่นกรองเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ
      4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาศึกษา หรือ กลั่นกรองเรื่องในปัญหาที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ
      5. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดให้มีการสัมมนา หรือ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายนรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565
      2. นางสาวชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565
      3. นายปริญญา สันติชาติงาม นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566
      4. นางสาวสุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตสาธารณสุข) กลุ่มพัฒนาทันตสุขภาพวัยรุ่นและปัจจัยเสี่ยง สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2566

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 16 มกราคม 2567 เพิ่มเติม