ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “กับดักน้ำมันแพง” ทำรัฐบาล ‘ป่วน’

“กับดักน้ำมันแพง” ทำรัฐบาล ‘ป่วน’

17 กุมภาพันธ์ 2022


“กับดักน้ำมันแพง” ทำรัฐบาล ‘ป่วน’ หลังทราบข่าวร้าย “กองทุนน้ำมันฯ” กู้เงิน 20,000 ล้านบาท ไม่ได้ เหตุไม่ส่งงบการเงินให้ สตง.ตรวจรับรอง ด้านพลังงานรีบเสนอ ครม.ปลดล็อก ปมกองทุนน้ำมัน ฯ ติดลบเกิน 20,000 ล้านบาท ต้องหยุดชดเชยราคาน้ำมัน ดึงคลังช่วยปรับลดภาษีดีเซล 3 บาท 3 เดือน บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ช่วงกองทุนน้ำมันฯ แปลงสภาพเป็น “องค์การมหาชน” – เคลียร์ปัญหาสภาพคล่อง

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก ที่ปนระชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 17,100 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 5,700 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเข้ามาเป็นวาระจร ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ประชุม ครม.มีมติทบทวน หรือ เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดย ตัด และ เพิ่มเติมข้อความที่กำหนดไว้ใน “แผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 – 2567” ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เป็นวาระจรอีกเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมกระทรวงการคลังถึงรีบเสนอ ครม.ขอลดภาษีน้ำมัน ส่วนกระทรวงพลังงานก็ขอแก้ไขหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ที่กำหนดไว้ในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายอาคม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าการลดภาษีน้ำมันขอพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย ตราบใดที่กองทุนน้ำมันฯ ยังทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้อยู่ ทั้ง 2 เรื่องสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมนายอาคมถึงต้องรีบเสนอที่ประชุม ครม.ลดภาษีน้ำมัน

หลังเสร็จสิ้นจากการประชุม ครม.ในวันนั้น ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ทำให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานต้องรีบทำเรื่องเสนอ ครม.อย่างเร่งด่วน หลัก ๆมีอยู่ 3-4 ประเด็น ดังนี้

ปมแรก อย่างที่ทราบกันดี ตอนนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ กำลังจะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เงินที่จะนำไปใช้ดึงราคาน้ำมันดีเซลลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท และแก๊สหุงต้มถังละ 318 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เหลือไม่มากนัก เป็นเหตุให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ต้องทำเรื่องเสนอ ครม.วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาขยายเพดานการกู้ยิมเงินเสริมสภาพคล่องให้ สกนช. เพื่อใช้ในการแทรกแซงราคาดีเซลและแก๊สหุงต้ม ตามมาตรา 26 แห่ง จากเดิมกำหนดเพดานการกู้ยืมเงินเอาไว้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท โดยการกู้ยืมของ สกนช.ถือเป็นหนี้สาธารณะ ที่ประชุม ครม.จึงมอบหมายให้ สกนช.พิจารณาดำเนินการกู้ยืมเงินตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายหนี้สาธารณะ เป็นต้น

เวลาผ่านไป 3 เดือน ปรากฏรัฐบาลเพิ่งจะมาทราบว่า สกนช.กู้เงิน 20,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงสถานะองค์กร จากหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ แต่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังจะเปลี่ยนสถานะมาเป็น “องค์การมหาชน” และที่สำคัญที่สุด คือ สกนช.ยังไม่ได้ส่งงบการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจรับรอง เพื่อส่งให้สถาบันการเงินใช้ในการวิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย ประเมินความสามารถในชำระหนี้ ประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ ผลที่ตามมา คือ ยังกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ กลายเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องไปหาแหล่งเงินไปให้กองทุนน้ำมันฯใช้อุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ปมที่ 2 ในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 -2567 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ภายใต้แผนงานดังกล่าวนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีประเด็นอยู่ 2 เรื่อง คือ

