ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่รัฐกะยา” ความ “หดหู่” ของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามแม่ฮ่องสอน

“ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่รัฐกะยา” ความ “หดหู่” ของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามแม่ฮ่องสอน

3 สิงหาคม 2022


ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่ รัฐกะยา ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ปิดทึบไม่สะดุดตา และไม่มีใครคิดว่าด้านในคือห้องผ่าตัดเคลื่อนที่ ที่มาภาพ : Myanmar Pressphoto Agency1

ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดสั้น ผนังปิดทึบ ที่ติดตั้งอยู่หลังรถบรรทุก เมื่อมองจากภายนอก คนส่วนมากน่าจะเข้าใจว่าเป็นตู้สำหรับบรรจุสินค้าทั่วไปที่สามารถพบเห็นได้ดาษดื่นในทุกพื้นที่

แต่รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันหนึ่งที่ถูกขับไปจอดไว้ใน “รัฐกะยา” มันกลับกลายเป็นห้องผ่าตัดเคลื่อนที่ ภายในพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด สามารถเคลื่อนย้ายไปรักษาคนป่วยและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ในหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่ยังมีการสู้รบอยู่

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 Myanmar Pressphoto Agency เป็นสื่อแรกๆที่นำเสนอเรื่องและภาพชุด “ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่” คันนี้ จากนั้นเรื่องราวนี้ได้ถูกกระจายต่อไปตามสื่อออนไลน์หลักๆอีกหลายแห่งของเมียนมา

“โรงพยาบาลและคลินิกทุกแห่งทั่วรัฐกะยา ล้วนถูกทำลายลงไปจนหมดสิ้นแล้วจากการโจมตีด้วยอาวุธหนักของกองทัพพม่า ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐกะยา คอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผู้เคราะห์ร้ายจากสงคราม จึงต้องพัฒนารถผ่าตัดเคลื่อนที่คันนี้ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เพื่อให้สามารถนำความช่วยเหลือเข้าไปถึงจุดที่ชาวบ้านเดือดร้อนและกำลังรอการช่วยเหลือ”

โรงพยาบาลและคลินิกในรัฐกะยาถูกทำลายไปแล้วจากสงครามกลางเมือง แต่คณะแพทย์กลุ่มนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ แม้จะสุ่มเสี่ยง ที่มาภาพ : Myanmar Pressphoto Agency

เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาซึ่งถอดความโดยสรุปจากโพสต์ของ Myanmar Pressphoto Agency ที่ได้เขียนเกี่ยวกับรถผ่าตัดเคลื่อนที่คันนี้เอาไว้

……

รัฐกะยา รัฐชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมา ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“กะยา” เป็นรัฐชาติพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในเมียนมา มีพื้นที่เพียง 11,731.5 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมไม่ถึง 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะยาหรือกะเหรี่ยงแดง ชาวกะยันหรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อกะเหรี่ยงคอยาว ชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ รวมถึงชาวพม่า

รัฐกะยาเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยด้านอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

สมัยก่อนที่ในเมียนมายังไม่มีสงครามกลางเมือง จังหวัดลอยก่อ ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐกะยา กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มักมีกิจกรรมที่จัดร่วมกันอยู่เป็นระยะ

ทิศเหนือของรัฐกะยาติดกับจังหวัดลางเคอและจังหวัดตองจี ภาคใต้ของรัฐฉาน ทิศตะวันตกและทิศใต้ ติดกับจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง

แม้เป็นรัฐเล็กๆ แต่การสู้รบในสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในรัฐกะยานั้น ทั้งดุเดือด โหดเหี้ยม และรุนแรงมากกว่าในอีกหลายภาค หลายรัฐชาติพันธุ์ และเป็นสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลายพื้นที่ในรัฐกะยา มีการสู้รบเกิดขึ้นเกือบทุกวัน แทบไม่หยุดไม่หย่อน

กะยาเป็นรัฐแรกๆที่ชาวบ้านลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารพม่า หลังเกิดการรัฐประหารได้ไม่กี่วัน อีก 2 พื้นที่ซึ่งมีความเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน คือในรัฐชินกับภาคสะกาย

เดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) หรือรัฐบาลเงาของสมาชิกพรรค NLD ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศรวมตัวจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(People’s Defense Force : PDF) ขึ้นต่อสู้กับกองทัพพม่า ในรัฐกะยาได้มีการตั้งเป็น “กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง” หรือ Karenni Nationalities Defense Force(KNDF)

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 เป็นวันเสียงปืนแตก KNDF ได้เปิดฉากการสู้รบกับกองทัพพม่าโดยบุกโจมตีป้อมตำรวจในเมืองโมเบีย หรือเมืองป๊ายในภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นดินแดนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดตองจี ของรัฐฉาน กับจังหวัดลอยก่อ ของรัฐกะยา สังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของพม่าเสียชีวิตไปในคราวเดียวกันถึง 13 ราย

จากนั้นเป็นต้นมา แทบทุกพื้นที่ในรัฐกะยาได้กลายเป็นสมรภูมิสู้รบอันแสนดุเดือด!

