ThaiPublica > สู่อาเซียน > ฟื้นฟู “สายใยโยเดีย” (โยดะยา:อยุธยา) ในเมียนมา

ฟื้นฟู “สายใยโยเดีย” (โยดะยา:อยุธยา) ในเมียนมา

19 พฤษภาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พระพุทธชินราช และพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธรูป ในรูปทรงแบบไทย ซึ่งคนไทยกลุ่มหนึ่งสร้างถวายแก่วัดประจำหมู่บ้านสุขะ ที่มาภาพ : เพจ Sukha village’s Buddha Chinnaraj Phaya

รอยยิ้มที่เปื้อนอยู่เต็มใบหน้าของทุกคน ทันทีที่เห็นรถบรรทุกเล็ก 4 ล้อ สีขาว กำลังนำพระพุทธรูป 2 องค์มุ่งหน้าเข้าไปยังหมู่บ้าน “สุขะ” เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2566 บ่งบอกถึงความปลาบปลื้มดีใจของชาวบ้านที่นี่

พระพุทธรูปที่อยู่หลังรถ องค์หนึ่งคือพระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง 29 นิ้ว อีกองค์หนึ่งเป็นพระศรีอริยเมตไตรย หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ทั้ง 2 องค์ หล่อจากโรงหล่อในจังหวัดพิษณุโลกประเทศไทย ถูกนำข้ามชายแดนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าไปยังฝั่งเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ก่อนหน้านั้น 1วัน

รถบรรทุกค่อย ๆ เคลื่อนตัวช้า ๆ ไปตามถนนคอนกรีตแคบ ๆ กลางหมู่บ้านสุขะ ชาวบ้านที่เป็นชายเดินนำหน้าหรือขนานเคียงข้างรถ คอยดึงหรือยกกิ่งไม้ที่ห้อยกีดขวางถนนเปิดทางให้รถพระพุทธรูปผ่านไปได้โดยสะดวก

สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านสุขะ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Tar Tar Lay

หญิงสาวกว่า 20 กว่าคน พร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีชมภู สวมหมวกสานเดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหลังรถพระพุทธรูปในมือถือขันขนาดใหญ่ให้ชาวบ้านที่ประสงค์จะร่วมทำบุญ ได้ใส่เงินบริจาคให้กับวัด จำนวนผู้คนที่เข้าร่วมขบวน ค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากบ้านที่อยู่ตามรายทางที่ผ่าน ตอนท้ายของขบวนเป็นรถเครื่องเสียงและวงดนตรีที่อาจเปรียบได้กับวงกลองยาวของไทย นักดนตรี 4-5 คนพร้อมเครื่องดนตรี กลอง ฆ้อง ฉาบ กรับ ปี่ บรรเลงเพลงสร้างบรรยากาศรื่นเริง สนุกสนาน ให้กับขบวนแห่พระพุทธรูป

พิธีการต้อนรับพระพุทธรูปและพาแห่ไปรอบหมู่บ้าน ก่อนนำไปประดิษฐานยังวัดสุขะกลางวัดประจำหมู่บ้านสุขะ ถือเป็นงานใหญ่มากของชาวบ้านสุขะ หมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์

ชาวบ้านสุขะ ทายาทชาวโยเดียที่ย้ายจากอยุธยามาที่นี่เมื่อกว่า 250 ปีที่แล้ว ที่มาภาพ : เพจ Sukha
village’s Buddha Chinnaraj Phaya

หมู่บ้านสุขะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ในเมืองมัตตะยา ชาวบ้านสุขะเป็นทายาทของชาว “โยเดีย” บรรพบุรุษของพวกเขา เป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนมากที่โยกย้ายจากสยาม มา สร้างบ้านเรือน ตั้งเป็นชุมชนอยู่ที่นี่ ตั้งแต่เมื่อกว่า 250 ปีก่อน ปัจจุบันทายาทที่ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านสุขะน่าจะเป็นรุ่นที่ 8 มีอยู่ประมาณ 80 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 500 คน

