ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยังไม่ได้สัญญาณตั้ง ‘ทักษิณ’ ที่ปรึกษาฯ – มติ ครม.จัดงบฯ 272 ล้าน แก้ไฟป่า-ลด PM 2.5

นายกฯยังไม่ได้สัญญาณตั้ง ‘ทักษิณ’ ที่ปรึกษาฯ – มติ ครม.จัดงบฯ 272 ล้าน แก้ไฟป่า-ลด PM 2.5

4 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านใน ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯรับฟัง ‘หม่อมอุ๋ย’ ลดดอกเบี้ยมีทั้งบวกและลบ
  • ยังไม่ได้สัญญาณตั้ง ‘ทักษิณ’ ที่ปรึกษาฯ
  • รอพลังงานเสนอตรึงดีเซล -ลดค่าไฟ
  • สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ปมที่ดินทับซ้อน
  • มติ ครม.จัดงบฯ 272 ล้าน แก้ไฟป่า-ลด PM 2.5
  • ขยาย MOU เชื่อมสายส่งไฟฟ้าอาเซียนถึงสิ้นปี’68
  • กสม.จี้รัฐบาลแก้ที่ดินทับซ้อนบนเกาะหลีเป๊ะ
  • ผ่าน กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนปรับ 1 หมื่นบาท
  • ตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ เป็นผู้ว่า กฟผ.
  • เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    วอน รมต.ตอบกระทู้ในสภาฯ

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้สั่งการ และขอให้รัฐมนตรีที่มีภารกิจในการตอบกระทู้สภา กรุณาไปตอบกระทู้ตามที่ได้ประสานนัดหมายกันไว้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนสัปดาห์ที่แล้ว และหากรัฐมนตรีติดภารกิจใด ๆ ขอให้มอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปตอบแทน เพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดีระหว่างฝ่ายบริหารและให้เกียรติฝ่ายนิติบัญญัติ

    รอพลังงานเสนอตรึงดีเซล -ลดค่าไฟ

    ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทั้งตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567 และลดค่าไฟฟ้าให้กับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟเดือนละไม่เกิน 300 หน่วย ที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลจะต่อขยายมาตรการออกไปอีกหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้เสนอ

    ยังไม่ได้รับสัญญาณตั้ง ‘ทักษิณ’ เป็นที่ปรึกษาฯ

    ถามการลงพื้นที่ภาคอีสานมีประชาชนยืนชูป้าย “ฮักทักษิณ” เป็นจำนวนมาก นายกฯจะเชิญมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่” นายเศรษฐา ตอบว่า เรื่องชูป้าย ตนไม่ปฏิเสธ และเข้าใจว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ ที่มีความนิยมชมชอบสูงสุดคนหนึ่งในประเทศไทย ดังนั้น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่มีคนรัก ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะประเทศชาติมีความรักก็ดีอยู่แล้ว

    “ส่วนจะเชิญนายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่นั้น นายทักษิณยังไม่แสดงเจตจำนงว่า อยากเป็นที่ปรึกษาเลย อย่างที่เรียนในสัปดาห์ที่แล้ว นายทักษิณโฟกัสที่การรักษาตัวเองให้ดี ท่านจากประเทศไทยมา 17 ปี ท่านอยากใช้เวลากับครอบครัว หรือพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนฝูงที่สนิทกัน หลังจากนั้นเราค่อยว่ากันดีกว่า” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “ผม Open หมด อย่างที่เห็น เมื่อวันศุกร์ (1 มีนาคม 2567) ผมก็ไปกราบท่านอานันท์ (อานันท์ ปันยารชุน) มีการชี้แจงในหลายเรื่องที่ท่านไม่เข้าใจ แต่บางเรื่องที่ท่านเสนอแนะมา ผมก็น้อมรับนำมาปฏิบัติ และสั่งงานทีมงานไปเรียบร้อยแล้ว”

    มอบ ‘จุลพันธ์’ แถลงดิจิทัล วอลเล็ต

    ส่วนความคืบหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเข้าใจ เพราะทุกคนก็มีความประสงค์และเสียงสะท้อน แต่หน่วยงานอื่นก็อยากให้ได้ยินด้วยเหมือนกัน ซึ่งตนกำลังคอยข้อมูลอยู่ และได้มีการตั้งคณะกรรมการไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังคอยข้อมูลจากหน่วยงานที่รัฐบาลสอบถามไป ส่วนรายละเอียดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้แถลงเอง

