ThaiPublica > สู่อาเซียน > “มือเมตตา-ไตธรรมวัฒนา” อีกบทบาทสำคัญของพระสงฆ์ในรัฐฉาน

“มือเมตตา-ไตธรรมวัฒนา” อีกบทบาทสำคัญของพระสงฆ์ในรัฐฉาน

27 มกราคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ไม่ได้ถูกจำกัดจากสภาพอากาศ หรือถนนหนทาง

“ลูกหลาน ไปอยู่ไหนกันหมดล่ะลุง” เสียงเจ้าครูเอ่ยถามพ่อเฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านโหฝายโหลง หรือหัวฝายหลวง ในเมืองปั่น รัฐฉานใต้

“อยู่เมืองไทยครับ ที่เชียงใหม่” ลุงตอบ

“แล้วเขากลับมาเยี่ยมบ้างไหม” เจ้าครูถามต่อ

“มาบ้างครับ ปีละครั้ง บางปีก็มา 2 ครั้ง”

สีหน้าเจ้าครูมีรอยยิ้ม ดูพอใจกับคำตอบที่ได้รับ

แต่กับคำตอบจากพ่อเฒ่าอีกคนหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน สีหน้าเจ้าครูเปลี่ยนเป็นตรงข้าม

“เขาเคยโอนเงินมาให้ครั้งหนึ่ง ตอนเพิ่งไปอยู่เมืองไทยใหม่ๆ”

“กี่ปีแล้วล่ะ” เจ้าครูถาม

“20 กว่าปีแล้วครับ”!!!

……

คำว่า “เจ้าครู” ในภาษาไทใหญ่ เปรียบได้กับคำว่า “พระอาจารย์” ในภาษาไทย เป็นคำที่ชาวไทใหญ่ใช้เรียกพระภิกษุสงฆ์อาวุโส หรือพระสงฆ์ที่ได้รับการนับถือดุจเป็นครูบาอาจารย์

เจ้าครูท่านนี้เป็น 1 ในคณะพระสงฆ์ประมาณ 5-6 รูป ที่ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านโหฝายโหลง ในนามมูลนิธิ “มือเมตตา” เมื่อกลางปี 2562 เพื่อนำข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นประจำวัน ไปแจกจ่ายให้กับบุคคลผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้

การเดินทางไปของพระสงฆ์คณะนี้ในวันนั้น ดูเหมือนเป็นกิจกรรมแรกๆ ของมูลนิธิมือเมตตา ในยุคที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ๆ มีการบันทึกกิจกรรมไว้เป็นวิดีโอคลิป และ ภาพชุด เผยแพร่ลงในเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิมือเมตตา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562…

เมืองปั่น เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลางเคอ ในภาคใต้ของรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หากวัดระยะเป็นเส้นตรง จะอยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทยที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นไปทางทิศเหนือ ประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ

สายตาของผู้รอคอยในรัฐฉานใต้

นอกจากพ่อเฒ่าทั้งคู่ที่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง เพราะลูกหลานต่างเข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้ว ในการเดินทางไปยังบ้านโหฝายโหลงครั้งนั้น คณะพระสงฆ์จากมูลนิธิมือเมตตายังได้นำความช่วยเหลือไปให้กับผู้เฒ่าอีก 3 ราย เด็กหญิงพิการอีก 1 ราย หนึ่งในนั้นเป็นแม่เฒ่าที่นอนป่วยติดเตียงอยู่บนเครื่องนอน ซึ่งเป็นเพียงผ้านวมหนาๆ ปูแผ่ไว้บนพื้นกระดานไม้

แม่เฒ่าผู้นี้ไม่สามารถลุกเดินเหินไปไหนได้ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงต้องคอยมาช่วยดูแล ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้เป็นประจำ

แม่เฒ่าผู้นี้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นเพียงผ้าห่มปูอยู่บนพื้นไม้กระดาน ไม่สามารถลุกขึ้นมาเดินเหินได้

……

มูลนิธิมือเมตตาเป็นการรวมตัวกันของพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งในรัฐฉานภาคใต้ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง นำความช่วยเหลือที่ได้รับบริจาคมาจากบุคคลที่มีโอกาสมากกว่า เพื่อนำความช่วยเหลือเหล่านั้นไปส่งแก่ผู้ยากไร้ ผู้ขาดแคลน คนด้อยโอกาส หรือคนที่กำลังประสพความลำบากในการดำรงชีพ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในรัฐฉาน

บุคคลที่ร่วมบริจาคให้กับมูลนิธิมือเมตตา มีทั้งคนที่อยู่ในรัฐฉานเอง รวมถึงคนไทใหญ่ และชาวชาติพันธุ์อื่นที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย และอยากส่งเงินหรือความช่วยเหลือไปให้กับคนที่ยังอยู่ในบ้านเดียวกัน