ที่ตั้งหมู่บ้านสุขะ และเมืองอมรปุระ ในมัณฑะเลย์
……

“โยเดีย” หรือ “โยดะยา” หมายถึงชาวสยามหรือบางคนอาจเจาะจงเฉพาะลงไปเลยว่าเป็นชาวอยุธยา ซึ่งตำราประวัติศาสตร์ไทยมักเขียนโดยใช้คำว่าถูกพม่า “กวาดต้อนเป็นเชลย” จากอยุธยา ไปอยู่ยังกรุงอังวะ หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 ชาวโยเดียที่ถูก “กวาดต้อน” มาในครั้งนั้น มีจำนวนนับแสนคน ในนี้มีทั้งขุนนาง ข้าราชการ ช่างฝีมือ ศิลปินแขนงต่างๆ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์อยุธยา โดยเฉพาะพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่ร่วมเดินทางมาด้วยขณะที่ยังทรงดำรงสมณเพศ

คำว่า “กวาดต้อนเป็นเชลย” กระตุ้นให้คนไทยรุ่นหลังที่ศึกษาประวัติศาสตร์ เกิดความสนใจ ใคร่รู้เรื่องราวของเหล่าทายาท “เชลยที่ถูกกวาดต้อน” ไปในยุคนั้น ว่าทุกวันนี้ แต่ละคนมีชีวิตความเป็นอยู่เช่นไร และคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการได้ไปพบและสัมผัสกับคนเหล่านี้เพื่อฟื้น “สายใย” ทางเชื้อชาติที่มีระหว่างกัน

ปี 2538 มีการเผยแพร่บทความเรื่อง “A Thai King’s Tomb” เขียนโดย ดร.ทินหม่องจี อดีตนายแพทย์ที่ผันตัวเองมาศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลังเกษียณอายุ ดร.ทินหม่องจี ยืนยันว่าเขาเป็นทายาทของชาวโยเดียที่โยกย้ายจากอยุธยาไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในมัณฑะเลย์

บทความของ ดร.ทินหม่องจีเขียนในทำนองว่ามีการค้นพบหลักฐานและโบราณวัตถุที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสถูปเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายในสุสานที่เรียกว่า “ลินซินโกง” น่าจะเป็นสถูปบรรจุอัฐิของอดีตกษัตริย์ไทยองค์หนึ่ง และอาจเป็นเป็นสถูปของพระเจ้าอุทุมพร ลินซินโกง แปลเป็นไทยได้ว่า “เนินล้านช้าง” ตั้งอยู่ริมทะเลสาบต่องตะมาน ทะเลสาบที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ชานเมืองอมรปุระ ทางใต้ของ เมืองมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการประวัติศาสตร์ของไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ เพราะขัดแย้งกับข้อมูลบางส่วนที่ถูกบันทึกไว้ในตำราประวัติศาสตร์ แต่ก็มีนักวิชาการและผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการศึกษา วิจัยเจาะลึกลงไปในเรื่องราวของชาวโยเดียที่โยกย้ายไปในยุคนั้นอย่างจริงจัง

มิคกี้ ฮาร์ท(สวมหน้ากากอนามัย) และทีมงานของ Dr.Than Htike ผู้อำนวยการกรมโบราณคดี ภาคมัณฑะเลย์ เดินทางไปยังวัดอโยธยา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566ก่อนเริ่มต้นการบูรณะสถานที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก มิคกี้ ฮาร์ท –
โยเดียกับราชวงศ์พม่า

จากการค้นพบครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ มิคกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ชาวพม่า ที่ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้มีการฟื้นฟูสภาพของสุสานลินซินโกง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในยุคหลังและเปิดโอกาสให้คนไทยจากประเทศไทย ได้ไปเยี่ยมชมและศึกษาเรื่องราวของคนรุ่นบรรพบุรุษ

กลางปี 2555 ทางการมัณฑะเลย์มีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ชานเมืองมัณฑะเลย์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งอาจมีผลให้ต้องรื้อสุสานลินซินโกง

ต้นปี 2556 เพื่อปกป้องพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ผืนนี้ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์กับนักวิชาการจากประเทศไทยจำนวนหนึ่ง โดยการประสานงานของมิคกี้ ฮาร์ท ได้เสนอต่อทางการมัณฑะเลย์ เพื่อทำโครงการ “Joint development of Thai government and Myanmar government for fact finding Archaeological of the stupa believed to be that of King Udumbara (Dok Dua)” หรือการขุดค้นทางโบราณคดีภายในบริเวณสุสานลินซินโกง ถือเป็นบทเริ่มต้นอย่างจริงจังของกระบวนการ “ฟื้นฟูสายใยโยเดียในเมียนมา”