    รับฟัง ‘หม่อมอุ๋ย’ ลดดอกเบี้ยมีทั้งบวกและลบ

    ถามว่า ผู้ว่า ธปท. จะได้ยินเสียงประชาชนตะโกนตรงนี้หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบ หากอยากทราบรายละเอียดอะไรมากกว่านี้ เดี๋ยวนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นคนแถลง”

    ถามต่อถึงกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การที่นายกฯ เรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลทำให้เงินทุนไหลออก ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “มันก็มีทั้งบวกและลบหลาย ๆ อย่าง ท่านเองเป็นอดีตผู้ว่าฯ ธปท.มา และเป็นอดีตรองนายกฯ ที่ดูแลเศรษฐกิจมา”

    “แต่ก็มีมุมมองหนึ่ง ถ้าเงินทุนไหลออกในปริมาณที่เหมาะสมของเงินทุนไหลออก ก็ทำให้บาทอ่อน แล้วบาทอ่อนส่งออกดีหรือไม่ เราพึ่งการส่งออก 60% ของจีดีพี บาทอ่อน คนเข้ามาท่องเที่ยวเยอะขึ้นหรือไม่ ก็น่าจะเยอะขึ้นไม่ใช่หรือ เงิน 1 ดอลลาร์ของเขาแลกได้ 36-37 บาท เขาก็มีเงินในกระเป๋าเยอะขึ้น นำมาจับจ่ายใช้สอยซื้อผลิตภัณฑ์จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ไปเที่ยวเมืองรองมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งดี มันก็มีหลายมุมมอง จริง ๆ แล้ว เศรษฐศาสตร์ก็เป็นศาสตร์อันหนึ่ง ซึ่งมีความหลากหลาย มันไม่ใช่ตัวเลข 1+1 เป็น 2 ซึ่งก็รับฟังท่าน” นายเศรษฐา กล่าว

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ กล่าวขอให้รัฐมนตรีที่มีภารกิจในการตอบกระทู้ที่สภา ให้ไปตอบกระทู้ตามที่ได้ประสานนัดหมายไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากติดภารกิจขอให้มอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่นไปตอบแทน

    สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ปมที่ดินทับซ้อน

    ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างส่วนราชการให้ยุติโดยเร็ว โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์และแผนที่ทหาร (อัตราส่วน 1 ต่อ 4,0000) เป็นมาตรฐาน พร้อมขอให้เร่งทำในจุดที่เป็นปัญหา หรือ มีข้อพิพาทให้เสร็จก่อน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป

    จี้ยกเลิก ‘ตม.6’ อำนวยความนักท่องเที่ยว

    นายกฯ กล่าวขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการยกเลิก ใบ ตม.6 เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง ขจัดอุปสรรคที่ทำให้เสียเวลาของนักท่องเที่ยว หรือ ผู้ดำเนินธุรกิจค้าขาย อำนวยความสะดวกการตรวจคนเข้าเมือง จากการที่นายกฯ เดินทางไปพื้นที่ชายแดนพบว่า การตรวจคนเข้าเมืองเป็นปัญหาที่ทำให้เสียเวลา

    สั่ง พม.จัดกิจกรรมสมัชชาเด็ก-เยาวชน

    นายกฯ สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ศึกษารายละเอียด และการสนับสนุนในการทำกิจกรรมของสมัชชาเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ที่ปลอดภัยตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้เกิดการสะท้อนเสียงของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    จัดงบฯให้ TECP ประมูลสิทธิจัดงาน ‘WorldPride’ ในไทย

    นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้ TECP เพื่อไปประมูลสิทธิการจัดงาน InterPride World Conference และกิจกรรม Road to WorldPride ในประเทศไทย ณ กรุงเทพฯ และภูเก็ต ซึ่งเป็นการส่งเสริมนโยบายความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน WorldPride 2028

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และ นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ผ่าน กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนปรับ 1 หมื่นบาท