ภาคใต้ของรัฐฉานมี 3 จังหวัด คือ จังหวัดลางเคอ จังหวัดดอยแหลม และจังหวัดตองจี พื้นที่ให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิมือเมตตาส่วนใหญ่ครอบคลุม 2 จังหวัดแรก คือ ลางเคอกับดอยแหลม เพราะที่ตองจีซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน ดูจะมีความเจริญมากกว่าอีก 2 จังหวัด (ดูแผนที่ประกอบ)

แผนที่รัฐฉานใต้และตะวันออก

ทุกวันนี้ในหลายพื้นที่ของเมียนมา ไม่เฉพาะในรัฐฉาน การเดินทางเข้าถึงทำได้อย่างยากลำบาก คนธรรมดาถึงแม้เป็นคนสัญชาติเมียนมาเอง ก็ยังถูกจำกัด ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้โดยง่าย หากไม่มีเหตุผลเพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์การเมืองในเมียนมาซึ่งเต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้งหลังเกิดการรัฐประหาร การเข้าถึงหลายพื้นที่ยิ่งทำได้ยากและเต็มไปด้วยอันตราย เพราะมีการตั้งด่านตรวจตราอย่างเข้มงวด

ด่านที่ว่า มีทั้งด่านของทหารกองทัพพม่า ด่านของกองกำลังอาสาสมัครที่เรียกกันว่าปีตู่ซิด หรือทหารบ้าน ด่านของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีอยู่หลายกลุ่ม แถมช่วงหลังยังมีด่านของกองกำลังติดอาวุธประชาชน (PDF) หรือกองกำลังของฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า เพิ่มเข้ามาอีก

ด้วยข้อจำกัดนี้ จึงเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงสำหรับการนำส่งความช่วยเหลือไปให้แก่คนที่กำลังประสพความทุกข์ยากจำนวนมาก ที่กำลังรอคอยอยู่ในหลายพื้นที่

พ่อเฒ่าผู้นี้พิการ ขาซ้ายขาดตั้งแต่หัวเข่า ทำขาเทียมใช้เองโดยใช้ผ้าหนาๆ พันรอบขา ก่อสวมลงไปในรูไม้ไผ่ขนาดใหญ่

คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อเฒ่า แม่เฒ่า ที่ลูกหลานจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อหารายได้ส่งกลับบ้าน

คนหนุ่มสาวเหล่านี้ บางคนพอมามีลูกอยู่ในเมืองไทย ก็นำลูกกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้านช่วยเลี้ยงดู เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในไทย

แต่อีกหลายคน เมื่อเข้ามาในเมืองไทยแล้วเกิดปัญหา บางคนหายสาบสูญไปเลย บางคนติดคุกเพราะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย หรือเผลอไปทำผิดกฎหมาย และก็มีบางคนที่ไม่ยอมติดต่อกลับบ้าน หรือเงียบไปเฉยๆ

พ่อแม่ คนแก่ คนเฒ่า ซึ่งยังใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน จึงตั้งตารอคอยอย่างโดดเดี่ยว ด้วยความยากลำบาก… ทุกคนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ

ยังมีคนทุกข์ยากอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แม้ยังไม่สูงวัยมาก แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ส่งผลให้สุขภาพของพวกเขาย่ำแย่ กลายเป็นคนไม่แข็งแรง ป่วยไข้ หลายคนป่วยหนักจนไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้ และไม่มีญาติมิตรคอยดูแล

และมีอีกหลายคน ที่จำต้องกลายเป็นคนพิการ เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง การสู้รบ หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามพื้นที่ห่างไกล คนพวกนี้ส่วนใหญ่พิการจากลูกหลงที่มากับสงครามกลางเมืองภายใน ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธแต่ละกลุ่ม

ด้วยสภาพความเป็นจริงเช่นนี้ สถานะความเป็นพระสงฆ์จึงช่วยลดอุปสรรคสำหรับการเดินทางเข้าถึงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐฉาน ซึ่งสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงชัน หลายหมู่บ้านต้องบุกป่า ฝ่าดง กว่าจะเข้าไปถึง

พระสงฆ์ในรัฐฉานจึงเป็นดั่งสื่อกลาง ที่ผู้บริจาคสามารถมั่นใจได้ว่า จะช่วยนำความช่วยเหลือที่เขาต้องการส่งให้ถึงมือของผู้รับ ซึ่งเป็นคนที่กำลังขาดแคลน และต้องการความช่วยเหลือเหล่านั้นอยู่จริงๆ

