ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเล็งยุบสภา มี.ค. – เลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้ – มติ ครม.จัดงบฯ 396 ล้าน ซื้อรถหุ้มเกราะ 150 คัน

นายกฯเล็งยุบสภา มี.ค. – เลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้ – มติ ครม.จัดงบฯ 396 ล้าน ซื้อรถหุ้มเกราะ 150 คัน

21 กุมภาพันธ์ 2023


เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
  • นายกฯเล็งยุบสภา มี.ค. – เลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้
  • ชี้ “ยุบสภา” แล้ว ครม.ยังทำงานเหมือนเดิม จนกว่าได้รัฐบาลใหม่
  • แจงขอบเขตอำนาจหน้าที่ ครม.รักษาการ
  • ยันยังมีอำนาจออก พ.ร.ก.-ปรับ ครม.ได้
  • มติ ครม.จัดงบกลาง 396 ล้าน ซื้อรถยนต์หุ้มเกราะ 150 คัน
  • ไฟเขียวบ้านล้านหลัง เฟส 3 วงเงิน 2 หมื่นล้าน
  • ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี’66 กู้เพิ่ม 8.1 หมื่นล้าน
  • เวนคืนที่ดินขยายถนน “เพชรเกษม – สุขสวัสดิ์ – กาญจนาภิเษก”
  • ตั้ง “มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์” นั่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม
  • เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.

    เล็งยุบสภา มี.ค. – เลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่าจะมีการยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566 และมีกำหนดการเลือกตั้ง ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 โดยระหว่างนี้ขอให้รัฐมนตรี และส.ส.ช่วยกันพิจารณากฎหมายที่ยังค้างอยู่ในสภา เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญที่เสนอไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปต่างๆ

    ย้ำเร่งแก้ปัญหา ปชช. ไม่ใช่หาเสียง

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ใน ครม. มีการประชุมหลายเรื่อง โดยเป็นการแก้ปัญหาและดูแลประชาชนโดยเฉพาะประมง การซื้อเรือ กองทุนการฟื้นฟู หลายเรื่องรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้

    “หลายอย่างเนื่องจากเรามีงบประมาณจำกัด อะไรที่แก้ได้เราก็แก้ไขให้ ไม่ให้มันล่าช้า เพราะเดี๋ยวมันจะมีปัญหาเรื่องเวลา อะไรที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนประชาชน เราก็จะดูแลให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อการหาเสียงอะไรทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องดูแล” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    สั่งซื้อกล้องให้ตำรวจ รับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯมีผลใช้บังคับ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ว่า เนื่องจากมีกฎหมายดังกล่าว ทำให้จำเป็นต้องจัดหากล้อง และ เครื่องมือให้ตำรวจสามารถทำงาน ตามกฎหมายดังกล่าวได้

    แจงซื้อรถหุ้มเกราใหม่ เหตุใช้งานมากกว่า 10 ปี

    พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการจัดซื้อรถหุ้มเกราว่า รูปที่ประชาชนเห็นเป็นรถหุ้มเกราเก่าที่มีรูกระสุนเต็มคัน และมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ดังนั้นต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องและไม่ทำให้เกิดการทุจริต ขอให้ไว้ใจบ้าง

    ยันโอนเงินเข้า “บัตรคนจน” ทันรัฐบาลชุดนี้

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะทันในช่วงที่เป็นรัฐบาลไหม พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “น่าจะทันนะ คิดว่าทัน ตอนนี้กำลังตรวจสอบสิทธิให้เรียบร้อย ระยะยาวมีการปรับแก้พอสมควร มันมีกติกาอยู่ ระดับรายได้อะไรต่างๆ เราก็ขยายกฎเกณฑ์ไปพอสมควร จะเห็นได้ว่ายอดมันเพิ่มขึ้นได้ตลอดทุกปี ไม่ใช่คนจนเพิ่มขึ้น เดิมระดับรายได้เราเท่านี้ วันนี้ขยายรายได้ให้มากขึ้น คนก็เข้ามาในระบบมากขึ้น เพื่อความเป็นธรรม เพราะดูแลผู้มีรายได้น้อย”

    ชี้ “ยุบสภา” แล้ว ครม.ยังทำงานเหมือนเดิม จนกว่าได้รัฐบาลใหม่

    ผู้สื่อข่าวถามยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ใช่หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ต้องมีสิ ทำไมจะไม่มี กกต.กำหนดมาแล้ว วันนี้เราจำเป็นต้องให้เวลา กกต.ในการทำกฎหมาย และกรอบกติกาให้เรียบร้อย เขาขอเวลาถึงกุมภาพันธ์”

    ส่วนประเด็นการยุบสภา พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็บอกว่าจะยุบของผม ประมาณนั้นแหละ เดือนมีนาคม ให้เวลามันสอดคล้องกับเดือนพฤษภาคม ให้ ส.ส.มีเวลาหายอกหายใจ นายก ฯ ไม่ได้ไปถ่วงอะไรใครหรอก ยังไงก็ทำงานทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะยุบ ไม่ยุบ ครม. ก็ประชุมเหมือนเดิม ก็รักษาการจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ แต่มันมีกติกาหลายอย่าง ที่ทำได้-ทำไม่ได้ ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว”

    แจง กกต.เล็งออกระเบียบยุบพรรค

    คำถามว่า ที่ผ่านมา กกต.ออกระเบียบเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ก็ว่าไป”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การออกระเบียบดังกล่าวเพื่อเล่นพรรคใดหรือเปล่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ทำผิดทุกพรรคนั่นแหละ เป็นเรื่องของ กกต.เขา อย่าไปมองอย่างนั้นอย่างเดียว เขาก็หวังดีให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ผมก็ยุ่งกับเขาไม่ได้ และผมคิดว่าทุกคนก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ใครรับผิดชอบตรงไหน ก็ทำตรงนั้น ผมก็ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน”