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิมบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ. ดังกล่าวและได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ เช่น แก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติม คำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือ บริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือ บริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น

    ทั้งนี้ ในเนื้อหา ขอให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติ(ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ)อย่างสมดุล โดยขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอวิปรัฐบาล เพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อสังเกต ข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….) จำนวน 3 ฉบับ นำไปประกอบกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ สธ. เสนอ อันได้แก่

      1. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)
      2. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92}978 คน เป็นผู้เสนอ) และ
      3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ) (ครบกำหนดส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2567)

    ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุล แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่างฯ ยังคงมีความแตกต่างกันมาก

    โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ พร้อมกับการพิจารณคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อผลักดันร่างพระราบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

    กสม.จี้รัฐบาลแก้ที่ดินทับซ้อนบนเกาะหลีเป๊ะ

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป

    ความเป็นมาของเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ว่า เอกชนที่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่สาธารณะ และก่อสร้างโรงแรม หรือ รีสอร์ท ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวเลได้รับผลกระทบ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมได้ ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วพบว่า แม้ว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยงเพื่อตรวจสอบที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะ ทั้งหมดแล้ว แต่การแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังคงมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของเอกชนและ/หรือที่ดินของรัฐในพื้นที่ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ต่อคณะรัฐมนตรี

    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้สรุปผลในภาพรวม ดังนี้

      1. สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล) เป็นประธานกรรมการ เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ และได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
      2. กรณีปัญหาการปิดกั้นทางสาธารณะ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ จำนวน 3 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิในที่ดิน กระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน (2) คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีข้อพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล และ (3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
      3. กรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการวางผังเมืองและกำหนดเขตวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวเล แต่อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จก่อน
      4. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เกี่ยวกับปัญหาของชาวเลต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรับเรื่องร้องทุกข์จากชาวเลและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

    จัดงบฯ 272 ล้าน แก้ไฟป่า-ลด PM 2.5

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

    ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยทั่วไปไฟป่าที่เกิดในประเทศส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนได้กำหนดให้การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งกำเนิดและกิจกรรมในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน
    ซึ่งการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออก PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการยกระดับในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดไฟป่ารุนแรง โดยการจัดจ้างประชาชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดที่มีความเสี่ยง ทำให้สามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที และควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็วไฟไม่ขยายวงกว้าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาไฟป่าในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยแล้ง ลดความรุนแรงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

    น.ส.เกณิกา กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับ KPI เชิงรุกแบบหวังผล ให้ลดไฟป่า 50% ขึ้นไป ให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ให้นำข้อมูลดาวเทียม และจุด Hot Spot มาใช้ และรวมถึงการจัดทีมระงับไฟป่าดูแลอย่างใกล้ชิด

    ขยาย MOU เชื่อมสายส่งไฟฟ้าอาเซียนถึงสิ้นปี’68

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU) (ร่างตราสารฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ข้างต้น

    ร่างตราสารฯ ดังกล่าว เป็นการขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: APG MOU) (บันทึกความเข้าใจ APG) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มีนาคม 2567 ออกไปเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อสนับสนุนความพยายามของหัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการไฟฟ้าอาเซียน และคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของภูมิภาค ให้สามารถยกระดับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันทรัพยากรของภูมิภาคด้วยการส่งพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

    ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้เสร็จสิ้นครบทุกประเทศก่อนที่ผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วทั้งสิ้น 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) โดยประเทศมาเลเซียได้ส่งมอบ Full Powers เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการรอลงนาม

    ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ โดยมีกำลังส่งไฟฟ้ารวมประมาณ 7,700 เมกะวัตต์ และยังมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อตกลงเชิงธุรกิจระหว่างการไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนภารกิจของ APG ด้านการพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนโดยไม่ได้มีผลบังคับภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG และประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไปได้ตามความเหมาะสม เช่น (1) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย และมาเลเซีย ซึ่งหยุดดำเนินการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 (ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนแล้ว) (2) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2565 – 22 มิถุนายน 2567

    มอบ ตปท.ลงนามข้อตกลง ISA

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ(International Sugar Agreement: ISA) (ความตกลง ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

    กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535 เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวแล้ว และให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะต้องแจ้งผลการพิจารณาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นเพียงการกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิกอำนาจ หน้าที่ รวมถึงองค์ประกอบการประชุมต่าง ๆ ภายใต้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางสถิติและการศึกษาการผลิต ราคา การส่งออกและนำเข้า การบริโภค และสต๊อกน้ำตาลของน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางด้านบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติทางด้านเศรษฐกิจ กฎข้อบังคับผูกพันในเรื่องโควตาการส่งออกและระบบการเก็บสต๊อกพิเศษแต่อย่างใด ประเทศสมาชิกสามารถส่งออกได้โดยเสรี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว การแก้ไขความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้ก็เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับบทบัญญัติเฉพาะทางด้านบริหาร ดังนี้

      1) นิยามของ “น้ำตาล” ให้ครอบคลุมถึงสารให้ความหวานพลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอล และไบโอรีไฟเนอรี เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเกี่ยวข้องกับสารให้ความหวาน พลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอล และไบโอรีไฟเนอรี มากขึ้น หรืออาจรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขขอบเขตความร่วมมือขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO) ให้ครอบคลุมถึงนิยามที่ปรับแก้ข้างต้นด้วย (ปรับแก้ข้อ 1 วัตถุประสงค์ ข้อ 32 การให้ข้อมูลเพื่อศึกษา ข้อ 33 ข้อมูลทางสถิติ การบริโภคและแนวโน้มตลาดน้ำตาล ข้อ 34 การวิจัยและการพัฒนาของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)
      2) วาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการบริหารในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการมีความชัดเจนและโปร่งใสจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขการคำนวณโหวต และค่าสมาชิกของประเทศสมาชิก เพื่อให้การคำนวณโหวตมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้นบนพื้นฐานสัดส่วนการส่งออก การนำเข้า การผลิต การบริโภคน้ำตาลทรายและความสามารถในการจ่ายเงินของประเทศสมาชิกในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จากเดิมที่คำนวณเฉพาะการส่งออกและนำเข้าในตลาดเสรีและตลาดพิเศษ [ปรับแก้ข้อ 23 การแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่ในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ และข้อ 25 การคำนวณโหวต และค่าสมาชิกของประเทศสมาชิกของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงความตกลงข้างต้นไม่มีประเด็นใดที่ขัดต่อกฎข้อบังคับหรือข้อผูกพันเกี่ยวกับปริมาณโควตาการนำเข้า และส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยตามพันธกรณีที่ได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งมิได้มีบทบัญญัติที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    ตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ เป็นผู้ว่า กฟผ.

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายรุจ ธรรมมงคล ตำแหน่งเดิมอธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก
      2. นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ ตำแหน่งเดิม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการกงสุล
      3. นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ ตำแหน่งเดิม อธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
      4. นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ ตำแหน่งเดิม เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต
      5. นายพลพงศ์ วังแพน ตำแหน่งเดิม รองอธิบดีกรมอาเซียน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอาเซียน
      6. นายวัฒนวิทย์ คชเสนี ตำแหน่งเดิม รองธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
      7. นางสาวกษมา สืบวิเศษ ตำแหน่งเดิม อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง
      8. นายภูบดี ลออเงิน ตำแหน่งเดิม ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวม 11 คน เพื่อแทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และขอลาออก ดังนี้

      1.นายชยธรรม์ พรหมศร ประธานกรรมการ
      2.นายคุณดร งามธุระ กรรมการ
      3.นายจำเริญ โพธิยอด กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
      4.นายชารีย์ บำรุงวงศ์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
      5.นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ กรรมการ
      6.นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ
      7.นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร กรรมการ
      8.นายรุธิร์ พนมยงค์ กรรมการ
      9.พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ กรรมการ
      10.นางสาวสุทิษา ประทุมกุล กรรมการ
      11.นายอนันต์ แก้วกำเนิด กรรมการ

    3. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายณัฐพัชร จันทรสูตร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย) ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากลาออก โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอการแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดิม ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 4 มีนาคม 2567 เพิ่มเติม