จากกิจกรรมของมูลนิธิมือเมตตาที่ถูกบันทึกไว้เพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิ นับแต่ก่อตั้งมาเมื่อกว่า 2 ปีก่อน มีคณะพระสงฆ์เดินทางลงพื้นที่เพื่อนำความช่วยเหลือไปให้ผู้ยากไร้ตามหมู่บ้านต่างๆ แล้วมากกว่า 90 ทริป…

แม่เฒ่าสื้อ แห่งบ้านกุงส่า จังหวัดลางเคอ อายุประมาณ 70 กว่าปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับสิ่งของช่วยเหลือล่าสุด ที่คณะสงฆ์จากมูลนิธิมือเมตตาได้นำส่งไปให้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564

ทริปการเดินทางเพื่อนำส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ชาวบ้านกุงส่าและชาวบ้านปุงถุนเหนือ คณะสงฆ์จากมูลนิธิมือเมตตา ต้องอาศัยรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ เพียงเท่านั้น เพราะเส้นทางที่ไปเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องขึ้นเขา ข้ามห้วย บุกป่า ฝ่าดง นั่งทนสูดฝุ่นควันนานนับชั่วโมง กว่าจะถึง

มีบางจุดที่ถนนขาด พระสงฆ์ทุกรูปต้องลงจากรถ ช่วยกันหาก้อนหิน ขอนไม้ตามข้างทาง มาก่อเป็นสะพาน เพื่อให้รถสามารถข้ามไปได้

ทุกวันนี้ แม่เฒ่าสื้ออยู่คนเดียวในเรือนไม้เก่าๆ สุขภาพของแม่เฒ่าไม่ค่อยแข็งแรง แต่ละมื้อกินข้าวได้ไม่มาก โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวแม่เฒ่ามักมีอาการไข้หวัด คณะสงฆ์จากมูลนิธิมือเมตตาได้นำเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม ของใช้ในครัวเรือน อาหารแห้ง และเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้แม่เฒ่า จะได้ซื้อหยูกยาอาหาร พอช่วยประทังชีวิต

ยังมีพ่อเฒ่าอีกคนหนึ่ง ลูกชายของพ่อเฒ่า 2 คน เข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ตลอด 2 ปีนับแต่มีโควิด-19 ระบาด ตามมาด้วยการรัฐประหารในเมียนมา ลูกชายทั้งคู่ไม่มีโอกาสกลับเยี่ยมบ้าน

วันที่คณะสงฆ์นำสิ่งของไปช่วยเหลือ พ่อเฒ่าผู้นี้ยังไม่ได้กินข้าว!!!

……

รัฐฉานภาคตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดเชียงตุง จังหวัดเมืองสาต และจังหวัดท่าขี้เหล็ก

เหตุที่เรียกเป็นภาคตะวันออก เพราะนอกจากอยู่ทางชายแดนภาคตะวันออกของรัฐฉานแล้ว พื้นที่นี้ยังอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน หรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า “แม่น้ำคง” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน เข้าสู่พื้นที่รัฐฉานตรงเขตรอยต่อระหว่างเมืองหมู่เจ้ในภาคเหนือ กับเขตปกครองตนเองโกก้าง จากนั้นไหลลงทางใต้ ผ่านรัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ไปออกทะเลยังอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะละแหม่ง ในรัฐมอญ

มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งในรัฐฉานตะวันออก ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม “ไตธรรมวัฒนา” คณะสงฆ์กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นพระชาวไตขืนหรือที่คนไทยคุ้นชินกับชื่อไทเขิน พระชาวไตลื้อ และพระไตหรือชาวไทใหญ่

บ้านเรือนในชุมชนที่รอความช่วยเหลือ ภาพนี้เป็นบ้านปุ่ง บ้านเดื่อ เมืองวาก จังหวัดเชียงตุง ที่กลุ่มไตธรรมวัฒนานำความช่วยเหลือไปให้เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2565

พระสงฆ์กลุ่มนี้ อยู่ในวัดต่างๆ ของจังหวัดเชียงตุง เมืองยาง เมืองยอง ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่เป็นธรรมทาน ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะในหมู่บ้านห่างไกล ตามป่าเขา และบนดอย

กิจกรรมตามปกติของคณะสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนา คือการเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนา ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือด้านการศึกษา แก่พระภิกษุ สามเณร เด็กเล็ก และเยาวชน ตามวัดและชุมชนหลายแห่ง ในถิ่นทุรกันดาร

แต่อีกบทบาทสำคัญของพระสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนา คือการเป็นสื่อกลาง นำความช่วยเหลือที่ได้รับบริจาคจากบุคคลผู้ศรัทธา เพื่อส่งไปให้ถึงมือของผู้ยากไร้ ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

