ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันพักโทษ ‘ทักษิณ’ ตามเกณฑ์ราชทัณฑ์-มติ ครม.มติ ครม.กู้เพิ่ม 5.6 แสนล้าน กองทุนน้ำมันขอ 2 หมื่นล้าน

นายกฯยันพักโทษ ‘ทักษิณ’ ตามเกณฑ์ราชทัณฑ์-มติ ครม.มติ ครม.กู้เพิ่ม 5.6 แสนล้าน กองทุนน้ำมันขอ 2 หมื่นล้าน

13 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายก ฯยันพักโทษ ‘ทักษิณ’ ทำตามเกณฑ์ราชทัณฑ์ทุกอย่าง
  • มั่นใจนั่งนายกฯ 4 ปี ยันไม่มี ‘เกาเหลา’ พรรคร่วมฯ
  • นัดประชุมบอร์ดเติมเงินดิจิทัลฯ 15 ก.พ.นี้
  • ห้าม รมต.ชงวาระจรเข้า ครม.
  • เพิ่ม 12 เม.ย.เป็นวันหยุดสงกรานต์ รวม 5 วัน
  • มติ ครม.ปรับแผนฯกู้เพิ่ม 5.6 แสนล้าน – กองทุนน้ำมันฯขอ 2 หมื่นล้าน
  • 5 ปี 5 เดือน จัดงบฯอุดหนุน LPG ผ่านบัตรคนจน 519 ล้าน
  • ตั้ง “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒน์ ฯ
  • เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    นัดทุกหน่วยใส่เสื้อเหลืองปักตราสัญลักษณ์ฯ ทุกวันจันทร์

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เนื่องในปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนสั่งการในที่ประชุม ครม. ให้ทุกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ทุกวันจันทร์ หรือ ในโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งสามารถใช้การแต่งกายเสื้อสีเหลืองแทนแบบฟอร์มได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้มีการประดับธงสัญลักษณ์หน้าหน่วยงานอีกด้วย อีกทั้งขอความร่วมมือไปยังประชาชน ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ รัฐสภา และหน่วยงานความมั่นคงในการรณรงค์ใส่เสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์โดยพร้อมเพรียงกัน

    เล็งติดปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ ช่วยเกษตรกรลดค่าไฟ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (10-11 กุมภาพันธ์) ได้ไปลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี และทราบปัญหาค่าใช้จ่ายและค่าไฟฟ้าจากที่เกษตรกรปั๊มน้ำขึ้นมาใช้ทำการเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกเขต

    “นโนบายของกระทรวงพลังงานจะทำโซลาร์เซลล์ในการเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 72 พรรษา ท่าน (okpพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่าจะทำตรงนี้ขึ้นมา แต่ยังติดปัญหาหลายอย่าง ก็จะมีการนัดประชุมกันในหลายหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ไขปัญหา ทำให้ราษฎรสามารถมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    เพิ่ม 12 เม.ย.เป็นวันหยุดสงกรานต์ รวม 5 วัน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติเห็นชอบให้วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษอีก 1 วัน รวมเป็น 5 วันตั้งแต่วันที่ 12 – 16 เมษายน 2567

    นายเศรษฐา กล่าวถึงวันหยุดครั้งนี้ว่า รัฐบาลให้เวลาประมาณสองเดือนกว่าในการวางแผนล่วงหน้า เพื่อกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศและเกิดการท่องเที่ยว

    นายเศรษฐา เสริมว่า ตนได้สั่งการเพิ่มใน ครม. ให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำการประชาสัมพันธ์เมืองรองให้มากยิ่งขึ้น เพราะเมืองใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ตหรือเชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว และได้รับผลประโยชน์สูงในการเพิ่มวันหยุด ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ รีบไปค้นหามาว่ามีเมืองรองไหนดีๆ ช่วยสนับสนุนและแจ้งประชาชนทราบ

    ผ่าน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ขอใช้คำ ‘ชาติพันธุ์’ แทน ‘ชนเผ่า’