    ผู้สื่อข่าวกำลังถามต่อว่า เพราะอะไร? แต่พลเอกประยุทธ์ แทรกทันทีว่า “เพราะว่าอะไรอีกล่ะ ก็ฉันอธิบายไปแล้ว เธอจะเพราะว่าอะไรอีก เธอจะลงเลือกตั้งด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่ลง ก็ไม่ต้องถาม พอแล้ว”

    ไหว้พระวัดเจดีย์ ขอพรให้ ปชช.มีความสุข

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และเดินทางไปขอพรพระที่วัดเจดีย์ ว่า “ผมคิดว่าสิ่งที่ทำตลอด ในใจของผมคิดว่าผมทำความดี ทำอะไรให้ประเทศชาติพอสมควร ผมคิดว่ากรรมดีของผมคุ้มครองผมได้บ้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายผมก็เคารพนับถือไหว้ทุกที่ คนไทยนี่แหละ ผมก็มีความเป็นคนไทย นับถืออะไรก็นับถือกันไป ความเชื่อมั่นศรัทธาไม่มีอะไรเสียหายถ้าทำความดี”

    “ผมไปไหว้อะไร ก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่ผมขอคือ ขอให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ปลอดภัย และต่อไปขอพรให้ประชาชนทั้งประเทศมีความสุขมากขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ท้ายสุดก็ขอให้ตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังกาย กำลังใจในการทำหน้าที่ตราบใดที่ยังมีภาระอยู่” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้ง

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่ต้องดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ในการรักษาการจนกระทั่งมีรัฐบาลชุดใหม่ว่า ข้อเท็จจริงคือ สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญ หากสภาผู้แทนราษฎรครบกำหนดวาระจะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ แต่ในกรณีที่มีการยุบสภาเกิดขึ้น ทางรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าจะต้องกำหนดววันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

    “ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือครบวาระจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 และเรื่องวันเลือกตั้งจะอยู่ในกรอบระยะเวลาแต่ละกรณี แต่ ณ ตอนนี้คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากนั้นเป็นการประกาศผลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน คาดว่าอยู่ที่ต้นเดือนกรกฎาคม” นายอนุชา ให้ข้อมูล

    ย้ำรัฐบาลรักษาการถึงต้นเดือน ส.ค.นี้

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปคือการเสด็จพระราชดำเนินในการเปิดสภาผู้แทนราษฎร เป็นการตั้งประธานสภาฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม และขั้นตอนต่อไปเลือกนายกฯ และโปรดเกล้าแต่งตั้ง คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และครม. ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณตน คาดว่าใช้เวลาถึงต้นเดือนสิงหาคม

    ทั้งนี้ นายอนุชา ย้ำว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันยังต้องรักษาการอีกประมาณ 4 เดือนครึ่งจนกระทั่งต้นเดือนสิงหาคม 2566

    “ถามว่าผลการยุบสภาก็ดี หรือ สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ครบวาระ 4 ปีจะมีผลอย่างไรในแต่ละส่วน ส่วนแรกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร ก็จะสิ้นุสดลงตามระยะเวลา 23 มีนาคม 2566 แต่วุฒิสภายังมีอยู่ แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่เป็นการพิจารณาในการตั้งองค์กรอิสระ เราคงต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 – 60 วันก็แล้วแต่กรณี” นายอนุชา กล่าว

    เผยมีร่าง พ.ร.บ. ค้างสภา 29 ฉบับ

    นายอนุชา กล่าวถึงกฎหมาย และร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในสภาทั้ง 2 สภาว่า กฎหมาย 29 ฉบับก็จะตกไปทันที และหลังเลือกตั้งหากรัฐบาลจะนำกลับเข้ามาพิจารณาต่อไป ก็สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องนำมาพิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่

    ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือพ.ร.บ.ที่มีการกราบบังคมทูลไปแล้ว 11 ฉบับ จะดำเนินการต่อไปตามปกติ

    ชี้รัฐบาลรักษาการยังมีอำนาจออก พ.ร.ก.-ปรับ ครม.ได้

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลก็สามารถจะออก พ.ร.ก.ได้ ส่วนที่เกี่ยวกับกฎกระทรวงต่างๆ สามารถดำเนินการออกได้ตามปกติเช่นเดิม

    ส่วนผลที่เกี่ยวข้องกับครม. เมื่อครม.พ้นตำแหน่ง แต่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป คือรัฐบาลจะรักษาการจนกว่าครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ

    อย่างไรก็ตาม นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า ในระหว่างนี้ เอกสารราชการหรือการรายงานข่าว ไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่า ‘รักษาการ’ แต่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ส่วนข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกับที่ ครม. พ้นตำแหน่ง

    นายอนุชา เสริมว่า กรณีรักษาการอยู่ หากมีรัฐมนตรีลาออก ก็จะไม่กระทบคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ยังสามารถประชุมได้ และนายกฯ ยังมีอำนาจในการปรับครม.ได้หากมีความจำเป็น

    ส่วน เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อปปช. จะเป็นเรื่องที่ ครม. ต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับจากวันที่ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์

    แจงขอบเขตอำนาจหน้าที่ ครม.รักษาการ

    ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีจะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

      1. ไม่อนุมัติงานหรือโครงการที่สร้างความผูกพันกับคณะรัฐมนตรีใหม่ ยกเว้นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว
      2. ไม่แต่งตั้ง ไม่โยกย้ายข้าราชกร พนักงานหรือให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
      3. ไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
      4. จะต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคคลากรของรัฐทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยกตัวอย่าง ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ไม่จัดโครงการเอาเปรียบ ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ไม่มีการจัดประชุมโดยใช้งบของรัฐเว้นแต่จัดตามวาระปกติ ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะของแจกจ่ายให้ประชาชน และไม่ใช้ทรัพยากรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ไฟเขียวบ้านล้านหลัง เฟส 3 วงเงิน 2 หมื่นล้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3) ของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยอนุมัติวงเงินรวม 2,193.76 ล้านบาท ชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงานหรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในระดับราคาที่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการบ้านล้านหลังและโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2

    สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข : ที่อยู่อาศัยใน กทม. และปริมณฑล และ ตจว. ในราคาซื้อขายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หน่วย เช่น ที่อยู่อาศัยที่สร้างบนที่ดินของตนเอง หรือที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่สร้างบนที่ดินของเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดินของรัฐ ที่ดินของการเคหะแห่งชาติ บ้านมือสองและทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets : NPAs) ของสถาบันการเงิน ของรัฐ (SFI) ทรัพย์สินรอการขายของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) รวมท้ังทรัพย์รอการขายของกรมบังคับคดี เป็นต้น
  • กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไป
  • วงเงินโครงการ : 20,000 ล้านบาท
  • ประเภทสินเชื่อ/ วงเงินกู้/ ระยะเวลาการกู้ : วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หน่วย ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี
  • อัตราดอกเบี้ย : ปีที่ 1-5 : อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 6-7 : อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 2.00 ต่อปี ปีที่ 8 ตลอดจนอายุสัญญากู้เงิน – กรณีรายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 0.75 ต่อปี – กรณีสวัสดิการหักเงินเดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 1.00 ต่อปี – กรณีกู้ซื้ออุปกรณ์ฯ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR
  • ฟรีค่าธรรมเนียม : ค่าประเมินราคาหลักประกัน ไม่เกิน 2,300 บาท และค่าจดทะเบียน นิติกรรมจำนอง ร้อยละ 1 ของวงเงินจำนอง
  • ระยะเวลา โครงการ ฯ : ยื่นคำขอกู้เงินตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ธ.ค. 2568 หรือเมื่อ ธอส. ให้สินเชี่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการแล้ว
  • ทั้งนี้ ธอส จะได้รับความชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 จำนวนเงิน 2,193.76 ล้านบาท

    ปัจจุบันโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 มียอดคำขอสินเชื่อเต็มกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาทแล้ว โดย ณ วันที่ 26 ธ.ค. 65 ธอส. มียอดอนุมัติสินเชื่อจำนวน 22,240 ราย วงเงิน 19,937.46 ล้านบาท

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุม ครม. ว่า การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน เป็นหนึ่งในนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่ของตนเองในระดับราคาที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง จึงอยากขอให้การดำเนินโครงการ ฯ มีการกระจายตัวทั้งในเขตเมือง และตามเส้นทางคมนาคม รถไฟฟ้า หรือ รถไฟรางคู่ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของชุมชน และเขตเศรษฐกิจด้วย

    จัดงบฯ 445 ล้าน ให้ สตช.ซื้อกล้อง รับ พ.ร.บ.อุ้มหายใช้ผลบังคับ

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณ 444.81 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เพื่อดำเนินโครงการ จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียงตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยจะจัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง จำนวน 48,568 ชุด แบ่งเป็น 3 รายการ ได้แก่

  • กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดบนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 37,624 ชุด งบประมาณ 338.62 ล้านบาท สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กลุ่มสายงาน ได้แก่ สายงานป้องกันปราบปรามและสายงานจราจร จำนวน 16,945 ชุด และสายงานสืบสวนสอบสวน จำนวน 20,679 ชุด (ซึ่งได้รับการจัดสรรเป็นครั้งแรก)
  • กล้องบันทึกภาพและเสียงแบบมือถือ พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในห้องสอบสวนและห้องควบคุม จำนวน 9,366 ชุด งบประมาณ 93.57 ล้านบาท สำหรับสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,484 สถานี และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 77 หน่วยงาน
  • กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดตั้งภายในรถยนต์ จำนวน 1,578 ชุด งบประมาณ 12.62 ล้านบาท สำหรับติดตั้งในรถยนต์ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9
  • เนื่องจาก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผล บังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ ( 22 กุมภาพันธ์ 2566) บัญญัติให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงผู้ต้องหาตั้งแต่เริ่มดำเนินการควบคุมตัว ผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องจัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการทุกนายใช้ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยเร่งด่วนและทันที

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำถึงการดำเนินการจัดหา ต้องดำเนินการให้ทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตกแก่บุคคลใด สำหรับหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้อง ปฏิบัติ ตามพ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ให้เร่งจัดลำดับความจำเป็นด้วย

    เห็นชอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาสำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด- แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดท่าทีไทยและการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบ IPEF พร้อมทั้งรับทราบพัฒนาการการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ของไทยและความร่วมมือภายใต้ IPEF เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการรับรองถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรี IPEF จำนวน 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 8-9 ก.ย. 2565 และการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบ IPEF โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกรอบการเจรจาฯ ต่อไป

    ทั้งนี้ การเห็นชอบกรอบเจรจา IPEF นี้ เป็นการเห็นชอบให้มีการเจรจาตามกรอบการเจรจาเท่านั้น โดยยังไม่มีพันธกรณีเกิดขึ้น และภายหลังการสรุปผลการเจรจาไทยสามารถพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับผลการเจรจาที่เกิดขึ้นได้

    ร่างกรอบการเจรจาฯ ประกอบด้วย 4 เสาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ด้านการค้า (2) ด้านห่วงโซ่อุปทาน (3) ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน IPEF ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม และส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจา IPEF เป็นการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไม่ใช่ FTA และไม่มีประเด็นการเข้าสู่ตลาด (market access) แต่จะเป็นการดำเนินความร่วมมือที่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยกับประเทศหุ้นส่วน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตและการจัดการด้านภาษีอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้ IPEF มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย BCG นอกจากนี้ ความร่วมมือภายใต้ IPEF จะช่วยส่งเสริมการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ และการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยในการเจรจาความตกลงด้านการค้าอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานสูงในอนาคต

    อนึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ณ Tokyo Izumi Garden Gallery กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิกที่ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศในภูมิภาคที่เข้าร่วมแล้วจำนวน 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม

    อนุมัติงบฯ 1,501 ล้าน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้เกษตรกร

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง 1,500 ล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก โดยเฉพาะกรณีหนี้ NPL และการซื้อทรัพย์คืน (NPA) โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,148 ราย

    ทั้งนี้ การได้รับงบประมาณจะทำให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีงบประมาณเพียงพอ สามารถดำเนินแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิกและฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาเกษตรกรสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถจัดการหนี้ของเกษตรกรกรณีบุคคล ค้ำประกันได้ รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก ที่แตกต่างและไม่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐหรือธนาคารของรัฐ เช่น การจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก กรณีหนี้ NPL และการซื้อทรัพย์สินคืน (NPA) ซึ่งเมื่อบุคคลได้รับการจัดการหนี้เหล่านี้ จะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูอาชีพด้วย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ได้โดยเร็ว

    เคาะงบกลาง 396 ล้าน ซื้อรถยนต์หุ้มเกราะ 150 คัน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 396 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนทดแทนที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 150 คัน (ราคาคันละ 2.64 ล้านบาท) เนื่องจากรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันผ่านการใช้งานมานานกว่า 12 ปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและไม่ปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นรถดัดแปลงจากรถกระบะ 4 ประตู โดยติดตั้งแผ่นเกราะและกระจกกันกระสุนเพิ่มเติม ทำให้มีน้ำหนักมากกว่ารถกระบะทั่วไปประมาณ 1,500 กิโลกรัม หรือ 1.5 ตัน ส่งผลให้ช่วงล่างและเครื่องยนต์เกิดการสึกหรอเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีจำนวน 216 คัน โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กำลังดำเนินการขายทอดตลาด จำนวน 150 คัน จึงมีความจำเป็นต้องจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนทดแทน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

    สำหรับรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนที่จัดซื้อในครั้งนี้ เป็นรถยนต์บรรทุกประเภทกระบะ (ดีเซล) ขนาด 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบดับเบิ้ลแค็บ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันกระสุน อาทิ ติดตั้งแผ่นเหล็กป้องกันกระสุน ติดตั้งกระจกป้องกันกระสุน ติดตั้งแผ่นเหล็กป้องกันสะเก็ดระเบิด พร้อมทั้งปรับปรุงช่วงล่างและบานพับประตูให้สามารถรองรับน้ำหนักเกราะได้

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การได้รับสนับสนุนงบกลางเพื่อจัดหารถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกลอบทำร้ายสูง และสามารถให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ากระชับและเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือตัวประกันหรือผู้ได้รับบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    จัดงบฯเยียวยา-ซื้อเรือประมงในพื้นที่ปัตตานี 96 ลำ 163 ล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นกรณีเร่งด่วน ตามการเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยอนุมัตินำเรือประมงออกนอกระบบชุดแรก จำนวน 96 ลำ งบประมาณ 163.36 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการลดจำนวนเรือประมงของรัฐบาล และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการประมง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ เรือประมง 96 ลำ ในชุดแรกนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบประวัติ เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก คุณสมบัติเรือประมง และเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี จากคณะทำงานด้านการตรวจสอบประวัติความถูกต้องและคุณสมบัติเรือประมง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานคณะทำงาน

    นางสาสรัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้ (1) ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการกองเรือให้มีความเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (2) การจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำให้กับเรือประมงที่อยู่ในระบบเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมง (3) ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายจากการใช้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (4) ชาวประมงที่ไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพประงมสามารถนำเงินที่ได้รับไปเป็นทุนประกอบอาชีพอื่นๆได้ตามที่ต้องการ

    เลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากเดิมภายในปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาภายในปี 2564 ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ออกไป พร้อมกันนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้และไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ

    การบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะทำให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้การผลิตรถยนต์ใหม่ต้องเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 และภาคเอกชนหลายรายสามารถผลิตรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว โดยบางส่วนอยู่ระหว่างลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ส่วนมาตรการจูงใจนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดให้รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับไว้แล้ว

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรฐานยูโร เป็นมาตรฐานเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะในทวีปยุโรป โดยทวีปยุโรปเริ่มกำหนดมาตรฐานยูโร 1 ในปี 2535 ขณะที่ ไทยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 1 ตั้งแต่ปี 2541 และเพิ่มระดับมาตรฐานจนถึงมาตรฐานยูโร 4 ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 มีความแตกต่างจากมาตรฐานยูโร 4 หลายประการ อาทิ การเพิ่มมาตรฐานการวัดจำนวนอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PN) และกำหนดค่ามาตรฐานออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารไฮโดรคาร์บอน (HC) (เป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5) ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้น

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการทะเบียนราษฎรดิจิทัล

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล พ.ศ. 2565 เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลที่จะสิ้นสุดในวันที่ 12 มีนาคม 2566 นี้

    “ในระยะแรก กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง ประเภทงานทะเบียนราษฎร ที่ให้บริการด้วยระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) สามารถขอรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วยตนเอง โดยมี 3 ประเภทงาน คือ 1.การแจ้งการย้ายที่อยู่ในสำนักทะเบียนเดียวกัน และการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง 2.การมอบหมายหรือมอบอำนาจให้แจ้งหรือยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร หรือระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร และ 3.การคัดหรือคัดและรับรองรายการทะเบียนบ้าน ทะเบียนประวัติ และทะเบียนคนเกิด เฉพาะกรณีรายการที่ผู้ขอเป็นเจ้าของข้อมูล โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ วันที่ 14 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 มีประชาชนใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล พ.ศ. 2565 จานวน 2,258 รายการ โดยเป็นการแจ้งการย้ายที่อยู่ 132 รายการ และการคัดหรือคัดและรับรองรายการทะเบียนบ้าน ทะเบียนประวัติ และทะเบียนคนเกิด 2,126 รายการ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้จะเป็นการกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการการทะเบียนราษฎร ด้วยระบบดิจิทัลที่ออกตามความใน พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป สำหรับกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ คือ