    เรื่องแรก ในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันฯ ได้กำหนด “กรอบวงเงินกู้” ให้กองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ ครม.เคยมีมติขยายเพดานการกู้ยืมเงินเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงพลังงาน ต้องเสนอ ครม.เพื่อตัดข้อความที่ระบุไว้ในแผนรองรับวิกฤติที่กำหนดให้กู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ออก มีรายละเอียดดังนี้
    เดิมในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมัน ฯ กำหนด “กรอบวงเงินกู้” เอาไว้ว่า “…ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมเงินกู้ (จำนวนไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท…” แก้ไขเป็น “…ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท…” โดยตัดวงเล็บ “จำนวนเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท” ออก
    เรื่องที่ 2 ในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันฯ เดิมกำหนดว่า “กรณีฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบ 20,000 ล้านบาท ให้กองทุนน้ำมันฯหยุดการชดเชย” ซึ่งตรงนี้ทำให้กระทรวงพลังงานต้องรีบเสนอ ครม.เป็นวาระจร เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯยังไม่สามารถกู้ยืมเงิน 20,000 ล้านบาท ตามเหตุผลที่กล่าวข้างต้น คาดว่าจะเริ่มกู้เงินจากธนาคารได้ในเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่ฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงตอนนี้ติดลบกว่า 18,000 ล้านบาท และคาดว่าจะติดลบทะลุ 20,000 บาท ภายใน 5-6 วันนี้ ในแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันฯที่ผ่านมาเห็นชอบจาก สพช.และ ครม. ระบุว่า “ต้องหยุดชดเชย” จะมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 33-34 บาท และราคาแก๊สหุงต้มเพิ่มเป็นถังละ 363 บาท (ราคาที่แท้จริง) และทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ เป็นเหตุผลที่กระทรวงพลังงานต้องรีบเสนอ ครม.ปลดล็อก หลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ภายใต้แผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันฯ ในข้อ 5 (5)
    จากเดิมกำหนด “กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท ให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง หยุดการชดเชย” แก้ไขเป็น “กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท หรือ ติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ไปแล้ว

ปมที่ 3 เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมาย ทำให้การแทรกแซงราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น อาทิ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ที่ยกร่างกันมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาล คสช. กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่เกิน 40,000 ล้านบาท กรณีกองทุนน้ำมันฯมีเงินไม่เพียงพอ สามารถกู้เงินเสริมสภาพคล่องได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตสามารถกู้เงินมาแทรกแซงราคาพลังงานโดยที่ไม่มีข้อจำกัด อย่างในช่วงกลางปี 2548 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกพันธบัตรกู้เงิน 85,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ และแทรกแซงราคาน้ำมัน จนทำให้กองทุนฯมีภาระหนี้สูงสุดถึง 82,988 ล้านบาท

ส่วนการจัดสรรงบฯจากพ.ร.ก.เงินกู้ 97,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพให้กับกองทุน ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ตรงวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินนั้น เตรียมไว้ใช้สำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 เท่านั้น ขณะที่การจัดสรรเงินจากงบกลางในปี 2565 สามารถทำได้ แต่ต้องกันงบฯไว้ใช้จ่ายด้านในยามฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน ทำให้กระทรวงการคลังต้องปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 3 บาท 3 เดือน ในระหว่างที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำลังแก้ปัญหาด้านการเงิน

สิ่งที่เคยทำไว้ในอดีตเมื่อ 7 ปีที่แล้ว กำลังย้อนกลับมาทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมาสะดุดขาตัวเอง ภายใต้สถานการณ์ที่ฐานะการคลังอ่อนแอ หวังว่าวิกฤตการณ์น้ำมันแพงรอบนี้จะสามารถยุติลงได้ภายใน 3 เดือน ตามที่รัฐบาลคาดหมาย แต่ถ้านานกว่านี้จะหาแหล่งเงินจากไหนมาตรึงราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานปรับแผนรับมือวิกฤตการณ์น้ำมันฯ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป

  • ‘ประยุทธ์’ สะดุดขาตัวเอง ต้องลดภาษีดีเซล อุ้มน้ำมันแพง
  • “กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV เร่งหาเงินเยียวยา “บัตรคนจน” 3 เดือน 100 บาท
  • “กองทุนน้ำมันฯ” เงินหมด เร่งกู้ 2 หมื่นล้านบาท
  • มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท
  • EIC ชี้วิกฤติพลังงาน สัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดในช่วง ENERGY TRANSITION
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”
  • นายกฯ วอนม็อบรถบรรทุกอย่ากดดัน สั่ง รฟท.-บขส. รับส่งสินค้าเพิ่ม — มติ ครม. ขยายวงเงินกู้ตรึงราคาพลังงาน
  • ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (2) : กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง…รักษาเสถียรภาพพลังงาน หรือ ประชานิยม