ThaiPublica > สู่อาเซียน > สะพานข้ามโขง ‘รัฐฉาน-ลาว’… เส้นทางการค้าทางเลือก

สะพานข้ามโขง ‘รัฐฉาน-ลาว’… เส้นทางการค้าทางเลือก

19 กุมภาพันธ์ 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเปิดใช้สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 หลังต้องปิดไป 3 ปี เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่มาภาพ : Tonamcha News

เวลา 10.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้มีพิธีเปิดสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างเมียนมากับลาว เพื่อให้ประชาชนจาก 2 ประเทศ สามารถใช้เดินทางข้ามไปมาหากันได้อีกครั้ง หลังจากช่องทางนี้ถูกปิดไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งในลาวและเมียนมา

ผู้แทนจาก 2 ประเทศที่มาเป็นประธานร่วมในพิธี ได้แก่ อู อ่องส่อเอ มุขมนตรีรัฐฉานในขณะนั้น และ สีวิไล ปันแก้ว รองเจ้าแขวงหลวงน้ำทา

สะพานมิตรภาพแห่งนี้ ถูกสร้างเชื่อมเมืองเชียงลาบ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก กับบ้านห้วยกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ตัวสะพานยาว 691.6 เมตร กว้าง 10.9 เมตร สูงจากท้องน้ำ 12 เมตร เรือขนส่งสินค้าขนาด 599 ตันกรอส สามารถลอดผ่านได้ ผิวถนนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ช่องทางจราจร กว้าง 8.5 เมตร มีทางเท้า 2 ฝั่ง กว้างฝั่งละ 1.2 เมตร รองรับน้ำหนักรถบรรทุกสินค้าได้ 75 ตัน ถูกออกแบบให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลลาวเป็นผู้ลงทุนฝ่ายละ 50% โดยใช้บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างลาวและเมียนมา

หลังเสร็จพิธีเปิด ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ประชาชนที่ถือสัญชาติเมียนมาและลาว สามารถนำหนังสือผ่านแดนหรือบัตรผ่านแดนชั่วคราว เป็นเอกสารเพื่อใช้ข้ามหรือไปพำนักอาศัยยังอีกฝั่งหนึ่งได้โดยคนลาวสามารถข้ามไปได้ถึงเมืองยองและเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ส่วนชาวเมียนมาสามารถข้ามไปได้ถึงเมืองสิง เมืองหลวงน้ำทา และย้อนกลับลงมาได้ถึงแขวงบ่อแก้ว ระยะเวลาพักอาศัยสูงสุดในฝั่งตรงข้าม หากใช้หนังสือผ่านแดนสามารถพักได้ 14 วัน 13 คืน ส่วนบัตรผ่านแดนชั่วคราวพักได้ 7 วัน 6 คืน

ที่มาภาพ : Tonamcha News
……

แนวคิดในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเมียนมากับลาวทางรัฐฉานกับแขวงหลวงน้ำทา เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยและเกิดความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ มานานมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยมีลำดับการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้

วันที่ 22 มีนาคม 2555 ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของเมียนมา ได้ลงนามในสัญญาร่วมสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง กับพลโทจูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์

เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2555 เจ้าหน้าที่จาก 2 ประเทศ ลงพื้นที่สำรวจและออกแบบก่อสร้างสะพาน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 อู จ่อลิน รัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้าง เมียนมา และสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นสร้างสะพาน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2558 ประธานาธิบดีเต็งเส่ง และ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดใช้สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว อย่างเป็นทางการ

วันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2558 องค์กรปกครองท้องถิ่นของเมืองเชียงลาบและเมืองลอง ได้ร่วมกันจัดตลาดนัดมิตรภาพ ลาว-เมียนมา ครั้งแรกขึ้น ทั้งในฝั่งเมืองลองและเมืองเชียงลาบ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ รวมถึงร่วมฉลองครบรอบ 40 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพ่อค้า แม่ค้า ทั้งจากลาวและเมียนมา นำสินค้ามาวางจำหน่ายอย่างหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกหลังสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการ มีผู้ใช้สะพานข้ามไปมาไม่มากนัก เพราะยังติดขัดเรื่องระเบียบข้ามแดนของ 2 ประเทศ การขนส่งสินค้าข้ามแดนที่ 2 ประเทศ ซื้อขายกัน ส่วนมากเป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวสาร ยางพารา วัว ควายฯลฯ ยังคงใช้การขนส่งทางเรือระหว่างท่าเรือเชียงกกของลาวกับท่าเรือเชียงลาบของเมียนมาเป็นหลัก สินค้าที่ใช้การขนส่งผ่านสะพาน มากที่สุดเป็นรถบรรทุกน้ำมัน ซึ่งขนน้ำมันที่ซื้อมาจากจีนผ่านลาวข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปขายในรัฐฉาน

เดือนมีนาคม 2563 หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลเมียนมาและลาว ตัดสินใจปิดสะพาน ห้ามทั้งรถและคนข้ามผ่าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 สะพานได้กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้ง หลังปิดไป 2 ปี แต่เป็นเพียงการอนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าซึ่งเมียนมาและลาวซื้อขายกัน สามารถวิ่งข้ามผ่านได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนจากทั้ง 2 ฝั่ง ใช้สะพานข้ามไปมาหากัน

กระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2567 จึงได้เปิดอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ให้ประชาชนจาก 2 ประเทศ สามารถเดินทางข้ามสะพานไปมาหากัน รวมถึงพำนักอาศัยในฝั่งตรงข้ามได้ ตามระยะเวลาที่กำหนด

……

สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว เชื่อมเมืองเชียงลาบ ท่าขี้เหล็ก กับเมืองลอง หลวงน้ำทา ที่มาภาพ : Tonamcha News

10 กว่าปีก่อน ในตอนแรกเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงระหว่างเมืองเชียงลาบกับเมืองลอง หลายประเทศให้ความสำคัญมากกับสะพานแห่งนี้ เพราะมองว่าจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางเส้นใหม่ เป็นแนวเส้นทางที่อยู่ถัดขึ้นไปทางเหนือจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เดิม ซึ่งเปิดใช้แล้ว ที่เชื่อมจากท่าเรือดานังของเวียดนาม แขวงสะหวันนะเขตของลาว จังหวัดมุกดาหาร พิษณุโลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย เข้าสู่เมียนมาทางเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางเส้นใหม่ผ่านสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ระหว่างรัฐฉานกับเมืองหลวงน้ำทา จะเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อม อินเดีย เมียนมา ลาว จีน และเวียดนาม เข้าด้วยกัน

มีการเผยแพร่ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งสะพานมิตรภาพรัฐฉาน-ลาวที่จะสร้างขึ้นใหม่ว่า อยู่ห่างจากกรุงเนปิดอ 940 กิโลเมตร ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ 698 กิโลเมตร ห่างจากกรุงฮานอย 1,020 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนเมียนมา-อินเดีย-บังคลาเทศ 1,868 กิโลเมตร

สะพานมิตรภาพแห่งนี้ เป็นจุดบรรจบของทางหลวงหมายเลข 4 ของเมียนมา กับถนนสาย 17B ของลาว

ทางหลวงหมายเลข 4 เป็นถนนที่แยกออกมาจากทางหลวงหมายเลข 1 ( AH1) ที่เมืองเมะทิลา ภาคมัณฑะเลย์ แนวถนนมุ่งมาทางทิศตะวันออกเข้าสู่รัฐฉาน ผ่านเมืองกะลอ ตองจี เชียงตุง ท่าเดื่อ มาสิ้นสุดตรงชายแดนเมียนมา-ไทย ที่เมืองท่าขี้เหล็ก

ทางไปสู่สะพานมิตรภาพฝั่งรัฐฉาน มีถนนที่แยกออกมาจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่เมืองท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก วิ่งมาทางทิศตะวันออก 120 กิโลเมตร ถึงเมืองเชียงลาบ ระยะห่างจากเชิงสะพานมิตรภาพในเมืองเชียงลาบกับเมืองเชียงตุง 230 กิโลเมตร และจากเชิงสะพานมิตรภาพกับชายแดนรัฐฉานที่เมืองท่าขี้เหล็ก 150 กิโลเมตร