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. แต่มีข้อสังเกตจาก ครม. ให้เปลี่ยนจากคำว่า ‘ชนเผ่า’ เป็น ‘ชาติพันธุ์’ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 70

    ยันพักโทษ ‘ทักษิณ’ ทำตามเกณฑ์ราชทัณฑ์ทุกอย่าง

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ ว่า ตนทราบข่าวแล้วและทราบว่าได้รับการพักลดโทษอย่างเป็นทางการ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “ผมคิดว่าเราว่าไปตามกฎหมาย ท่านนายก ฯ ทักษิณเอง ก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายปี และเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมายาวนาน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความชมชอบสูงที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ท่านเองก็ออกมาแล้วเป็นประชาชนคนธรรมดา เรื่องในอดีตก็ถือว่าเป็นเรื่องในอดีตไป ได้มีการเข้ากระบวนการทางกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว”

    “ท่านก็มีลูกมีหลาน ลูกสาวคนเล็กก็เป็นหัวหน้าพรรค ผมเชื่อว่าท่านคงมีคำแนะนำดี ๆ ที่จะให้เป็นแนวทาง หรือ อะไรที่เป็นประโยชน์ ผมเชื่อว่าลูกก็จะนำประโยชน์ไปบริหารประเทศได้ รวมทั้งท่านเองก็มีหลานกี่คนไม่แน่ใจ 7 คนหรือยังไง ในฐานะที่เป็นพ่อคน ผมก็เข้าใจความรักที่คุณปู่หรือคุณตาจะมีให้ลูกหลาน ก็เป็นสิทธิของท่าน ยืนยันว่าทำตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ทุกอย่าง”นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามถึงผู้เห็นต่างในกรณีการพักโทษ นายเศรษฐา ตอบว่า “เราทำตามกฎหมายทุกอย่าง กฎหมายของกรมราชทัณฑ์เอง ท่านต้องกลับมารับโทษชัดเจน เข้าเกณฑ์หมดทุกอย่าง ก็ว่าไปตามกฎหมาย”

    ขอพรวันเกิด “อยากให้บ้านเมืองสงบสุข”

    เมื่อถามว่าวันคล้ายวันเกิดปีนี้ นายกฯ อยากได้อะไรเป็นพิเศษหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มี แต่อยากให้บ้านเมืองสงบสุข และอยากปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับความตั้งใจของพี่น้องประชาชนที่เลือกเข้ามา และเชื่อว่าเราตั้งใจกันทุกคน อยากให้ได้การสนับสนุนตรงนี้”

    ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวแทน ครม. อวยพรในโอกาสวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้าให้นายเศรษฐา ซึ่งจะกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

    มั่นใจนั่งนายกฯ 4 ปี ยันไม่มี ‘เกาเหลา’ พรรคร่วมฯ

    นายเศรษฐา ยังตอบเรื่องงานเลี้ยงกระชับความสัมพันธ์ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ในเย็นวันเดียวว่า “คงไม่มีอะไร เพราะจริงๆ แล้วการที่พวกท่านดูอยู่ในสภา หรือ ใน ครม. เรื่องของความขัดแย้งไม่มี แต่เรื่องเห็นต่างมีแน่นอน แต่เราอยู่กันในสังคมศิวิไลซ์ ผมคิดว่าถ้ามีความขัดแย้ง เราก็พูดคุยกัน”

    “เรื่อง ส.ส. เอง แน่นอนผมก็เจอ สส พรรคเพื่อไทยบ่อยอยู่แล้ว วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะมาพูดคุยกับ ส.ส. พรรคร่วม ซึ่งส่วนตัวผมเองเพิ่งเข้ามาในการเมือง ก็ไม่มีความคุ้นเคย เลยถือโอกาสนี้พูดคุยและรับฟังข้อติชม และถือโอกาสขอบคุณที่ช่วยเป็นกำลังสำคัญในสภาด้วย และถ้ามีอะไรที่ทำให้หลายท่านไม่สบายใจก็ถือโอกาสขอโทษ วันนี้ก็สบายๆ เป็นกันเอง” นายเศรษฐา กล่าว