……

ประกาศหยุดสู้รบชั่วคราวของ KNDF เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 KNDF แถลงการณ์หยุดยิงกับทหารพม่าชั่วคราว เนื่องจากได้รับการร้องขอจากคณะสงฆ์และชาวบ้านในอำเภอดีมอโซ จังหวัดลอยก่อ

รุ่งขึ้น วันที่ 16 มิถุนายน 2564 พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในดีมอโซ นำโดยสยาดอ ทีบุ่นกาน สยาดอ ดอบูกู และสยาดอ ดอโปสี่ ร่วมกับพระสงฆ์จากวัดต่างๆรวม 18 รูป นำชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ตระเวนเก็บศพผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลายสิบศพ ซึ่งถูกทิ้งกระจายเกลื่อนอยู่ตามที่ต่างๆทั่วพื้นที่ดีมอโซ

ศพเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน บางศพนอนตายอยู่ริมถนน บางศพนอนตายอยู่ในพงหญ้าข้างทาง และหลายศพนอนตายอยู่ในบริเวณบ้าน ที่น่าจะเป็นบ้านของพวกเขาเอง

ทุกศพมีสภาพขึ้นอืด เน่าเละจนไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นศพของชาวบ้าน ศพของทหารพม่า หรือศพของทหาร KNDF แต่ทุกคนเชื่อว่าร่างทั้งหมด ล้วนเป็นศพของทั้ง 3 กลุ่มที่เสียชีวิตจากการสู้รบ คละเคล้า ปะปนกันไป

นับแต่เสียงปืนแตกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ชาวกะยาหลายหมื่นคนต้องละทิ้งบ้านเรือน ไร่นา หลบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า เสบียงอาหาร และยารักษาโรค ชาวบ้านหลายคนที่หลบหนีไม่ทัน ก็ถูกลูกหลงเสียชีวิต ศพถูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ รวมถึงในบ้านของพวกเขาเอง โดยไม่มีผู้ใดมาจัดการให้

กระทั่ง KNDF ยอมหยุดรบชั่วคราวในวันที่ 15 มิถุนายน พระสงฆ์และชาวบ้านจึงกล้ารวมตัวกัน ออกมาจัดการกับศพที่ถูกทิ้งไว้เหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น

พระสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันเก็บและลำเลียงศพไปยังสุสานหง่วยต่อง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนช่วยกันนำศพฝังลงไปในหลุมขนาดใหญ่ที่ขุดเตรียมไว้

พระสงฆ์และชาวบ้านในดีมอโซร่วมกันทำพิธีทางศาสนาให้กับศพนิรนามจำนวนมาก ก่อนนำศพเหล่านั้นฝังลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ ที่มาภาพ Kantarawaddy Times


……

การต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในรัฐกะยา ทำให้กองทัพพม่ามองว่าที่นี่เป็นพื้นที่อ่อนไหว จำเป็นต้องจัดการโดยเด็ดขาด กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะอาวุธหนักจำนวนมาก เข้ามาปฏิบัติการในรัฐกะยา

การสู้รบหลายครั้ง กองทัพพม่าใช้กำลังสนับสนุนทางอากาศ ทั้งเครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ เข้ามายิงจรวด ทิ้งระเบิด สร้างความเสียหายทั้งแก่บ้านเรือนประชาชน ระบบสาธารณูปโภค ที่สำคัญคือระบบสาธารณสุข ได้ถูกทำลายยับเยินไปด้วย

ประชาชนในกะยานับแสนคน ทั้งที่เป็นชาวพม่า ปะโอ และไทใหญ่ ต่างพากันละทิ้งบ้านเรือน ไร่นา อพยพออกนอกพื้นที่รัฐกะยาเพื่อลี้ภัยจากสงคราม ส่วนใหญ่เดินทางขึ้นเหนือเข้าสู่หลายเมืองของรัฐฉาน

คลื่นผู้อพยพออกจากพื้นที่รัฐกะยาทั้งกลางวันและกลางคืนเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 จนถึงทุกวันนี้ แทบทุกคนยังไม่ได้กลับบ้าน

ต้นเดือนมกราคม 2565 ภาพยานพาหนะหลากหลายชนิดนับพันคันวิ่งหรือจอดเรียงรายอยู่บนทางหลวงหมายเลข 5(ลอยก่อ-ตองจี) รถทุกคันมุ่งหน้าในทิศทางเดียวกัน เพื่อต้องการออกจากพื้นที่จังหวัดลอยก่อและรัฐกะยาให้ได้โดยเร็วที่สุด

จากทางหลวงหมายเลข 5 รถส่วนหนึ่งเลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางหมายเลข 54 ผ่านเมืองผายขุนในภาษาไทใหญ่ หรือแผ่โข่งในภาษาพม่า เพื่อต่อไปยังเมืองป๋างลอง เขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ อีกส่วนหนึ่งเลยป๋างลองต่อขึ้นไปยังเมืองกาดล้อ หรือกะลอ ในจังหวัดตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน

อีกส่วนหนึ่งยังคงมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 5 เพื่อขึ้นไปยังเมืองสี่แสง ซึ่งเป็นเมืองในเขตปกครองตนเองชนชาติปะโออีกแห่งหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งหนียาวขึ้นไปถึงเมืองโหโปง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองตองจี ที่เป็นอีกเมืองหนึ่งของเขตปกครองตนเองชนชาติปะโอด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การอพยพในทุกเส้นทาง ล้วนเต็มไปด้วยความยากลำบาก หลายจุดมีการตั้งด่านสกัด ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้รถของผู้อพยพต้องจอดรอกันเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร

คลื่นผู้อพยพจำนวนมากได้ทะลักออกมาหลังเกิดการสู้รบหนักระหว่างทหารพม่ากับ KNDF ในวันพุธที่ 5 มกราคม 2565 จากนั้น กองทัพพม่าระดมใช้ทั้งอาวุธหนักและการโจมตีทางอากาศ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่อาจอยู่กับบ้านของตนเองได้

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม ผู้อพยพส่วนหนึ่งหนีมาทางตะวันออก เพื่อขอข้ามมาหลบภัยตามพื้นที่ชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ชาวกะยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่และปะโอ ตัดสินใจขึ้นไปขออาศัย พักพิงอยู่ตามวัดหลายแห่งในรัฐฉาน

จนถึงขณะนี้ แม้เวลาผ่านไปแล้วกว่าครึ่งปี แต่ผู้ลี้ภัยแทบทั้งหมดยังไม่มีโอกาสได้กลับบ้านของตนเอง

……

เส้นทางอพยพจากรัฐกะยาขึ้นไปในรัฐฉาน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน(Shan Human Rights Foundation : SHRF) ได้เผยแพร่ รายงานชิ้นล่าสุด ระบุว่า การสู้รบในรัฐกะยา ที่แพร่ลามเข้าไปในพื้นที่บางส่วนของรัฐฉาน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ได้ทำให้บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 100 หลัง ในเมืองโมเบีย หรือเมืองป๊าย ถูกเผา ชาวบ้านกว่า 4,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ในรายงานระบุว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 กองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ได้โจมตีจุดตรวจของทหารพม่าแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 54 ซึ่งเป็นเส้นทางจากเมืองป๊ายขึ้นไปยังเมืองหญองห้วย จังหวัดตองจี ในรัฐฉาน จากนั้น กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารจำนวนมากลงมา มีการสู้รบเกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมาจนถึงปลายเดือนมิถุนายน หลายหมู่บ้านถูกเผา ชาวบ้านที่ยังคงเหลืออยู่ ต้องหลบหนีภัยสงครามเข้าไปในรัฐฉานและประเทศไทย

แผนที่แสดงหมู่บ้านที่ถูกทหารพม่าเผาในเมืองป๊าย(Moebye) และเมืองผายขุน(Pekhon) ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ที่มาภาพ : Shan Human Rights Foundation

……

นับแต่เมียนมาก้าวเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง การสู้รบที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย คนส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปยังรัฐกะเหรี่ยง เพราะเป็นช่องทางและเส้นทางการค้าหลักระหว่างไทยกับเมียนมา

ขณะที่ “รัฐกะยา” ที่อาจมีบทบาทด้านเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ข่าวคราวเหตุการณ์ทางด้านนี้ปรากฏออกมาน้อยกว่า ทั้งที่มีความโหดร้าย รุนแรงไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม รัฐกะยาเป็นดินแดนของเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านาน ผู้คนที่อาศัยอยู่ใน 2 ฝั่ง“แม่ฮ่องสอน-ลอยก่อ” เต็มไปด้วยความใกล้ชิดและผูกพันซึ่งกันและกัน

อารมณ์หดหู่ที่พี่น้องในรัฐกะยากำลังเผชิญอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และต้องส่งแรงใจไปช่วย…