ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ไฟเขียวตรึง “ดีเซล – แก๊สหุงต้ม – ค่าไฟฟ้า” ต่อ

ครม.ไฟเขียวตรึง “ดีเซล – แก๊สหุงต้ม – ค่าไฟฟ้า” ต่อ

19 ธันวาคม 2023


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ครม.ตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตร-แก๊สหุงต้ม 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน – เคาะลดค่าไฟงวด ม.ค.- เม.ย.ปี’67 อุ้มกลุ่มเปราะบาง 17 ล้านครัวเรือนหน่วยละ 3.99 บาท – ปชช.ทั่วไปไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย ด้าน “พีระพันธุ์”ตั้ง คกก.รื้อโครงสร้างก๊าซธรรมชาติแก้ปัญหาระยะยาว – เจรจา “ฮุน มาเนต” หาข้อยุติการใช้ประโยชน์แหล่งก๊าซฯในพื้นที่ OCA

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ภายหลังที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่วนก๊าซแอลพีจี หรือ “แก๊สหุงต้ม” ราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่วนการลดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 นั้น ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยเอาไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ขอรอดูราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2567 คาดว่าจะต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย

“วันนี้ ผมได้จัดเตรียมกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปไว้แล้ว แต่เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าไปกำหนดตัวเลขอัตราค่าไฟฟ้าออกมาแล้ว ราคาค่าไฟฟ้าลดลงไปตามแนวโน้มของราคาก๊าซในตลาดโลก เกรงว่าจะไม่เป็นไปตามมติ ครม.อีก จึงต้องขอรอดูตัวเลขอีกครั้งก่อนประกาศออกมา แต่ขอความกรุณาให้สื่อมวลชนเข้าใจว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยแน่นอน แต่จะเป็นเท่าไร เดี๋ยวรอดูราคาก๊าซอีกที” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ คือ 1. ถ่านหิน เป็นรูปแบบที่ใช้มานาน และมีราคาถูกที่สุด 2. แหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่จะกล่าวต่อไป และ 3. พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน เช่น แสงแดด ลม และชีวมวล เป็นต้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า “ผมพูดมาเสมอว่ามาตรการที่ใช้มาภายใต้ระบบ และโครงสร้างที่ใช้กันมา 40 ปี ปัจจุบันไม่เหมาะแล้ว ตอนนี้ในกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และรื้อโครงสร้างพลังงานไฟฟ้ากันใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ในระหว่างนั้นอะไรทำได้ ก็ทำไปก่อนภายใต้โครงสร้างแบบนี้ พยายามทำให้ดีที่สุดในทุกเรื่อง เพื่อให้ประชาชนมีภาาระค่าครองชีพไม่สูงเกินไป”

“ปัญหาคือสัญญาที่เคยทำไว้กับผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมก็กำลังแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะโครงสร้างก๊าซธรรมชาติก็กำลังปรับรูปแบบ โดยดูแลว่าจะทำอย่างไรให้หลุดจากวงราคาตลาดโลก ถ้าเราควบคุมส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้ราคาวัตถุดิบส่วนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมากขึ้น โดยลดราคาไฟฟ้า ได้โดยระบบของมันเอง ไม่ต้องมาใช้ มติ ครม. ซึ่งการปรับโครงสร้างก๊าซฯ คงต้องใช้เวลาศึกษารูปแบบและผลกระทบ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความเห็น เป็นมาตรการระยะยาว ซึ่งผมจะผลักดันทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ภายในปี 2567”

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 1 ปี นายพีระพันธุ์ ตอบว่า “เรื่องไม่เกี่ยวกับผม ต้องไปถาม กฟผ. แต่ส่วนที่เกี่ยวกับผม คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการ กฟผ.ให้จบ หลังจากนั้นเป็นเรื่อง กฟผ. กับ คณะกรรมการที่จะไปจัดการเรื่องที่ว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องของรัฐมนตรี”

เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA)กับสมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่มีกำหนดการเดินทางมาเยื่อนไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567

นายพีระพันธุ์ ตอบว่า เรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชายังหาข้อยุติยาก ต้องใช้เวลาในการเจรจา ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าพื้นที่ทับซ้อนที่เราจะขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เป็นของใคร ของเรา หรือ กัมพูชา เพราะเส้นแบ่งเขตแดนไม่ตรงกัน ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกตกลงกันง่าย ๆ แต่รัฐบาลต้องพยายามที่จะหาทางยุติให้ได้

“นายกฯ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้ ผมเองก็เป็นกังวล เพราะอยากจะนำพลังงานจากแหล่งดังกล่าวมาให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์ เพราะก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดลงไปทุกวัน ถ้าเราไม่หาแหล่งใหม่มารองรับไว้ มันก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ไม่ว่ารูปแบบไหน สำหรับผมถ้าเอาเรื่องเขตแดนมาเล่น หรือ มายุ่งกับเรื่องนี้ มันก็หาข้่อยุติยาก จึงต้องหารูปแบบใหม่ในการเจรจา และขึ้นอยู่กับนโยบายในทางปฏิบัติด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการที่ดำเนินในช่วงเดือนกันยายนยน 2566 ถึงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและด้านไฟฟ้า

    (1) ราคาน้ำมันดีเซล บริหารราคาน้ำมันดีเซลในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
    (2) ราคา LPG บริหารราคาในการตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
    (3) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยต่อไป
    (4) ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็น กลุ่มเปราะบาง จะคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (คือลดไป 21 สตางค์ต่อหน่วย) ซึ่งจะเป็นการลดเป็นเวลา 4 เดือน ครอบคลุมรอบบิล มกราคม – เมษายน 2567 โดยคาดว่าจะมีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.77 ล้านราย โดยรัฐจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน (ประมาณ 1,950 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน)

รองโฆษกฯ รัดเกล้า ย้ำว่า “สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางนั้น ขอความเข้าใจว่ามีความจำเป็นต้องให้ราคาขึ้นจากเดิมที่ลดไว้ด้วยเหตุหลายๆ ปัจจัย แต่ทางรัฐบาลจะพยายามให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และจะแจ้งให้ทราบหลังจากได้เห็นราคาก๊าซ ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 อีกที โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวย้ำว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนระยะสั้นภายใต้ระบบ และโครงสร้างราคาพลังงานที่มีการใช้มากว่า 40 ปี ในส่วนของการดำเนินการระยะยาวนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะมาทำงานเพื่อปรับทั้งระบบและโครงสร้างราคาพลังงานแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ประชาชน”

  • เริ่มแล้ว! กกพ.สั่งการไฟฟ้าฯ ลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ในรอบบิลเดือน ต.ค.นี้
  • กกพ.ขานรับ ครม.หั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย จี้ ปตท.ลดราคาก๊าซ – งดคืนหนี้ กฟผ. 4 เดือน
  • ครม.ลด “ค่าไฟ” รอบ 2 เหลือ 3.99 บาท/หน่วย เริ่มงวด ก.ย.นี้
  • เหตุใดจึงต้องเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
  • สรรหา ‘ผู้ว่า กฟผ.’ คุณสมบัติต้องการ… “มืออาชีพหรือคนของใคร?”
  • กระทรวงพลังงานโต้ ปมตั้ง ‘ผู้ว่า กฟผ.’ ล่าช้า