    ถามต่อว่า บรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา มั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมมีความตั้งใจจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ครบ 4 ปี และมั่นใจว่าภายใน 4 ปีนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้น”

    นัดประชุมบอร์ดเติมเงินดิจิทัลฯ 15 ก.พ.นี้

    เมื่อถามถึงประเด็นดิจิทัลวอลเลต นายเศรษฐา กล่าวว่า “วันที่ 15 กุมภาพันธ์จะมีการพูดคุยกัน”

    ถามต่อว่า มีข่าวว่ารัฐบาลได้ยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเสร็จเรียบร้อย นายเศรษฐา ตอบว่า ยังไม่ทราบ เพราะวันที่ 15 กุมภาพันธ์จะมีการประชุมคณะกรรมการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตจะมีการพูดคุยเรื่องทั้งหมด

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า บอกได้หรือไม่ว่าจะมีข่าวดีหรือมีความคืบหน้าอย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่แน่ใจว่าข่าวดีคืออะไร แต่มีความคืบหน้าแน่นอน ต้องประชุมก่อน ไม่อยากบอกว่าจะมีข่าวดีเกิดขึ้น แล้วคนที่เขาเห็นต่างก็อยากมาพูดอีก มีอะไรก็อยากพูดวันนั้น พูดให้ตรงไปตรงมา เราฝ่ายจัดการคือรัฐบาลจะได้นำข้อท้วงติงไปน้อมรับทำงานให้ถูกต้อง”

    แจงปมนักข่าวถูกจับ เป็นหน้าที่ ตร. ยันรัฐบาลให้เสรีภาพสื่อเต็มที่

    เมื่อถามถึงกรณีนักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระถูกจับ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมว่ารัฐบาลนี้ให้ความแฟร์กับสิทธิเสรีภาพสื่อพอสมควร ท่านก็เห็น อยู่กับผมมา 5 – 6 เดือน มีอะไรผมก็ตอบตลอดเวลา มีอะไรผมก็ให้เกียรติซึ่งกันและกันตลอดเวลา เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านให้ความสำคัญและให้เกียรติซึ่งกันและกันมาตลอด”

    ส่วนเรื่องนักข่าวคนนี้ ผมรู้สึกว่าเรื่องความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปดูแลให้เหมาะสมแน่นอนครับ ถ้าให้ผมสั่งการ ผมก็สั่งการไม่มีการกลั่นแกล้งแน่นอน ทุกอย่างว่าไปตามตัวบทกฎหมาย ยืนยันครับ ผมเชื่อว่าการกระทำของรัฐบาลนี้ รัฐมนตรีทุกท่านเป็นสิ่งที่บอกว่าเราให้สิทธิเสรีภาพสื่อ” นายเศรษฐา ตอบ

    ขอความร่วมมือเอกชนใส่เสื้อสีเหลือง

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ แจ้งข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. พร้อมขอให้แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ ในทุกวันจันทร์ หรือในโอกาสที่เหมาะสม รวมถึงขอให้ราชการและขอความร่วมมือจากภาคเอกชน องค์กรต่างๆ รวมทั้งรัฐสภาและหน่วยงานความมั่นคงช่วยกันใส่เสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมทั้งประดับธงตราสัญลักษณ์หน้าหน่วยงานด้วย

    ทั้งนี้ นายชัย ให้ข้อมูลว่า ในการรณรงค์ในการใส่เสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์โดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องด้วยในปี 2567 เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา และให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีออกจดหมายเวียนไปยังหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อสั่งการนี้โดยเคร่งครัด โดยให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงรับผิดชอบในการดูแลหน่วยงานภายใต้สังกัดให้ปฏิบัติตามด้วย

    สั่ง “กษ. – พพ. – มท.’ เร่งจัดหาปั้มน้ำโซลาร์เซลล์

    นายชัย รายงานว่า จากการลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อติดตามการบริหารจัดการ สนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังของกรมชลประทานที่สถานีสูบน้ำคลองเพรียว จ. สระบุรี และมีเกษตรกรร้องเรียนเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าสูบน้ำมีราคาแพงเฉลี่ยไร่ละ 500 บาท

