ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทำไม 3 กูรูพลังงานเป็นห่วง ‘กองทุนน้ำมัน – กฟผ.’ หนี้ท่วม

ทำไม 3 กูรูพลังงานเป็นห่วง ‘กองทุนน้ำมัน – กฟผ.’ หนี้ท่วม

4 มีนาคม 2024


3 กูรูพลังงาน จี้นายกฯ ทบทวนนโยบายพลังงาน อุ้มคนใช้ดีเซล – เบนซิน – แก๊สหุงต้ม – กดค่าไฟ ล่าสุด ฐานะกองทุนน้ำมัน ฯ ติดลบกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท หนี้ค้าง 1.2 แสนล้านบาท เร่งหาเงินใช้หนี้ครบกำหนด 4 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่ กฟผ.แบกหนี้ค่าไฟกว่า 1.3 แสนล้านบาท วอนรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ก่อนหนี้ท่วม

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้บางช่วงปรับตัวลดลงมาบ้าง แต่ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ใช้มาตรการภาษีควบคู่ไปกับการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าครองชีพและต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้กับประชาชน และภาคเอกชน โดยที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปประมาณ 178,100 ล้านบาท คู่ขนานไปกับการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท (เดิมไม่เกินลิตรละ 32 บาท) ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 และอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) ไม่ให้เกินถังละ 423 บาท (ถังละ 15 กิโลกรัม)

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 1 บาท เป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้าไปแทรกแซงราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพื่อทำให้ราคาถูก โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 91 มีราคาถูกลงลิตรละ 2.50 บาท และราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 95 ลดลงลิตรละ 1 บาท ส่วนน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล อี 20 และ อี 85 ราคาถูกลงลิตรละ 80 สตางค์ การปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อีก 2,700 ล้านบาท

  • ปลัดพลังงานใช้กองทุนน้ำมันฯ ดึงราคา ‘เบนซิน’ ตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ หลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีลิตรละ 1 บาท
  • ก่อนสิ้นสุดมาตรการภาระค่าใช้จ่ายผู้ใช้น้ำมันเบนซินในวันที่ 31 มกราคม 2567 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนฯน้ำมันเข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” โดยไม่ได้ระบุว่าจะยุติการปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินจากกลุ่มน้ำมันเบนซินนำส่งกองทุนน้ำมัน ฯเมื่อไหร่ ทำให้นักวิชาการ และกูรูด้านพลังงาน ต้องออกแสดงความคิดเห็น เพราะเกรงว่ากองทุนน้ำมันฯจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

    จากสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานใหม่ ก่อนที่กองทุนน้ำมันฯจะประสบปัญหาหนี้ท่วม

    หลังจากที่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั้งค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน โดยใช้มาตรการภาษีและกองทุนน้ำมันฯเข้าไปตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท จากเดิมลิตรละ 32 บาท อีกทั้งยังตรึงราคาแก๊สหุงต้มไม่ให้เกินถังละ 423 บาท (ถังละ 15 กิโลกรัม) และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯร่วมกับภาษีสรรพสามิตเข้าไปลดราคาน้ำมันเบนซินอีกลิตรละ 2.50 บาท ทำให้หนี้สินของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 5 เดือน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 กองทุนน้ำมันฯมีฐานะติดลบกว่า 84,000 ล้านบาท หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานกองทุนน้ำมันฯ อาจต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจนทะลุกรอบเพดานที่กำหนดไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ 110,000 ล้านบาท และเมื่อกองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินไปถึงจุดหนึ่งที่เกินขีดความสามารถที่จะชำระหนี้คืนได้ รัฐบาลอาจจะต้องนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาล้างหนี้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ นั่นหมายถึงประชาชนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ ต้องมาช่วยแบกรับหนี้แทนเจ้าของรถที่มีฐานะดีกว่าด้วย

    ตามหลักการบริหารความมั่นคงด้านพลังงาน กองทุนน้ำมัน ฯ จะมีรายได้หลักมาจากการจัดเก็บเงินนำส่งกองทุนจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนด ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯจัดเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 ไร้สารตะกั่ว ลิตรละ 9.38 บาท , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 95 เก็บลิตรละ 2.80 บาท , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 91 เก็บลิตรละ 1.45 บาท , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล E20 เก็บลิตรละ 0.81 บาท และน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล E85 เก็บลิตรละ 0.16 บาท และจากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน ในปี 2566 จะมีปริมาณการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 31.67 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็นน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 95 วันละ 17.97 ล้านลิตร , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล E20 วันละ 5.88 ล้านลิตร , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล 91 วันละ 6.89 ล้านลิตร , น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล E85 วันละ 0.16 ล้านลิตร และน้ำมันเบนซิน 95 วันละ 0.46 ล้านลิตร คาดว่ากองทุนน้ำมัน ฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินนำส่งกองทุนวันละ 70 ล้านบาท

    ขณะที่กองทุนน้ำมัน ฯ มีภาระค่าใช้จ่ายในการนำเงินจากกองทุนออกไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ลิตรละ 4 บาท และแก๊สหุงต้ม (LPG) ชดเชยกิโลกรัมละ 5.54 บาท โดยน้ำมันดีเซลนั้นมีปริมาณการใช้เฉลี่ย วันละ 68.91 ล้านลิตร ส่วนแก๊สหุงต้มที่ใช้ในภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้วันละ 5.74 ล้านกิโลกรัม แต่ละวันกองทุนน้ำมันฯจะต้องนำเงินออกไปชดเชยราคาดีเซล และแก๊สหุงต้ม ตามนโยบายรัฐบาล ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