แนวเส้นทาง (สีน้ำเงิน) จากเมืองเมะทิลา ภาคมัณฑะเลย์ ผ่านรัฐฉาน ข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานมิตรภาพ ผ่านลาว เข้าสู่จีน นอกจากถูกมองเป็นระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางเส้นใหม่แล้ว ยังเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกระหว่างเมียนมาและจีน เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิม (สีแดง) ที่สถานการณ์ไม่แน่นอน
แนวเส้นทางการค้าเมียนมา-ลาว-จีน ที่สัมพันธ์กับไทย

ในฝั่งลาว เชิงสะพานมิตรภาพที่บ้านห้วยกุ่ม เมืองลอง อยู่ห่างจากเมืองเชียงกก 15 กิโลเมตร ถนนสาย 17B เริ่มจากบ้านห้วยกุ่ม มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกระยะทาง 80 กิโลเมตร จะถึงเมืองสิง และต่อไปอีก 70 กิโลเมตร จะถึงเมืองหลวงน้ำทา

ที่เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา เป็นที่ตั้งของด่านชายแดนปางไฮ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเมืองหล้า เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน ซึ่งตามปกติ ด่านชายแดนปางไฮได้ถูกใช้เป็นช่องทางขนส่งสินค้าที่จีนและลาวซื้อขายกันมานานแล้ว…

ระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางเส้นใหม่ผ่านสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว แม้ไม่มีเส้นทางผ่านประเทศไทย แต่ก็หาใช่ว่าคนไทยจะไม่ได้ประโยชน์

เมืองท่าเดื่อ ทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 4 ไปยังเชิงสะพานมิตรภาพที่เมืองเชียงลาบ อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ชายแดนรัฐฉาน-ไทย ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพียง 30 กิโลเมตร

ถนนที่แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่เมืองท่าเดื่อ ข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองเชียงลาบไปยังเมืองลอง จนถึงด่านชายแดนปางไฮที่เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อของถนนสาย R3a และ R3b เส้นทางยุทธศาสตร์การค้าสำคัญของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา-ลาว-ไทย

เส้นทาง R3a ระยะทาง 230 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ต่อไปถึงสามแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา เลี้ยวซ้ายไปยังด่านชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น ฝั่งตรงข้ามคือเมืองบ่อหาน เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งมีทั้งทางด่วนและทางรถไฟต่อขึ้นไปได้ถึงเมืองเชียงรุ่ง และนครคุนหมิง

ท่าเรือเชียงลาบ ตั้งอยู่ครึ่งทางระหว่างเชียงแสนกับเชียงรุ่ง และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าทางแม่น้ำโขงมาตั้งแต่อดีตกว่า 200 ปีก่อน ที่มาภาพ : Tonamcha News

เส้นทาง R3b ระยะทาง 250 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ข้ามแม่น้ำสายไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก ผ่านเมืองท่าเดื่อ ต่อขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุง เขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ข้ามด่านชายแดนต้าลั่ว เข้าสู่อำเภอเมืองหล้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา จากจุดนี้ สามารถเชื่อมเข้ากับโครงข่ายคมนาคมหลักของจีน ที่มีทั้งทางด่วนและทางรถไฟต่อขึ้นไปถึงเมืองเชียงรุ่ง และนครคุนหมิง เช่นกัน

เมืองเชียงลาบ จังหวัดท่าขี้เหล็ก เป็นเมืองที่เคยมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา ตั้งแต่สมัยยุคพญามังราย ตำแหน่งของเมืองเชียงลาบ อยู่บริเวณครึ่งทางหากเดินเรือตามลำน้ำโขงจากเมืองเชียงแสนขึ้นไปยังเชียงรุ่ง

“เชียงลาบซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลเชี่ยวที่สุด หรือที่เรียกว่า ‘โขงโค้ง’ เป็นแนวบริเวณที่อันตรายที่สุดในการเดินเรือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลลงมาตรงแล้วกระทบกับโขดหินและไหลย้อยกลับขึ้นไปข้างบน จึงทำให้แม่น้ำโขงในบริเวณนี้ไหลแรงและเชี่ยวที่สุดและต้องใช้ความชำนาญสูงในการเดินเรือสินค้า หากมองด้านจุดยุทธศาสตร์การเมือง การคมนาคม และการค้าขายในอดีต เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หากต้องเดินทางเดินทางจากเชียงแสนไปเชียงรุ่ง ต้องหยุดพักตรงนี้ เมื่อมีการหยุดพักแล้วจึงมีคาราวานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนสินค้าในบริเวณดังกล่าว จึงทำให้เชียงลาบกลายเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นประตูสู่เชียงรุ่งโดยปริยาย” ข้อมูลจากวิกิพีเดีย หัวข้อ “เชียงลาบ” บันทึกไว้

หากวัดตามแนวแม่น้ำโขง ที่ตั้งสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 106 กิโลเมตร

วัดตามแนวถนน ระยะทางจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปยังสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ที่เมืองเชียงลาบ ยาว 150 กิโลเมตร หากต่อไปถึงด่านปางไฮ เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา จะยาวรวมประมาณ 230 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้เคียงกับถนนยุทธศาสตร์ทั้ง R3a และ R3b

ด่านการค้าชายแดนที่เมืองหมู่เจ้ ช่องทางการค้าหลักระหว่างจีนกับเมียนมา ซึ่งถูกปิดไปตั้งแต่เกิดปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่มาภาพ : สำนักข่าว BETV Business

……

สถานการณ์ความไม่มั่นคงของเมียนมา โดยเฉพาะการสู้รบที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉาน นับแต่เริ่มมีปฏิบัติการ 1027 ของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างจีนและเมียนมา

ด่านชายแดนที่เมืองหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ ซึ่งเป็นประตูการค้าหลักของ 2 ประเทศ ถูกปิดมานานกว่า 3 เดือน ทางหลวงหมายเลข 3 ที่เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าที่จีนและเมียนมาซื้อขายกัน นับตั้งแต่เมืองล่าเสี้ยวขึ้นไปถึงชายแดนรัฐฉาน-จีน ถูกควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กองทัพพม่าไม่สามารถควบคุมได้ หลายจุดถูกปิดห้ามรถทุกชนิดผ่าน

การเปิดใช้สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว เชื่อมรัฐฉานกับแขวงหลวงน้ำทาในจังหวะนี้ หากมองในอีกด้านหนึ่ง จึงเป็นเหมือนการเปิดช่องทางขนส่งสินค้าทางเลือกสายใหม่ให้กับการค้าระหว่างเมียนมากับจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ความไม่มั่นคง ตามแนวเส้นทางการค้าสายเดิมผ่านทางหลวงหมายเลข 3 ในภาคเหนือของรัฐฉาน เปลี่ยนมาใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ทางรัฐฉานภาคตะวันออกแทน เพราะตลอดแนวเส้นทางนับจากเมืองเมะทิลา ตองจี เชียงตุง มาถึงเชิงสะพานมิตรภาพที่เมืองเชียงลาบ มีความสงบมากกว่า

ข้อจำกัดของเส้นทางสายนี้ในปัจจุบัน คือสภาพถนนที่ยังไม่กว้างพอ เป็นทาง 2 เลนแล่นสวนกัน ถนนปูด้วยแอสฟัลต์ มีหลายช่วงที่ยังเป็นหลุมบ่อ ขรุขระ ขึ้นเขา รวมถึงกฏระเบียบการใช้สะพานมิตรภาพ ที่ยังคงอนุญาตให้เฉพาะคนกับรถสัญชาติเมียนมาและลาวเท่านั้น ที่สามารถข้ามผ่านได้

ภาพมุมสูงของสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว

สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ที่เพิ่งกลับมาเปิดใช้ใหม่ แม้ทุกวันนี้ยังเป็นเพียงจุดผ่านแดนเล็กๆ ที่เชื่อมท้องถิ่นของ 2 ประเทศเข้าด้วยกัน และมีเพียงคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่เข้ามาใช้เป็นส่วนใหญ่ แต่จุดผ่านแดนเล็กๆ ในท้องถิ่นแห่งนี้ อาจมีบทบาทสูงขึ้นได้อีกในอนาคต…

  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ”จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดีย
  • “ปฏิบัติการ 1027” เขย่า “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา!”
  • ความสัมพันธ์ของ “ปฏิบัติการ 1027” กับการ “กวาดล้างจีนเทา” ชายแดนรัฐฉาน