    ดังนั้น นายกฯ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (โดยกรมชลประทาน) กระทรวงมหาดไทย (โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) กระทรวงพลังงาน (โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ร่วมบูรณาการเพื่อเร่งรัดจัดทำโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยในเบื้องต้น ขอให้กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อพิจารณาลดอัตราค่าไฟฟ้าเป็นกรณีพิเศษอย่างเร่งด่วนสำหรับสถานีสูบน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นการกระทบต่อการทำการเกษตรกรรม ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมาก

    “ระหว่างที่โครงการนี้ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ก็ขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าเป็นกรณีพิเศษให้ชาวนา หมายถึงค่าไฟฟ้าที่ใช้ปั๊มน้ำเข้าไปในที่นา ให้พิจารณาปรับลดเป็นกรณีพิเศษ” นายชัย กล่าว

    ห้าม รมต.ชงวาระจรเข้า ครม.

    นายชัย กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่การประชุม ครม. ครั้งแรกของรัฐบาล ปรากฏว่ามีวาระจรเสนอเข้ามาเยอะพอสมควร ดังนั้น นายกฯ กำชับเป็นนโยบายว่าจะไม่ให้มีการเสนอวาระจร ยกเว้นเป็นเรื่องที่จําเป็น มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และในฐานะนายกฯ อนุมัติให้เสนอได้เท่านั้น

    นายชัย กล่าวต่อว่า ครม. ควรมีเวลาอ่านเอกสารวาระก่อนล่วงหน้า รวมทั้งเรื่องที่เสนอ ควรมีความเห็นของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อความรอบคอบ และรัดกุม ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญของ ครม.

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษก ฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ปรับแผนฯกู้เพิ่ม 5.6 แสนล้าน-กองทุนน้ำมันขอ 2 หมื่นล้าน

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอดังนี้

    1. อนุมัติและรับทราบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ดังนี้

      1.1 อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย

        (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 560,276.10 ล้านบาท (จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท เป็น 754,710.63 ล้านบาท)
        (2) แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่ม 387,758.52 ล้านบาท (จากเดิม 1,621,135.22 ล้านบาท เป็น 2,008,893.74 ล้านบาท) และ
        (3) แผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่ม 9,075.07 ล้านบาท (จากเดิม 390,538.63 ล้านบาท เป็น 399,613.70 ล้านบาท)

      1.2 อนุมัติการบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 จำนวน 56 โครงการ/รายการ

      1.3 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 แห่ง คือ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้ กคช. รับความเห็นของคณะกรรมการฯไปดำเนินการด้วยรวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย

      1.4 รับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณพ.ศ. 2567 – 2571) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

    2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

    ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 โดยมีรายละเอียด เช่น

      (1) การปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) จำนวน 424,000 ล้านบาท
      (2) การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2571 จำนวน 399,000 ล้านบาท
      (3) การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 30,000 ล้านบาท และ
      (4) การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้นและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น เป็นต้น โดยในการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้มีโครงการพัฒนาโครงการ และรายการที่ขอบรรจุเพิ่มเติมและต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 56 โครงการ/รายการ ในขณะที่คณะกรรมการฯ ได้ปรับลดโครงการตามแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571) ลง 42 โครงการ

    ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ คาดการณ์ว่าระดับประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายหลังการปรับปรุงแผนฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 61.29 (กรอบไม่เกินร้อยละ 70) และมีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 แห่ง ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี คือ การเคหะแห่งชาติซึ่งมี DSCR เท่ากับ 0.57 เท่า

    เว้นค่าใบอนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรมถึงสิ้น มิ.ย.นี้

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 2) ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) สร้างแรงจูงใจให้มีการยื่นขอใบอนุญาตและใบรับรองเพิ่มมากขึ้น

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อก. ได้มีการออกกฎกระทรวงบังคับใช้ ดังนี้