    เมื่อนำไปหักลบกับรายได้จากเงินนำส่งกองทุนตามที่กล่าวข้างต้น กองทุนน้ำมัน ฯ ต้องไปกู้เงินระยะสั้นมาชดเชยยอดขาดดุลที่เกิดขึ้น เฉลี่ยวันละ 230 ล้านบาท

    แต่การกู้เงินก็มีข้อจำกัด เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 มาตรา 26 วรรคแรก ระบุว่า “กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ตามวรรคสองแล้ว ต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท”

    วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติแผนก่อหนี้ใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จาก 30,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท คาดว่าปัจจุบันเหลือวงเงินกู้ที่ทำสัญญาผูกพันไว้แล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท หลังจากที่มาตรการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2567 หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาทต่อ โดยที่ไม่มีการต่อขยายมาตรการภาษีสรรพสามิตออกไปอีก ก็จะทำให้กองทุนน้ำมันฯมีภาระในการชดเชยราคาดีเซลแทนกรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 2,000 ล้านบาท

    นอกจากนี้ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีภาระในการหาแหล่งเงินมาชำระคืนหนี้เงินต้นที่ครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2567 อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท

    วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุม ครม. จึงมีมติอนุมัติแผนก่อหนี้ใหม่ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยบรรจุแผนการกู้ยืมเงินระยะยาววงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง

  • นายกฯเล็งยุบสภา มี.ค. – เลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้ – มติ ครม.จัดงบฯ 396 ล้าน ซื้อรถหุ้มเกราะ 150 คัน
  • นายกฯยันพักโทษ ‘ทักษิณ’ ตามเกณฑ์ราชทัณฑ์-มติ ครม.มติ ครม.กู้เพิ่ม 5.6 แสนล้าน กองทุนน้ำมันขอ 2 หมื่นล้าน
  • ส่วนสถานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนน้ำมันฯมีฐานะติดลบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนน้ำมันฯมีสินทรัพย์รวม 29,384 ล้านบาท หนี้สินรวม 121,271 ล้านบาท ในจำนวนนี้มียอดเงินกู้ยืมคงค้างอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และเมื่อนำสินทรัพย์รวมมาหักลบกับหนี้สินรวม กองทุนน้ำมันฯมีฐานะสุทธิติดลบอยู่ที่ 91,887 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 45,222 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (LPG) ติดลบ 46,665 ล้านบาท

    สรุป กลไกที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงวิกฤติ คือ ใช้วิธีการเรียกเก็บเงินนำส่งกองทุนจากกลุ่มคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน นำเงินไปอุดหนุน หรือ ชดเชยให้กับกลุ่มคนที่ใช้น้ำมันดีเซล และแก๊สหุงต้ม เพื่อให้ราคาถูกลงตามนโยบายรัฐบาล

    ตามหลักการที่ผ่านมา ต้องเลือกช่วยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจริงๆ จะช่วยหมดทุกกลุ่มไม่ได้ เพราะแค่เงินที่เก็บได้จากกลุ่มคนที่ใช้เบนซิน นำมาอุดหนุนกลุ่มคนใช้ดีเซล และแก๊สหุงต้ม ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องไปกู้เงินมาจ่าย กรณีที่กระทรวงพลังงานปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนที่เรียกเก็บจากกลุ่มคนที่ใช้เบนซินลง ยิ่งทำให้หนี้สินของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นไปกันใหญ่ นอกจากจะไม่จัดเก็บเงินนำส่งเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมาลดรายได้ของกองทุนน้ำมัน ฯลงไปอีก

    จึงเป็นที่มาของ 3 กูรูพลังงาน ขอให้นายกรัฐมนตรี เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นสภาพคล่อง และลดหนี้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังไม่ได้ผันผวนถึงขั้นวิกฤติ

    จากการที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ราคา Spot LNG เฉลี่ยในเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ประกอบกับในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียมมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ทำให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหายไปวันละ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต จึงมีความจำเป็นต้องไปนำเข้า LNG ราคาแพงมาใช้ผลิตไฟฟ้า ส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

    ดังนั้น เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนแพงเกินไป รัฐบาลชุดก่อนจึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าไปแบกรับภาระส่วนต่างค่า Ft ที่เพิ่มสูงขึ้นแทนประชาชนไปก่อน หรือ ที่เรียกว่า “ค่า AF” หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติจะทยอยใช้หนี้คืน กฟผ. โดยเรียกเก็บค่า AF จากประชาชนในงวดถัดไป ปรากฏว่าตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา ก็ยังไม่ให้ กฟผ.เรียกค่า Ft เพิ่มขึ้น และยังกดค่าไฟฟ้าให้ลดต่ำลงไปอีก

    ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระหนี้ต่อไป ณ เดือนธันวาคม 2566 มียอดคงค้างสูงถึง 137,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ 3 กูรูพลังงาน ต้องทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายพลังงานทั้งหมด

    …หากปล่อยให้มีการหมกหนี้ไว้กับกองทุนน้ำมันฯ และ กฟผ.ต่อไปเรื่อย ๆ อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ในที่สุดก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาล้างหนี้นโยบายประชานิยม…

  • ‘หม่อมอุ๋ย – ณรงค์ชัย – คุรุจิต’ ส่ง จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ จี้ทบทวนนโยบายพลังงาน ก่อนหนี้ท่วม!
  • ตรึงดีเซล 30 บาท 1 ปี 11 เดือน รัฐแทรกแซงไปแล้วกว่า 2.6 แสนล้านบาท ได้…คุ้มเสีย!!!