วัดอโยธยา ที่สุสานลินซินโกง ชานเมืองอมรปุระ มัณฑะเลย์ โบราณสถานที่กำลังได้รับการบูรณะให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของชาวโยเดียในเมียนมา ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก มิคกี้ ฮาร์ท – โยเดียกับราชวงศ์พม่า

แม้ว่าในอีก 1 ปีถัดมา ในเดือนมีนาคม 2557 โครงการนี้ได้ถูกระงับไป เพราะหลักฐานที่ถูกขุดพบ ไม่ได้รับการรับรองจากกรมศิลปากรของประเทศไทย วันที่ 24 มีนาคม 2560 มิคกี้ ฮาร์ท ยังคงยืนยันความเชื่อที่ว่า สถูปที่อยู่ภายในสุสานลินซินโกง คือสถานที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ภายในงานเสวนาเรื่อง “250 ปี ปัจจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา : ปริวรรตบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต” ซึ่งจัดโดยสถาบันอยุธยาศึกษา ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา วันที่ 1 กรกฎาคม 2560

สถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส เริ่มเผยแพร่สารคดีเรื่อง “โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง” สารคดีความยาว 14 ตอน ที่บอกเล่าร่องรอยและเรื่องราวของเชลยศึกชาวโยเดีย ที่ถูกโยกย้ายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อย่างครบถ้วนทุกแง่มุม ไทย พีบีเอส ยังมีภาคต่อเนื่อง โดยการสร้างละครโทรทัศน์ความยาว 15 ตอน เรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี”

แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และสถานการณ์วุ่ยวายในเมียนมาหลังการรัฐประหารในปี 2564 ละคร “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” จึงได้เริ่มออกอากาศตอนแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565

……

ตอนที่ 4 ของสารคดี “โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง” ในหัวข้อที่ว่าด้วย “สถาปัตยกรรม” ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ได้กล่าวถึงเรื่องราวของหมู่บ้านสุขะ

หลังเนื้อหาถูกเผยแพร่ออกมา คนไทยจำนวนหนึ่งให้ความสนใจเรื่องราวของชุมชนชาวโยเดียแห่งนี้ และเริ่มมีการติดต่อหากัน จนได้พบข้อมูลสำคัญที่ว่า ชาวบ้านสุขะประสงค์จะได้พระพุทธรูป ในรูปแบบโยเดียหรือแบบไทยปัจจุบัน ไปประดิษฐานยังวัดประจำหมู่บ้านเพื่อให้ได้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงสายใย ความผูกพันธ์ของชาวบ้านที่นี่กับผืนแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา ปี 2563 โครงการสร้างพระพุทธรูปถวายให้กับวัดประจำหมู่บ้านสุขะจึงเริ่มต้นขึ้น แต่ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ไม่แน่นอนในเมียนมา โครงการสร้างพระพุทธรูปจึงใช้เวลาดำเนินการถึง 3 ปี กระทั่งเพิ่งสามารถนำพระพุทธรูปส่งไปถึงมือของชาวบ้านสุขะได้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านสุขะกับคนในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้ คนไทยกลุ่มนี้ยังมีโครงการทอดผ้าป่า เพื่อนำปัจจัยไปถวายยังวัดสุขะกลาง วัดประจำหมู่บ้านสุขะ ที่เมืองมัตตะยา ด้วยอีกครั้งหนึ่ง…

การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ไม่แน่นอนในเมียนมา ยังทำให้ข่าวความเคลื่อนไหวโครงการฟื้นฟูสภาพของสุสานลินซินโกง ในเมืองอมรปุระ ที่ตั้งของสถูปที่สันนิษฐานว่าบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร เงียบหายไป

วันที่ 24 มกราคม 2566 มิคกี้ ฮาร์ท ได้โพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “มิคกี้ ฮาร์ท -โยเดียกับราชวงศ์พม่า” ระบุว่า โครงการบูรณะ รักษาสภาพโครงสร้างโบราณสถาน Yodia Kyaung (วัดอโยธยา)และโครงการขุดค้นสถูปพระเจ้าอุทุมพร ที่สุสานลินซินโกง เมืองอมรปุระ
เพื่อพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชาวโยเดียในเมียนมา ซึ่งได้หยุดชะงักไประยะหนึ่งนั้น ได้เริ่มกลับมาเดินหน้าใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว

โครงการนี้ มิคกี้ ฮาร์ท ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยกรมโบราณคดีภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกรมโบราณคดีกลาง เนปิดอ กระทรวงวัฒนธรรม เมียนมาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการให้โพสต์เมื่อวันที่ 24 มกราคม มิคกี้ ฮาร์ท ได้ให้การต้อนรับ Dr.Than Htike ผู้อำนวยการกรมโบราณคดี ภาคมัณฑะเลย์ พร้อมคณะ ที่เดินทางมาดูไซต์งานที่วัดอโยธยา สุสานลินซินโกง

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันเริ่มต้นจากการบูรณะสถานที่ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบริเวณโดยรอบวัดอโยธยา ต่อด้วยการบูรณเสาบัวที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยมิคกี้ ฮาร์ท ได้สั่งเผาอิฐจากแหล่งพุกาม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอิฐที่ใช้สำหรับงานซ่อมแซมโบราณสถานโดยเฉพาะตามมาตรฐานและคำแนะนำของกรมโบราณคดี ภาคมัณฑะเลย์

วันที่ 7 เมษายน มิคกี้ ฮาร์ท ได้เดินทางไปยังสำนักงาน Mandalay City Development Committee(MCDC)เพื่อรับพระอัฐิธาตุที่เชื่อว่าเป็นของพระเจ้าอุทุมพร รวมถึงเครื่องอัฏฐบริขารอื่น ๆ ที่เคยถูกนำออกไปจากสถูป เพื่อจะได้นำกลับไปบรรจุคืนไว้ในสถูปใหม่อีกครั้ง พิธีทำบุญและบรรจุพระอัฐิธาตุ ถูกกำหนดให้จัดในวันที่ 28 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

สถูปซึ่งเชื่อว่าบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร กำลังได้รับการบูรณะ ก่อนพิธีนำพระอัฐิธาตุและเครื่องอัฏฐบริขารอื่นๆกลับมาบรรจุไว้ใหม่ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 นี้ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก มิคกี้ ฮาร์ท – โยเดียกับราชวงศ์พม่า

วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมงานกรมโบราณคดี ภาคมัณฑะเลย์ ได้เริ่มการบูรณะพระอัฐิเจดีย์หรือสถูปของพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์ประธาน ภายในวัดอโยธยากำหนดให้แล้วเสร็จก่อนถึงวันพิธีบรรจุพระอัฐิธาตุ

……

ทั้งการสร้างพระถวายแก่วัดประจำหมู่บ้านสุขะ การบูรณะวัดอโยธยา สุสานลินซินโกง สถูปเจดีย์ที่เชื่อว่าบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ตลอดจนการทอดผ้าป่าถวายปัจจัยแก่วัดสุขะกลาง ที่เตรียมจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ล้วนเป็นกระบวนการฟื้นฟู “สายใย” เชื่อมความผูกพันของชาวไทยในประเทศไทย กับทายาทชาวโยเดียที่ยังคงอาศัยอยู่ในเมียนมา และความผูกพันที่พวกเขาเหล่านั้นมีอยู่กับประเทศไทยในฐานะแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษพวกเขา เป็นกระบวนการที่ควรได้รับความสนใจ พัฒนาต่อยอดความผูกพันนี้ ให้แน่นแฟ้นต่อไปอีกในอนาคต ที่มาที่ไป และขั้นตอนโดยละเอียด ตลอดจนช่องทางสำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับกระบวนการที่ได้กล่าวถึงทั้งหมดข้างต้น

สามารถเข้าไปดูได้ที่ :

  • เฟซบุ๊ก “Sukha village’s Buddha Chinnaraj Phaya”
  • เฟซบุ๊ก “Yordaya in Myanmar”
  • เฟซบุ๊ก “มิคกี้ ฮาร์ท – โยเดียกับราชวงศ์พม่า”