      1. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2548 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยได้กำหนดค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต รวม 6 รายการ ได้แก่ 1) ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ ตรา มอก. 2) ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์ 3) ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่าย 4) คำขอย้ายสถานที่ 5) คำขอโอนใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต และ 6) กรณีใบอนุญาตหายหรือชำรุดเสียหายมาก
      2. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 โดยได้กำหนดค่าธรรมเนียมคำขอรับใบรับรอง ค่าธรรมเนียมใบรับรอง และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบรับรอง ที่ครอบคลุมทั้งสิ้น 9 รายการ โดยในวันนี้ อก. ได้นำเสนอการยกเว้นค่าธรรมเนียม 3 รายการได้แก่ 1) คำขอรับใบรับรองมาตรฐานการตรวจสอบและรับรอง 2) ใบรับรองฯ และ 3) การต่ออายุใบรับรองฯ

    ทั้งนี้ อก. ได้จัดทำรายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ โดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียรายได้จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ประมาณ 21.6 ล้านบาท และจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ประมาณ 1.4 ล้านบาท

    โดยกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567

    5 ปี 5 เดือน จัดงบอุดหนุน LPG ผ่านบัตรคนจนไป 519 ล้าน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 สำหรับโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พน. ได้ดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการ ฯ) โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่ พน. กำหนด จำนวน 45 บาท/คน/3 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งต่อมา พน. ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกจำนวน 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 – มีนาคม 2566 โดย พน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าวแล้ว

    โดยที่การใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นได้สิ้นสุดลงแล้ว พน. จึงได้รายงานผลการดำเนินโครงการ ฯ และรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง กับประมาณการ ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับโครงการ ฯ สรุปได้ ดังนี้

  • มติคณะรัฐมนตรี 18 ตุลาคม 2565 ระยะเวลาใช้สิทธิ 25 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2565 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 302.50 ล้านบาท ใช้จริง 227.69 ล้านบาท คงเหลือ 74.81 ล้านบาท ผู้ใช้สิทธิ ประมาณการ 5.50 ล้านคน ใช้จริง 4.18 ล้านคน ส่วนต่าง 1.32 ล้านคน
  • มติคณะรัฐมนตรี 20 ธันวาคม 2565 ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 309.11 ล้านบาท (ได้รับจัดสรร 234.30 ล้านบาท + งบประมาณคงเหลือยกมา 74.81 ล้านบาท) ใช้จริง 291.63 ล้านบาท คงเหลือ 17.48 ล้านบาท ผู้ใช้สิทธิ ประมาณการ 5.62 ล้านคน ใช้จริง 5.35 ล้านคน ส่วนต่าง 0.27 ล้านคน
  • รวมทั้งสิ้น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 536.80 ล้านบาท ใช้จริง 519.32 ล้านบาท คงเหลือ 17.48 ล้าน โดย พน. ได้ส่งคืนเงิน จำนวน 17.48 ล้าน ให้แก่สำนักงบประมาณ (สงป.) เรียบร้อยแล้ว

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวพบว่า มีร้านค้าก๊าซหุงต้มกระทำผิดวัตถุประสงค์โครงการฯ โดยมีการแลกส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดอื่น ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ร้านก๊าซหุงต้ม และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

    รับทราบ กมธ.วุฒิสภา เสนอตั้ง สบม.ในกระทรวงศึกษาฯ

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาการ (ศธ.) เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาศึกษา เรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้ง สบม.” มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

    1.ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของ สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่มีเพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันและปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ได้แก่ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.”
    2.ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม.

      2.1 วัตถุประสงค์ เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
      2.2 หน้าที่และความรับผิดชอบ ส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
      2.3 การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม. แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มบริหารทั่วไป กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา และกลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา

    “การปรับปรุงโครงสร้างฯ เพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การจัดตั้ง สบม. ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค” นายคารม กล่าว

    แปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาฯเป็น “กองทรัสต์”

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เรื่อง มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเสนอ
    ข้อเท็จจริง มท. เสนอว่า

      1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอาคารชุด สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง

      ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เรื่อง มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

      2. มท.ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่ามาตรการด้านค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ประมาณ 3,092 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการดำเนินมาตรการ

    แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจกอง 1 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและให้การดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ดำเนินต่อไปได้จากการแปลงสภาพกอง 1 เป็นกองทรัสต์ และช่วยให้การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของกองทุนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากธุรกรรมของกอง 1 ที่มีการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การโอนอสังหาริมทรัพย์ การจำนองอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐมีกลไกช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ครอบคลุมมากขึ้น ดังนั้น มท. จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว รวม 2 ฉบับ ต่อไปได้
    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
    1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ….