ผู้ยากไร้ในรัฐฉานภาคตะวันออกก็เป็นเช่นเดียวกับรัฐฉานใต้ ส่วนใหญ่ก็คือพ่อเฒ่า แม่เฒ่า ซึ่งต้องอยู่บ้านอย่างเดียวดาย ไม่มีลูกหลานคอยดูแล เพราะต้องเดินทางมาทำงาน หรือเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย…

ป้านวลแห่งบ้านป่าจ๋าม กำลังรับมอบสิ่งของช่วยเหลือจากคณะพระสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนา

ปีนี้ แม่เฒ่าตุ้ยอายุ 102 กำลังย่างขึ้นสู่ปีที่ 103 แม่เฒ่าอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านไม้ใต้ถุนสูง เสาบ้านตั้งอยู่บนอิฐ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนในชุมชนชาวไตที่ยังพบเห็นได้มากอยู่ในหลายพื้นของรัฐฉาน

แม้อายุจะเลยวัย 100 ปีมาแล้ว แต่แม่เฒ่าตุ้ยยังไม่หลง วันที่คณะพระสงฆ์จากกลุ่มไตธรรมวัฒนานำผ้าห่ม เงิน และความช่วยเหลือต่างๆ ไปให้ แม่เฒ่าตุ้ยยังสามารถพูดคุยกับเจ้าครูได้อย่างสนุกสนาน รวมถึงสวดให้พรเป็นภาษาบาลีได้อย่างคล่องแคล่ว ชัดเจน ไม่ติดขัด

แม่เฒ่าตุ้ยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากคณะพระสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนา ที่ได้เดินทางไปมอบให้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565…

หลังผ่านพ้นช่วงปีใหม่ 2565 มาแล้ว พระสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนาได้จัดทริปเดินทางเพื่อนำผ้าห่ม แผงโซลาร์เซลล์ แว่นตา รวมถึงข้าวปลาอาหาร และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ไปมอบให้กับผู้ยากไร้ตามชุมชนห่างไกล โดยเฉพาะบนดอยสูง ที่อากาศหนาวจัด และไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหลายแห่ง

แต่ละหมู่บ้านที่พระสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนานำความช่วยเหลือไปส่ง ต้องใช้เส้นทางที่ลำบาก หากเกิดปัญหา เหล่าพระสงฆ์ต้องจัดการกันเอง

คณะศรัทธาทั้งที่อยู่ในรัฐฉานและในประเทศไทย ร่วมบริจาคเงิน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ผ่านคณะสงฆ์กลุ่มไตธรรมวัฒนา เพราะมั่นใจได้ว่าจะไปถึงมือของผู้รับได้จริงๆ

นอกจากต้องรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกแล้ว พระสงฆ์ในกลุ่มไตธรรมวัฒนายังต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก เพราะหลายหมู่บ้านที่ไปเป็นเส้นทางทุรกันดาร หากรถเกิดปัญหาระหว่างเดินทาง คณะของพระสงฆ์กลุ่มนี้ต้องลงมือซ่อมแซมด้วยตนเอง

……

ในรัฐฉานทุกวันนี้ เป็นเหมือนกับหลายพื้นที่ของประเทศไทยในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่วัดและชุมชนได้อยู่เคียงคู่และพึ่งอิงซึ่งกันและกัน ไม่ถูกแบ่งแยกออกจากกันเด็ดขาด เหมือนในปัจจุบัน

วัดในรัฐฉานมิได้เป็นเพียงศูนย์รวมทางจิตใจ ศูนย์กลางประเพณี วัฒนธรรม หรือพิธีกรรมทางศาสนาให้กับชุมชน แต่ยังเป็นศูนย์รวมความร่วมมือ การช่วยเหลือ เอื้ออาทรระหว่างกัน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ของชาวบ้าน

ชาวบ้านตามท้องถิ่นทุรกันดาร ต่างต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก โดยมีพระสงฆ์เป็นสื่อกลาง นำความช่วยเหลือเหล่านั้นไปส่งให้ถึงมือ

พระสงฆ์ไม่เพียงเป็นผู้สอนหลักธรรม แต่ยังเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้หลากหลายแขนง โดยเฉพาะการสืบทอดภาษา วัฒนธรรม โดยอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียน

พระสงฆ์กับชาวบ้านไม่มีช่องว่างระหว่างกัน แตกต่างกันเพียงวัตรปฏิบัติที่พระสงฆ์ต้องเข้มงวด ยึดถือศีล 227 ข้อ

กิจกรรมของพระสงฆ์ในมูลนิธิมือเมตตาและกลุ่มไตธรรมวัฒนา ที่ได้กระทำเพื่อเกื้อหนุนสังคม จึงเป็นอีกบทบาทสำคัญที่น่าสนใจของพระสงฆ์ในรัฐฉาน…