      1. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2562 (เช่น การขอคัดและรับรองสาเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด หรือทะเบียนคนตาย ฉบับละ 10 บาท การแจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การแจ้งย้ายที่อยู่ ฉบับละ 20 บาท)

      2. กฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2562 เช่น การแจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การแจ้งย้ายที่อยู่ ฉบับละ 20 บาท

    “เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานและให้บริการการทะเบียนราษฎรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดการใช้เอกสาร ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่สำคัญคือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการขอรับบริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับประชาชน และเร่งสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่เกี่ยวกับการให้บริการการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลและการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว” นางสาวทิพานัน กล่าว

    รับทราบผลประชุม “Mondiacult 2022” ชูโมเดล BCG – ส่งเสริม Soft Power

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดพเนินงานตามปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมฯ เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจที่รับผิดชอบและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญาและการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม พร้อมกับผลักดันโครงการ 5F คือ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เพื่อเป็น Soft Power ของไทย

    ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. ไทยได้ดำเนินการตามแนวคิด “เศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ สร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม” เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม และเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย และการดำเนินโครงการ 5F ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) รวมถึงการส่งเสริม Soft Power ของไทย

      2. ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมฯซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น 1.สิทธิทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาให้มีการระบุไว้ในนโยบายสาธารณะ เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของศิลปิน และสิทธิเสรีภาพทางศิลปะ และ 2.การกำหนดให้มีการประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมขึ้นทุก 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2568

    “ครม. พิจารณาเห็นว่าผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเตรียมการเข้าร่วมการประชุมเวทีระดับโลกฯ ในปี 2568 จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทางานร่วมกันต่อไป” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านร่างประกาศ คกก.แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจในบางประเด็นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

    ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์แต่ละฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้

      1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) มีเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิเช่น 1.กำหนดเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามมติ ครม. ตามความเหมาะสมและจำเป็นของกิจการ 2.กำหนดเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และ 3.กำหนดเพิ่มเติมให้เงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

      2. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิเช่น 1.กำหนดเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไปและถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานในปีที่จะเกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในอัตราเดียวกันกับเงินที่จะได้รับกรณีเกษียณ และ 2.กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวกรณีที่ลูกจ้างตายด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร, กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา, เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่น, ฆ่าตัวตาย

      3. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19) เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้สอดคล้องกับสิทธิ UCEP ตามมติ ครม. วันที่ 8 มีนาคม 2565 โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีลักษณะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ผู้ป่วย กลุ่มสีเหลืองและสีแดง) มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (สิทธิ UCEP) ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว) ให้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

    “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับสวัสดิการลูกจ้างทุกกลุ่มและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ดังนั้นร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับนี้เป็นการเพิ่มสวัสดิการ ยกระดับมาตรฐานสภาพการจ้าง ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์” นางสาวทิพานัน กล่าว

    คุมเข้มเศษพลาสติก 2 ปี หลังสิ้นปี’67 ห้ามนำเข้า

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว

    นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

      2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริง, ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนาเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น

      3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566 – 2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด

    “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการมาตรการควบคุมในช่วง 2 ปี (ในช่วงปี 2566-2567) คือ มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ควบคุมปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ 2. ป้องกันการลักลอบนำเข้า และ 3. ควบคุมการประกอบกิจการพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทุกฝ่ายจึงให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การป้องกันการขาดแคลนเศษพลาสติกบางชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม 2. การคัดแยกขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3. งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ และ 4. การมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ไฟเขียวใช้ PPP ยกระดับ รพ.ปลวกแดง รับผู้ป่วยใน EEC

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ให้มีศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก (M1) และมีมาตรฐานโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ ซึ่งโครงการฯ จะเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ด้านสาธารณสุข ช่วยเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน และยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลภาครัฐด้วย

    ทั้งนี้ โครงการฯ เป็นการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ อ.ปวกแดง จ.ระยอง ซึ่งมีประชากรอยู่กว่า 300,000 คน และปัจจุบันโรงพยาบาลปลวกแดงไม่สามารถรองรับได้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการได้แก่ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม, ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองส่งต่อจากโรงพยาบาลปลวกแดง ข้าราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการ Premium Service

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โรงพยาบาลปลวกแดง2 จะก่อสร้างบนที่ราชพัสดุ 29 ไร่ 3 งาน 11.7 ตรว.(กรมธนารักษ์อนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว) ขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญได้แก่ 1) การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง ประกอบด้วย อาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น, อาคารผู้ป่วยในพิเศษ 7 ชั้น, อาคารสนับสนุนบริการ 5 ชั้น, อาคารโรงไฟฟ้า-พักขยะ, อาคารบำบัด 200 ลูกบาศก์เมตร สิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ เช่นการถมที่ดิน สาธารณูปโภค 2)การจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 3)จัดหาบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นในการให้บริการ

    โครงการฯ ใช้รูปแบบการลงทุนลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) แบบ PPP Net Cost ระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี โดยเอกชนจะได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่รัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานทั้งหมด และเอกชนต้องเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนและก่อสร้างทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญแล้วโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวให้รัฐหลังจากก่อสร้างเสร็จ จากนั้นเอกชนจะมีสิทธิใช้ทรัพย์สินของโครงการตามสัญญาในการดำเนินงานเพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด (Build-Transfer-Operate: BTO)

    โดยข้อตกลงการแบ่งรายได้นั้น รายได้ของภาครัฐ ประกอบด้วยค่าตอบแทนในการใช้บริการที่ดินและอาคาร, ส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นเงินสดและส่วนแบ่งรายได้กรณีผลประกอบการดีกว่าที่คาด ส่วนเอกชนจะมีรายได้จากค่าบริการทางการแพทย์ รายได้จากการให้บริการอื่นๆ เช่นร้านอาหาร ร้านค้า และมีผลตอบแทนการลงทุนของส่วนทุน อยู่ที่ร้อยละ 18.78

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการฯ โดยรวมจะอยู่ที่ 2,647.37 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของภาครัฐ 249.48 ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดิน(ของกรมธนารักษ์) และอาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น(กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบภายใต้วงเงิน 232 ล้านบาทซึ่งได้รับงบผูกพันไว้แล้ว) ส่วนของเอกชน รวม 2,204.89 ล้านบาท ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างหลักและสิ่งปลูกสร้างประกอบประมาณ 326.15 ล้านบาท และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 2,078.74 ล้านบาท ประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 15.68 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ณ อัตราคิดลดร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 1,631.64 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 43.31 มีมูลค่าปัจจุบัน ณ อัตราคิดลดร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 7,051.71 ล้านบาท

    สำหรับ สถานะของโรงพยาบาลปลวกแดง2 จะเป็นหน่วยงานสาธารณสุขภายในสำนักงานสาธารณสุข จ.ระยอง ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติด้านต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน สำหรับโรงพยาลปลวกแดง2 ต่อไป ทั้งนี้ โครงการฯ ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

    ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงาน หลังจาก ครม. ให้การอนุมัติแล้ว สำนักงานอีอีซี จะดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และดำเนินการร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อไป เริ่มให้เอกชนยื่นเอกสารประกวดราคาในเดือนพ.ค. 66 และประกาศผลการคัดเลือกและสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาภายในเดือนมิ.ย. 66 และเสนอคณะอนุกรรกมารบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) และ กพอ. อนุมัติภายในเดือนก.ค. 66

    เห็นชอบผลการประมูลโครงการศูนย์การขนส่งฯ นครพนม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    การเสนอ ครม. ครั้งนี้ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากที่ ครม. เมื่อ 29 มกราคม 2562 ได้อนุมัติให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการฯ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP net Cost ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนไป 2 รอบในวันที่ 28 มิถุนายน และ 6 สิงหาคม 2564 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลามีผู้ยื่นเสนอร่วมลงทุน 1 ราย ได้แก่ บริษัท สินธนโชติ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งในด้านคุณสมบัติ(ซองที่1) ข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองที่ 2) และข้อเสนอด้านราคา (ซองที่ 3)

    โดยบริษัทฯ เสนอผลประโยชน์รูปแบบค่าสัมปทานแก่กรมการขนส่งทางบก ประกอบด้วย ค่าตอบแทนคงที่รายปี ตลอดอายุสัมปทาน จำนวน 30 งวด 298.36 ล้านบาท สูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไว้ที่ 291.16 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้กรณีที่ผู้ร่วมลงทุนมีผลประกอบการที่ได้กำไรที่ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิปีนั้นๆ เท่ากับขั้นต่ำที่ ครม. อนุมัติให้หลักการไว้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาแล้วว่าบริษัทฯ ได้เสนอผลตอบแทนสูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ ครม. ได้ให้หลักการไว้จึงได้เห็นชอบให้บริษัท สินธนโชติ จำกัด เป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด แล้วดำเนินการตามขั้นตอนก่อนเสนอให้ ครม. เห็นชอบในครั้งนี้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ก ภายใต้การร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost นั้น ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงร้างพื้นฐานรายปีในส่วนที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ส่วนเอกชนจะลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์และเอกชนรับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance :O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามกรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ

    โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะตั้งอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม บริเวณทิศใต้ของด่านพรมแดนนครพนมและด่านศุลกากรนครพนม มีเส้นทางเข้า-ออกหลักบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 295 ซึ่งเป็นทางเข้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) มีขนาดพื้นที่โครงการ 121 ไร่ 3 งาน 67 ตรว. ซึ่งทางทิศใต้ของโครงการได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อและประชิดกับแนวการพัฒนาโครงการถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนมของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางถนนและทางรางด้วย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯ จะรองรับการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก จากทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนามกับภูมิภาคต่างๆ ของไทย เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้าบรรจุหีบห่อ(Break Bulk Cargo) และเป็นศูนย์ให้บรการเบ็ดเสร็จ(One Stop Service)ทำให้สามารถดำเนินการพิธีการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกได้ ณ จุดเดียว

    สำหรับการดำเนินการงานเพื่อลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ระยะ งานระยะที่1 เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 6 รายการ ได้แก่ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้าหลังที่1, อาคารคลังสินค้าทั่วไป, อาคารซ่อมบำรุง, โรงอาหารบริการทั่วไป, สถานีชั่งน้ำหนัก และห้องควบคุมไฟฟ้า รวมถึงการจัดหาและติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานภายในพื้นที่โครงการ งานระยะที่2 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 1 รายการ คืออาคารรวบรวมและกระจายสินค้าหลังที่2 รวมทั้งการจัดหาและติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานภายในพื้นที่โครงการ โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อมีสินค้าเข้ามารวบรวมในอาคารหลังที่1 เฉลี่ยทั้งปีมากกว่าร้อยละ 80 ของขีดความสามารถ หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 18 ปี นับจากเปิดให้บริการ

    ทั้งนี้ โครงการฯ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษนครพนม ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการขนส่งของไทย เกิดการจ้างงานภายในศูนย์การขนส่งชายแดนและลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุจากการขับรถบรรทุกเข้าไปใน สปป.ลาว เนื่องจากรถบรรทุกสามารถเปลี่ยนหัวลากหางพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ภายในศูนย์การขนส่งชายแดนได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและส่งเสริมบทบาทให้ จ.นครพนมมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาค

    รับรองวัดคาทอลิกเพิ่มอีก 33 แห่ง ใน 18 จว.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับ และต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากวันบังคับ(ภายใน 15 มิ.ย. 66) ซึ่งเมื่อรวมกับการอนุมัติครั้งนี้แล้วจะมีวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ มีผลบังคับได้รับการรับรองแล้วรวม 76 แห่ง และยังเหลือการรับรองอีก 276 แห่ง

    ทั้งนี้ ก่อนเสนอต่อ ครม. วัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4)มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ 5)มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น คุณค่าและประโยชน์ของวัดคาทอลิก การอุปถัมภ์และทำนุบำรุงภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

    นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วได้ให้ความเห็นชอบและไม่ขัดข้องในหลักการในการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่า วัดทั้ง 33 แห่งไม่มีการตั้งบนที่ราชพัสดุ แต่หามีกรณีมิซซังได้เข้าไปใช้ที่ราชพัสดุจะต้องดำเนินการขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ หากมีการเข้าไปตั้งวัดในเขตพื้นที่ป่าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    อย่างไรก็ตาม มีวัด 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่ตั้งในโรงเรียนในระบบสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยกระทรวงศึกษาไม่ขัดข้องต่อการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 9 แห่ง แต่การรับรองวัดต้องไม่กระทบต่อการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นจึง เห็นควรให้มีรั้วแสดงขอบเขตของวัดคาทอลิกและโรงเรียนออกจากกันอย่างชัดเจน และขนาดที่ดินของโรงเรียนที่เหลืออยู่จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง พร้อมให้โรงเรียนดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้งและการขอเปลี่ยนแปลงขนาดที่ดินที่ใช้ตั้งโรงเรียนต่อไป

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิก ทั้ง 33 แห่ง ใน 18 จังหวัดที่ได้รับการรองมีดังนี้ 1) จันทบุรี 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(ท่าแฉลบ),วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(ท่าศาลา), วัดพระคริสตราชา(ปะตง), วัดนักบุญยอห์น อัครธรรมทูต(มะขาม)และวัดพระแม่พระถวายองค์(มูซู) 2) นครนายก 4 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดาพระศาสนจักร(นครนายก), วัดพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล(เตยใหญ่), วัดนักบุญเปาโล(บ้านนา), วัดนักบุญยอแซฟ(หนองรี)

    3) ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดเซนต์แอนโทนี(แปดริ้ว), วัดแม่พระฟาติมา(บางวัว), วัดนักบุญอันนา(สระไม้แดง) 4) สระแก้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์(สระแก้ว) วัดนักบุญเบเนดิกต์(เขาฉกรรจ์), วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ(อรัญประเทศ)

    5) กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์(คลองจั่น) และ วัดนักบุญยูดาอัครสาวก(ชินเขต) 6) ปราจีนบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน(แหลมโขด), วัดราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์(บ้านสร้าง) 7) เพชรบูรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดนักบุญยอแซฟ(ห้วยใหญ่), วัดอัครเทวดากาเบรียล(สันติสุข) 8) ราชบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระสายประคำ(หลักห้า), วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(โพธาราม)

    9) ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมาร์โก (ปทุมธานี) 10) พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเทเรซา(หน้าโคก) 11) สุพรรณบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก (ดอนตาล) 12) นครปฐม 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมัทธิว(ทุ่งลูกนก) 13) ชลบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระลูกประคำ(สัตหีบ) 14)ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(ปากน้ำ ระยอง) 15)ตราด 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตราด) 16)นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตาคลี) 17)ลพบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดมาแตร์ เดอี อัสซุมตา(ลำนารายณ์) 18)อุทัยธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปโตร(ท่าซุง)

    ขอความร่วมมือ ส.ส.เข้าประชุมสภา ผ่านร่าง กม. 4 ฉบับ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ตามที่ประธานรัฐสภาแจ้ง

    โดยเรื่องนี้ สืบเนื่องจากที่ ครม. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 66 ได้มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้เสนอร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับต่อรัฐสภาเพื่อบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ….. ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริการราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ…. และ ร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ด้วยกฎหมายทั้ง 4 ฉบับตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ

    ประธานรัฐสภาได้แจ้งว่า ได้อนุญาตให้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ 2563 แล้ว อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลเสนอมาจะสามารถพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อองค์ประชุมของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีความพร้อมด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งได้ลาออก แต่จากการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 66 ปรากฎว่าขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 419 คน โดยเป็นส.ส. ของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจำนวน 236 คน และ ส.ส.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 183 คน โดยรัฐบาลยังคงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

    ดังนั้น หากรัฐบาลมีความประสงค์จะให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้ จะต้องมีการขอความร่วมมือให้ ส.ส. ของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลเข้ามาร่วมประชุมและรักษาองค์ประชุมให้ครบพร้อมอยู่ตลอดเวลาด้วย

    อนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันมีกำหนดครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 66 ดังนั้น หากรัฐบาลมีร่างกฎหมายสำคัญที่ประสงค์ให้รัฐสภาพิจารณา อาจจะขอให้เปิดการประชุมเป็นสมัยประชุมวิสามัญได้ โดยรัฐสภายินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป

    ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี’66 กู้เพิ่ม 8.1 หมื่นล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

      1) อนุมัติแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 81,242.89 ล้านบาท จากเดิม 1,052.785.47 ล้านบาท เป็น 1,134,028.36 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานอื่นของรัฐคือสำนักงานกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงในประเทศ จาก 30,000 ล้านบาท เป็น 110,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท และการก่อหนี้ใหม่เพิ่มของรัฐวิสาหกิจ 1,242.89 ล้านบาท แยกเป็นส่วนที่ก่อหนี้เพิ่ม การยาสูบแห่งประเทศไทย เพิ่ม 1,500 ล้านบาท บริษัท การผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด เพิ่ม 1,194 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพิ่ม 300 ล้านบาท องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพิ่ม 250 ล้านบาท และส่วนที่การปรับลดวงเงินกู้ลงของ กฟน. ลดลง 1,500 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ลดลง 501.11 ล้านบาท

      2) อนุมัติแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่ม 825.31 ล้านบาท จากเดิม 360,179.68 ล้านบาท เป็น 361,004.99 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นทั้ง 825.31 ล้านบาทเป็นการเพิ่มวงเงินชำระหนี้ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

      3) อนุมัติการบรรจุโครงการ, โครงการพัฒนา และรายละเอียดเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ จำนวน 19 โครงการ ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 10 โครงการ ได้แก่ โครงการของ กฟน. 3 โครงการ วงเงิน 2,200 ล้านบาท โครงการของบริษัทผลิตไฟฟ้าและนำเย็น จำกัด 5 โครงการ วงเงิน 1,194 ล้านบาท โครงการของ ยสท. 1 โครงการ วงเงิน 1,500 ล้านบาท และโครงการของ อ.ส.ค. 1 โครงการ วงเงิน 250 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้เดิม 8 โครงการ โดยเป็นโครงการบริหารหนี้ของรัฐบาลจำนวน 7 รายการภายใต้กรอบวงเงิน 240,000 ล้านบาท และโครงการของเอ็กซิมแบงก์ 1 โครงการ วงเงิน 2,300 ล้านบาท, และ แผนการชำระหนี้ 1 โครงการ ของ กยท. วงเงิน 825.31 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้รับทราบการปรับปรุงแผนฯ ในส่วนของการบริหารหนี้เดิม ปรับลดลง 6,282.51 ล้านบาท จากเดิม 1,735,962. ล้านบาท เป็น 1,729,680.42 ล้านบาท โดยหลักเป็นการปรับลดลงจากแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ที่ลดลง 19,781 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลผลิตทางการเกษตรปีการผลิต 2551/52, ปีการผลิต 2555/56 และ ปีการผลิต 2556/57 เนื่องจากชำระคืนก่อนครบกำหนดแล้ว ลดลง 22,171 ล้านบาท ส่วน กฟน. ปรับวงเงินเพิ่ม 2,300 ล้านบาท

    ส่วนแผนบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลนั้นเพิ่มขึ้น 13,588.49 ล้านบาท ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปี 2567-70 เพิ่มขึ้น 15,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปี 66 มีการปรับลดในส่วนเงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้มาให้ รฟท. กู้ต่อ ลดลง 1,411.51 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่1 แล้ว ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ดังนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 61.14 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 70, สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 32.92 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 35, สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 1.66 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 10 และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 0.06 จากกรอบตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 5

    ยกเว้นภาษี – เงินที่ได้รับจากโครงการรัฐปี’65

    นางสาวไตรศุลี กล่าว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการ่างกฎกระทรวง ฉบับที่…. (พ.ศ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากรัฐในปีภาษี 2565) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ ได้รับจากการสนับสนุนประโยชน์อื่นใด และเงินค่าตอบแทนจากภาครัฐเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายการต่างๆ ดังนี้

      1) เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าชื้อสินค้าหรือบริการที่ได้มช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่4 และระยะที่5

      2) เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช้าชมสถานที่ท่องเที่ยว ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ค่าสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ ค่ารถเช่า หรือเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยวหรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

      3) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าเดินทางและซื้อแพคเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยวตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย

      4) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัมนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่4 และระยะที่5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่4 และระยะที่5

      5) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่4 และระยะที่5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษระยะที่ 2 และระยะที่3

      6) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตามโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ

      7) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ตามที่ได้รับอนุญาตจากระทรวงการคลัง

      8) ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และลุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับโควิด-19 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

      9) ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 นอกสถานพยาบาลตามที่ได้รับอนุยาตจากกระทรวงการคลัง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงนี้ จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน เพิ่มกำลังใจให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ประกอบกับหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี ภาษี 2565 อยู่ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 กระทรวงการคลังจึงดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าวในช่วงเวลานี้

    กระทรวงการคลังรายงานว่ารายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินสนับสนุนทุกโครงการข้างต้นไม่ได้อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่แล้ว แต่หากไม่ได้มีการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีได้ประมาณ 7,931 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงนี้จะสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัว เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวกับการดูแลการแพร่ระบาดของโควิด 19 และช่วยเหลือผู้ประกอบาอชีพที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน

    เวนคืนที่ดินขยายถนน “เพชรเกษม – สุขสวัสดิ์ – กาญจนาภิเษก”

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางด้วน แขวงบางหว้า แขวงบางจาก แขวงคูหาสวรรค์ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ แขวงบางขุนเทียน แขวงบางค้อ แขวงจอมทอง แขวงบางมด เขตจอมทอง แขวงท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน แขวงบางมด แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ และแขวงบางปะกอง แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

    สาระสำคัญ เป็นการกำหนเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรเกษมกับถนนสุขสวัสดิ์ และสายเชื่อมระหว่างสายเชื่อมดังกล่าวกับถนนกาญจนาภิเษก มีกำหนใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในเแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ภายใน 120 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค ตลอดจนเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

    ทั้งนี้ โครงการขยายทางหลวงฯ ข้างต้นจะเป็นการบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรในเขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตราษฎร์บูรณะ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการแล้วส่วนใหญ่เห้นชอบด้วย ด้านสำนักงบประมาณแจ้งว่ากรุงเทพมหานคร มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ ม.ค. 64-ธ.ค. 68 และประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์ 18,756 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของกรุงเทพมหานครทั้งหมด

    ตั้ง “มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์” นั่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

      2. นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แต่งตั้ง นางภานุมาศ สิทธิเวคิน กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้รักษาราชการแทนตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ แต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ กลางณรงค์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้

      1. นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
      2. นางสาวเจนจิรา รัตนเพียร ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    6. ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และการกำหนดอัตราค่าตอบแทนตามมติคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    7. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แทน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มเติม