      1.1 กำหนดคำนิยาม : “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อจัดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรงตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
      1.2 กำหนดค่าธรรมเนียม : ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือ ราคาทุนทรัพย์ที่เช่า หรือ จำนอง แต่จำนวนค่าธรรมเนียมอย่างสูงต้องไม่เกิน 100,000 บาท 1.3 กำหนดระยะเวลา เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

    2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ….

      2.1 กำหนดคำนิยาม “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อจัดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรงตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
      2.2 กำหนดค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือ ราคาทุนทรัพย์ที่เช่า หรือ จำนอง แต่จำนวนค่าธรรมเนียมอย่างสูงต้องไม่เกิน 100,000 บาท 2.3 กำหนดระยะเวลา เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

    ตั้ง “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒน์ฯ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ดังนี้

      1.นายวัน อยู่บำรุง
      2.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    2. คณะรัฐมนตรีรับทราบการแต่งตั้งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 11 คน ดังนี้

      1. นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภา
      2. นายกงกฤช หิรัญกิจ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นายกฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายปิยะมิตร ศรีธรา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายวิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. นางสาวรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      8. นายสมประวิณ มันประเสริฐ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      9. นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      10. นายอารีย์ ชวลิตซีวินกุล กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
      11. นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ

    3. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ รวม 10 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. พลเอก สุพจน์ มาลานิยม ประธานกรรมการ
      2. นายอนุกูล ปีดแก้ว กรรมการอื่น (ผู้แทน พม.)
      3. นายสมมาตร มณีหยัน กรรมการอื่น (ผู้แทน พม.)
      4. นายเดชบุญ มาประเสริฐ กรรมการอื่น
      5. นายมณเฑียร อินทร์น้อย กรรมการอื่น
      6. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการอื่น
      7. นายอณุศาสณ์ อรรถวิทยา กรรมการอื่น
      8. นายอดิศร นุชดำรงค์ กรรมการอื่น
      9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการอื่น
      10. นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ กรรมการอื่น

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติเป็นต้นไป

    4. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 7 คน แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. นางศรัณยา สุวรรณพรหม (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
      2. พ.ต.อ. พัฒน์เชษฐ์ อุ่นอนันต์ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
      3. นายชุติเดช มีจันทร์
      4. นายพรชัย อินทร์สุข
      5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ
      6. นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ
      7. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมติเป็นต้นไป

    5. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา รวม 7 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานกรรมการ
      2. นายอภัย สุทธิสังข์ กรรมการอื่น (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
      3. นายดนัย วิจารณ์ กรรมการอื่น (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
      4. พลเอก นิธิ จึงเจริญ กรรมการอื่น
      5. พลตำรวจตรี วรากร อยู่อย่างไท กรรมการอื่น
      6. พลตำรวจตรี มนตรี แป้นเจริญ กรรมการอื่น
      7. นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการอื่น

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    6. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้พ้นตำแหน่งจากตำแหน่งตามวาระ จำนวน 6 คน ดังต่อไปนี้

      1. นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ประธานกรรมการ
      2. นายธนา โพธิกำจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
      3. นายอภิรัต ศิรินาวิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
      4. นายวุฒิรักษ์ เดชะพงษ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการและทรัพยากรบุคคล
      5. นายฉัตรชัย ธนาฤดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี และงบประมาณ การตรวจสอบประเมินผลและการบริหารความเสี่ยง
      6. นายเทพรัตน์ พิมลเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเทคโนโลยีดิจิทัล

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเติม